WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Monday, September 20, 2010

จาตุรนต์ ฉายแสง: 4 ปี รัฐประหาร ก้าวสู่เผด็จการเต็มรูปแบบ

ที่มา ประชาไท

หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มักมีการประเมินกันทุกปีว่าบ้านเมืองอยู่ในสภาพอย่างไร ความจริงในปีแรกๆ มีการประเมินกันแทบทุกเดือนด้วยซ้ำ ผมเองพูดถึงรัฐประหารครั้งนี้เป็นประจำทุกปี และปีนี้ก็คิดว่ามีประเด็นที่ควรจะพูดถึงอีก ซึ่งดูจะพิเศษและเข้มข้นกว่าปีที่ผ่านมาเสียอีกด้วย

การประเมินผลของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่มักชอบทำกันมักจะทำกันคือ การประเมินจากข้ออ้างของการรัฐประหาร ในปีนี้เราก็ควรจะใช้เวลาสักหน่อยในการประเมินผลของการรัฐประหารจากข้ออ้าง ของการรัฐประหารนั้นเอง
ข้อ อ้างประการแรกในการรัฐประหารคือ การป้องกันความรุนแรงและความแตกแยกในสังคม คงจำกันได้ว่าขณะนั้นมีการชุมนุมของพวกพันธมิตรอยู่ และมีการนัดหมายว่าในวันที่ 20 กันยายน 2549 จะมีการชุมนุมของอีกฝ่ายหนึ่ง การรัฐประหารจึงเกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยข้ออ้างง่ายๆว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงที่อาจจะมีขึ้นในวันที่ 20 กันยายน 2549
ก่อนการรัฐประหารไม่ปรากฏความรุนแรงเสียเลือดเสียเนื้ออะไรมาก แต่เมื่อผ่านไป 4 ปี จะพบว่ามีความรุนแรงเกิดขึ้นหลายครั้งหลายรูปแบบ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่ 4 นี้ นั่นก็คือ จากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม - 19 พฤษภาคม 2553 มีคนเสียชีวิต 91 คน บาดเจ็บ 2000 กว่าคน สูญหายอีกจำนวนมาก เป็นความสูญเสียมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ มากกว่าความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งใดๆในรอบ 30-40 ปีที่ผ่านมา
นอก จากนี้สังคมไทยยังมีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นได้อีกมากในอนาคต เนื่องจากฝ่ายผู้มีอำนาจและเจ้าหน้าที่ของรัฐมีข้อสรุปว่าจะปราบปรามเข่นฆ่า ประชาชนอย่างไรก็ได้ ไม่มีความผิดและไม่ต้องรับผิดในทางใดๆทั้งสิ้น ขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนหนึ่ง ซึ่งน่าจะไม่น้อยแล้วที่เริ่มหมดความหวังที่จะพึ่งพาระบบในปัจจุบัน
การรัฐประหารแก้ปัญหาความแตกแยกในสังคมได้หรือไม่ เราก็จะเห็นว่าผ่านมา 4 ปี สังคมไทยอยู่ในสภาพที่แตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับโครงสร้างส่วนบน ไปจนถึงระดับครอบครัว นับได้ว่าแตกแยกมากที่สุดกว่ายุคสมัยใดๆ
การ ที่สังคมไทยต้องมาอยู่ในสภาพที่เกิดความรุนแรงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ก็ ดี แตกแยกมากที่สุดยิ่งกว่ายุคสมัยใดๆก็ดี ความจริงแล้วก็เป็นผลจากการรัฐประหารนั่นเอง เพราะการรัฐประหารก็คือการใช้ความรุนแรงจัดการกับปัญหาบ้านเมือง และจัดการกับการที่ผู้คนมีความคิดเห็นที่ต่างกัน เมื่อมีการใช้ความรุนแรงเข้าจัดการกับปัญหา ก็แน่นอนว่าจะหวังให้เกิดสันติภาพขึ้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เหมือนกับการปล้นฆ่าแล้วจะหวังให้เกิดความสงบสุขตามมาย่อมเป็นไปไม่ได้
