ที่มา บางกอกทูเดย์
ทั้งๆ ที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)
เป็นผู้สร้างเรื่องเอาไว้แท้ๆ ในกรณีที่พิจารณาแต่งตั้งให้
พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ได้รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ทั้งๆ ที่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงที่ยาวนานมากว่า 20 ปีว่าพล.ต.ท.สมคิด นั้น
ถูกทางประเทศซาอุดีอาระเบีย สงสัยมาโดยตลอดว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับคดีการหายตัวไป
ของนายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย
ซึ่งเกี่ยวข้องเป็นเชื้อพระวงศ์ของราชวงศ์ซาอุฯ
ดังนั้น เมื่อ ก.ตร. มีมติแต่งตั้ง พล.ต.ท.สมคิด จากผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5
เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปัญหาจึงเกิดขึ้นทันที เพราะทางประเทศซาอุดีอาระเบีย
มีปฏิกิริยาผ่านทางสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศไทยในทันที
แถลงการณ์อย่างชัดเจน ถึง 2 ฉบับว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ผิดหวังอย่างมาก
เพราะรอคอยความชัดเจนของคดีที่เกี่ยวพันกับ พล.ต.ท.สมคิด มานานถึง 20 ปีแล้ว
ก็ไม่ได้รับความกระจ่างชัดเสียที
ไม่นับรวมถึงท่าทีของ นายนาบิล ฮุสเซน อัซรี อุปทูตซาอุดีอาระเบีย ที่คนในแวดวงการทูต
ระหว่างประเทศ ล้วนยืนยันตรงกันว่า หากไม่ได้รับไฟเขียวระดับประเทศ
การที่อุปทูตจะแสดงท่าทีเกินกว่า โปรโตคอลทางการทูตปกติทั่วไปนั้น เป็นไปไม่ได้แน่
ดังนั้น การที่นายนาบิล กล้าแสดงท่าทีอย่างชัดเจนเช่นนี้ ต้องแปลว่า
ได้รับอนุญาตให้แสดงท่าทีดังกล่าวได้นั่นเอง
ผลก็คือ เกิดผลกระทบตามมามากมาย ในขณะที่รัฐบาล
ไม่ว่าจะเป็นนายอภิสิทธิ์ หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง
ในฐานะประธาน ก.ตร. ก็ยืนกรานตลอดว่า ไม่ทบทวนไม่แก้ไข เพราะเป็นสิทธิที่จะทำได้
เมื่อเรื่องบานปลายถึงที่สุด ผลกระทบที่มีระหว่างประเทศไทยกับประเทศซาอุดีอารเบีย
โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการขอวีซ่าของพี่น้องไทยมุสลิมที่ต้องการเกินทาง
ไปร่วมพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะ เกิดขึ้นจนรู้กันทั่ว แม้แต่คนในพรรคประชาธิปัตย์เองก็ยังรู้
แต่นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ก็ยังคงไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน
และยืนกรานว่า จะไม่ทบทวนอยู่เช่นเดิม
จนสุดท้าย กลายเป็นว่า พล.ต.ท.สมคิด ต้องกลายเป็นผู้ที่ออกมาแถลงข่าว
สละสิทธิ์ที่จะไม่รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตามที่ได้รับการแต่งตั้ง
ให้เหตุผลว่า ไม่ต้องการให้มีการหยิบยกเอาเรื่องแต่งตั้งขึ้นมาเป็นประเด็น
จนส่งผลกระทบต่อพี่น้องชาวไทยมุสลิมที่ต้องการเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์
ซึ่งจะเป็นการขยายผลสู่ความขัดแย้งทางศาสนา
และกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและซาอุดีอาระเบีย
โดยการสละสิทธิ์รับตำแหน่งในครั้งนี้
เพื่อเป็นการขจัดเงื่อนไขที่จะเป็นอุปสรรคต่อการออกวีซ่าให้ให้แก่ชาวไทยมุสลิม
แน่นอนว่า เสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นก็คือ พล.ต.ท.สมคิด เป็นผู้ที่เสียสละ เป็นผู้ที่ช่วย
ถอดสลักให้กับรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ซึ่งดื้อดึงไม่ยอมแก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น
แต่ปรากฏว่า กระบวนการสละสิทธิ์ในการรับตำแหน่ง กำลังกลายเป็นสิ่งที่
ทำให้บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับ กฎหมาย เกี่ยวข้องกับระบบราชการพากันหวั่นวิตกเป็นอย่างมาก
เพราะปัญหาไม่ได้จบแค่เพียงว่า พล.ต.ท.สมคิด สละสิทธิ์ไม่รับตำแหน่ง
แล้วทาง ก.ตร. ก็มีการประชุมพิจารณาเพื่อแต่งตั้งใหม่ระดับ รอง ผบช. ขึ้นไป แล้วจบลงที่ว่า
ก.ตร.ได้มีมติแต่งตั้งใหม่เลื่อนให้
พล.ต.ท เจตน์ มงคลหัตถี ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี อาวุโสลำดับถัดมาขึ้น
ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแทน
แล้วขยับ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภ.5 มาเป็นตำแหน่งจเรตำรวจ (สบ
รวมทั้งย้ายให้ พล.ต.ท.สัณฐาน ชยนนท์ ที่ตามมติ ก.ตร. เดิม
จะต้องดำรงตำแหน่งจเรตำรวจ (สบ มาเป็นผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี
รวมทั้งมีการชลอคำสั่งแต่งตั้ง พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสีพราหมณกุล รอง ผบช.ก. ขึ้นเป็น ผบช.ภ.1
เนื่องจากมีการร้องเรียนเรื่องการนับวันทวีคูณสำหรับผู้ที่ปฏิบัติราชการในพื้นที่สามจังหวัด
ชายแดนภาคใต้
ก.ตร. จึงได้มีความเห็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติอีกครั้ง
จึงไม่ได้มีการแต่งตั้งในตำแหน่ง ผบช.ภ.1
ซึ่งจะมีคำสั่งให้ รอง ผบ.ตร.-ผบช. เข้าปฏิบัติราชการในตำแหน่ง
ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในหน่วย ส่วน ผบช.ภ.1 จะมีคำสั่งให้รักษาการในตำแหน่ง
ดูเหมือนง่ายราวกับเล่นขายของ ทั้งๆ ที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายระบุว่า
การกระทำที่เกิดขึ้นทั้งของ พล.ต.ท.สมคิด และ ก.ตร. นั้นมีกฎหมายรองรับให้ทำได้จริงหรือ???
