ที่มา ประชาไท
เย็น วันศุกร์ที่ 24 กันยายน 2553 ได้เกิดเหตุการณ์ชวนให้ผู้คนจำนวนมากในแวดวงสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อทางเลือก ต้องตระหนกตกใจเจือสมกับอาการเจ็บใจอีกครั้ง เมื่อพวกเขาทราบข่าวว่าจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซท์ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ฉบับแรก ๆ ของไทย โดนจับกุมตัวโดยตำรวจชุดสืบสวนปราบปราม บก.ตม.2 ด้วยข้อหาเผยแพร่ความคิดเห็น (ของผู้อื่น) ที่อาจผิดกฎหมาย ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ภายหลังที่เธอพึ่งเดินทางกลับจากประเทศฮังการี เพื่อร่วมการประชุมเกี่ยวกับ "เสรีภาพอินเทอร์เน็ต" Internet at Liberty 2010 จีรนุชถูกควบคุมตัวไปยังสภ.เมืองขอนแก่น (จังหวัดที่เธอถูกกล่าวโทษ) ด้วยรถตำรวจในวันเดียวกัน ข่าวดังกล่าวแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในสังคมออนไลน์อย่าง Facebook และ Twitter มีการวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวาง ถึงขนาดตั้งกลุ่ม Freejiew เป็นบล็อกเพื่อติดตามคดีของจีรนุชโดยเฉพาะ และแน่นอนที่ irony ในประเทศไทยครั้งนี้ถูกรายงานเป็นข่าวในสื่อต่างประเทศทันที
ที่ กล่าวว่าตกใจและเจ็บใจ "อีกครั้ง" ก็เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรก (และคาดว่าอาจไม่ใช่ครั้งสุดท้าย) ที่จีรนุชถูกตำรวจจับด้วยข้อหาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน คือ เป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่จงใจสนับสนุน หรือยินยอมให้เกิดการกระทำความผิด (ตามมาตรา 14 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกรทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ต่อไปจะเรียกว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์) ในพื้นที่ให้บริการอินเทอร์เน็ตของตนเอง ซึ่งเป็นข้อหาตามมาตรา 15 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ แต่การจับครั้งนี้จีรนุชมีข้อหาที่ถูกกล่าวโทษเพิ่มขึ้นจากฐานที่เธอ "คุ้นเคย" (แต่คงยากจะ "ชาชิน" ได้) อีกอย่างน้อย 3 เรื่องด้วยกัน คือ ร่วมกับผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตหมิ่นประมาทประมุขแห่งรัฐ (มาตรา 83 ประกอบ 112 ประมวลกฎหมายอาญา), ทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวิธีการใด ๆ ซึ่งเนื้อหาที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตฯ (มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา) และเป็นผู้ประกาศโฆษณาให้ผู้อื่นกระทำความผิด (มาตรา 85 ประมวลกฎหมายอาญา) แม้ปัจจุบันจีรนุชจะได้กลับบ้านแล้ว เพราะเธอได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวนด้วยหลักประกันสองแสน บาทในราวตีสองของวันที่ 25 กันยายน 2553 ก็ตาม แต่ข้อสงสัยทีเกิดขึ้นกับจีรนุชเอง เพื่อนกองบก.ประชาไท และผู้ติดตามข่าวสารทั่วไปยังคงถูกกักขังไว้ที่สน.จังหวัดขอนแก่น
หากกล่าว ถึงแง่มุมในทางกฎหมาย รวมทั้งแง่มุมอื่นใดที่เกี่ยวพันกับการคุกคามเสรีภาพสื่อสารมวลชนในประเทศ ไทย สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นนี้ มีเรื่องน่าสนใจ และควรถูกตั้งคำถามหลายประเด็นด้วยกัน ดังนี้
1. ข้อ หาต่าง ๆ ดังกล่าวมาถูกประชาชนคนหนึ่งในจังหวัดขอนแก่นกล่าวโทษไว้กับเจ้าพนักงาน ตั้งแต่ปี 2551 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินคดีในชั้นพนักงานสอบสวน โดยศาลอนุมัติหมายจับตั้งแต่ปี 2552 (หมายจับลงวันที่ 8 ก.ย. 2552) แต่เหตุใดจีรนุชจึงถูกจับเมื่อระยะเวลาให้หลังหมายถึงเกือบหนึ่งปี (ตามคดีที่ 4371/2551 วันที่ 11 ส.ค. 51)
จริงอยู่ที่ว่าตาม มาตรา 68 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น "หมายจับ" คงมีผลบังคับอยู่ตลอดไปจนกว่าจะจับได้ หรือศาลถอนหมายคืน ดังนั้น ในทางกฎหมายแล้ว ย่อมไม่มีอะไรผิดแปลกหากเจ้าพนักงานผู้ปฎิบัติการตามหมายจะใช้เวลานานหลายปี กับหมายนั้น และตราบใดที่คดียังไม่หมดอายุความ หมายจับในคดีนั้นยังคงใช้บังคับได้ แต่ในทางปฏิบัติและปัญหาที่เกิดขึ้นกรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลานาน หรือนานมากเพื่อกระทำตามหมายในคดีอื่นๆ มักเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐหาตัวผู้ต้องหาไม่พบ หรือพบ แต่จับตัวมาดำเนินคดีไม่ได้ อันเป็นเหตุสุดวิสัยที่จะปฏิบัติการให้เป็นไปตามหมายได้โดยเร็ว หรือภายในเวลาอันเหมาะสม ซึ่งกรณีของจีรนุช ไม่ใช่
