ที่มา ข่าวสด
คอลัมน์ รายงานพิเศษ
สํานักกฎหมาย อัมสเตอร์ดัม แอนด์ เปรอฟ ซึ่งรับว่าจ้างเป็นทนายความให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ออกสมุดปกขาว การสังหารหมู่ที่กรุงเทพฯ : ข้อเรียกร้องต่อการแสดงความรับผิดชอบ ภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศ
ที่ประเทศไทยมีภาระหน้าที่ในการนำตัวฆาตกรเข้าสู่กระบวน การยุติธรรม ความหนา 1,857 หน้า 9 หมวด
มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้
บทนำ ระบุวัตถุประสงค์การทำหนังสือ
1.เพื่อเน้นถึงพันธกรณีของประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงพันธกรณีตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วย
สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights- ICCPR)
ที่ต้องสืบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงทั้งหลายที่เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดง
ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารและพลเรือนที่อยู่ใต้การบังคับบัญชาในการก่ออาชญากรรมการสังหารพลเรือนกว่า 80 ราย
ช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.
ที่ข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนมีการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยการใช้กองกำลังทหารอย่างเกินความจำเป็น
มีการกักขังอย่างพลการโดยต่อเนื่องเป็นเวลานาน การทำให้ประชาชนบางส่วนหายสาบสูญ และยังมีการไล่ล่า
ประหัตประหารทางการเมือง
มีหลักฐานว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เพียงพอที่จะดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริงด้วย
หน่วยงานที่เป็นกลาง และเป็นอิสระ เพื่อให้มีการรับผิดชอบตามกฎหมายระหว่างประเทศ
2.หลังการรัฐประหารระหว่างที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐบาลที่มีทหารหนุนหลัง
พยายามผนึกอำนาจของตน โดย การกดขี่ ปราบปรามการคัดค้านทาง การเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดง
มาตรการประการหนึ่งคือ การปราบปรามการเคลื่อนไหวโดยการประทุษร้ายประชาชนที่ไร้อาวุธอย่างเป็นระบบ
และกว้างขวาง อาจเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามธรรม นูญกรุงโรม
ซึ่งกำหนดให้จัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศที่กรุงเฮก
การกระทำผิดต่อคนเสื้อแดงอย่างร้ายแรงอาจเป็นเหตุเพียงพอให้ได้รับการพิจารณา
ให้เข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศได้
3.เพื่อยืนยันถึงสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศของสมาชิกนปช. หลายร้อยคนที่กำลังเผชิญข้อกล่าวหาทางอาญา
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง รับรองสิทธิในการต่อสู้อย่างยุติธรรม
สิทธิที่จะเลือกทนายสิทธิในการเตรียมการต่อสู้โดยมีเวลาและเครื่องไม้เครื่องมือ สิทธิในการเข้าถึงหลักฐานอย่างเท่าเทียม
หมวดที่ 2-5 เป็นการเล่าถึงประวัติการปกครองของไทย การขึ้นสู่อำนาจของพรรคไทยรักไทย จนถึงการขึ้นดำรง
ตำแหน่งของนายอภิสิทธิ์
ที่ระบุเป็นการผลักดันจากฝ่ายอำมาตย์และทหาร อันเป็นการฟื้นคืนชีพของระบอบอำมาตยาธิปไตย
