ที่มา ประชาไท
ชื่อบทความเดิม: ข้อเท็จจริงและมายาคติในบทความ “ช่องว่างรายได้ในสังคมไทย: ข้อเท็จจริงและมายาคติ (ตอนที่ 2)” โดย สมชัย จิตสุชน และจิราภรณ์ แผลงประพันธ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
หลังจากที่ดิฉันได้เขียนบทวิพากษ์บทความ “ช่องว่างรายได้ในสังคมไทย: ข้อเท็จจริงและมายาคติ (ตอนที่1)" [1] ของสมชัย จิตสุชน และจิราภรณ์ แผลงประพันธ์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ คุณสมชัยได้เขียนบทโต้แย้งต่อบทวิพากษ์ของดิฉัน [2] และเผยแพร่บทความตอนที่ 2 [3] ดิฉันขอขอบคุณคุณสมชัยที่สละเวลามาชี้แจงและให้ความรู้ในที่สาธารณะ ดิฉันได้อ่านบทโต้แย้งและบทความตอนที่ 2 แล้ว พบว่าทั้งบทโต้แย้งและบทความดังกล่าวยังมีความสับสนระหว่างข้อเท็จจริงและ มายาคติ จึงเขียนบทวิพากษ์ฉบับทึ่ 2 เพื่อแลกเปลี่ยนกับคุณสมชัย และเพื่อให้ผู้อ่านได้ร่วมวิเคราะห์ด้วยกัน
ข้อเท็จจริง 1. สถิติที่ได้มาตรฐานสากลคือสถิติที่ถูกนำไปใช้ในงานวิจัยและผลการวิจัยได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการในต่างประเทศ
หลังจากที่คุณสมชัยยอมรับว่าตัวเลข 0.43 ไม่ใช่ตัวเลขดัชนีจินีที่สหประชาชาติใช้ในรายงาน คุณสมชัยแย้งว่าดัชนีจินีคำนวณได้ 2 แบบ คือฐานรายได้และฐานรายจ่าย และนำดัชนีจินีที่คำนวณด้วยฐานรายจ่าย 7 ปีระหว่างปี 1992-2009 มาให้ดูว่าอยู่ระหว่าง 0.40-0.45 เพื่อสนับสนุนว่าตัวเลข 0.43 ได้“มาตรฐานสากล” ดิฉันเดาว่าคุณสมชัยหมายความว่าค่าเฉลี่ยของ 0.40 และ 0.45 ตกประมาณ 0.43 มีข้อสังเกตว่าข้อมูลหายไป 11 ปี
คุณสมชัยถามดิฉันว่า “ส่วนการที่ อ.กานดาสรุปว่าสหประชาชาติไม่เชื่อฐานข้อมูลธนาคารโลกนั้นไม่ทราบว่าสรุปจากหลักคิดอะไร” ดิฉันขอตอบว่าหลักการความน่าจะเป็น (Probability theory) ซึ่งเป็นหลักการสากลอันเป็นพื้นฐานของวิชาสถิติ (Statistics) และเศรษฐมิติ (Econometrics)
ด้วยหลักการความน่าจะเป็น ไม่มีสถิติที่ถูกต้อง 100% กล่าวคือ สถิติมีความผิดพลาดจากการวัด (Measurement error) ความผิดพลาดนี้มีสาเหตุสารพัด เช่น ผู้เก็บสถิติเลินเล่อ ผู้บันทึกสถิติเข้าฐานข้อมูลเลินเล่อ กลุ่มสำรวจไม่ให้ข้อมูลจริงทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา ฯลฯ ดังนั้นนักวิจัยต้องตรวจสอบสถิติจากฐานข้อมูลต่างๆทั้งก่อนและหลังนำไปใช้
