ที่มา มติชน "ประเทศไทยมีการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข"
โดย เกษียร เตชะพีระ
ปรีดี พนมยงค์
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมขุนชัยนาทนเรนทร
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
หมวด 1 บททั่วไป มาตรา 2
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
(23 มีนาคม พ.ศ.2492)
ข้อ ความข้างต้นอาจถือเป็นความพยายามแนวใหม่ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปก เกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2477 ในอันที่จะหาสูตรทางการเมืองเพื่อสัมฤทธิผลแห่งการปรองดองระหว่างกลุ่มผู้ ปกครองในระบอบเดิมกับประชาธิปไตย
ดังจะเห็นได้ว่าข้อความนี้กลายเป็น ระเบียบการเมืองสถาปนาของประชาธิปไตยแบบไทยๆ ในกาลต่อมา อาทิ : -
มาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปฏิรูปการเมือง พุทธศักราช 2540 กับมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับลงประชามติ พุทธศักราช 2550 มีข้อความตรงกันทุกถ้อยกระทงความว่า "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" มิไยว่าฉบับแรกจะถูกฉีก ส่วนฉบับหลังจะถูกสร้างโดยรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 ของ คปค.ก็ตาม
ข้อ ความดังกล่าวมิเคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับใดๆ ก่อนหน้าปี พ.ศ.2492 เลย ไม่ว่าพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (10 ธันวาคม พ.ศ.2475), รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (9 พฤษภาคม พ.ศ.2489), และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2490)
การ ถือกำเนิดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2492 โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2491 อันประกอบด้วยสมาชิก 40 คน จากการเลือกตั้งของรัฐสภา, และยกร่างโดยกรรมาธิการ ซึ่งเลือกจากสมาชิกสภาร่างฯด้วยกันเอง 9 คน และมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แกนนำพรรคประชาธิปัตย์เป็นประธานนั้น เป็นผลลัพธ์สืบเนื่องโดยตรงจากรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 ที่โค่นรัฐบาลของนายกฯ พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และขับไล่รัฐบุรุษอาวุโส ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ออกจากประเทศไป
มัน บ่งชี้ว่าความพยายามของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ กับพวก ให้เกิดการปรองดองระหว่างกลุ่มผู้ปกครองในระบอบเดิมกับประชาธิปไตยตั้งแต่ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านมาตรการทางการเมืองต่างๆ นั้น ในที่สุดไม่บรรุผล กล่าวคือ : -
-ปฏิบัติการต้านญี่ปุ่นร่วมกันระหว่างพลพรรคเสรีไทยใต้ดินในประเทศประสานกับเสรีไทยนอกประเทศ
-การ ตราพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษนักโทษการเมืองคดีกบฏบวรเดช พ.ศ.2476 และกบฏนายสิบ พ.ศ.2478, รวมทั้งลดโทษ 3 ใน 4 ของกำหนดโทษแก่นักโทษการเมืองคดีกบฏเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2481 ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2487 เนื่องในโอกาส "วันเกิดในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" รัชกาลที่ 8 (เรียกตามการใช้ภาษาสมัยนั้น ตามประกาศสำนักนายกฯ พ.ศ.2483 ของรัฐบาลพิบูลสงครามที่ให้ใช้คำว่า "วันเกิด" สำหรับบุคคลทุกคน)
-โดยเฉพาะการอภัยโทษ (28 กันยายน 2486) และคืนยศดังเดิมให้ (20 กันยายน 2487) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ซึ่ง ต้องโทษคดีกบฏ พ.ศ.2481 และถูกถอดยศ (24 พฤศจิกายน 2482) ในฐานะที่ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 52 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดา ม.ร.ว.เนื่อง (สนิทวงศ์), ต่อมาพระองค์เจ้ารังสิตฯได้ทรงดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ในสมัยรัชกาลที่ 9 โดยสภาผู้แทนราษฎรลงมติแต่งตั้งเมื่อ 16 มิถุนายน พ.ศ.2489