ควรต้องยอมรับว่า ช่วงเวลากว่าสองสามปีที่ผ่านมา จีรนุช เปรมชัยพร เป็นคนในแวดวงสื่อมวลชนที่ปรากฎตัวในสื่อสาธารณะอยู่เนือง ๆ ทั้งนี้ เพราะประชาไทเป็นสื่อออนไลน์เว็บแรก ๆ ในประเทศไทยที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้บริโภคสื่ออินเทอร์เน็ตทั้งใน และต่างประเทศ ประกอบกับบทบาทเกี่ยวกับการทำงานเรื่องเสรีภาพสื่อของตัวจีรนุชเอง เธอจึงมักได้รับเชิญไปพูดอภิปรายในงานสัมมนาหรือพูดคุยหัวข้อต่างๆ ในฟรีทีวี รวมทั้งการที่เธอถูกฟ้องคดีหลายข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และในคดีนั้นได้มีการสืบพยานเบื้องต้นในชั้นศาลไปแล้ว ฉะนั้น ย่อมไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรงเลยที่เจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบในคดีที่ มีการจับกุมในครั้งนี้จะดำเนินการตามหมายจับได้ในเวลาพอสมควร อาจมีข้อเท็จจริงปรากฎว่าจีรนุช ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานประชุมด้านสื่อในระดับนานาชาติอยู่บ้างจนมีเหตุให้ ต้องเดินทางไปต่างประเทศ แต่ชีวิตจีรนุชกว่า 90% อยู่ในประเทศไทย และมีที่อยู่ ที่ทำงาน (สำนักข่าวประชาไท) เป็นหลักแหล่ง อนึ่ง สิ่งที่ทำให้ผู้ทราบข่าวแปลกใจยิ่งกว่า ก็คือ การจับตัวครั้งนี้ทำขึ้นภายหลังจีรนุช "กลับเข้ามา" ในประเทศ มิใช่กำลังจะ "เดินทางออก" นอกประเทศ
ด้วยช่วงเวลา รูปแบบและวิธีการจับกุม การกักตัวไว้ที่สนามบิน รวมทั้งการพาผู้ต้องหานั่งรถยนต์หลายชั่วโมงหลังการเดินทางไกล จากกรุงเทพฯ ไปขอนแก่น จากนั้นมีการสอบปากคำที่สถานีตำรวจขอนแก่นต่ออีกจนถึงเวลาเกือบตีสอง กว่าจะอนุญาตให้ประกันตัวจีรนุชได้ ซึ่งเป็นวันเสาร์ กรณีนี้จึงควรถูกตั้งคำถามว่า เจ้าหน้าของรัฐใช้อำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ ? หรือเป็นการใช้อำนาจรัฐที่รังแต่ต้องการให้เกิดความเสียหายอย่างใดอย่าง หนึ่งแก่ตัวผู้ต้องหาเท่านั้น อีกทั้งการไม่ปฏิบัติการตามหมายจับ ทั้ง ๆ ที่ทำได้ โดยปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมานานกว่าหนึ่งปี จะถือได้หรือไม่ว่า เป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่ ? ซึ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่น่าจะเข้าองค์ประกอบความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาทั้งสิ้น
2. สืบเนื่องจากข้อเท็จจริงในข้อหนึ่ง จึงดูเหมือนว่าการจับตัวจีรนุชมิใช่เรื่องเร่งด่วน (เพราะปล่อยเวลาหมายจับไว้ได้นานถึงหนึ่งปี จีรนุชมีสถานะเป็นคนในข่าวมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่มีทีท่าว่าจะหลบหนีทั้งที่มีโอกาสทำได้) ย่อมเกิดคำถามขึ้นได้อีกว่า เหตุใดพนักงานสอบสวนจึงเลือกที่จะขอ "หมายจับ" จากศาลซึ่งมีผลกระทบกับสิทธิผู้ต้องหามากกว่าการออก "หมายเรียก" ให้ไปแสดงตัวเพื่อทำการสอบสวน
จากข่าวที่ปรากฎในหนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ พ.ต.ท.ชัชพงษ์ พงษ์สุวรรณ์ พนักงานสอบสวน (สบ.2) สภ.เมืองขอนแก่น หนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าวให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า "คดีนี้เป็นคดีที่ไม่ต้องออกหมายเรียก เพราะมีอัตราโทษร้ายแรง" ถือเป็นคำให้สัมภาษณ์ที่น่าสนใจ เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นั้น ไม่มีบทมาตราใดเลยที่กล่าวว่า การจะออกหมายเรียกได้คดีนั้นต้องมีอัตราโทษไม่ร้ายแรง หรือแม้แต่หลักการที่ว่า หากคดีที่มีอัตราโทษร้ายแรงแล้ว ถือเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องขอหมายจับเท่านั้น ก็ไม่ปรากฎอยู่ที่กฎหมายข้อใด