ข้ออ้างประการที่ 2 คือการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ในคำแถลงหรือคำประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน บอกว่ารัฐบาลในขณะนั้นมีการกระทำอันเป็นการ “หมิ่นเหม่” จึงต้องยึดอำนาจ ผ่านไป 4 ปี มีบุคคลในรัฐบาลก่อนการรัฐประหารถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไป บ้าง แต่ก็ปรากฏว่าเมื่อคดีถึงที่สุดแล้วไม่พบว่ามีผู้ใดกระทำผิด ตรงกันข้าม ฝ่ายที่กล่าวหารัฐมนตรีในคณะรัฐบาลชุดนั้นถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท แล้วถูกศาลตัดสินว่ากระทำผิดในฐานหมิ่นประมาท เห็นรอลงอาญากันอยู่หลายคดี มิหนำซ้ำผู้กล่าวหารัฐบาลชุดนั้นยังถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเสีย เองด้วย
จาก วันรัฐประหารมาถึงวันนี้ เราจะพบว่าโดยรวมแล้วไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นประบรมเดชานุภาพจนคดีถึงที่สุดจำนวนน้อยมาก แต่ที่เป็นความเสียหายอย่างยิ่งก็คือ ใน 4 ปีมานี้ได้เกิดการอ้างความจงรักภักดีและการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงข้ามมากขึ้นเรื่อยๆ
ข้อกล่าวหาว่า “หมิ่นเหม่” เมื่อก่อนรัฐประหารหรือในขณะรัฐประหารกลายมาเป็นข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งมักใช้กล่าวหากันลอยๆ แบบเหวี่ยงแหแต่เอาเข้าจริงกลับดำเนินคดีกับใครน้อยมาก
ในปีที่ 4 การกล่าวหายิ่งยกระดับรุนแรงมากยิ่งขึ้น มาสู่ข้อหาล้มเจ้าล้มสถาบัน ซึ่งก็เช่นเดียวกัน จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการ และไม่มีการชี้แจงว่าองค์ประกอบความผิดในข้อหาล้มสถาบันคืออย่างไร แต่รัฐบาลนี้กลับกล่าวหาว่ามีขบวนการล้มล้างสถาบัน คนที่ถูกกล่าวหาส่วนใหญ่ก็คือแกนนำของขบวนการที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นขบวนการที่เชื่อกันว่ามีประชาชนสนับสนุนเป็นล้านๆ
แน่ นอนว่าถ้าหากมีการดำเนินคดีกันจริงๆ ก็จะพบว่าประชาชนเป็นจำนวนล้านๆ นั้นไม่มีใครที่จะไม่จงรักภักดีหรือคิดที่จะล้มล้างสถาบัน และใครๆ ก็รู้ว่าไม่เป็นความจริง เป็นเพียงการใส่ร้ายกันทางการเมือง แต่รัฐบาลนี้ก็ได้ประกาศโพนทะนาไปทั่วโลกแล้วว่า ขณะนี้ในประเทศไทยมีขบวนการที่มีประชาชนสนับสนุนเป็นล้านๆ มีความคิดการกระทำที่จะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
4 ปีนี้สถานการณ์จึงเลวร้ายกว่าเดิมมาก จากการที่คณะรัฐประหารบอกว่ามีการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อ 19 กันยายน 2549 มาถึงวันนี้กลายเป็นการกล่าวหาโดยรัฐบาลปัจจุบันกับพวกว่ามีขบวนการที่มีคน เป็นล้านสนับสนุนอยู่ มีการกระทำที่เป็นการล้มล้างสถาบันไปแล้ว
เพราะฉะนั้น 4 ปีมานี้ต้องสรุปว่าการอ้างการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือ ทำลายฝ่ายตรงข้าม กำลังทำให้เกิดความเสื่อมเสียและความเสียหายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เสียเอง ทั้งๆที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ทั้ง สิ้น
“การ แทรกแซงองค์อิสระ” ถูกใช้เป็นข้ออ้างหนึ่งของการรัฐประหารคือ อ้างว่ามีการแทรกแซงองค์กรอิสระจึงต้องทำรัฐประหาร เหตุการณ์ผ่านพ้นไป 4 ปี เราพบว่าขณะนี้ไม่มีองค์อิสระ มีแต่องค์กรที่มีสังกัด องค์กรเหล่านี้ประเภทหนึ่งมาจากการสรรหาโดยองค์กรหรือบุคคลที่ไม่มีการ เชื่อมโยงกับประชาชนเลย กับอีกประเภทหนึ่งเป็นองค์กรที่ผู้รับผิดชอบมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐ ประหาร ซึ่งควรจะพ้นหน้าที่ไปนานแล้ว แต่ได้อาศัยบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญ ทำให้ยังสามารถมีอำนาจหน้าที่ต่อมาจนถึงปัจจุบัน และยังมีอำนาจหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะหมดวาระในอีกหลายปีข้างหน้า