ดิฉัน คิดว่าข้อโต้แย้งของคุณสมชัยตั้งอยู่บนความเข้าใจผิดว่าสถิติที่ผลิตโดย องค์กรระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลกหรือสหประชาชาติคือสถิติที่ได้มาตรฐาน สากล ดิฉันขอชี้แจงว่าสถิติที่ผลิตโดยองค์กรระหว่างประเทศไม่ได้กลายเป็นสถิติ มาตรฐานสากลโดยอัตโนมัติ เพราะสถิติมีความผิดพลาดจากการวัดดังที่ดิฉันได้อธิบายไปแล้ว กระบวนการสร้างสถิติที่ได้มาตรฐานสากลไม่จบลงที่การผลิต ก่อนนักวิจัยนำสถิติไปใช้ต้องตรวจสอบว่าสถิติมี outlier หรือไม่ นิยามของสถิติมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาที่เก็บข้อมูลหรือไม่ ฯลฯ เมื่อใช้สถิติแล้วผลงานวิจัยต้องได้รับการตรวจสอบเพื่อเผยแพร่ในวารสาร วิชาการต่างประเทศที่มีกองบรรณาธิการเป็นกลุ่มอาจารย์หรือนักวิจัยที่มีผล งานยอมรับในวงกว้าง
สถิติ เป็นสินค้าชนิดหนึ่ง การผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยีต่างชาติ (ในที่นี้คือวิธีคำนวณดัชนีจินีและวิธีการที่สนับสนุนโดยสหประชาชาติและ ธนาคารโลก) โดยใช้แรงงานและวัตถุดิบในประเทศ (ในที่นี้คือสถาบันสถิติแห่งชาติและกลุ่มสำรวจ) ไม่ใช่การรับประกันว่าสินค้ามีคุณภาพ สินค้าที่ได้มาตรฐานสากลคือสินค้าที่ผลิตแล้วส่งออกไปตีตลาดโลกได้ ด้วยเหตุนี้องค์กรระหว่างประเทศที่ผลิตสถิติร่วมกับสำนักงานสถิติในแต่ละ ชาติจึงทำรายงานเพื่อเสนอสถิติใหม่ให้นักวิจัยใช้ เมือผลงานวิจัยได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในต่างประเทศก็จบกระบวนการสร้าง สถิติที่ได้มาตรฐานสากล
มี สถิติด้านการพัฒนามากมายที่ไม่ได้ผลิตโดยองค์กรระหว่างประเทศแต่ได้มาตรฐาน สากล หลายอย่างเกิดก่อนธนาคารโลกหรือสหประชาชาติ รวมทั้งสถิติเกี่ยวกับไทย[4] ธนาคารโลกและสหประชาชาติมีอายุเพียง 65 ปี แต่วารสารวิชาการไม่ว่าสาขาสถิติและเศรษฐศาสตร์มีอายุเป็นศตวรรษ แม้แต่การก่อตั้งธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศก็ยังมีอาจารย์ เศรษฐศาสตร์ร่วมวางรากฐานองค์กร ผู้บริหารฝ่ายวิจัยและผู้บริหารระดับสูงบางคนเป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่มี ตำแหน่งประจำในมหาวิทยาลัย
เพื่อยกตัวอย่างประกอบ ดิฉันขอยกเอารูปจากรายงาน Thailand Human Development Report 2009 ที่ดิฉันประกอบในบทวิพากษ์ฉบับที่ 1 มาให้ดูอีกครั้ง ดิฉันเขียนชัดเจนในบทวิพากษ์ฉบับที่ 1 แล้วว่าข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่อาจารย์เศรษฐศาสตร์ใช้ โปรดสังเกตว่าใต้รูปนี้อ้างอิงที่มาว่า Hal Hill แห่ง ANU หรือมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australia National University) Hal Hill เป็นศาสตราจารย์ที่มีผลงานในวารสารวิชาการจำนวนมาก [5] ดิฉันจึงไม่แปลกใจว่าสหประชาชาติใช้ข้อมูลจากเขาแทนที่จะใช้ข้อมูลในฐานข้อมูลธนาคารโลก