หลักเกณฑ์ในการออกหมายเรียก บัญญัติไว้ใน มาตรา 52 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์พื้น ๆ ที่ออกได้ไม่ยาก และสามารถออกโดยตัวพนักงานสอบสวนเอง พนักงานฝ่ายปกครอง ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือโดยศาล แล้วแต่กรณี ทั้งนี้เมื่อมีเหตุให้ต้องสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้อง พิจารณาคดี หรือการอย่างอื่นใดตามกฎหมาย โดยไม่ระบุข้อจำกัดในเรื่อง "อัตราโทษ" ไว้ จึงย่อมแสดงให้เห็นว่าการออกหมายเรียกนั้น แท้ที่จริงแล้วสะดวกและง่ายกว่าการขอออกหมายจับ ซึ่งต้องมีเหตุผลต่าง ๆ ตามมาตรา 66 แห่งกฎหมายฉบับเดียวกัน (จะได้กล่าวถึงต่อไป) ที่สำคัญ ก็คือ ในวรรคสองของมาตรา 52 นี้ ยังระบุด้วยว่า หากพนักงานสอบสวน พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ เดินทางไปทำการสอบสวนด้วยตนเอง (ไม่ได้เรียกผู้ต้องหา หรือพยานไปในที่ที่พนักงานสอบสวนอยู่) ย่อมมีอำนาจเรียกผู้ต้องหาหรือพยานมาให้ปากคำได้เลยโดยไม่ต้องออกหมาย เรียก
สำหรับหมายจับนั้นตามมาตรา 66 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ต้องขอจากศาลเท่านั้น โดยต้องเหตุดังนี้
1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ
2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่า บุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
วรรคสองยังระบุด้วยว่า ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียก หรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี
เงื่อนไข ข้อ 1 ของการขอออกหมายจับไม่ใช่ "บทบังคับ" ว่าถ้าคดีมีอัตราโทษร้ายแรง (จำคุกอย่างสูงเกินสามปี) เจ้าพนักงานต้องออกแต่หมายจับเท่านั้น (เป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานหรือศาลผู้ออก) ตรงกันข้าม กฎหมายตั้งเป็นข้อห้ามไว้ต่างหากว่า ถ้าคดีใดที่มีอัตราโทษจำคุกต่ำกว่านั้น "ห้ามมิให้ออกหมายจับ" เว้นแต่มีเหตุที่เข้าเงื่อนไขที่อยู่ในข้อ 2 นอกจากนี้ หากพิจารณาถ้อยคำในวรรคสองด้วย ย่อมเห็นได้ว่าแท้ที่จริงแล้ว หากไม่จำเป็นจริงๆ หมายจับควรเป็นเรื่องที่มาทีหลังหมายเรียกด้วยซ้ำไป เพราะการ "ไม่มาตามหมายเรียก หรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร" ถือเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานร้องขอออกหมายจับกับศาลได้ ดังนั้น คำให้สัมภาษณ์ของพนักงานสอบสวนคนดังกล่าว จึงย่อมมีข้อชวนให้สงสัยอย่างยิ่ง และอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดกับบุคคลผู้ไม่รู้กฎหมายด้วย
จริง อยู่ที่ว่า กรณีของคดีที่มีอัตราโทษร้ายแรง (ซึ่งหมายรวมถึงคดีที่จีรนุชถูกกล่าวโทษในครั้งนี้ด้วย) กฎหมายให้เป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานหรือศาลเลือกได้ว่าจะออกเป็นหมายเรียก หรือหมายจับ แต่หากพิจารณาจากเจตนารมณ์ของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหลังจากที่กฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มีผลบังคับใช้แล้ว จะพบว่าการใช้ดุลพินิจดังกล่าวมิใช่ไม่มี "กรอบคิด" กำกับไว้เลย กฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นกฎหมายฉบับสำคัญที่มีผลต่อกระบวนการพิจารณาคดีอาญา เพราะมีการปรับแก้ปรัชญาในการดำเนินคดีอาญาให้สอดคล้องกับหลักการ "ให้ สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำคามผิด และดังนั้น การดำเนินการต่าง ๆ เสมือนเขาเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว จึงกระทำไม่ได้" ด้วยผลของการเพิ่มบทคุ้มครอง "สิทธิผู้ต้องหาและจำเลย" ไว้หลายมาตราในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอีกหลายมาตราเพื่อ ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ทำให้จากที่ในอดีต กระบวนการดำเนินคดีอาญาในประเทศไทยมุ่งเน้นแต่เฉพาะมิติ "การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด" (The Crime Control Model) เพียงอย่างเดียว ก็เปลี่ยนไปสู่การให้ความสำคัญกับมิติ "การคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลย" (The Due Process Model) ด้วย ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งนี้ควรส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อระบบงานกระบวนการ ยุติธรรม รวมทั้งทัศนะคติของเจ้าหน้าที่รัฐผู้บังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยด้วย
