ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
สื่อสังกัดสีถูกจำกัดพื้นที่บนแผง-ในคลื่นวิทยุและเว็บไซต์
เดือนที่มีงานรำลึกวาระ "19 กันยา 49" และวาระ "พฤษภา-ราชประสงค์"
เพียงชั่ว 30 วัน สื่อสีแดงแต่ละเฉดถูกไล่ปิด
และดำเนินคดีตามกันอย่างกระชั้น-กระชับ
แดงตัวเด่นอย่าง red power ของ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข คือ
เป้าหมายแรกที่ถูกปิดตัว
คนทำสื่อสีแดงที่ผันตัวจากเดิมเป็นเอ็นจีโอสายแรงงานบอกว่า
"นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทำสื่อสิ่งพิมพ์เอาใจคนเสื้อแดงแล้วถูกปิด
เพราะก่อนหน้านี้เคยทำ voice of Thaksin และ Thai red news
ถูกปิดไปเมื่อ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา
จากนั้นจึงได้ทำ red power ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ก.ย.ที่ถูกปิดเป็นเล่มล่าสุด"
สมยศบอกว่า การปิดครั้งนี้ ฝ่ายรัฐไม่ได้ทำต่อกองบรรณาธิการ
แต่ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บุกโรงพิมพ์ ให้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดนนทบุรี
สั่งปิดกิจการ
เช่นเดียวกับสื่อ-ฟ้าเดียวกัน วารสารที่เป็นปฏิปักษ์กับทุกรัฐบาล
ซึ่งมีคดีเก่า- ค้างคา ทั้งกรณีหมิ่นเบื้องสูง, ผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
และล่าสุด ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดแห่งชาติ ในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมาย
ได้แจ้งความกับกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ให้ดำเนินคดีวารสาร "ฟ้าเดียวกัน"
ไม่ยอมยื่นจดแจ้งการพิมพ์ ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. 2550
รวมทั้งให้ตรวจสอบเนื้อหาที่อาจเข้าข่ายหมิ่นเบื้องสูงด้วย
นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นิตยสารฟ้าเดียวกัน อธิบายว่า
คดีการจดแจ้งการพิมพ์ที่เกิดขึ้นกับวารสารฟ้าเดียวกันนั้น เป็นเพียงการปราม
และทำให้กองบรรณาธิการเกิดความยุ่งยากรำคาญเท่านั้น
เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมาย ต้องการให้แจ้งชื่อที่อยู่ ผู้จัดพิมพ์
ซึ่งฟ้าเดียวกันก็ได้ระบุในตัวเล่มแล้ว
และเชื่อว่า แต่ละครั้งที่มีการดำเนินคดีในข้อหาต่าง ๆ
ก็อาจเป็นเพราะถูกฝ่ายการเมืองเคาะออกมาให้ดำเนินคดี
ธนาพลบอกว่า
ฟ้าเดียวกันเป็นวารสารเศรษฐกิจ สังคม การเมือง จุดยืนที่ผ่านมา 5 รัฐบาล
ก็ยังคิดว่าได้ยืนอยู่ในจุดยืนของตัวเอง ในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ฟ้าเดียวกัน
ก็เคยถูกขู่ว่าจะใช้กฎหมายความมั่นคงจัดการ
กรณีเผยแพร่ข้อความและซีดีเกี่ยวกับเรื่องตากใบ
สื่อที่ถูกจัดประเภทว่า "สีแดง" รายต่อมาที่ถูกดำเนินคดี คือเว็บไซต์ประชาไท
ซึ่งเคยอยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อครั้งนำเสนอข่าว
เหตุการณ์ความรุนแรงภาคใต้
โดยกรณีที่ น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์
ถูกควบคุมตัวจากสนามบินสุวรรณภูมิ ขณะเดินทางกลับจากต่างประเทศ
แล้วถูกส่งไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ตามหมายศาล
ในข้อกล่าวหาหมิ่นเบื้องสูง และความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
และได้รับการประกันตัวในคืนเดียวกัน
จีรนุชเผยว่า โดนจับกรณีมีผู้โพสต์ความเห็นท้ายบทสัมภาษณ์ในเว็บไซต์ประชาไท
แต่ไม่ใช่ความผิดที่เกิดจากบทความ
หรือข้อความที่กองบรรณาธิการประชาไทผลิตเผยแพร่
เพราะเป็นความเห็นผู้อ่านที่มาโพสต์ต่อจากบทสัมภาษณ์ในช่วง 21-24 เมษายน 2551
จีรนุชรับทราบว่ามีหมายจับที่ออกโดยศาลขอนแก่นตั้งแต่ 8 กันยายน 2552
ผอ.เว็บประชาไทเล่าว่า
เธอเดินทางออกไปประชุมต่างประเทศ วันที่ 9 กันยายน 2553
ในเวทีของสหประชาชาติ เรื่องธรรมาภิบาลอินเทอร์เน็ต
เกี่ยวกับการบริหารจัดการอินเทอร์เน็ตในประเด็นต่าง ๆ ที่ประเทศลิทัวเนีย
และมีการประชุมที่ฮังการี เรื่องสิทธิเสรีภาพบนสื่ออินเทอร์เน็ต
"พอขากลับเข้าประเทศก็โดนล็อก ต่อมาก็รู้จากเจ้าหน้าที่ ตม.
ซึ่งแสดงหมายจับให้ดู มีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องหมิ่นเบื้องสูง
เรื่องการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์
และมีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ เมื่อ 27 เมษายน 2551"
นายชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บ.ก.ข่าวเว็บไซต์ประชาไท บอกว่า
ประชาไทไม่ใช่สื่อใต้ดิน แต่เป็นเว็บไซต์บนดิน
เพราะสื่อออนไลน์ไม่อนุญาตให้ใครอยู่ใต้ดินอยู่แล้ว
และไม่อนุญาตให้ใครปิดง่าย ๆ ด้วย