ที่มา ประชาธรรม
วันนี้ ( 21 ก.ย. 54) คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ และ สำนักข่าวประชาธรรม จัดเสวนา "5 ปีรัฐประหาร และการปฏิรูปการเมืองรอบใหม่" ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
มี วิทยากรในการเสวนาได้แก่ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ศรีวรรณ จันทร์ผง แกนนำนปช.เชียงใหม่, ภัควดี ไม่มีนามสกุล นักเขียน นักแปลอิสระ, ธเนศวร์ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ณัฐกร วิทตานนท์ สำนักนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยมี ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นพิธีกรดำเนินการเสวนา
.............................
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กล่าวว่า ผลสรุปของ 5 ปีรัฐประหาร อยากชวนมองให้เป็นกระบวนการ เกิดอะไรขึ้นในบ้านเรา ในวันนี้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการต่อสู้เพื่อเคลื่อนเข้าสู่สังคมประชาธิปไตย ในการต่อสู้ที่ผ่านๆมามันมีปัญหาอยู่ตรงไหนที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรม คนส่วนมากจะมองไปที่มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ในฐานะนักประวัติศาสตร์นั้น ถ้ามองอะไรที่ยาวไกลมากไปอาจจะทำให้ไม่เข้าใจปัจจุบัน ฉะนั้น การมองไปที่ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นไกลไป แน่นอนว่านักประวัติศาสตร์ไม่สามารถมองข้ามประเด็นนี้ได้ แต่คิดว่ามรดกที่ตกทอดที่ใกล้กว่านั้นและทำให้เป็นปัญหาจนถึงทุกวันนี้ คือ การจัดความสัมพันธ์ใหม่ในสมัยพล.เอกเปรม สภาวะหลังปี 2516 ระบบอำนาจเด็ดขาดมันอยู่ไม่ได้ จึงเกิดประชาธิปไตยแบบครึ่งใบขึ้นมา มีระบบการเลือกตั้งขึ้นมา แต่อำนาจสูงสุดยังอยู่ในมือของพล.เอกเปรม (ภาคราชการ) อำนาจในสมัยเปรมเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามาแบบครึ่งๆ
การเมืองประชาธิปไตยครึ่งใบของเปรมถือว่ายังมีความชอบธรรมไม่มากนัก จึงใช้วิธีการเดียวกับสฤษดิ์ คือ เข้าไปแอบอิงกับสถาบันกษัตริย์ ดังนั้นกระบวนนี้น่าสนใจคือ เกิดการสถาปนาอำนาจแบบใหม่ขึ้นมา มีการรักษาระบบราชการกึ่งเลือกตั้ง โดยใช้อำนาจนอกระบบเป็นครั้งคราว สิ่งนี้เป็นผลตกทอดสมัยพล.เอกเปรมจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเกิดประมาณปี 2520
การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยในสมัยพลเอกเปรม เป็นผลมาจากการปรับตัวของชนชั้นนำระหว่างปี 2516-2519 เป็นการปรับตัวที่ชนชั้นนำรู้ว่าทำแบบเดิมนั้นไปไม่รอด เป็นการปรับตัวที่ใช้ระบบราชการแช่แข็งนโยบายของนักการเมืองอีกปีกหนึ่ง เพื่อรักษาสถานภาพเดิมทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุน และเริ่มมีการเริ่มต้นประชานิยม เมื่อบุญชู โรจนเสถียร สร้างนโยบายประชานิยม พลเอกเปรมก็ดึงกลับไปเป็นของรัฐเพื่อไม่ปล่อยให้นักการเมืองใช้ประชานิยมได้อย่างเสรี กลุ่มทุนเก่าก็ร่ำรวยขึ้น ซึ่งระบบ 8 ปีนี้น่าสนใจและยังไม่มีใครศึกษาการสร้างเครือข่าย ทุกคนโดดไปด่าสถาบันอื่นโดยลืมดูโครงสร้างอันนี้