ด้วย เหตุผลดังกล่าว หากพิจารณาจากอัตราโทษประกอบพฤติการณ์แวดล้อมอื่น ๆ รวมทั้งสถานภาพและพฤติกรรมของผู้ต้องหาเองแล้วพบว่า ไม่เป็นการยากลำบากในการติดตามตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาดำเนินคดีได้ โดยหลักแล้ว เจ้าหน้าที่จึงควรใช้วิธีการที่มีผลลิดรอนสิทธิผู้ต้องหาน้อยที่สุดหรือ เพียงเท่าที่จำเป็นก่อน ดังนั้น ในกรณีของจีรนุชจึงอาจถือได้ว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าการเลือกที่จะออกหมายจับแทนหมายเรียก หรือวิธีการ ช่วงเวลาในการปฏิบัติการตามหมาย ล้วนไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายสำคัญทั้งสองฉบับเลย ที่สำคัญยังปรากฎข้อเท็จจริงอีกด้วยว่า จีรนุชเป็นผู้ต้องหาที่ถูกเรียกไปให้ปากคำกับเจ้าพนักงานหลายครั้งแล้ว และไม่เคยมีพฤติกรรมขัดหมายเรียกเลย
3. เนื้อหาที่ "น่าจะ" เป็นความผิดตามกฎหมาย (ตามคำกล่าวโทษ) อยู่ในส่วนของ "ความคิดเห็น" ซึ่งเป็นของผู้ใช้บริการประชาไท (ในบทความดังกล่าวมีมากกว่า 250 ความคิดเห็น) ไม่ใช่เนื้อหาใน"เนื้อข่าวที่ทีมข่าวประชาไทถอดจากบทสัมภาษณ์โชติศักดิ์ อ่อนสูง" ฉะนั้น ข้อหาเพิ่มเติมที่ว่าร่วมกันกระทำความผิดกับผู้ใช้บริการคนอื่นตามมาตรา 112, เจตนานำเสนอเนื้อหาที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญตาม 116 รวมทั้งความผิดในฐานผู้ประกาศโฆษณาให้ผู้อื่นกระทำความผิด เป็นข้อหาที่ถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือไม่
สำหรับปัญหาข้อนี้มีผู้สงสัยจำนวนไม่น้อยรวมทั้งตัวจีรนุชเอง เพราะจีรนุชเป็นเพียง "ตัวกลาง" ผู้ให้บริการเว็บไซท์ข่าวสาร ซึ่งมีพื้นที่เปิดให้แสดงความคิดเห็นเท่านั้น กรณีนี้ผู้เขียนคงไม่ฟันธง ณ วันนี้ว่า ในที่สุดแล้วจีรนุชต้องมีความผิดและถูกลงโทษตามมาตราต่าง ๆ ดังกล่าวหรือไม่ ต้องให้ศาล "ยุติธรรม" พิจารณาเอง (หากมีการฟ้องคดีต่อศาล) แต่ผู้เขียนมีข้อสังเกตในแง่มุมกฎหมายต่อเรื่องนี้ ดังนี้
การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะมีความผิดและต้องรับโทษในฐาน "ร่วมกัน" กระทำความผิดด้วยการหมิ่นประมาทประมุขของรัฐโดยอาศัยมาตรา 83 ประกอบมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญาได้นั้น ต้องปรากฎว่ามีบุคคลผู้กระทำมากกว่าหนึ่งคน แต่การจะถือได้ว่าเป็น "ตัวการร่วม" ได้ ต้องมีข้อเท็จจริงเพิ่มอย่างสิ้นสงสัยด้วยว่า คนสองคนหรือมากกว่าที่ถูกกล่าวหานั้น กระทำการไปในลักษณะ "ร่วมใจ" หรือรู้เห็นเป็นใจกันมาตั้งแต่ต้น อีกทั้งยังได้ "ร่วมมือ" กันในขณะมีการกระทำความผิด กล่าวอีกอย่างก็คือ ผู้กระทำความผิดแต่ละคนได้ยอมรับตั้งแต่ต้น (ก่อนมีการทำผิด) เอาการกระทำของผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่น ๆ เป็นการกระทำของตนเอง และมีการร่วมลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (อาจแบ่งหน้าที่กันทำ ฯลฯ) ในขณะความผิดเกิด
คีย์เวิร์ดสำคัญ ก็คือ "มีการยอมรับเอาการกระทำของคนอื่นเป็นของตัวเอง" และ "ในขณะกระทำความผิด" หากพิจารณากรณีของจีรนุช (รวมทั้งผู้ดูแลกระดานข่าว กระดานสนทนาในสื่อออนไลน์อื่น ๆ) ประกอบกับธรรมชาติของเทคโนโลยีและบริการต่าง ๆ บนอินเทอร์เน็ต จำนวนและความรวดเร็วในการส่งผ่านข้อมูล รวมทั้งลักษณะการประกอบธุรกิจในบริการประเภทนี้ จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย ที่ผู้ดูแลพื้นที่เว็บไซท์ซึ่งเปิดให้แสดงความคิดเห็น หรือกระดานข่าวจะรู้เห็นเป็นใจมาตั้งแต่ต้นกับผู้โพสต์ข้อความ หรือยอมรับเอา "ความคิดเห็น" ที่แสดงโดยผู้เข้าชมเว็บไซท์จำนวนมหาศาลไว้เป็น "ความคิดเห็นของตัวเอง" และย่อมเป็นการยากที่จะเกิดขึ้นได้เช่นกันที่ผู้ให้บริการพื้นที่เหล่านี้จะ สามารถรับรู้ หรือเห็นทุก ๆ ข้อความได้ "ในขณะ" ที่มีการโพสต์ อย่างมากก็เห็นเมื่อมีการโพสต์ไปแล้วระยะหนึ่ง จึงเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการในลักษณะ "ตัวกลางในสื่อ" อย่างแท้จริง อย่างผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ซึ่งแตกต่างจากบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ หรือสิ่งพิมพ์ประเภทอื่นที่เป็นกระดาษ ที่เป็นผู้กลั่นกรองเนื้อหาก่อนพิมพ์เผยแพร่) แทบไม่มีทางเป็น "ตัวการร่วม" กับผู้แสดงความคิดเห็นในเว็บไซท์ของเขาได้เลย (แม้บางคนจะโต้แย้งว่ากรณีนี้เป็น "ความผิดต่อเนื่อง" แล้วก็ตาม ก็ยังไม่อาจถือเป็นตัวการร่วมได้ ด้วยยังติดขัดประเด็นที่ผู้เข้ามาร่วมกันในภายหลัง ต้องรู้กันหรือรู้เห็นกับผู้กระทำความผิดในตอนแรกอยู่ดี)
