ที่มา thaifreenews
โดย Porsche
เขียนโดย JJ_Sathon
อ่านและชมคลิปบทกวี "..และเรารู้ว่า ตัวเราเปลี่ยนไป"
กลอนหัวเดียวที่ก่อวิวาทะในกลุ่มคนเสื้อแดง
เมื่อเราผ่านการต่อสู้ เราย่อมตระหนักรู้ ว่าตัวเราเปลี่ยนไป
มันอาจจะเพียงไม่นาน และเราไม่ได้ถูกจ้างวานให้มาโดยใคร
เราสุขเราทุกข์มาด้วยกัน ผ่านคืนและวันที่เราต่างลุกเป็นไฟ
ไฟบางกองวูบวับดับลง หากที่เหลือยังคงเป็นไฟกองใหม่
แม้ล่วงเข้าปลายฤดูฝน มันยังลุกอยู่บนสิ่งที่ควรลุกไหม้
เพื่อนเอ๋ย..เราไม่อาจปล่อยวาง จุดหมายปลายทางยังอีกยาวไกล.......
ระหว่างเส้นทางสายนี้, เราเริ่มรู้ว่ามีเรื่องราวมากมาย
มีชุมชน และผู้คนเหล่านั้น ในตรอกซอยตัน และถนนสายใหญ่
บนทางลอยฟ้า หน้าห้างฯ ลานสนามกว้างขวางมีเวทีอภิปราย
วิทยุ, ทีวี, หนังสือ ฯลฯ บอกเราให้ยึดถือหลักการฯ ทั้งหลาย
การเผชิญหน้าปากกระบอกปืน ช่วยให้เราหยัดยืนได้มั่นคงกว่าใครๆ
และการล้อมปราบครั้งนั้น ไม่ทำให้เราพรั่นพรึงแต่อย่างใด........
เพื่อนเอ๋ย เราผ่านมันมา และเรารู้ว่า ตัวเราเปลี่ยนไป
เราเริ่มพูดจาเหมือนกัน ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องอะไร
คิดและทำสิ่งเดียวกัน ตั้งเข็มมุ่งมั่นโดยมิต้องนัดหมาย
ไม่ต้องมัวตั้งคำถาม เพราะทุกอย่างเป็นไปตามชุดคำอธิบาย
การเมือง, สังคม, เศรษฐกิจ ทุกเรื่องเราคิดคำตอบได้ง่ายดาย
เรารักคนคนเดียวกัน และเกลียดคนคนนั้นเหมือนๆ กันใช่ไหม ?
ทุกคน ทุกเรื่องที่เรารัก ทำไมเรามักไม่มีคำถามใดๆ ?
และทุกคน ทุกเรื่องที่เราเกลียด เราก็ยิ่งยัดเยียดความเกลียดชังลงไป
เราอนุโลมให้กับความผิดพลาด ในทุกๆ โอกาสของพวกเราใช่หรือไม่ ?
เราจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ท่ามกลางความเงียบงันของ "คำถาม" ได้อย่างไร ?
หรือนี่คือสิ่งที่เรากำหนด ให้เป็นอนาคตของ "สังคมไทย" ..? .........
แน่นอน..เราถูกกระทำ ถูกเหยียดถูกย่ำอย่างกับวัวกับควาย
เสียงเราไม่ถูกได้ยิน เลือดเราไม่มีกลิ่นเหมือนพวกเขาทั้งหลาย
ศพเราไม่ถูกมองเห็น เหมือนว่าเรานั้นเป็น "ผู้ไม่มีร่างกาย"
แต่แล้ว ในเวลาเดียวกัน เรากำลังทำอย่างนั้นกับคนอื่นอยู่หรือไม่ ?
เราคิดว่า ข้างนอกนั่น มีแต่ "พวกมัน" เท่านั้นหรืออย่างไร ?
หลายคนคงยังพอนึกออก ถึงตอนที่อยู่ "ข้างนอก" ยังไม่เข้ามา “"ข้างใน"
ก่อนจะมาถึงวันนี้ เราต่างก็เคยมีเมื่อวานนี้ ใช่หรือไม่ ?
เราเคยเห็นแย้งเห็นต่าง อคติ – เป็นกลาง กับเรื่องราวหลากหลาย
เคยถกเถียงหน้าดำคร่ำเครียด แต่ไม่เคยโกรธเกลียดกันแบบเอาเป็นเอาตาย
เคยได้ยินคำพูดทุกคำ แถมยังจดยังจำหน้าตากันได้
เราลองคิดว่า "พวกเขา" ก็คือพวกเราในวันเก่าๆ ได้หรือไม่ ?
คือ "เรา" ที่เคยมีโอกาส ก้าวข้ามความผิดพลาด กลายมาเป็นคนใหม่..
แล้วทำไมเราจะฉวยโอกาส รับฟังข้อผิดพลาดจากพวกเขาบ้างไม่ได้ ?
บางที หลายคนในพวกเขา อาจไม่ใช่ศัตรูเรา อย่างที่เราเข้าใจ............