รูปที่ดิฉันนำมาให้ดูอีกครั้งมีความสำคัญเท่ากับตาราง A1.4 ซึ่งคุณสมชัยมีส่วนร่วมจัดทำร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติและสหประชาชาติ ดิฉันใช้ตาราง A1.4 เพื่อเช็คว่าสอดคล้องกับรูปนี้หรือไม่ ถ้าไม่ตรงกันดิฉันจะสงสัยว่ารายงานของสหประชาชาติฉบับนี้ไม่ได้มาตรฐานสากล และต้องสอบถามผู้ผลิตรายงานที่สหประชาชาติว่าทำไมข้อมูลมี error มาก
ถ้า สหประชาชาติใช้ดัชนีจินีในฐานข้อมูลจากธนาคารโลกแทนที่จะใช้สถิติในรูปนี้ ดัชนีจินีที่ขาดๆหายๆแม้จะคิดค่าเฉลี่ยได้แต่ค่าเฉลี่ยไม่มีความหมายทาง สถิติเพราะมี error มาก นอกจากนี้ การประเมินผลของการพัฒนาต้องประเมินด้วยการ“เปลี่ยนแปลง”ในระยะเวลาหลาย ทศวรรษ เราประเมินไม่ได้ด้วยค่าเฉลี่ยเพราะค่าเฉลี่ยเป็นตัวเลขเพียงตัวเดียว บทความดังกล่าวก็นำเสนอว่าสัดส่วนคนจนลดลงโดยไม่ใช้ค่าเฉลี่ยไม่ใช่หรือ? ถ้าข้อมูลขาดๆหายๆแล้วผู้เขียนหันไปใช้ค่าเฉลี่ยแทน บทความดังกล่าวก็จะเสนอไม่ได้ว่าสัดส่วนคนจนลดลง
เราตอบไม่ได้ว่าสถิติที่ธนาคารโลกทีดิฉันนำมาให้ดูในบทวิพากษ์ฉบับที่ 1 นั้นเป็นดัชนีจินีที่คำนวณจากฐานรายจ่ายที่สำนักงานสถิติแห่งชาติไทยหรือไม่ เนื่องจากปีที่มีข้อมูลก็ไม่ตรงกับข้อมูลที่คุณสมชัยยกมาทุกปี ยังมี error นอกจากนี้ข้อมูลที่คุณสมชัยยกมามีเพียง 7 ปีในเวลา 18 ปี ค่าเฉลี่ยก็ย่อมมี error มาก และไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ด้วยมิติเวลา แต่อาจจะมีประโยชน์ในการศึกษาผ่ากลาง (Cross-section study) มีประโยชน์จริงหรือไม่ก็ต้องให้มีคนเอาไปทำวิจัยแล้วเผยแพร่ในวารสารวิชาการ ต่างประเทศก่อนจึงจะกลายเป็นมาตรฐานสากล
ข้อเท็จจริง 2. ปัญหาหนี้เสียไม่จำกัดที่คนรายได้น้อย คนรายได้สูงก็มีปัญหาหนี้เสียจนทำให้เกิดวิกฤตการเงินมาหลายครั้งในประวัติ ศาสตร์เศรษฐกิจไทย
ตอนที่ 2 ของบทความอธิบายว่าสาเหตุหนึ่งของปัญหาช่องว่างรายได้คือ “นายธนาคารที่ใช้ความใกล้ชิดกับนักการเมืองแล้วขอให้รัฐบาลนำเงินงบประมาณมา ช่วยแก้ปัญหาของธนาคารในยามประสบความเดือดร้อน” ภายหลังเสนอว่า “ควรมีการปรับเปลี่ยนค่านิยมเพื่อลดการบริโภคนิยมในประชากรที่รายได้น้อยและ ไม่แน่นอนซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว”
ดิฉัน คิดว่าแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อเสนอสองมาตรฐาน เพราะไม่ได้เสนอด้วยว่า “ควรมีการปรับเปลี่ยนค่านิยมเพื่อลดการบริโภคนิยมในประชากรทีมีรายได้สูงโดย เฉพาะนายธนาคารซึ่งเป็นรากเหง้าของปัญหาหนี้เสียจนเกิดวิกฤตการเงิน”