หลังสมัยพลเอกเปรม สมัยรัฐบาลชาติชายมีความพยายามในการรุกคืบเข้าไปในอำนาจของระบบราชการ ทำให้เกิดการโต้กลับของอำนาจ เกิด รสช.(คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ขึ้นมา อย่างไรก็ตามหลังยุครสช.มีความพยายามในการรักษาประชาธิปไตยครึ่งใบอยู่ตลอดมา พรรคประชาธิปัตย์ที่ได้อำนาจในช่วงหลังก็ไต่เส้นลวด ประชาธิปไตยแบบครึ่งใบมาตลอด ซึ่งพยายามให้อำนาจราชการครึ่งหนึ่งไว้ ไม่ก้าวไปล่วงล้ำ เพื่อให้อำนาจตัวเองอยู่ ประชาธิปัตย์พยายามรักษาดุลอำนาจนี้ไว้
ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือการร่างรัฐธรรมนูญปี 40 เป็นการปลดล๊อคอำนาจประชาธิปไตยครึ่งใบ เป็นจุดเริ่มต้นในการดึงประชาชนเข้าร่วมทางการเมือง
การเมืองในสมัยทักษิณ ด้วยหลักการของรัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งปลดล๊อคอำนาจระบบราชการ เกิดการจัดความสัมพันธ์อำนาจในระบบประชาธิปไตยใหม่ โดยลดทอนอำนาจระบบราชการในทุกส่วน ปรับเปลี่ยนระบบราชการทุกระดับ ทั้งการศึกษา โรงพยาบาล ฯลฯ รวมทั้งทำให้ความชอบธรรมทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง จึงทำให้อำนาจประชาธิปไตยสั่นคลอน ทั้งหมดจึงนำไปสู่การรัฐประหาร 49
รัฐประหารที่เกิดขึ้นและการเมืองหลังจากนั้น รวมถึงรัฐธรรมนูญปี 50 ถือเป็นการสืบทอดอำนาจในสมัยพล.เอกเปรมอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการพยายามรักษาประชาธิปไตยครึ่งใบไว้ พยายามเข้าไปแอบอิงสถาบันเดิม พยายามสร้างกฎเกณฑ์ที่ทำให้ราชการมีอำนาจ เช่น การตั้งกฎโยกย้ายทหารต้องผ่านกรรมการทั้ง 7 คน เป็นต้น ทำให้เกิดความขัดแย้งสูงมาก
กระบวน การที่เกิดขึ้นใน 5 ปีหลัง เป็นการยื้ออำนาจของระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบและอำนาจที่อ้างความชอบธรรมจาก การเลือกตั้ง(ระบบราชการ กับภาคการเมือง) ความรุนแรงปี 2552 และ 2553 จึงเป็นผลผลิตของการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจคู่นี้ที่ยังไม่ลงตัว
นอก จากนี้การยื้อแย่งทางการเมืองดังกล่าวยังสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทาง เศรษฐกิจอีกด้วย ซึ่งความเปลี่ยนแปลงอันนี้ทำให้ชนบทไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คนในชนบทในงานวิจัยของหลายท่านล้วนสะท้อนให้เห็นว่าคนชนบทไม่ใช่ชาวนา ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกับชนบทได้เปลี่ยนไปแล้ว อาจจะไม่มีชนบทเหลืออยู่ในความหมายเดิมอีกต่อไป
ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมันนำมาสู่ "การเมืองเรื่องความหวัง" (Politic of Hope) ซึ่ง เมื่อเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจนี้ แล้วคุณต้องมีความหวังว่าจะเดินไปข้างหน้าอย่างไร จากบทสัมภาษณ์ของงานวิจัยเรื่องเสื้อแดง สิ่งที่ปรากฏชัด คือ ประชาชนมีสำนึกทางพลเมือง ความเปลี่ยนแปลง 2 ด้านนี้ จึงนำเข้ามาสู่การต่อสู้ทางการเมืองด้วย
ผลสรุป คือ การยื้อทางอำนาจไม่ก่อผลดีต่อสังคมไทยโดยรวม ตนคิดว่าทางออกคือ หนึ่ง ปลดล๊อคทางอำนาจ ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้มีการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจให้ลงตัวมากขึ้น (ถ้ายื้อแบบนี้โดยไม่ร่างกติกาก็จะทำให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นอีก) การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยกลไกของปี 2540 จะทำให้สังคมไทยเคลื่อนไปสู่การตกลงกันได้ง่ายมากขึ้น
ซึ่งหลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ลงประชามติเสร็จแล้ว ควรยุบสภาเลือกตั้งใหม่ นี่ คือสิ่งที่สำคัญเพราะจะทำให้เราเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งอันนี้ แต่มีข้อกังวลคือ ถ้ารัฐบาลปัจจุบันมีความสุขกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การร่างรัฐธรรมนูญใหม่อาจจะไม่เกิด เพราะ เป็นการให้อำนาจกับระบบราชการอยู่ ถ้ารัฐบาลยังคงอยู่ได้ โดยสามารถเปลี่ยนอำนาจระบบราชการมาอยู่ในมือ ประชาชนก็อาจต้องผลักดันมากขึ้น
สอง เราจะสร้างแนวทางการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นเฉพาะเรื่องมากขึ้น ทั้งในรัฐสภาและในที่อื่นๆ โดยให้สังคมเป็นคนตัดสินได้อย่างไร เพื่อไม่ให้มีการรัฐประหารอีก เช่นการโยกย้ายทหาร ถ้ารัฐบาลต้องการโยกย้ายทหาร โดยผ่านคณะกรรมการทั้ง 7 คน แล้วมีเสียงครหา สังคมเป็นคนตัดสิน อาจจะด้วยการโหวตหรืออะไรก็แล้วแต่ ทหารก็จะไม่กล้ารัฐประหาร
กลุ่ม ที่สนับสนุนทางการเมืองต้องใจเย็นๆและมองการไกล ไม่ว่ากลุ่มใดก็ตาม ถ้าเกิดรัฐประหารครั้งต่อไปต้องมีจุดยืนให้ชัด เพราะคิดว่ารัฐปะหารครั้งต่อไปโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากทหารทั้งสองฝั่ง ทั้งฝั่งเดิมที่พยายามรักษาประชาธิปไตยครึ่งใบ กับทหารอีกฝั่งหนึ่งที่เราเรียกกันว่า "ทหารแตงโม" เราต้องมีจุดยืนให้ชัดว่าเราต้านรัฐประหารจากทุกกลุ่ม เพราะการรัฐประหารเป็นการลากสังคมไทยไปสู่จุดดับ
.....................................