ช่วงเวลา 4 ปีมานี้ จะเห็นได้ชัดว่าองค์กรตามรัฐธรรมนูญหลายองค์กรอยู่ในสภาพลงเรือลำเดียวกัน กับผู้มีอำนาจและรัฐบาล เมื่อลงเรือลำเดียวกันแล้วก็ต้องช่วยกัน ทำให้ขาดความน่าเชื่อถืออย่างรุนแรง ในช่วงหลังเราก็จะเห็นองค์กรอย่าง ปปช. ปล่อยให้คดีใหญ่บางคดีหมดอายุความไป คดีใหญ่ๆอีกหลายคดีในรัฐบาลอื่นๆไม่มีความคืบหน้า จะมีคืบหน้าก็เฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลก่อนการยึดอำนาจ กับรัฐบาลที่ถูกมองว่าเป็นพวกเดียวกันกับรัฐบาลก่อนการยึดอำนาจเท่านั้น
สภาวะ อย่างนี้นำไปสู่การประเมินผลจากการรัฐประหารตามข้ออ้างต่อไปคือ การทุจริตคอรัปชั่น จากการจัดอันดับขององค์การเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศ (Transparency International) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านปัญหาคอร์รัปชั่น จะพบว่าในสายตาขององค์กรระหว่างประเทศที่ใช้มาตรฐานสากล เขาจะมองว่าอันดับความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นของ ประเทศไทยนั้นตกลงอย่างมากหลังการรัฐประหาร กลับกระเตื้องขึ้นบ้างเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในช่วงแรก พอมีการเปลี่ยนรัฐบาล มีการเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงของผู้มีอำนาจและกองทัพ จนได้รัฐบาลปัจจุบัน ความน่าเชื่อถือในการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นก็ลดต่ำลงไปอีก
แต่ในสายตาของผู้คนในสังคมไทยนั้น ผมคิดว่ามาถึงรอบปีที่ 4 หลังรัฐประหาร คนจำนวนมากน่าจะมาถึงจุดที่มีข้อสรุปอย่างชัดเจนว่ามีการทุจริตคอรัปชั่นมากมายเหลือเกิน
ที่ น่าสนใจคือข้อสรุปของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการต่อต้านรัฐบาลก่อนการรัฐประหาร ล่าสุดกลับสรุปว่ารัฐบาลปัจจุบันโกงยิ่งกว่ายุคทักษิณหรือแย่กว่ายุคทักษิณ
ยุค ทักษิณจะโกงแค่ไหนนั้น มาถึงปัจจุบันนี้ไม่มีทางจะพิสูจน์ด้วยกระบวนการยุติธรรมที่น่าเชื่อถืออีก ต่อไปแล้ว เพราะกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นได้ถูกคณะรัฐ ประหารก้าวก่ายแทรกแซง ด้วยการตั้งองค์กรอย่างคตส.ขึ้นมาทำหน้าที่ในการสอบสวน จนทำให้กระบวนการนี้หมดความน่าเชื่อถือ และไม่มีทางพิสูจน์เสียแล้วว่ารัฐบาลทักษิณโกงมากน้อยแค่ไหน
แต่ การที่แม้แต่ผู้ที่เห็นว่ารัฐบาลทักษิณโกงมากๆนั้น วันนี้ก็ยังมาสรุปว่ารัฐบาลยุคปัจจุบันนี้แย่กว่ายุคทักษิณนั้นย่อมแสดงถึง ความล้มเหลวของการรัฐประหาร และสะท้อนว่าเขาต้องเห็นว่ารัฐบาลปัจจุบันนี้มีการทุจริตมากจริงๆ จึงไม่น่าแปลกใจเลยถ้าจะมีคนจำนวนมากขึ้นๆทุกทีๆ ที่ได้ข้อสรุปว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันนี้โกงยิ่งกว่ายุคสมัยใดๆที่ผ่านมา
เหตุใดจึงมีการคอรัปชั่นได้มากมายนัก
สาเหตุ สำคัญที่ทำให้การทุจริตคอรัปชั่นงอกงามอย่างมากในปัจจุบัน และมีแนวโน้มจะมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เพราะว่า ขณะนี้องค์กรที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นกับรัฐบาลและผู้มี อำนาจในปัจจุบันนี้อยู่ในสภาพถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อผู้ถูกตรวจสอบและผู้ตรวจสอบเป็นพวกเดียวกันเสียแล้ว ก็เป็นธรรมดาที่มีแนวโน้มที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายจะทุจริตคอรัปชั่นมากขึ้น เป็นธรรมดา