-ประกาศพระราชกำหนดนิรโทษกรรมการกบฏและจลาจลทุกครั้ง ที่แล้วมา เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2488 ไม่ว่าจะถูกฟ้องและรับโทษหรือไม่, หนีคดีหรือไม่, เป็นพลเรือนหรือทหาร, ยศชั้นใด ฯลฯ ให้นิรโทษกรรมพ้นมลทิน ไม่มีโทษติดตัว ถือว่าทุกคนบริสุทธิ์เสมือนไม่เคยต้องโทษเลย เพื่อความสามัคคีและส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
-การร่วมกันบริหารประเทศและเจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตรช่วงเปลี่ยนผ่านคับขันตอนสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองและ
-การ ร่วมกันยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ.2489 ระหว่างกลุ่มอาจารย์ปรีดีกับพวก และฝ่ายอนุรักษ์นิยม-นิยมเจ้าที่มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (นายกรัฐมนตรี กันยายน 2488 - มกราคม 2489) และ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (เลขานุการกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสังคายนารัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอาจารย์ปรีดีเป็นประธาน ปี พ.ศ.2489) เป็นแกนนำสำคัญ โดยยกเลิกข้อห้ามตามมาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม (10 ธันวาคม 2475) ที่กำหนดให้ "พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปโดยกำเนิด หรือโดยแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง" ทิ้งไปและเปิดโอกาสให้รวมตัวก่อตั้งพรรคการเมืองได้โดยอิสระในทางปฏิบัติ
แนวทางปรองดองข้างต้นแสดงออกอย่างชัดแจ้งใน คำปราศรัยของนายกรัฐมนตรีปรีดี พนมยงค์ (มีนาคม-สิงหาคม 2489) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2489 ในวาระปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดสุดท้ายตามรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ดังมีเนื้อหาสำคัญบางตอนว่า : -
-นายกฯปรีดีเริ่มด้วยการน้อมสำนึกและรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
-ท่าน อธิบายย้อนหลังไปถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ว่าคณะราษฎรมารู้ภายหลังยึดอำนาจแล้ว 6 วัน ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะพระราชทานรัฐ ธรรมนูญอยู่ แต่ทรงถูกที่ปรึกษา ข้าราชการชั้นสูงและ "บุคคลคนหนึ่ง" ทัดทานไว้ คณะราษฎรมิได้รู้พระราชประสงค์มาก่อน จึงทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองไปโดยบริสุทธิ์ใจ มิได้ช่วงชิงกระทำดังที่มีผู้ปลุกเสกข้อเท็จจริงให้เป็นอย่างนั้น
-ท่าน ขอซักซ้อมความเข้าใจถึงหลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญซึ่งคณะ ราษฎรได้ขอพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ประชาธิปไตย ต่างจาก อนาธิปไตย, มีผู้เข้าใจระบอบประชาธิปไตยผิด เอาอนาธิปไตยเข้ามาแทนที่ นับเป็นภัยต่อประเทศชาติอย่างร้ายแรง
-ประชาธิปไตยนั้นมีระเบียบ ยึดตามกฎหมาย ศีลธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต
-ส่วน อนาธิปไตยขาดระเบียบ ขาดศีลธรรม กฎหมายและความซื่อสัตย์สุจริต ใช้สิทธิเสรีภาพโดยไม่อยู่ภายใต้ขอบเขตกฎหมายหรือศีลธรรม โดยไม่สุจริต ก่อให้เกิดความปั่นป่วน ความไม่สงบเรียบร้อย ความเสื่อมศีลธรรม
-ที่สำคัญเมื่อ ประชาธิปไตยเสื่อม ก็นำไปสู่---> "อนาธิปไตย"-->เผด็จการฟาสซิสต์ ในที่สุดเหมือนอิตาลีสมัยมุสโสลินี
-ฉะนั้น หากไม่เอาเผด็จการ ก็ต้องป้องกันขัดขวางอนาธิปไตย ต้องให้ประชาธิปไตยมีระเบียบเรียบร้อย
-"ข้าพเจ้า ไม่มีเหตุผลอันใดที่จะกลายมาเป็นศัตรูของระบอบ ประชาธิปไตย.....ข้าพเจ้าไม่ประสงค์ที่จะให้ผู้ใดเชื่อข้าพเจ้าโดยไม่มีค้าน ข้าพเจ้าต้องการให้มีค้าน แต่ค้านโดยสุจริตใจ ไม่ใช่ปั้นข้อเท็จจริงขึ้น"
-เมื่อ สุจริตใจ ถึงต่างแนวทาง ก็ร่วมมือกันได้ แม้แนวทางที่จะเดินไปสู่จุดหมายจะเป็นคนละแนว แต่ในอวสาน เราก็พบกันได้ ตัวนายกฯปรีดีเองกับเจ้านายหลายพระองค์ ต่างแนวทาง แต่เพื่อส่วนรวมของประเทศชาติเหมือนกัน ก็ร่วมมือกันได้ ถึงบางท่านจะต่อต้านคณะราษฎร แต่ซื่อสัตย์ต่อเจ้าจริง ก็ร่วมมือกันได้ เพราะนายกฯปรีดีเคารพในความซื่อสัตย์ พวกตัวร้ายคือพวกที่อ้างชาติบังหน้า แต่ความจริงทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว อิจฉาริษยา