ศรีวรรณ จันทร์ผง กล่าวว่า การเมืองในช่วงนี้ก็เป็นการต่อยอดจากการเคลื่อนไหวปี 16 - 19 และพฤษภาทมิฬ รัฐประหารปี 34 ก็เป็นภาวะของประชาชนที่อยากได้รัฐธรรมนูญปี 40 ประชาชนตื่นตัวทางการเมือง ต้องการให้อำนาจ 3 อำนาจคือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการแยกออกจากกัน และตรวจสอบกันได้ รัฐธรรมนูญปี 2540 ทักษิณแทบไม่ได้มีส่วนร่วม หลังรัฐธรรมนูญปี 40 มันเกิดสถานการณ์ที่คนยากจนไม่เคยได้รับ นโยบายของพรรคการเมืองนั้นมีความโดดเด่นมาก คือกองทุนหมู่บ้าน นโยบายการศึกษา กองทุนกู้ยืมการศึกษา นโยบายหวยบนดิน ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของคนเสื้อแดงนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะนโยบายของทักษิณ ซึ่งนโยบายเหล่านี้จะไปขัดกับผลประโยชน์ของอำนาจเก่าหรือไม่ ตนก็ไม่รู้ แต่รู้ว่าชาวบ้านได้ประโยชน์ อย่างเรื่องยาเสพติดในสมัยทักษิณ ชาวบ้านก็ชอบมาก เพราะทำให้ลูกหลานเขาไม่ติดยาเสพติด
แต่ทำไมต้องมีการทำรัฐประหาร ก่อนทำรัฐประหารทักษิณได้อยู่ครบเทอม พอสมัยที่สอง พันธมิตรเริ่มออกมาเคลื่อนไหว และใช้สื่อในการโจมตีทักษิณ ในเรื่องการคอรัปชั่น เงื่อนไขเหล่านี้ กลุ่มอำนาจเก่าจัดการกับ รัฐธรรมนูญปี 40 ก็เพื่อจะจัดการกับทักษิณ เป็นการผนึกกำลังของ 3 ฝ่าย ทั้งพันธมิตร ประชาธิปัตย์ ทหาร ระบบราชการกลุ่มอำมาตยาธิปไตย
คนเสื้อแดงออกมาต่อสู้เพราะ ปัญหาสองมาตรฐาน ความไม่เป็นกลางขององค์กรอิสระ และรับไม่ได้กับรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะไม่ใช่อำนาจของประชาชนโดยแท้จริง อำนาจตกอยู่ที่ศาล สว.สรรหา มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน กระบวนการของอำนาจเก่าพยายามยื้ออำนาจอยู่เรื่อย รัฐธรรมนูญปี 50 เป็นการยกร่างโดย คปค.(คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ก็ว่าได้
ปัญหาสองมาตรฐานที่ปลดรัฐบาลสมชาย และสมัคร ทำให้เกิดพี่น้องเสื้อแดง ซึ่งต่อมาก็มีการยุบพรรคไทยรัก จากประสบการณ์การเคลื่อนไหวของประชาชน.ปี 52 สิ่งที่พี่น้องได้ คือ ลูกปืน
ต่อมาปี 53 เราก็เรียกร้องความเป็นธรรมเช่นกัน เราล้อมราบ 11 ตั้งแต่เดือนมีนาคม จะเห็นว่าพลังการต่อสู้ของเสื้อแดงมีมากมายมหาศาล สิ่งที่พี่น้องเสื้อแดงออกมาเรียกร้อง คือ ความเป็นธรรม และนโยบายที่พี่น้องประชาชนต้องการ
ภายใต้การต่อสู้ในสมัยอภิสิทธ์ มีการประกาศพรก.ฉุกเฉินฯ สารพัดเพื่อจำกัดสิทธิประชาชน ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม สร้างความเจ็บปวดให้กับพี่น้องเสื้อแดงอย่างมาก
................................
ภัควดี ไม่มีนามสกุล กล่าวว่า มีคนเสนอภาพในเชิงกว้างแล้ว สำหรับ ตนอยากจะมองให้แคบลงมาในเรื่องของ กองทัพ เพราะสถาบันกองทัพถือเป็นสถาบันที่ไม่ค่อยเปลี่ยนบทบาท ในสังคมไทยถือเป็นสังคมของรัฐทหาร แม้ในระบบเศรษฐกิจทหารก็เข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น กรณี กสทช.ที่มีทหารเข้าไปเป็นกรรมการจำนวนมาก ก็แสดงถึงความไร้เหตุผลของสังคมไทยอย่างมาก