ทั้งหมดนี้เป็นการประเมินผลของการรัฐประหาร จากข้ออ้างที่ใช้ในการทำรัฐประหารเอง แต่หลังจากการรัฐประหารมา 4 ปี เราจะพบว่าการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 มีลักษณะพิเศษประการหนึ่งที่แตกต่างจากการรัฐประหารในอดีตก็คือ การรัฐประหารในอดีตนั้นมักจะสิ้นสุดลงในทางใดทางหนึ่ง แบบหนึ่งคือเมื่อรัฐประหารแล้ว คณะผู้รัฐประหารนั้นก็มีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ ปรามปราบการต่อสู้ของประชาชนลงไป ประชาชนแม้จะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารก็ต่อต้านคัดค้านด้วยความยากลำบาก และมีจำนวนไม่มาก เรียกได้ว่าคณะรัฐประหารสามารถปกครองบ้านเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จต่อไปอีก เป็นเวลานานๆ
อีก แบบหนึ่งก็คือ รัฐประหารแล้วคณะรัฐประหารมีอำนาจอยู่ได้ไม่นานก็ถูกประชาชนลุกขึ้นมาต่อ ต้าน จนกระทั่งบ้านเมืองต้องเปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตย แต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นี้ มีลักษณะพิเศษคือ เมื่อรัฐประหารแล้วยังมีความขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายผู้มีอำนาจที่ทำการรัฐประหารและผู้สนับสนุนยังคงมีกระบวนการทำให้ประเทศ ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันก็มีการต่อสู้คัดค้านการรัฐประหาร ต่อสู้เพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
การ ต่อสู้ของประชาชนนี้สะท้อนให้เห็นจากผลการเลือกตั้งทั่วไปหลังการรัฐประหาร ซึ่งปรากฏว่าพรรคการเมืองที่ไม่เห็นดีเห็นงามกับรัฐประหารชนะการเลือกตั้ง และสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ขณะเดียวกันก็เกิดการเคลื่อนไหวต่อสู้ของประชาชนที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ผ่านการรัฐประหารไป 4 ปี บ้านเมืองยังอยู่ในสภาวะชักกะเย่อระหว่างสองฝ่าย ไม่แพ้ชนะกันไปทางใดทางหนึ่ง
จาก การที่บ้านเมืองอยู่ระหว่างการชักกะเย่อทั้งสองฝ่ายไม่แพ้ชนะกันไปทางใดทาง หนึ่งนั้น ฝ่ายที่ยึดอำนาจและผู้สนับสนุนก็ยังคงมีกระบวนการทำให้ประเทศไม่เป็น ประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง มีผลทำให้ประเทศอยู่ในภาวะชะงักงันล้าหลังอย่างมาก
ใน 4 ปีมานี้เครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการที่ทำให้ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตยที่สำคัญและควรกล่าวถึงคือ กระบวนการยุติธรรมและกองทัพ
หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กระบวนการยุติธรรมได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในกระบวนการทำให้บ้านเมืองไม่เป็น ประชาธิปไตยอย่างมาก อาจจะเรียกได้ว่ามากกว่ายุคสมัยใดๆ
ในอดีตเครื่องมือที่สำคัญที่ใช้ในการรัฐประหารและการรักษาอำนาจของคณะรัฐประหารไว้คือกองทัพ แต่การรัฐประหารเมื่อ 19 กันยา 2539 นี้ มีลักษณะพิเศษคือ ทั้งก่อนและหลังการรัฐประหาร มีการใช้ “กระบวนการยุติธรรม”มาเป็นเครื่องมือมือในการทำให้บ้านเมืองไม่เป็น ประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง มีกรณีที่ตอกย้ำความเป็นสองมาตรฐานซ้ำแล้วซ้ำเล่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรอบปีที่ผ่านมา มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมในขั้นตอนต่างๆอย่างเป็นระบบมากที่สุด สะท้อนออกที่ผลของการดำเนินคดีที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ระหว่างการดำเนินคดีกลุ่มพันธมิตรและพวกเสื้อเหลือง กับกลุ่มนปช.และคนเสื้อแดง