นอก จากนี้การปรับเปลี่ยนค่านิยมไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจ แต่เป็นนโยบายด้านวัฒนธรรม เพราะหลักการเศรษฐศาสตร์มหภาคถือว่าค่านิยมหรือรสนิยมของคนในชุมชนเป็นสิ่ง ที่รัฐบาลเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เขาอาจจะเปลี่ยนรสนิยมเองแต่รัฐทำให้เขาเปลี่ยนไม่ได้ เศรษฐศาสตร์มหภาคให้อิสระผู้บริโภคตัดสินใจเลือกว่าจะบริโภคเท่าไรและทำงาน เท่าไร ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐศาสตร์จุลภาค ถ้ารัฐบาลอยากมีอิทธิพลกำหนดรายจ่ายของผู้บริโภคก็ต้องใช้ระบบภาษี ถ้าจะแก้ปัญหาหนี้เสียทั้งคนรายได้สูงและคนรายได้ต่ำก็ต้องแก้กฎเกณฑ์การควบ คุมธนาคารและสถาบันการเงิน และลงโทษผู้บริหารสถาบันการเงินที่รัฐบาลนำภาษีประชาชนไปช่วย
ข้อเท็จจริง 3. ในแบบจำลองด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Growth model) ไม่มีผู้นำการพัฒนาหรือผู้ตามการพัฒนา ปัจจัยการผลิตเคลื่อนไหวไปพร้อมๆกัน ไม่มีใครนำและไม่มีใครตาม
คุณ สมชัยตอบความเห็นของดิฉันที่ว่ากองทัพไทยคือกลุ่มทุนที่ไม่พัฒนาเทคโนโลยี ใดๆโดยเสนอว่ากองทัพก็คือ“ผู้นำการพัฒนา”แบบหนึ่งเหมือนกัน ตอนที่ 2 ของบทความดังกล่าวอธิบายถึงปัญหาที่มาจาก “ผู้นำการพัฒนา” ได้แก่ปัญหากรรมสิทธิ์ทีดินและปัญหาการผูกขาด แต่สุดท้ายก็ไม่นำเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินหรือเสนอให้ บังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาด ดิฉันแปลกใจว่ากล่าวถึงปัญหาเหล่านี้ทำไมถ้าไม่เสนอวิธีการแก้ปัญหาที่ตรง ประเด็น
ดิฉันแปลคำว่า “ผู้นำการพัฒนา”เป็นศัพท์เศรษฐศาสตร์ภาษาอังกฤษไม่ได้ เพราะแบบจำลองการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Growth model) เป็น General equilibrium กล่าวคือ ไม่มี”ผู้นำการพัฒนา”หรือ”ผู้ตามการพัฒนา” ในแบบจำลองเหล่านี้แรงงานและกลุ่มทุนเป็นปัจจัยการผลิตที่ดำเนินควบคู่กันไป พร้อมกันและตอบสนองนโยบายหรือปัจจัยภายนอกประเทศพร้อมๆกัน แม้ว่าทุนจะเคลื่อนไหวได้สะดวกกว่าแรงงานเพราะแรงเสียดทานในตลาดทุนน้อยกว่า แรงเสียดทานในตลาดแรงงาน แต่ทุนก็ไม่ได้ทุนเคลื่อนไหวก่อนแรงงาน ทุนเพียงแต่ตอบสนองต่อต้นทุนในปริมาณที่มากกว่าแรงงานตอบสนองต่อค่าแรงเท่า นั้น ส่วนการลงทุนก็มาจากการะดมเงินออมในประเทศผ่านระบบธนาคารและการกู้ยืมจาก ต่างประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่ไปพร้อมกัน ส่วนการพัฒนาเทคโนโลยีก็มาจากการสนับสนุนการวิจัยทั้งจากผู้ผลิตและรัฐบาล และต้องอาศัยแรงงานมีฝีมือในขณะเดียวกัน ดังนั้นปัจจัยการผลิตทุกฝ่ายมีบทบาทในการพัฒนาพร้อมกัน
ข้อเท็จจริง 4. การนำเสนอนโยบายทางสังคมต้องควบคู่ไปกับนโยบายการคลัง