หลังปี 2535 เราพูดกันมากว่า ต้องการให้กองทัพไทยกลับสู่กรมกอง แม้มีการผลักดันเข้ากรมกองจริง แต่ยังไม่มีการปฏิรูปกองทัพอย่างจริงจัง ดังนั้นจึงอยากยกตัวอย่างการปฏิรูปกองทัพในสองประเทศ ประเทศแรกคืออาร์เจนตินา ซึ่งเคยเป็นเผด็จการ มีการกวาดล้างพลเมืองไปเป็นจำนวนมาก แต่ก็สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย และสามารถเอาผิดผู้นำประเทศที่เป็นทหารได้ หลังจากเปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตยรัฐบาลพลเรือนพยายามปฏิรูปกองทัพ คือจำกัดความรับผิดชอบของทหารเฉพาะการป้องกันประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นหน้าที่ของตำรวจ ตำรวจจะขึ้นอยู่กับแต่ละเมือง หรือขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับส่วนกลางเหมือนประเทศไทย
ใน บางประเทศ ฐานทัพทหารจะอยู่ในเขตชายแดน ไม่เหมือนประเทศเราที่ค่ายทหารที่ใหญ่ๆกลับอยู่ใกล้กรุงเทพฯ แล้วตอนี้พยายามมาสร้างกองพันทหารม้าที่เชียงใหม่ ซึ่งสะท้อนวิธีคิดของประเทศไทย ที่เอาระบอบอาณานิคมแบบตะวันตกมาใช้ในระบอบการปกครอง ซึ่งไม่ต่างจากสมัยรัชกาลที่ 5 โดยถือเอากรุงเทพฯเป็นศูนย์กลาง และภูมิภาคเป็นอาณานิคม
เรื่องที่สองที่อาร์เจนตินาทำในการปฏิรูปกองทัพ คือ ย้ายหน่วยข่าวกรองและหน่วยปราบจารจลให้ออกจากความรับผิดชอบของกองทัพ
เรื่องที่สาม คือ ปรับระบบการศึกษาของกองทัพ ถ้า กรณีของไทยการศึกษาของทหารแยกออกจากระบบการศึกษาโดยทั่วไป ซึ่งวิธีการศึกษาแบบนี้มันทำให้ทหารถูกครอบงำทางอุดมการณ์ได้ง่าย แต่ถ้ามีการปรับระบบการศึกษาให้ทหารมาเรียนกับพลเรือนอย่างที่อาร์เจนตินา หรือเวเนซูเอล่าทำ จะทำให้ทหารได้เรียนรู้กับประชาชนทั่วไป ผูกพันกับประชาชน รับรู้ข่าวสาร ไม่แปลกแยก และทหารมีความคิดทางการเมืองที่ก้าวหน้าขึ้น
เรื่องที่สี่ กองทัพต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของพลเรือน ประธานาธิบดีของเขาจะเป็นผู้นำเหล่าทัพ เสนาธิการแต่ละเหล่าทัพก็เป็นพลเรือนด้วย และห้ามนายทหารรับตำแหน่งทางการเมือง และแสดงความคิดเห็นทางการเมือง
เรื่องที่ห้า ลดจำนวนตำแหน่งนายทหารระดับสูง ส่วน ใหญ่ประเทศที่ก้าวหน้ามากๆอย่างสหรัฐฯ ระดับพลเอก จะไม่เยอะเหมือนบ้านเรา การพิจารณาตำแหน่งก็พิจารณาที่ผลงาน ไม่ใช่เส้นสายหรือนามสกุล
เรื่องที่หก ลดงบประมาณป้องกันประเทศ ลดการใช้จ่ายของกองทัพ ยกเลิกการจัดซื้ออาวุธด้วยวิธีพิเศษ การซื้ออาวุธต้องตรวจสอบได้
เรื่องที่เจ็ด ลดการเกณฑ์ทหารลงเหลือ 1 ใน 3 ขณะที่ประเทศไทยนั้นถ้ายกเลิกการเกณฑ์ทหารได้ก็จะดี รวมถึงยกเลิกระบบศักดินาในกองทัพที่ทหารเกณฑ์ยังต้องไปเป็นคนรับใช้นายพลด้วย
เรื่องต่อมา (เรื่องที่ 8) ห้ามนายหารมีตำแหน่งในรัฐวิสาหกิจ กองทัพห้ามทำธุรกิจ นายทหารที่เกษียณห้ามไปรับตำแหน่งทางองค์ธุรกิจด้วย