หมวด 6 ฤดูร้อนอำมหิตของประเทศไทย : การสังหารหมู่คนเสื้อแดง
เป็นการเล่าถึงเหตุการณ์ชุมนุมของคนเสื้อแดงในเดือน มี.ค.2553 กระทั่งวันที่ 19 พ.ค. ที่มีการสลายการชุมนุม
โดยระบุ หลังการลอบสังหารเสธ.แดง มีการสังหารหมู่เกิดขึ้นทางทิศเหนือและใต้ของพื้นที่การชุมนุมที่ราชประสงค์
ในพื้นที่ดินแดง และสวนลุมพินี
ทหารประกาศให้พื้นที่บางแห่ง เช่น ซอยรางน้ำ ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือ และถนนพระราม 4 ซึ่งอยู่ทิศใต้ เป็นเขตใช้กระสุนจริง
และอนุญาตให้ยิงผู้ชุมนุมทุกคนที่พบ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอาวุธ ตามที่มีการบันทึกปากคำผู้เห็นเหตุการณ์ไว้อย่างละเอียด
เช่น บันทึกของ นิก นอสติตซ์ ช่างภาพนักข่าว แห่งเว็บไซต์ New Mandala ระบุผู้สัญจรไปมาจำนวนมากได้รับบาดเจ็บ
หรือถูกทหารยิงเสียชีวิต หนึ่งในนั้นเป็นเด็กอายุ 10 ขวบ ถูกยิงที่ท้องใกล้สถานีแอร์พอร์ตลิงก์ มักกะสัน เสียชีวิต
ที่โรงพยาบาล ผู้สื่อข่าวก็ตกเป็นเป้าด้วย
พยานผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งที่อยู่หลังแนวทหารที่ถนนพระราม 4 ได้ยินทหารถามผู้บังคับบัญชาว่า
"ยิงชาวต่างชาติกับนักข่าวได้ไหม"
ที่น่าละอายที่สุดคือการปิด "พื้นที่สีแดง" ไม่ให้อาสาสมัครหน่วยแพทย์พยาบาลฉุกเฉินเข้าไปในพื้นที่
ระดมยิงหน่วยอาสาฯ ขณะช่วยเหลือผู้ชุมนุม
และหลังการสลายการชุมนุมหลายชั่วโมง มีประชาชน 6 ราย เสียชีวิตจากการโจมตีที่วัดปทุมวนาราม
ซึ่งเป็นเขตหลบภัย
ผู้สื่อข่าวต่างชาติคนหนึ่งที่ได้รับบาดเจ็บอยู่บริเวณวัด เห็นทหารสไนเปอร์ยิงลงมาจากบนรางรถไฟฟ้า
เข้าใส่กลุ่มพลเรือนที่ถูกยิงเสียชีวิต ซึ่งมีพยาบาลอาสาในเครื่องแบบอยู่คนหนึ่งด้วย
ปกขาว ระบุการปฏิบัติการในเดือนเม.ย.-พ.ค. รัฐบาลอภิสิทธิ์ และกองทัพไทย ควบคุมฝูงชน
โดยขัดหลักมาตรฐานสากล ในทุกกรณี
หมวดที่ 7 ฤดูกาลใหม่ของการปกครองโดยทหาร ระบุ กองทัพกลับมามีอำนาจควบคุมประเทศอีกครั้ง
ซึ่งต่างจากช่วงหลังรัฐประหารปี 2549 คราวนี้ทหารปกครองโดยอำพรางใต้กฎหมาย
ใช้กฎหมายกดทับสิทธิเสรีภาพที่ทำให้เผด็จการทหารใหม่อยู่เหนือการตรวจสอบ
มีการใช้พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ซึ่งเป็นการละเมิด ICCPR มาตรา 4 การระงับสิทธิจะทำได้เท่าที่จำเป็น
เร่งด่วนของสถานการณ์เท่านั้น รวมถึงการควบคุมข้อมูลข่าวสาร ที่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ
ขณะที่ ศอฉ.เพิ่มมาตรการยับยั้งการเผยแพร่ข้อเท็จจริงและข้อมูลข่าวสารที่ไม่เป็นคุณต่อรัฐบาล
ด้วยการออกข้อกำหนดภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดกั้นเว็บไซต์มากมาย
เวลาเดียวกัน รัฐบาลปิดพีทีวี นิตยสารอีก 5 ฉบับ และสถานีวิทยุชุมชนจำนวนมากซึ่งดำเนินการโดยคนเสื้อแดง
ข้อกล่าวหาเสื้อแดงว่ามีวัตถุประสงค์ในการสร้าง "รัฐไทยใหม่" และถูกขยับขยายให้หนักหน่วงขึ้นด้วย
การปรากฏของผู้ที่เรียกว่า "ผู้ก่อการร้าย" ในหมู่คนเสื้อแดง แต่แทบไม่มีหลักฐานใดเชื่อมโยงนปช. และแกนนำ
หลักเข้าไปยุ่งกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่ถูกกล่าวหา