4 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นว่าการนำเอากระบวนการยุติธรรมเข้ามาจัดการกับ ปัญหาการเมืองภายใต้แนวความคิด“ตุลาการภิวัฒน์”นั้น ไม่เพียงจะไม่สามารถแก้วิกฤตทางการเมืองได้แล้วยังทำให้วิกฤติหนักหนายิ่ง ขึ้น และที่สำคัญยังส่งผลกระทบต่อระบบยุติธรรมเองอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเป็น“วิกฤต ระบบยุติธรรม”ไปแล้ว
เมื่อครบรอบ 4 ปีก็จะพบว่าจากแนวความคิดที่ต้องการจะส่งเสริมบทบาทของฝ่ายตุลาการให้มี บทบาทมากขึ้นนั้น นอกจากเราจะพบเห็นการที่ฝ่ายตุลาการเข้ามาบทบาทก้าวก่ายแทรกแซงทางการ เมืองอย่างมากแล้ว สังคมยังมีข้อสงสัยและความวิตกกังวลเกี่ยวกับบทบาทของฝ่ายตุลาการที่กำลังมี ต่อการบริหารประเทศอีกด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นกับโครงการมาบตาพุดก็ดี การประมูล 3G ก็ดี ทำให้มีข้อสงสัยอย่างมากว่าสังคมไทยเราควรจะให้การตัดสินใจเกี่ยวกับการ บริหารประเทศอยู่ในอำนาจหน้าที่ของฝ่ายตุลาการมากน้อยเพียงใดกันแน่
เครื่อง มือที่สองที่ถูกนำมาใช้อย่างมากคือ “กองทัพ” กองทัพนั้นมีบทบาทในการรัฐประหาร รักษาอำนาจของรัฐประหาร รักษาระบบเผด็จการมาตลอด หลังจากความล้มเหลวของรสช.เมื่อ 19 ปีก่อน กองทัพก็ต้องกลับเข้ากรมกองไม่มีบทบาททางการเมือง ไม่เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมือง
การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นจุดเริ่มต้นของการให้กองทัพเข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมืองอย่างในอดีตอีกครั้งหนึ่ง
หลัง จากมีรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้งแล้ว ถึงแม้กองทัพและผู้นำกองทัพจะพยายามแสดงตัวว่าไม่ต้องการเข้ามาก้าวก่ายแทรก แซงทางการเมือง แต่ผ่านไป 4 ปี บทบาทของกองทัพก็ชัดเจนยิ่งขึ้นทุกที จนกระทั่งในรอบปีที่ 4 นี้ บทบาทของกองทัพก็มีความชัดเจนอย่างไม่มีใครเคลือบแคลงสงสัยอีกต่อไปว่า กองทัพได้เข้ามาก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมือง มีบทบาทในการกำหนด การดำรงอยู่ หรือการจะมาจะไปของรัฐบาล
ผู้ นำกองทัพมีบทบาทอย่างมากในการล้มรัฐบาลสมัครและรัฐบาลสมชาย เมื่อรัฐบาลทั้งสองล้มไปด้วยกลไกตามรัฐธรรมนูญ ผู้นำกองทัพก็มีบทบาทเป็นเจ้ากี้เจ้าการในการจัดตั้งรัฐบาลปัจจุบัน ในหนึ่งปีที่ผ่านมานี้ กองทัพได้แสดงพลังให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นผู้ค้ำจุนรัฐบาลปัจจุบันให้ สามารถเป็นรัฐบาลต่อไปได้ ผู้นำกองทัพที่เคยบอกว่า "ขอวางตัวเป็นกลาง การเมืองแก้ด้วยการเมือง" อันที่จริงก็ได้แสดงในเห็นมาตั้งแต่ปีก่อนแล้วว่านั่นเป็นเพียงการพูดให้ดูสวยหรูเท่านั้น
มาในรอบปีที่ 4 กองทัพยิ่งได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคำพูดที่ว่า "ขอวางตัวเป็นกลาง การเมืองต้องแก้ปัญหาด้วยการเมือง" เป็นเพียงการหลอกให้ตายใจ เพราะในทางความเป็นจริง กองทัพก็ได้เข้ามาทำหน้าที่ในการปราบปรามประชาชน ทำให้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากเพื่อจะรักษาค้ำจุนรัฐบาลปัจจุบันไว้ เป็นการยืนยันอย่างชัดเจนว่าผู้นำกองทัพได้นำกองทัพกลับมามีบทบาททางการ เมืองอย่างโจ่งแจ้งที่สุดอีกครั้งหนึ่ง