อัน สุดท้าย(เก้า) เขาระบุไว้ในรัฐธรรมนูญเลยว่า การรัฐประหารทุกรูปแบบเป็นกบฏของแผ่นดิน และยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมคนที่ทำรัฐประหารทั้งหมดไป
อันนี้คือการปฏิรูปกองทัพในประเทศอาเจนติน่าซึ่งผ่านระบอบเผด็จการทหารที่โหดร้าย
ต่อ มาอยากจะยกตัวอย่างประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ใกล้ๆเราและมีประสบการณ์คล้ายๆกับอาร์เจนตินา แล้วเขาก็เปลี่ยนผ่านมาเป็นระบอบประชาธิปไตย และก็มีการปฏิรูปกองทัพพอสมควร ซึ่งหลังผ่านยุคซูฮาร์โตที่เป็นเผด็จการทหารและกวาดล้างประชาชนไปมากมาแล้ว ประชาธิปไตย ของเขาค่อนข้างมีความมั่นคงกว่าประเทศไทย หลายเรื่องที่เคยล้าหลังกว่าเรา ตอนนี้เริ่มล้ำหน้าเรา ส่วนหนึ่งก็มีการปฏิรูปกองทัพมากพอสมควรแต่ทำสำเร็จน้อยกว่าอาร์เจนตินา
ในช่วงต้นๆหลังยุคซูฮาร์โต เขาสามารถปฏิรูปกองทัพได้ถึง 17 เรื่อง ขอ ยกตัวอย่างบางเรื่อง เช่น ห้ามไม่ให้ทหารมาดำรงตำแหน่งของพลเรือน(อาทิ ตำแหน่งรัฐมนตรี) มีรัฐมนตรีกลาโหมเป็นพลเรือน มีการระบุภาระหน้าที่ของทหารอินโดนีเซียว่าจะต้องรักษาความมั่นคงระหว่าง ประเทศเท่านั้น ห้ามทหารไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับความมั่นคงภายในประเทศ ให้ ยกเลิกหน่วยงานด้านความมั่นคงภายในประเทศของกองทัพ(เปรียบได้อย่างยกเลิก กอรมน.ในไทย) มีการตั้งศาลสิทธิมนุษยชนขึ้น มีความพยายามทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยให้เลือกประธานาธิบดีโดย ตรงและให้เลือกตั้งส่วนท้องถิ่นมากขึ้น สร้าง ระบบตรวจสอบงบประมาณกองทัพ สิ่งที่น่าสนใจที่เขาสำเร็จ คือ การให้ศาลทหารอยู่ภายใต้ศาลสูงสุด สร้างความโปร่งใสของศาลทหารให้มากขึ้น
มีบทความหนึ่งซึ่งพูดถึงปัจจัยที่จะทำให้ของการปฏิรูปกองทัพยากหรือง่าย มีอยู่ 5 ข้อ
ข้อแรก ความผูกพันของกองทัพกับชนชั้นนำเดิมในประเทศมีมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีมากก็ปฎิรูปยาก ถ้ามีน้อยก็ปฏิรูปง่ายหน่อย
ข้อต่อมา(ข้อสอง)ในประเทศนั้น ประชาชนมีความเห็นพ้องต้องกันต่อระบอบประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน ยิ่งมีมากแค่ไหน การปฏิรูปก็ง่ายขึ้น
ข้อที่สาม คือปัจจัยระหว่างประเทศ เช่น ประเทศตุรกี เขาปฏิรูปกองทัพได้ง่ายเพราะอยากเข้าเป็นสมาชิกของอียู เขา ก็ต้องปฏิรูปกองทัพ เพื่อให้เข้าเงื่อนไขอียู แต่อาเซียนอยากให้แต่ละประเทศแก้ไขปัญหาภายในประเทศเอง ปัจจัยนี้จึงไม่เอื้อให้ประเทศเรา
ข้อที่สี่ การปฏิรูปกองทัพทำให้เกิดความขัดแย้งของชนชั้นนำมากน้อยแค่ไหน
ข้อที่ห้า คือ วัฒนธรรมของกองทัพ เช่น วัฒนธรรมของกองทัพในการทำธุรกิจข้างนอก กองทัพไทยก็มีวัฒนธรรมในการทำธุรกิจข้างนอกด้วยเช่นกัน
บทความนี้มีข้อเสนอด้วยว่า เรื่องการปฏิรูปกองทัพในอนาคต ซึ่งมีอยู่ 8 ข้อ คือ หนึ่ง กฎหมายสิทธิมนุษยชนควรมีความเข้มแข็งมากขึ้น ควรมีอำนาจในการบังคับใช้มากขึ้น