มิเพียงเท่านั้น เพราะแม้แต่ในฐานะ "ผู้สนับสนุน" ให้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายมาตรา 86 ซึ่งต้องรับโทษเช่นกัน (แต่น้อยกว่าตัวการร่วมมาก) ก็ยังยากที่จะพิจารณาว่าผู้ให้บริการสื่อแบบนี้เข้าข่าย เพราะการจะเป็นผู้สนับสนุนได้นั้น ต้องมีการ "ให้ความสะดวกหรือช่วยเหลือผู้กระทำผิด" ทั้งนี้ในเวลา "ก่อนหรือขณะ" กระทำความผิดเท่านั้น แม้จะพิจารณาในฐานะที่การเผยแพร่ข้อความหมิ่นฯ ในสื่อเป็น "ความผิดต่อเนื่อง" แล้วก็ตาม ก็ต้องปรากฎว่าผู้ให้บริการฯ มีการกระทำในลักษณะช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกประการใดประการหนึ่งอย่างชัดเจน มิใช่เป็นแต่เพียงการไม่ลบข้อความ หรือยังเปิดให้บริการพื้นที่ต่อไปตามปกติ เรื่องทำนองนี้ เคยมีคำพิพากษาฏีกาที่ 766/2476 วางแนวไว้ถึงขนาดที่ว่า " ผู้ใดรู้ว่าจะมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แล้วเพิกเฉยเสียไม่ขัดขวาง หรือกระทั่งไม่ช่วยเหลือเมื่อผู้เสียหายร้องขอ ไม่เป็นผู้สนับสนุน และแม้แต่แนะนำไม่ให้ผู้อื่นไม่ขัดขวางการที่จะมีผู้กระทำความผิด ก็ไม่ถือเป็นผุ้สนับสนุนดุจกัน" สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจาก ผู้สนับสนุนไม่ใช่ผู้มีจิตใจชั่วร้ายถึงขนาดเดียวกันกับผู้กระทำความผิดเอง ที่ "ลงมือ" กระทำความผิด ดังนั้นการจะเอาเขามารับโทษ จึงควรต้องปรากฎแน่ชัดว่ามีการกระทำ "ให้เกิดความสะดวก" เกิดขึ้นจริง มิใช่แค่เพียงเพิกเฉยต่อความของคนอื่นเท่านั้น คำถามว่า จะถือเป็นการสนับสนุนด้วยการงดเว้นไม่กระทำการได้หรือไม่ นั้น คงมีปัญหาให้ต้องสงสัยอยู่ดีว่าในที่สุดแล้ว ประเทศไทยมีบทบัญญัติที่กำหนด "ภาระหน้าที่" ในเรื่องนี้ให้กับผู้ให้บริการสื่อ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสื่อออนไลน์ที่มีการโต้ตอบกันได้ระหว่างผู้ให้บริการ และผู้ให้บริการซึ่งตรวจสอบได้ยาก) แล้วหรือไม่ เพื่อที่จะถือว่าผู้ให้บริการฯ มี "หน้าที่ต้องป้องกันผล"
ด้วย เหตุผลข้อขัดข้องในการปรับใช้กฎหมายอาญาดั้งเดิมเพื่อเอาผิดหรือลง โทษผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตต่าง ๆ เหล่านี้เอง ในยุคที่การกระทำความผิดบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้น แต่รัฐไม่สามารถสืบหาตัวผู้กระทำความผิดที่แท้จริงได้ จนมีแนวคิดดึงเอาผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเข้ามาร่วมรับผิดชอบด้วย ในหลายๆ ประเทศ (รวมทั้งประเทศไทย) จึงต้องอาศัยวิธีการ "ออกเป็นกฎหมายพิเศษ" กำหนดความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไว้ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะเท่านั้น และในปัจจุบันบทกฎหมายดังกล่าวก็คือ มาตรา 15 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ นั่นเอง ในกรณีนี้ หากผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษจีรนุชเป็นแต่เพียงบุคคลทั่วไปที่ไม่รู้กฎหมาย ก็ยังอาจให้อภัยได้ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการตามกฎหมายไม่รู้เรื่องรู้ราวในเรื่องเหล่า นี้เลย ก็ควรต้องมีการทบทวนการเรียนการสอนกฎหมายไทยด่วน
สำหรับข้อหาที่สอง มาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา การทำให้ปรากฎซึ่งเนื้อหาในลักษณะที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยมีมูลเหตุจูงใจพิเศษ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการกฎหมายแผ่นดินฯ, เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน หรือเกิดความไม่สงบในราชอาณาจักรฯ รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินฯ นั้น ถือเป็นข้อกล่าวหาในความผิดที่ร้ายแรงอย่างยิ่ง