-โดยสรุป นายกฯปรีดีปฏิเสธอนาธิปไตยและเผด็จการ ท่านเรียกร้องให้สร้าง "ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมด้วยสามัคคีธรรมตามรัฐธรรมนูญ"
(อ้างจาก ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517) (2517), หน้า 519 - 22)
ทว่ากระบวนการสร้าง "ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมด้วยสามัคคีธรรมตามรัฐธรรมนูญ" ที่นายกฯปรีดีคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย (9 พฤษภาคม พ.ศ.2489) อันท่านถือว่าเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ เพราะพฤฒสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนเป็นผู้ที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา อีกทั้งพฤฒสมาชิก, สมาชิกสภาผู้แทนและรัฐมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ (มาตรา 24, 29, 66) นั้น ต้องประสบโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่และสะดุดหยุดชะงักไป เนื่องด้วยกรณีสวรรคตด้วยพระแสงปืนของในหลวงรัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489
หลังจากนั้นบ้านเมืองก็ระส่ำระสาย มีผู้ฉวยโอกาสจากกรณีสวรรคตปั้นเรื่องมดเท็จกล่าวร้ายป้ายสีอาจารย์ปรีดีและ พวก ก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกขยายตัวรุนแรงกว้างขวางออกไป ท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรษฐกิจข้าวยากหมากแพง โจรผู้ร้ายชุกชุม นักการเมืองและข้าราชการทุจริตคอร์รัปชั่นและนายทหารถูกปลดประจำการถึงราว 1 ใน 5 ของทั้งหมด หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ระบบการเมืองไทยก็ย่างเข้าสู่สภาพการณ์วิกฤตที่ : -
1) ชนชั้นนำสูญเสียฉันทามติว่าอะไรคือเป้าหมายร่วมกันของบ้านเมือง (the loss of elite consensus)
2) ระบอบการเมืองต่างๆ ที่ผ่านมาล้วนขาดพร่องความชอบธรรมในสายตากลุ่มพลังการเมืองสำคัญไม่กลุ่มใด ก็กลุ่มหนึ่ง (the lack of political legitimacy)
3) ความรุนแรงและฆาตกรรมทางการเมืองกลายเป็นวิธีการที่ทุกกลุ่มฝ่ายใช้กันอย่าง แพร่หลายโดยไม่เคารพกฎกติกาทางการเมือง (political violence & murders)
19 พฤษภาคม 2489 พรรคประชาธิปัตย์เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนายกฯถวัลย์ เจ็ดวันเจ็ดคืน โดยถ่ายทอดเสียงการประชุมทั่วประเทศ แม้รัฐบาลถวัลย์จะชนะเสียงไว้วางใจในสภา (86:55 งดออกเสียง 16 คน) และได้กลับมาบริหารประเทศต่อ แต่ความน่าเชื่อถือก็เสื่อมทรุดลงในสายตาสาธารณชนอย่างหนัก
เมื่อ ประกอบกับการปลุกม็อบเคลื่อนไหวโค่นรัฐบาลนอกสภา ของกลุ่มฝ่ายต่างๆ ก็ทำให้บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะอนาธิปไตยไปทุกที (ดูบทวิเคราะห์โดยพิสดารใน KasianTejapira, Commodifying Marxism : The Formation of Modern Thai Radical Culture, 1927-1958 (2001), pp. 71-92)
ใน ที่สุดคณะรัฐประหารอันประกอบด้วยอดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่นอกราชการ (เช่น พลโท ผิน ชุณหะวัณ, นาวาเอก กาจ เก่งระดมยิง, พันเอก เผ่า ศรียานนท์) กับนายทหาร กุมกำลังระดับนายพันในราชการ (เช่น พันเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์, พันโท ประภาส จารุเสถียร) ก็ยึดอำนาจในนาม "ทหารของชาติ" เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 โดยความร่วมมือเห็นพ้องและอธิบายแก้ต่างของนักการเมืองและแกนนำพรรคประชา ธิปัตย์ฝ่ายค้านสมัยนั้น (เช่น เลื่อน พงษ์โสภณ, ควง อภัยวงศ์, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นต้น ดู สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย : ว่าด้วยรัฐและการต่อต้านรัฐสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ครั้งที่สอง (พ.ศ.2491-2500), 2550, หน้า 89, 103 - 05, 117, 131 - 32)
เป็น อันปิดฉากความพยายามสร้างความปรองดองผ่าน "ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมด้วยสามัคคีธรรมตามรัฐธรรมนูญ" และเปิดทางแก่ "ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" แทน