เพื่อนเอ๋ย เราเพิ่งผ่านมันมา ภาพยังติดตา เรื่องยังคาใจ
คนตายต้องไม่ตายเปล่า ความตายของเขาต้องมีความหมาย
แน่นอน, เราไม่อาจปรองดอง กับคนที่มือทั้งสองเปื้อนเลือดพวกเราได้ !
แต่หากเราต้องเป็นเหมือนกัน - กับคนเหล่านั้น มันมีประโยชน์อะไร ?
เราอาจต้องสนใจปัญหา ในระดับลึกกว่า "อำนาจของตีนใหญ่"
สนใจเครือข่ายกลุ่มก้อน ที่ลึกลับซับซ้อนกว่าเส้นสนกลใน
ทำความรู้จักกับทุกคน เพื่อเข้าใจว่า "ประชาชน" นั้น หมายถึงใคร ?
กล้าพูด กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ทุกๆ หลักการที่เริ่มล้าสมัย
ทบทวนวิธีต่อสู้ ที่มุ่งโค่นศัตรูอย่างเอาเป็นเอาตาย
เราก็เห็น ว่าคนเหล่านั้น ทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน..จะเอาอย่างไปทำไม ?
โลกมีพื้นที่กว้างขวาง ผู้คนถูกสร้างให้มีความหลากหลาย
เรา, ฉัน, ท่าน, เขา – แต่ละคน ต่างมีตัวตนแตกต่างกันไป
แต่เสียงเราต้องเป็นที่ได้ยิน เลือดเราต้องมีกลิ่นเหมือนพวกเขาทั้งหลาย
และมันคือเลือดสีแดง เหมือนเลือดสีแดงของผู้คนทั่วไป
ตัวตนเราต้องถูกมองเห็น เพราะชีวิตเราเป็นสิ่งที่มีความหมาย
พลังแห่งปัจเจกภาพ ย่อมไม่ใช่การหมอบราบ – รอฟังคำสั่งใคร !
เพื่อนเอ๋ย..เราจงมากำหนด สิ่งที่เป็นอนาคตของสังคมไทยใหม่
ถ้าไม่อยากย่ำอยู่ที่เก่า...
ถ้าไม่อยากย่ำอยู่ที่เก่า... ตัวตนของเรา จะต้องเปลี่ยนต่อไป
นี่คือบทกวีชื่อ "..และเรารู้ว่า ตัวเราเปลี่ยนไป" ของกฤช เหลือลมัย กวีที่แต่งบทกวีว่า
ด้วยสังคมการเมืองไทยซึ่งมีเนื้อหาน่าสนใจหลายชิ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
กฤชอ่านบทกลอนหัวเดียวชิ้นนี้ในงานคอนเสิร์ต "เราจะไม่ทอดทิ้งกัน"
ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา
ต่อหน้าคนเสื้อแดงกว่า 2 พันคนซึ่งเข้าร่วมชมคอนเสิร์ตดังกล่าว
จนแน่นขนัดหอประชุม และมีอีกมากที่เข้าไปนั่ง/ยืนชมข้างในไม่ได้
ในด้านหนึ่ง บทกวีชิ้นนี้ของกฤชได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ที่มีความเห็นว่า
ควรจะเกิดการวิจารณ์กันเองในหมู่คนเสื้อแดง
เพื่อวิถีการต่อสู้ที่ถูกต้องเหมาะสมในอนาคต นอกจากนี้
นี่ยังแสดงให้เห็นว่าคนเสื้อแดงอาจไม่ได้มีเพียงกลุ่ม/เฉดสีเดียว
หากแต่เต็มไปด้วยผู้คนซึ่งมีแนวคิดแตกต่างหลากหลาย
รวมทั้งบางคนที่อาจยืนข้างเสื้อแดง ทว่าไม่ได้ประกาศตนเป็นคนเสื้อแดง
แต่ในอีกด้าน บทกวีชิ้นนี้กลับถูกวิจารณ์จากคนอีกส่วนว่า
มีลักษณะ "สองไม่เอา" และแม้ผู้แต่งจะมีความหวังดี
ทว่าแนวคิดที่กฤชถ่ายทอดออกมา ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การต่อสู้ของคนเสื้อแดง
และคล้ายจะไม่ใส่ใจอย่างจริงจังต่อความอยุติธรรมที่พวกเขาได้รับนั้น
ก็อาจจะเข้าทางอำนาจรัฐได้
แม้วิวาทะครั้งนี้อาจเกิดขึ้นแบบจำกัดวงในหมู่ปัญญาชนเสื้อแดงเพียงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม นี่ถือเป็นความเคลื่อนไหวหรือสีสันที่น่าสนใจ
และชวนฉุกคิดมิใช่น้อยของขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง
ซึ่งมีประชาชนจำนวนมากหนุนหลังอยู่กลุ่มนี้
http://www.go6tv.com/2010/09/blog-post_4976.html