ประเด็นแรก ที่ต้องพิจารณาก็คือคำว่า "เนื้อหา" ตามมาตรา 116 ในกรณีของผู้ทำการเผยแพร่ข่าวสารนี้ หมายถึงเนื้อหาในส่วนใดกันแน่ หากพิจารณาจากถ้อยคำและเจตนารมณ์ของกฎหมาย ย่อมหมายถึงเนื้อหาที่เป็นของผู้เผยแพร่ซึ่งเขาย่อมรับรู้เอง เท่านั้น มิได้หมายถึงการเผยแพร่เนื้อหาของผู้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้ให้ บริการพื้นที่ไม่รู้ว่าเนื้อหาของผู้อื่นเป็นอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีของจีรนุช ก็คือ เนื้อหาที่ถูกกล่าวหาว่าอาจเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรานี้ ไม่ใช่เนื้อหาในข่าวสัมภาษณ์ โชติศักดิ์ อ่อนสูง แต่เป็นเนื้อหาความคิดเห็นของคนอื่นที่มีต่อเนื้อข่าวอีกทีหนึ่ง
ประเด็นที่สอง ซึ่งสืบเนื่องจากประเด็นแรก คือ มาตรา 116 เป็นการกระทำความผิดที่ต้องมี "มูลเหตุจูงใจพิเศษ" ด้วย กล่าวคือ เผยแพร่ เพื่อ.... ต่าง ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งมูลเหตุจูงใจนั้น ปกติแล้วต้องเกิดขึ้นจากภายในจิตใจของ "ตัวผู้กระทำความผิด" ที่สร้างเนื้อหาเพื่อการณ์เหล่านั้นเอง ณ เวลาก่อนที่จะมีการเผยแพร่ไป คำถามก็คือ ในเมื่อจีรนุช ไม่ใช่ผู้ผลิตหรือสร้าง "ความคิดเห็น" ที่อาจมีปัญหาตามที่มีการกล่าวโทษขึ้นเอง (เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าจีรนุชเป็นคนโพสต์เอง) ประกอบกับตามกฎหมายแล้วเธอยังไม่ได้มีหน้าที่ต้องตรวจสอบเนื้อหาความคิดเห็น (ปัจจุบันเป็นเพียงหน้าที่ทางศีลธรรม) อีกทั้งยังไม่ปรากฎว่ามีผู้แจ้งให้จีรนุชทราบถึงเนื้อหาดังกล่าว เช่นนี้แล้วการกล่าวว่าจีรนุชมี "มูลเหตุจูงใจพิเศษ" เพื่อการณ์ใดๆ จาก "เนื้อหา" ที่จีรนุชไม่ได้เป็นผู้สร้าง และเกิดขึ้นภายหลังนำเสนอตัวข่าวสารจริง ๆ จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เลยจริง ๆ ในกระบวนการพิจารณา
ข้อหา (เพิ่มเติม) สุดท้าย ซึ่งน่าสนใจยิ่ง คือมาตรา 85 ประมวลกฎหมายอาญา ในฐานที่เป็นผู้โฆษณาหรือประกาศแก่คนทั่วไปให้กระทำความผิดเรื่องใดเรื่อง หนึ่ง หากท้ายที่สุดมีการกระทำความผิดนั้นเกิดขึ้นจริงตามที่ประกาศ ผู้ประกาศไปเช่นนั้นย่อมมีความผิดและมีโทษ (เรียกสั้น ๆ ว่าผู้ใช้ให้กระทำผิดด้วยการประกาศโฆษณา) คำถามก็คือ การเผยแพร่ข่าวสารซึ่งเป็นบทสัมภาษณ์บุคคลคนหนึ่ง โดยที่ฝ่ายรัฐเองก็ไม่สามารถตั้งข้อหาใด ๆ กับ "เนื้อข่าว" นั้นได้โดยตรงว่ามีถ้อยคำเป็นความผิด แล้วจะถือเป็นการประกาศชวนให้คนอื่นกระทำความผิดกฎหมายได้อย่างไร ?
นอก จากนี้ ควรต้องทราบด้วยว่า ความรับผิดตามมาตรา 85 นี้ อิงอยู่กับ "ความผิด" ที่ประกาศให้กระทำ นั่นหมายความว่า การประกาศนั้นต้องมีความชัดเจนด้วยว่าผู้ประกาศมีเจตนาให้ผู้อื่นกระทำผิดใน เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ชวนให้หมิ่นประมาทบุคคลอื่น ยุยงให้ทำร้ายผู้อื่น ตั้งรางวัลให้คนที่กระด้างกระเดื่องต่อประเทศ เป็นต้น (ลองเทียบเคียงเรื่องนี้กับถ้อยคำที่ประกาศชวนคนลงทัณฑ์คนอื่น ซึ่งเกิดขึ้นหลายครั้งในกลุ่มล่าแม่มดออนไลน์ดู) ซึ่งหากใครได้อ่านเนื้อข่าวสัมภาษณ์ปัญหาซึ่ง ลงในเว็บประชาไทแล้ว ย่อมเห็นได้ว่า ไม่มีถ้อยความในส่วนใดเลยที่ชัดเจนเพียงพอ หรือตีความได้ว่าจีรนุชและทีมงานประชาไทชี้ชวนให้ใครต่อใครกระทำการใด ๆ หรือแสดงความคิดเห็นที่เป็นความผิดต่อกฎหมายข้อไหนไม่ว่าจะเป็น 112 หรือ 116
สรุปได้ว่าข้อหาต่าง ๆ ดังกล่าวมา แม้ผู้แจ้งความจะเป็นคนทั่วไปผู้ไร้เดียงสาทางกฎหมาย จนอาจไม่รู้ว่าองค์ประกอบความผิดที่เขากล่าวโทษคนอื่นนั้นมีอยู่อย่างไรบ้าง รวมทั้งอาจไม่รู้ด้วยว่าการตีความกฎหมายอาญาซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลเป็นการ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างร้ายแรงต้องกระทำการโดยเคร่งครัด แต่เจ้าพนักงานรัฐในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย ควรมีความระมัดระวังเรื่องทำนองให้มากขึ้น ไม่ควรใช้อคติส่วนตนทำตัวเป็นเบี้ยหมากทางการเมือง จนไม่รู้หรือไม่ใส่ใจว่าการแจ้งข้อกล่าวหาซึ่งกันและกันโดยไม่มีมูลนั้น เกิดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์อันสุจริตหรือไม่อย่างไร หรือควรรับแจ้งหรือไม่ เพราะบางครั้งนอกจากอาจทำให้คดีไปรกโรงรกศาลแล้ว ยังสร้างความเดือดร้อนเสียหายให้กับบุคคลอื่นใดโดยใช่เหตุด้วย