การที่ พล.ต.ท.สมคิด มีหนังสือสมัครใจไม่ขอรับตำแหน่ง ผู้ช่วย ผบ.ตร.
จึงต้องมีการนำรายชื่อเข้าประชุม ก.ตร.ใหม่อีกครั้งนั้น เป็นกระบวนการที่ถูกต้องจริงๆ หรือ???
ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายระบุว่า การขายผ้าเอาหน้ารอด
ด้วยการให้ พล.ต.ท.สมคิด เป็นผู้เสียสละนั้น
กำลังจะเป็นปมทางด้านกฎหมายที่ร้ายแรงอย่างยิ่งสำหรับระบบราชการ
เพราะมติ ก.ตร. นั้นมีสถานะเป็นเหมือนกฎหมาย
จะเห็นได้จากตอนที่มีการพิจารณาตำแหน่ง ผบ.ตร. ของ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ
ปรากฏว่า เมื่อ ก.ตร. มีมติไม่เห็นด้วย
แม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ยังไม่สามารถที่จะดำเนินการขัดแย้งกับ มติของ ก.ตร. ได้
นายอภิสิทธิ์ จึงทำได้เพียงแค่แต่งตั้งให้ พล.ต.อ.ปทีป เป็นรักษาราชการแทน ผบ.ตร.
ลากยาวเป็นเวลาถึง 1 ปี จนกระทั่งเกษียณอายุราชการไป
แต่ในครั้งนี้
กลายเป็นว่า พล.ต.ท.สมคิด กลับสามารถทำให้ ก.ตร. ต้องมีมติใหม่ได้ด้วยการสละสิทธิ์
จึงเกิดคำถามว่า หากบรรดาผู้กำกับทั่วประเทศ เกิดมีผู้ประกาศแถลงข่าวขอสละสิทธิ์
ไม่รับตำแหน่งที่ ก.ตร. พิจารณาแต่งตั้งบ้าง จะเกิดอะไรขึ้น
ก.ตร. จะพิจารณาหาตำแหน่งให้ใหม่เหมือนกรณี พล.ต.ท.สมคิด หรือไม่?
จะปั่นป่วนวุ่นวายหรือไม่
โดยเฉพาะหากนายตำรวจที่ได้รับแต่งตั้งให้ไปดูแลพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
เกิดไม่ต้องการซ้ำรอย “จ่าเพียรขาเหล็ก” พ.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา ประกาศสละสิทธิ์บ้าง แล้ว
ก.ตร. จะว่าอย่างไร
รวมทั้งหากในครั้งนี้ พ.ต.อ.สมเพียร ไม่เลือกที่จะใช้วิธีขึ้นมาร้องทุกข์ที่กรุงเทพฯ
แต่เลือกที่จะใช้วิธีสละสิทธิ์แทน เช่นนั้นแล้ว ก.ตร. จะพิจารณาแต่งตั้งใหม่หรือไม่...
หากพิจารณาแต่งตั้งใหม่บางที พ.ต.อ.สมเพียร ก็อาจจะได้เกษียณอายุ
และไปจิบน้ำชายามบ่าย ได้อยู่กับครอบครัวตามความฝันก็ได้
แต่อะไรไม่สำคัญเท่ากับว่า
โดยหลักการที่ มติ ก.ตร. มีสถานะเป็นกฎหมาย
ที่แม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามอำเภอใจนั้น
ในทางกฎหมายหากจะมีการแก้ไขมติ ก.ตร. ให้มีการพิจารณาใหม่ใดๆ ก็ตาม
จะต้องมีเรื่องของการร้องเรียนว่าไม่ถูกต้อง ว่า
มีปัญหาในการพิจารณา ของผู้ที่ได้รับผลกระทบหรือเสียหายจากการพิจารณาของ ก.ตร.เสียก่อน
นั่นแหละทาง ก.ต. จึงจะสามารถ นำเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาข้อร้องเรียน ว่า
จะเห็นด้วยกับเหตุผลและหลักฐานของข้อร้องเรียน จนยอมเปลี่ยนมติ ก.ตร.