ตอนที่ 2 ของบทความดังกล่าวเสนอแนวทางแก้ปัญหาทางสังคมหลายอย่าง เช่น “ทางด้านสังคม สังคมไทยต้องให้การศึกษาขั้นพื้นฐานที่ทั่วถึงและมีคุณภาพโดยเฉพาะการศึกษา ในระดับกลางและระดับสูง และควรมีระบบแนะแนวการศึกษาสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมที่กำลังเข้าสู่ระดับ อุดมศึกษาเพื่อให้สามารถเลือกวิชาที่ตรงกับความต้องการของตลาดหรือที่ตัวเอง สนใจอย่างแท้จริง”
ใน ความเป็นจริง“สังคมไทย”ไม่สามารถให้การศึกษาขั้นพื้นฐานได้ การให้การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหน้าที่ของ“รัฐบาล” ดังนั้นเราจึงหลีกเลี่ยงการนำเสนอนโยบายการคลังไม่ได้ ประเด็นคือทำอย่างไรให้งบประมาณการศึกษามากขึ้น? จะลดงบประมาณกระทรวงไหน? หรือว่าจะปฎิรูประบบภาษีเพื่อจัดเก็บภาษีแบบใหม่? บทความดังกล่าวไม่มีข้อเสนอทางการคลังเลย ทั้งตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ของบทความดังกล่าวไม่มีคำว่า“ภาษี”แม้แต่คำเดียว
ข้อเท็จจริง 5. เอ็นจีโอส่วนมากไม่ใช่ NGO แต่เป็นผู้รับเหมา
ตอนที่ 2 ของบทความดังกล่าวเสนอให้สนับสนุนองค์กรพัฒนาภาคเอกชนแล้ววงเล็บว่าเอ็นจีโอ (ขอไม่เรียกว่า NGO เพราะจะทำให้สับสน) ไม่เข้าใจว่าสนับสนุนอย่างไร? ให้งบประมาณเอ็นจีโอมากขึ้น? ดิฉันคิดว่าเราควรจำกัดบทบาทของเอ็นจีโอที่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล
เอ็นจีโอไทยส่วนมากคือผู้รับเหมา (Subcontractor) ทำโครงการทางสังคมโดยที่ไม่ต้องผ่านการประมูล แตกต่างจาก“องค์กรไม่ใช่รัฐบาล”หรือ Non-government organization (NGO) ในต่างประเทศ เพราะรัฐบาลต่างประเทศไม่ใช่ลูกค้าของ NGO เมื่อเอ็นจีโอไทยมีรายได้จากรัฐบาล การตรวจสอบ(หรือไม่ตรวจสอบ)รัฐบาลกลายเป็นเครื่องมือในการต่อรองกับรัฐบาล เพื่อผลประโยชน์จากโครงการรับเหมา ดังนั้นเอ็นจีโอจึงมีแรงจูงใจในการทุจริตสูงมาก และยังส่งเสริมการทุจริตในด้านอื่นๆเพราะไม่มีแรงจูงใจในการตรวจสอบรัฐบาล
ใน เมื่อเอ็นจีโอส่วนมากคือผู้รับเหมา เราก็น่าจะส่งเสริมให้มีการตรวจสอบเอ็นจีโออย่างโปร่งใส เพราะความโปร่งใสเป็นกลไกที่ช่วยป้องกันการทุจริต เช่น ให้เอ็นจีโอใส่ซองประมูลโครงการแข่งกับผู้รับเหมาอื่นๆ เปิดเผยรายได้ของกรรมการบริหารของเอ็นจีโอในส่วนที่มาจากภาษีประชาชนตราบใด ที่ยังไม่ใช้ระบบใส่ซองประมูล ประเมินผลจากโครงการที่รับเหมาไปโดยคนนอก ทางที่ดีที่สุดน่าจะยกเลิกการให้งบประมาณภาษีแก่เอ็นจีโอ และให้เอ็นจีโอหาทุนมาดำเนินงานเองแบบ NGO ในต่างประเทศ เอ็นจีโอจะได้กลายเป็น“องค์กรไม่ใช่รัฐบาล”จริงๆ