4. ข้อเท็จจริง (จากปากจีรนุชซึ่งเข้าใจว่าให้ไว้กับพนักงานสอบสวนด้วย) กล่าวว่า ความคิดเห็นในส่วนที่ถูกแจ้งความมีทั้งหมด 5 ความคิดเห็น ทั้งนี้มี 2 ความคิดเห็นที่ถูกลบไปก่อนหน้านี้นานมากแล้ว โดยไม่มีการบอกแจ้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ถูกลบเนื่องจากเป็นข้อความที่ค่อนข้างหมิ่นเหม่และเห็นได้ชัดเจน ในขณะที่อีก 3 ความคิดเห็นที่เหลือ จีรนุชพึ่งได้ทราบและดำเนินการลบเรียบร้อยแล้วโดยการบอกแจ้งจากตำรวจในวัน ที่มีการจับกุม
ประเด็นก็คือ เช่นนี้แล้วจะถือได้หรือว่าการปล่อยให้มีความคิดเห็นที่ "อาจจะ" ผิดกฎหมายดังกล่าวดำรงอยู่มาจนถึงวันนี้ (วันที่ถูกจับกุม) เกิดขึ้นโดยความจงใจสนับสนุน หรือยินยอมให้มีการกระทำความผิดในพื้นที่ให้บริการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 15 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ การจะเป็นความผิดตามมาตรานี้ได้ต้องปรากฎชัดว่าผู้ให้บริการนั้นรู้ถึง "ข้อความ" และรู้ด้วยว่า "ข้อความนั้นเป็นความผิด" ในที่นี้คือมาตรา 14 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์) และยังคงปล่อยให้มีอยู่ต่อไป แต่ประเด็นสำคัญกว่าก็คือ ตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมใดที่จะบอกได้ว่า ผู้ให้บริการคนนั้นรู้หรือไม่รู้
ดังกล่าวไปบ้างแล้วว่า ปัจจุบันไม่ว่ากฎหมายของนานาประเทศ หรือกฎหมายของประเทศไทยเอง ยังไม่มีบทบัญญัติกำหนด "ภาระหน้าที่" ให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่น ๆ ต้องตรวจสอบเนื้อหาใด ๆ ไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาที่ถูกสร้างโดยบุคคลอื่น ทั้งนี้ด้วยเหตุผลว่า ผู้บัญญัติกฎหมายของประเทศต่าง ๆ เข้าใจข้อจำกัดที่ไม่มีใครสามารถสอดส่องดูแลอินเทอร์เน็ตได้ครบถ้วนทั่วถึง ได้ การกำหนดหน้าที่เช่นนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีบทลงโทษด้วย นอกจากเป็นการสร้างหรือผลักภาระที่หนักเกินไปให้ผู้ประกอบการสื่อประเภทนี้ แล้ว ยังน่าจะส่งผลเสียต่อพัฒนาการและความแพร่หลายของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตด้วย เนื่องจากคงไม่มีใครอยากเป็นผู้ประกอบการที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เพื่อจัดหาเครื่องมือ หรือจ้างคนมาคอยดูแลพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนั้นตนยังอาจต้องรับผิดแทนหรือร่วมกับผู้กระทำความผิดที่แท้จริงด้วย หากมีเนื้อหาหลุดรอดสายตาไป อาจกล่าวได้ว่า การตรวจสอบเนื้อหาโดยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่เกิดขึ้น (บ้าง) ในปัจจุบัน เป็นแต่เพียงมาตรการเบื้องต้น ที่แต่ละผู้ให้บริการสมัครใจกระทำกันเอง โดยเหตุผลหลักก็คือพยายามป้องกันไม่ให้ตนเองต้องมีความรับผิดในเนื้อหาของคน อื่นเท่านั้น หาใช่บทบังคับในทางกฎหมายไม่
ในที่สุดแล้ว ความรับผิดตามมาตรา 15 พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จึงเกิดขึ้นได้ก็เฉพาะแต่กรณีที่มีการ "บอกแจ้ง" ถึงเนื้อหาที่เป็นความผิดไปยังผู้ให้บริการพื้นที่สื่อโดยตรงแล้ว เท่านั้น หรือมิเช่นนั้นก็ต้องมีข้อพิสูจน์เชิงประจักษ์ว่า ผู้ให้บริการพื้นที่แสดงความคิดเห็นนั้นรู้ถึงข้อความนั้นอย่างแน่นอน เช่น มีความคิดเห็นจำนวนน้อย ถ้อยคำชัดเจน เห็นได้โดยง่าย เป็นต้น หากข้อเท็จจริงปรากฎว่า ไม่ได้มีการบอกแจ้งแกผู้ให้บริการ อีกทั้งความคิดเห็นมีเป็นจำนวนมากยากแก่การตรวจสอบ รัฐหรือกฎหมายแห่งรัฐย่อมไม่มีสิทธิคาดหมายให้ผู้ให้บริการนั้น "ควรรู้" ได้เองและเมื่อไม่ดำเนินการแก้ไขก็ต้องรับผิดตามกฎหมาย