ผู้ นำกองทัพได้ก้าวมาอยู่ในจุดที่มีอำนาจทางการเมืองอย่างมาก ทั้งยังได้รับความเกรงใจ ได้รับการเพิ่มงบประมาณทางทหารมากขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยที่การใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพก็มีปัญหาการทุจริต ขาดการตรวจสอบให้ได้ยินกันอยู่เนืองๆ
นอกจากนั้นในโอกาสครบรอบ 4 ปีของการรัฐประหารก็เป็นช่วงเวลาพอดีกันกับการที่จะมีการตั้งผู้นำกองทัพชุด ใหม่ ซึ่งก็ปรากฏว่ากลุ่มบุคคลที่เชื่อกันว่ามีแนวความคิดนิยมใช้ความเด็ดขาดใน การปราบปรามประชาชน หรือที่เรียกกันว่า “สายเหยี่ยว” กำลังจะก้าวเข้ามาเป็นผู้มีอำนาจอย่างแท้จริงในกองทัพด้วย
ในปีที่ 4 หลังการรัฐประหารยังเป็นปีที่กองทัพมามีบทบาทอย่างมาก ทั้งในการรักษากฎหมายและการใช้อำนาจในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และปราบปรามประชาชน ภายใต้อำนาจตามพระราชกำหนดสถานการฉุกเฉิน การลิดรอนสิทธิเสรีภาพและการปราบปรามที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นทั้งๆที่ผู้นำ กองทัพในขณะนั้นพยายามแสดงตัวว่าต้องการเป็นกลางและไม่ต้องการปราบปราม ประชาชน แต่การปราบปรามอย่างทารุณโหดเหี้ยมก็ได้เกิดขึ้น จึงน่าสนใจว่า ต่อจากนี้ไปเมื่อผู้นำกองทัพมาจากสายเหยี่ยวแล้ว ภายใต้พรก.ฉุกเฉินที่ให้อำนาจล้นฟ้าแก่กองทัพ ในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพและปราบปรามประชาชน บทบาทของกองทัพจะถูกผู้นำทำให้เลวร้ายยิ่งกว่าเดิมมากน้อยเพียงใด
การ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพที่ชัดเจนประการหนึ่งคือ รัฐบาลนี้ได้อ้างพรก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ แถลงเป็นผลงานการปิดเว็บไซด์ด้วยการอ้างว่าเว็บเหล่านี้หมิ่นสถาบัน มากถึง 43,000 เว็บไซด์ และที่จะปิดอีก 3,000 เว็บไซด์ แต่ไม่มีรายละเอียดการแจ้งข้อกล่าวหาหรือการจับกุมใดๆ
กระบวนการที่ต่อเนื่องจากการรัฐประหารใน 4 ปีมานี้ได้พิสูจน์ว่า การรัฐประหารนั้นไม่ได้เป็นการถอยหลังชั่วคราวเพื่อก้าวไปสู่ความเป็น ประชาธิปไตย แต่กระบวนการที่ต่อเนื่องจากรัฐประหารที่ได้ทำให้ประเทศไทยมาอยู่ในจุดที่มี ระบบการปกครองที่เป็นเผด็จการที่สมบูรณ์แบบที่สุด จนเรียกได้ว่าเป็นระบอบการปกครองที่เผด็จการที่สุดในรอบ 30 - 40 ปีที่ผ่านมา
ระบบ การปกครองแบบนี้ได้เกิดการผนึกกำลังและประสานกันเป็น “เครือข่ายเผด็จการของอำมาตย์และบริวาร”ขึ้น ในเครือข่ายนี้มีกลไกที่สำคัญๆหลายอย่าง ได้แก่ (๑) กองทัพ เป็นกำลังสำคัญในการรักษาอำนาจเผด็จการไว้ ค้ำจุนรัฐบาล ปราบประชาชน (๒) อำมาตย์ มีบทบาททั้งในการชี้นำทิศทางในการบงการ สนับสนุนเครือข่ายนี้ (๓) รัฐบาลพลเรือน มีนายกรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ส. ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการ รวมทั้งเป็นโฆษกประชาสัมพันธ์ให้แก่เครือข่ายเผด็จการนี้ (๔) สื่อกระแสหลัก ที่นำโดยสื่อหัวหอก เป็นกำลังสำคัญในการสร้างความชอบธรรมให้กับเครือข่ายนี้ ซึ่งก็มีข้อน่าสังเกตว่า ในช่วงหลังของรอบปีที่ 4 นี้ สื่อกระแสหลักหลายส่วนก็เริ่มมีบทบาทที่เปลี่ยนไป ไม่ยินยอมเป็นเครื่องมือหรือสนับสนุนเครือข่ายนี้อีกต่อไป