สอง ศาลควรได้รับการอบรมความรู้เกี่ยวกับเรื่องกฎหมายสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น
สาม กองทัพต้องอยู่ใต้อำนาจของกระทรวงกลาโหม
สี่ กองทัพควรมีวัฒนธรรมของพลเรือนมากขึ้น
ห้า ผู้ตรวจสอบการใช้งบประมาณของกองทัพ ควรมีอำนาจทำได้มากขึ้น
หก ผลประโยชน์ทางธุรกิจของกองทัพทั้งหมด ต้องโอนให้เป็นของรัฐ
เจ็ดสภาความมั่นคงแห่งชาติควรมีผู้นำพลเรือน มีทหารเป็นส่วนประกอบ
อันสุดท้าย ต้องสร้างความเข้มแข็งให้ผู้มีบทบาททางการเมือง เช่น พรรคการเมือง ฝ่าย บริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ภาคประชาชนต้องเข้มแข็งในการผลักดันระบอบประชาธิปไตยด้วย ทั้งหมดนี้จะทำให้ การปฏิรูปกองทัพประสบความสำเร็จ
......................................
ธเนศวร์ เจริญเมือง กล่าวว่า มีข้อสังเกต คือประการที่ 1 บรรยากาศการจัดงานรัฐประหารในช่วงนี้ก็ถือว่าหนาแน่น คึกคักไม่เหมือนกับหลายปีก่อนในช่วงที่รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
ประการที่ 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในทางวิชาการไม่มีเอกสารที่มากพอจะสรุปว่า ในช่วงหลายปีมานี้ หรือตั้งแต่หลังปี 2549 เป็นอย่างไร อันนี้ก็เป็นการบ้านของฝ่ายวิชาการ ปัจจุบันประชาชนก็ไปไกล ซึ่งเราก็ทราบกันดีอยู่แล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐประหาร จนถึงหลังรัฐประหาร 5 ปีที่แล้วนั้นเป็นการวางแผนกันอย่างระบบของฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ทั้งนักปฏิวัติที่มีประสบการณ์ ยังมีการแบ่งงานกันทำทั้งฝ่ายพลเรือน และทหาร
คนที่ทำงานด้านการศึกษา และสื่อก็ต้องทำงานมากขึ้นในการทำความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น
ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา กว่าที่ยิ่งลักษณ์จะได้เป็นนายกฯ จนมาถึงปัจจุบัน ก็จะต้องมีการทำความเข้าใจระบบรัฐสภา การทำงานของฝ่ายค้านควรจะทำให้ตรงกับบทบาทหน้าที่ของตัวเอง แม้ฝ่ายประชาธิปไตยชนะในเรื่องของคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ถามว่าความเป็นประชาธิปไตย.ในส่วนอื่นๆ เป็นอย่างไร ก็ต้องติดตามกันต่อ
บทเรียนของประชาธิปไตยของหลายๆ ประเทศ เช่นอาร์เจนตินา อินโดนีเซีย ประชาชนก็ต้องมีการค้นคว้าเพิ่มเติมด้วย และทำงานเผยแพร่มากขึ้น ประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นตามโมเดลของประเทศต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นพลพวงที่ประชาชนได้ขับเคลื่อน ของเรายังเป็นแค่การชนะการเลือกตั้งเท่านั้นดังนั้นควรมีการศึกษาเพิ่มเติม และขับเคลื่อนต่อ