อนึ่ง ควรต้องถามต่อไปด้วยว่า หากผู้แจ้งถึงความมีอยู่ของ "เนื้อหา" คือ "ผู้ใด" ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานของรัฐ และประสงค์ให้ผู้ให้บริการลบเนื้อหาที่ตนแจ้งออกไปทันที โดยที่ 1) ผู้แจ้งนั้นมิใช่ผู้ได้รับความเสียหายจากเนื้อหาโดยตรง (อาทิ ไม่ใช่บุคคลผู้ถูกหมิ่นประมาท ฯลฯ) หรือแม้กระทั่ง 2) ใช้สิทธิบอกแจ้งเนื้อหาตามมาตรา 112 ที่เปิดให้ใครก็ได้กล่าวโทษบุคคลต่อรัฐ ในทางกฎหมายแล้ว ถือเป็นหน้าที่ของผู้บริหารเว็บไซท์หรือไม่ที่จะต้องลบเนื้อหานั้นเสมอ ในเมื่อยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าเนื้อหาดังกล่าวผิดกฎหมาย
หาก คำตอบคือ ใช่ ต้องลบเสมอและทุก ๆ คนมีสิทธิแจ้งลบไปยังผู้ให้บริการ ย่อมก่อให้เกิดความวุ่นวายในรัฐขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเป็นการเปิดช่องให้ประชาชนกลั่นแกล้งกันเองได้ อีกทั้งผู้ให้บริการแต่ละรายอาจต้องถูกฟ้องร้องให้รับผิดจากประชาชนทุก ฝ่ายอยู่เนือง ๆ ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการการให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศ กรณีนี้หากพิจารณาพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จะเห็นได้ว่า ในกฎหมายฉบับนี้มิได้กำหนดมาตรการในอันที่ผู้ให้บริการจะสืบ "แสดงถึงความบริสุทธิ์ว่าตนไม่ได้จงใจสนับสนุน หรือยินยอมให้เกิดเนื้อหาที่เป็นความผิด" ตามมาตรา 15 ไว้เลย จึงย่อมเกิดปัญหาในทางปฎิบ้ติได้เสมอว่า การดำเนินการหรือไม่ดำเนินการอย่างไร หรือด้วยระยะเวลามากน้อยเพียงใดภายหลังได้รับแจ้ง ผู้ให้บริการจึงจะหลุดพ้นจากการถูกบุคคลอื่นแจ้งความกล่าวหา เพราะเพียงเท่านั้นก็นำความเดือดร้อนมาสู่ผู้ให้บริการแล้ว ยังมิพักต้องถึงชั้นศาลหรือถูกพิพากษาให้มีความผิดและรับโทษเลย
หาก ประเทศไทยไม่ประสงค์ให้ปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวมาเกิดขึ้นจริง จึงควรกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าบุคคลใดบ้างที่เมื่อแจ้งไปยังผู้ให้ บริการฯแล้วผู้ให้บริการนั้นมีหน้าที่ต้องลบเนื้อหา ภายในเวลากำหนดเท่าใด อีกทั้งเมื่อลบไปแล้ว หรือระงับการเผยแพร่ไว้ชั่วคราวแล้ว เพื่อความเป็นธรรมต้องเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบ ในที่นี้หมายรวมทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการเองร้องขอให้คุ้มครองชั่ว คราวหรือขอความเป็นธรรมจากศาลได้ด้วย ยิ่งกว่านั้นหากในท้ายที่สุด มีคำพิพากษาศาลตัดสินว่าเนื้อหาที่ถูกระงับการเผยแพร่ไปไม่เป็นความผิด รัฐรวมทั้งผู้กล่าวหาก็ควรต้องมีความรับผิดชอบอย่างหนึ่งอย่างใดด้วยตาม กฎหมาย อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่คงต้องขึืนอยู่กับความจริงใจของรัฐใน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน รวมทั้งความใจกว้างของผู้ปกครองประเทศ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน เราแทบหามันไม่เจอ
บทสรุป กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นกับจีรนุช เปรมชัยพร ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฎการณ์ ที่สะท้อนให้เห็นสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นกับเสรีภาพในการแสดงความคิด เห็น และการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในประเทศไทย ในยุคที่สื่อที่พยายามนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านเป็นของหายากยิ่งกว่างม มหาสมุทรในเข็ม สื่อลักษณะดังกล่าวที่พอหลงเหลืออยู่บ้างก็กลับโดนปิดกั้นการเข้าถึง ผู้ให้บริการสื่อนั้นถูกคุกคามเสรีภาพด้วยข้อหาแปลกประหลาดเสมือนหนึ่งว่า เขาเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง ทั้งที่เป็นการกระทำของบุคคลอื่น โดยรัฐมีวิธีการจัดการด้วยกระบวนการที่น่าสงสัยว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อกลั่น แกล้ง หรือแอบแฝงการคุกคามเสรีภาพสื่อมวลชนทั้งประเทศโดยรวม แต่สิ่งที่น่าตกใจยิ่งกว่า ก็คือ ช่วงหลังมานี้ไม่เพียงแต่เจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้นที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ ในการคุกคามเสรีภาพ และทำตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามกับประชาชน แต่ประชาชนที่ควรหวงแหนเสรีภาพของตนก็กลับหันมาเล่นบทข่มขู่คุกคามซึ่งกัน และกันเองด้วย.
|
หมายเหตุ:เผยแพร่ครั้งแรกที เว็บไซต์นิติราษฎร์