(๕) ผู้มีบารมีทางสังคม โดยเฉพาะปัญญาชนชั้นนำและผู้ที่เป็นที่ยอมรับจากภาคประชาสังคม กลุ่มนี้ทำหน้าที่ใช้ความมีบารมีน่าเชื่อถือของตนเอง ในการสร้างความชอบธรรม ค้ำจุนเครือข่ายเผด็จการนี้ (๖) องค์กรตามรัฐธรรมนูญและตุลาการภิวัฒน์ และ (๗) กองกำลังนอกสภาที่ไม่ต้องเกรงกลัวกฎหมาย เนื่องจากได้รับอภิสิทธิ์พิเศษอย่างพันธมิตรฯ
เครือข่ายเผด็จการนี้มีที่มาของอำนาจที่สำคัญ 2 ทาง คือ (๑) รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีเนื้อหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และ (๒) พระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพและปราบปรามประชาชน ในลักษณะที่เป็นการยกเว้นมาตราบางมาตราในรัฐธรรมนูญ หรือถ้าใช้นานๆ ก็มีผลเหมือนกับการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นเผด็จการยิ่งขึ้นนั่นเอง
จะเห็นว่าเครือข่ายเผด็จการของอำมาตย์และบริวารซึ่งเป็นผลิตผลของการพัฒนาต่อเนื่องมาจากรัฐประหารกันยา 2549 เป็นเครือข่ายที่ใหญ่โต เข้มแข็ง และทรงอำนาจอย่างยิ่ง เครือข่ายนี้กำลังเป็นผู้กำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง ในเฉพาะหน้าก็คือการกระชับอำนาจเผด็จการ ปราบปรามประชาชน เพื่อให้แน่ใจว่าเครือข่ายนี้จะสามารถรักษาระบบการปกครองที่เป็นเผด็จการนี้ ให้ยั่งยืนมั่นคง และสามารถกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองได้ตามต้องการต่อไปได้
แต่ ขณะเดียวกัน ระบบการปกครองที่เป็นเผด็จการแบบนี้หรือเครือข่ายเผด็จการที่เข้มแข็งนี้ กลับเป็นเครือข่ายที่มีความอ่อนแออย่างมากในเชิงอุดมการณ์ กลายเป็นเครือข่ายที่ดูเหมือนเข้มแข็งแต่ข้างในกลวง เปราะบางอย่างยิ่ง เนื่องจากอุดมการณ์ที่เครือข่ายนี้ยึดถืออยู่เป็นอุดมการณ์ที่เป็นเผด็จการ ไม่ได้ยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตย ไม่ได้ยืนอยู่บนหลักการความยุติธรรม และยังมีแนวความคิดที่ล้าหลังในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ
อุดมการณ์ ของเครือข่ายนี้จึงเป็นอุดมการณ์ที่ล้าหลังและไม่สอดคล้องกับการพัฒนาของโลก และไม่สอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศ ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ และด้วยเหตุนี้เองทำให้ความพยายามที่จะสร้างระบบการปกครองที่เป็นเผด็จการ สมบูรณ์แบบนั้น ไม่สามารถเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ได้
แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะทำให้บ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องมา 4 ปี แต่ปรากฏว่าพลังประชาธิปไตยกลับยังคงเข้มแข็ง ไม่ได้สูญหายไป บ้านเมืองยังคงอยู่ในภาวะชักกะเย่อกันต่อไป แม้เครือข่ายเผด็จของอำมาตย์และบริวารจะเข้มแข็ง แต่ก็อยู่ในสภาพที่กินอีกฝ่ายหนึ่งไม่ลง ปราบอีกฝ่ายหนึ่งไม่หมด
พรรค การเมืองที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย นอกจากจะไม่ได้ถูกทำลายจนหมดสิ้นไปอย่างที่ผู้มีอำนาจต้องการแล้ว ยังมีศักยภาพจนเป็นที่วิตกของผู้มีอำนาจอีกด้วย นอกจากนี้สิ่งที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายไม่ได้คาดคิดมาก่อนก็คือการเติบโตของ “กลุ่มพลังประชาธิปไตย” ที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว
แน่นอนว่าในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา จากเหตุการณ์การชุมนุมนับจากเดือนมีนาคม - 19 พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา การต่อสู้ของประชาชนนี้ต้องเพลี่ยงพล้ำได้รับความเสียหายไปไม่น้อย แต่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยนี้ก็ยังคงมีพลัง เพียงแต่ต้องการการสรุปบทเรียนและการการกำหนดยุทธศาสตร์ขึ้นใหม่ให้ชัดเจน ถูกต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ยิ่งขึ้น
ที่ สำคัญคือทั้งพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วย ไม่เห็นดีเห็นงามไปกับระบบการปกครองที่เป็นเผด็จการก็ดี การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนก็ดี มีจุดแข็งที่สำคัญก็คือ มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย
ประเด็น ที่ “กลุ่มพลังประชาธิปไตย”เหล่านี้เสนออยู่ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน คือเสนอให้บ้านเมืองนี้เป็นประชาธิปไตย มีความยุติธรรม และต้องการให้บ้านเมืองนี้พัฒนาก้าวหน้าอย่าง สอดคล้องกับการพัฒนาของโลก และให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ คือให้ประชาชนส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ก็คือให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นเจ้าของประเทศได้รับความยุติธรรม รับความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมกันและเจริญก้าวหน้าไป มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เพราะฉะนั้นเราอาจประเมินผลของการรัฐประหารและกระบวนการที่ต่อเนื่องจากการรัฐประหารในรอบ 4 ปีว่า หากพิจารณาตามข้ออ้างของคณะรัฐประหารนั่นเองต้องถือว่าล้มเหลวในทุกด้าน นอกจากนั้นสังคมยังถูกผลักให้มาอยู่ในจุดที่ยังมีความขัดแย้ง ยังมีวิกฤตที่เข้มข้นหนักหนากว่าเดิม วิกฤตนี้นำไปสู่ความรุนแรง และมีแนวโน้ม มีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจากการย่ามใจของผู้มีอำนาจที่จะปราบปรามประชาชนได้โดยเสรี และจากการที่ประชาชนจำนวนหนึ่งอาจเลิกหวังพึ่งระบบ และหันไปหาวิธีการต่อสู้ด้วยวิธีต่างๆ ทำให้ประเทศไทยต้องอยู่ในสภาพที่มีการปกครองที่ล้าหลังอย่างยิ่ง และเครือข่ายกระบวนการที่ต้องการทำให้ประเทศไทยล้าหลังไม่เป็นประชาธิปไตย นี้ยังคงเดินหน้าต่อไป
ใน ขณะที่ประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตย มีอุดมการประชาธิปไตย มีจุดแข็งของการที่ยืนอยู่กับหลักการประชาธิปไตย ความยุติธรรม และความเจริญก้าวหน้าของสังคม ก็ยังคงเดินหน้าที่จะผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยต่อไป สภาพนี้ยังคงดำรงอยู่ต่อไป ไม่แพ้ชนะกันไปข้างหนึ่งง่ายๆ ไม่มีทางทำให้บ้านเมืองไปสู่จุดสมดุลย์ ชนิดที่ฝ่ายหนึ่งแพ้ ฝ่ายหนึ่งชนะไปได้ง่ายๆ
ที่แน่ๆคือ 4 ปีมานี้ ประเทศไทยได้ล้าหลังไปมาก และสังคมไทยได้เสียโอกาสไปมาก ถ้ายังคงปล่อยให้บ้านเมืองอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างนี้ มีความขัดแย้งเผชิญหน้ากันอยู่อย่างนี้ โดยไม่หาทางออกที่เป็นประชาธิปไตย ไม่มีกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยมาตัดสิน บ้านเมืองไทยก็จะล้าหลังต่อไป วิกฤตทางการเมืองก็จะยังคงอยู่ และเรายังจะมีโอกาสที่จะเผชิญกับความรุนแรงที่มากขึ้นด้วย
เรา จึงจำเป็นต้องพยายามหาทางออกจากวิกฤตนี้ โดยทำให้ประเทศกลับเข้าสู่ระบบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย และให้ประชาชนมามีส่วนร่วมตัดสินความเป็นไปของบ้านเมืองร่วมกัน