ประการแรก รัฐบาลล้มเหลวในการแสดงข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่จะโยงแกนนำคนเสื้อแดงเข้ากับเหตุระเบิดหลายสิบครั้ง
ประการที่สอง "ชายชุดดำ" ซึ่งดูเหมือนจะเป็นผู้สังหารเจ้าหน้าที่ทหารระหว่างการปะทะเมื่อ 10 เม.ย. ไม่เคยมีการระบุ
ตัวตนว่าเป็นใคร
นักรบกลุ่มนี้ถูกมองว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่ถูกฝึกมาอย่างดี ไม่ว่าจะยังประจำการหรือปลดประจำการแล้วก็ตาม
ประการที่สาม รัฐบาลโทษว่าเป็นฝีมือนปช. โดยทันทีหลังมีการโจมตีด้วยระเบิดเอ็ม 79 ที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส
สถานีศาลาแดง เมื่อ 22 เม.ย. ประจักษ์พยานซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมฝั่งสนับสนุนรัฐบาลอ้างระเบิดมาจากตึกแห่งหนึ่ง
ซึ่งขัดกับข้อสรุปของศอฉ. ที่ว่าถูกยิงมาจากพื้นที่ชุมนุมของคนเสื้อแดง
ประการที่สี่ รัฐบาลเตือนประชาชนหลายครั้งว่า กลุ่มคนเสื้อแดงมีอาวุธร้ายแรง มีคลังอาวุธขนาดใหญ่
ต่อมาศอฉ.จัดแสดงอาวุธอ้างถูกพบที่ราชประสงค์หลังเคลียร์พื้นที่
ซึ่งน้อยนิดกว่าที่คาดเมื่อเทียบตัวเลขความสูญเสียที่ไม่ได้ดุลกันเลยระหว่าง 2 ฝ่าย
จะเห็นว่ากลุ่มติดอาวุธร้ายแรงในหมู่เสื้อแดงมีเล็กน้อยมาก ขณะที่มีรายงานข่าวมากมายว่า
คนเสื้อแดงตอบโต้ทหารด้วยอาวุธที่ทำขึ้นเอง หรืออาวุธโบราณ
รัฐบาลยืนยันเหตุเพลิงไหม้ทั่วกรุง 39 แห่ง วันที่ 19 พ.ค. มีการวางแผนและดำเนินการอย่างเป็นระบบ
แต่ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่ามีการสมรู้ร่วมคิดได้ เพราะแกนนำส่วนใหญ่ถูกควบคุมตัวแล้วในช่วงที่มีการวางพลิง
คำถามสำคัญเป็นเรื่องเวลาที่เกิดเหตุเพลิงไหม้เซ็นทรัลเวิลด์
และความรวดเร็วในการเข้าไปยังพื้นที่เกิดเหตุของทหาร และการดับไฟของเจ้าหน้าที่ดับเพลิง
อย่างแย่ที่สุดคือมีหลักฐานบ่งชี้ว่าเพลิงนี้ถูกจุดด้วยความคับแค้นของผู้สนับสนุนฝ่ายเสื้อแดง
แต่การทำลายอาคารพาณิชย์ที่มีประกันไว้แล้วก็ยังฟังไม่ขึ้น
8.ข้อเรียกร้องหาการรับผิดชอบ ระบุ ไทยมีพันธกรณีหลายระดับ
ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่จะต้องนำผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ต้องสืบสวนและดำเนินคดีในทุกกรณีที่มีเหตุเชื่อว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงเกิดขึ้น
เช่น การสังหารพลเรือนอย่างรวบรัดตัดตอน หรือโดยพลการ โดยเฉพาะกรณีที่เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ
การสืบสวนต้องเป็นธรรม ครบถ้วน และดำเนินการโดยคณะกรรมการที่เป็นอิสระและเป็นกลางอย่างแท้จริง
การปกปิดของรัฐบาลเท่ากับเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
และความล้มเหลวของรัฐภาคีในการนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ก็เป็นการละเมิดสนธิสัญญาด้วย
นอกจากการละเมิด ICCPR และกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศแล้ว
การสังหารอย่างกว้างขวางและเป็นระบบโดยกองกำลังฝ่ายความมั่นคงในกรุงเทพฯ ในช่วงเม.ย.-พ.ค.2553
และการไล่ล่าประหัตประหารทางการเมืองต่อคนเสื้อแดง ชัดเจนเพียงพอที่จะเรียกว่าเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
ภายใต้ธรรมนูญกรุงโรมฯ