เอ็น จีโออาศัยงบประมาณจากภาษีประชาชนก็แสดงว่าเอ็นจีโอพึ่งตัวเองไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่เอ็นจีโอจะทำให้ประชาชนพึ่งตัวเองได้
บทสรุป
ตอนที่ 2 ของบทความดังกล่าวนำเสนอสาเหตุของปัญหาช่องว่างรายได้ และดิฉันเห็นด้วยกับหลายสาเหตุที่ยกมา แต่วิธีการแก้ปัญหาด้วยนโยบายเศรษฐกิจที่บทความดังกล่าวเสนอแนะไม่ใช่นโยบาย ที่ตรงประเด็น ถ้าจะให้ตรงประเด็น ปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดินควรแก้ด้วยการปฎิรูปที่ดิน ปัญหากลุ่มทุนผูกขาดควรแก้ด้วยการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการผูกขาด ปัญหาหนี้เสียควรแก้ด้วยการปรับปรุงกฎเกณฑ์การควบคุมสถาบันการเงิน ส่วนการแก้ไขด้วยนโยบายสังคมต้องดำเนินควบคู่ไปกับการปฎิรูประบบภาษี เพราะรายจ่ายด้านสังคมเพิ่มภาระทางการคลัง
การ แก้ปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงทางกระบวนการทางการเมืองซึ่งน่าจะ เริ่มจากการยอมรับผลการเลือกตั้ง ปัญหาทุจริตมีรากฐานมาจากการไม่บังคับใช้กฎหมายไม่ใช่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งก็ไม่ได้แก้ปัญหาการทุจริตอยู่ดี การที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกคนที่ปกป้องผลประโยชน์ของตนไม่ขัดกับหลักการ ทางเศรษฐศาสตร์ เพราะหลักการทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าผู้บริโภคมีอิสระในการเลือกบริโภคและเลือก ทำงาน รสนิยมก็เป็นเรื่องส่วนตัวของผู้บริโภค ส่วนผู้ผลิตก็มีอิสระในการเลือกผลิต แต่รัฐบาลเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคและผู้ผลิตได้ด้วยระบบภาษีและกฎเกณฑ์ การควบคุมอุตสาหกรรมต่างๆ
สุด ท้ายนี้ดิฉันขอขอบคุณคุณสมชัยและคุณจิราภรณ์ที่เปิดประเด็นเรื่องช่องว่าง รายได้ให้ได้วิเคราะห์และสละเวลามาแลกเปลี่ยนกันในที่สาธารณะ
อ้างอิง
[1] ข้อเท็จจริงและมายาคติในบทความ”ช่องว่างรายได้ในสังคมไทย: ข้อเท็จจริงและมายาคติ (ตอนที่ 1)” โดย สมชัย จิตสุชน และจิราภรณ์ แผลงประพันธ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย”โดย กานดา นาคน้อย, ประชาไทออนไลน์, 20 กันยายน 2553: http://prachatai3.info/journal/2010/09/31191
[3] ช่องว่างรายได้ในสังคมไทย: ข้อเท็จจริงและมายาคติ (ตอนที่ 2)” โดย สมชัย จิตสุชน และจิราภรณ์ แผลงประพันธ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย, ประชาไทออนไลน์, 25 กันยายน 2553: http://www.prachatai.com/journal/2010/09/31246
[4] Hoffman, F. L. “Review: Statistical Yearbook of the Kingdom of Siam,” Journal of the American Statistical Association 18(140), 545-548, December 1922.