หรือว่าจะยืนกรานตามมติ ก.ตร. เดิมก็ได้
แต่ที่แน่ๆ ก็คือ จะต้องมีผู้ร้องเรียนขึ้นมาก่อน ซึ่งในครั้งนี้ไม่มีผู้ร้องเรียนใดๆ ขึ้นมา
เป็นเพียงแค่ พล.ต.ท.สมคิด แถลงข่าวสละสิทธิ์ แล้วนายสุเทพ
ก็เรียกประชุม ก.ตร. พิจารณาแต่งตั้งใหม่เลยทันที
ประเด็นนี้แหละที่จะทำให้เกิดเป็นกรณีตัวอย่างที่น่ากลัวให้เกิดขึ้นกับระบบราชการของไทย
เพราะหากมีการเทียบเคียงกรณีนี้ แล้วลุกลามไปยังคณะกรรมการการข้าราชการพลเรือน
หรือ กพ. โดยเมื่อ กพ. มีมติแต่งตั้งแล้ว ปรากฏว่า สละสิทธิ์ไม่ยอมรับตำแหน่งกันขึ้นมา
จะเกิดอะไรขึ้น
ที่สำคัญในแง่ของกระบวนการตามกฎหมาย การที่จู่ๆ ก.ตร. มีการทบทวน กลับมติ
โดย ที่ไม่มีต้นเรื่อง ในทางกฎหมายจะกลายเป็นว่า มติ ก.ตร. ครั้งแรกที่ถูกทบทวนและกลับมตินั้น แสดงว่าได้กระทำหรือได้พิจารณาไปโดยไม่เหมาะสมหรือไม่ หรือไม่เป็นไปตามขั้นตอนหรือไม่
และแม้กระทั่งอาจจะมองได้ถึงว่ามีการโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบระมัดระวังอย่างเพียงพอหรือไม่?
ซึ่งหากเกิดมีการตรวจสอบในภายหลังขึ้นมาเกี่ยวกับทางกลับมติ ก.ตร. ในครั้งนี้
ก็อาจจะเข้าข่ายความผิดฐานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิหน้าที่ของเจ้าพนักงานรัฐ
ตาม ม.157 ประมวลกฎหมายอาญาได้เช่นกัน
ซึ่งมาตรา 157 ระบุว่า... “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี
หรือปรับตั้งแต่สอบพันบาทหรือสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
ทั้งนี้มาตรา 157 ถือเป็นความผิดต่อแผ่นดิน เป็นคดีอาญา ไม่มีการไกล่เกลี่ย
และนอกจากความเสี่ยงต่อ มาตรา 157 แล้ว การกลับมติ ก.ตร.โดยไม่มีต้นเรื่องร้องเรียน
ยังมีสิทธิที่จะเข้าข่าย พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ
พ.ศ. 2502 ด้วยเช่นกัน
เพราะคณะกรรมการ ก.ตร. นั้นมีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ซึ่งอยู่ในข่ายของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ด้วยเช่นกัน
ยิ่งการที่พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ซึ่งเปิดเผยผลการประชุมก.ตร. โดยยืนยันว่า ก.ตร. ได้พิจารณาตามความเหมาะสมแล้ว
โดยไม่ได้นำประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ซาอุดีอาระเบีย มาร่วมพิจารณา
ก็ยิ่งกลายเป็นว่าการทบทวน มติ ก.ตร. ครั้งนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการแก้ไข
สถานการณ์ระหว่างประเทศด้วย แต่เป็นการทบทวน แก้ไขมติเพราะมีการสละสิทธิ์นั่นเอง
จึงเท่ากับว่า หากมีผู้ยื่นร้องเรียนให้มีการพิจารณาตรวจสอบการกลับ มติ ก.ตร. ในครั้งนี้
ก็แปลว่า ก.ตร. มีสิทธิ์ที่จะโดนได้ทั้ง ม.157 และทั้ง พ.ร.บ.ความรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ
พ.ศ.2502 ด้วยเลยทีเดียว
งานนี้นอกจากจะเป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์กันอื้อึงในหมู่ข้าราชการตำรวจแล้ว
ยังทำให้ ก.ตร. บางคนไม่สบายใจ บางคนใจเต้นตุ๊มๆ ต่อมๆ
เพราะทำไปทำมา เรื่องนี้อาจจะเป็น Deadlock ของ ก.ตร. ชุดนี้ก็เป็นได้!!!!
แต่สำหรับรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เรื่องนี้ คงแค่ “จิ๊บๆ” เท่านั้น
เพราะสารพัดเรื่องราวใหญ่โตกว่านี้... ยังเฉยๆ เลย!