ในช่วงที่ผ่านมา ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยได้เปิดเผยตัวตน ธาตุแท้ของตัวเอง ด้านหนึ่งเราก็เสริมตัวเองในด้านสื่อของเราให้เข้มแข็ง ซึ่งฝ่ายของเราควรจะทำการบ้าน และโต้แย้งกับฝ่ายที่เห็นต่างให้เข้มแข็งด้วย กรณีสื่อมวลชนไทย(ภาคภาษาอังกฤษ) ดูถูกนายกฯ ก็เป็นที่เราต้องมีการจัดวาระคุยกัน
คนเสื้อแดงต้องผลักดันเรื่อง กระบวนการยุติธรรม ทำความเข้าใจระบอบรัฐสภาด้วย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้คนเห็นต่างๆ กันโต้แย้งกัน ไม่ใช่การโต้วาที ประเด็นคือ เราจะรักษาภาวะ บรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยให้นานๆ ได้อย่างไร
กรณีการปฏิรูปกองทัพ ก็อยากเห็นมากว่าจะทำอย่างไร ลักษณะการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเรา ไม่มีบทบาทขององค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นองค์กรนำ มีความหลากหลาย ผ่านการแลกเปลี่ยน พูดคุยกัน ขณะเดียวกันก็มีขบวนการอื่นๆ ที่มีความอัดอั้นตันใจ เช่น คนที่อยู่ในต่างประเทศ ก็เป็นลักษณะของต่างคนต่างทำ เราจะประสานงานกันอย่างไร
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสำคัญคือเรื่อง ต่างประเทศ เช่น กรณีสหรัฐฯ มีบาทอย่างไรในการควบคุมบทบาททหารในอินโดนีเซีย และสหรัฐฯ มีบทบาทอย่างไรต่อประชาธิปไตยไทย อะไรจะทำให้ประชาธิปไตยพัฒนาไปมากกว่านี้
ตัวบ่งชี้หลายประการ ที่ยังเห็นว่าฝ่ายพัฒนาประชาธิปไตยกับฝ่ายต่อต้านยังมีอยู่สูง เช่น วิธีการทำงานของฝ่ายค้าน ที่อยากเป็นรัฐบาล ค้านแบบทำลายทุกอย่าง เอาให้ได้ รื่องการโยกย้ายข้าราชการก็จะถูกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ค่อนข้างแรง แตะต้องไม่ได้ วิธีคิดในสังคมไทยยังเป็นแบบเก่าคือราชการแตะไม่ได้
นอกจากนี้ยังมีการดึงเอาคำทำนาย การโหมกระพือฝั่งของฝั่งปฏิปักษ์ประชาธิปไตย นั่นคือรัฐบาลขาดความชอบธรรม ด้วยการบ่อนเซาะทำลายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ตลอดเวลา แต่อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นของหมู่บ้านเสื้อแดง เครือข่าย สิ่งเหล่านี้คือตัวจักรสำคัญที่จะผลักดันประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าเข้มแข็งขึ้น
กรณีเกาหลีใต้ ประชาชนต่อต้านเผด็จการอย่างรุนแรง เป็นเวลาถึง 21 ปี กว่าที่จะมีระบบเลือกตั้ง ดังนั้นประเทศไทยก็ต้องใช้เวลา ถือเป็นประเด็นที่ท้าทายสังคมไทยมาก จากนี้ไปต้องมองในเชิงบวก ในแง่ของกระบวนการประชาชน สร้างความเข้มแข็งสื่อ การสร้างความสามัคคีให้แน่นแฟ้น โดยการใช้เวทีเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสื่อ ทำให้การพัฒนา ประชาธิปไตยเราเข้มแข็งขึ้น ในทาง ประวัติศาสตร์นั้นเราก็รู้ว่าไม่มีองค์กรติดอาวุธใดเลยที่จะสละอำนาจอย่างสันติวิธี
ในประเทศที่พัฒนาประชาธิปไตยล่าช้า เราน่าจะรองบ๊วย เราล่าช้ามากภายใต้ระบบสื่อมวลชนที่หลากหลาย สร้างความสับสนให้ประชาชน นอกจากนี้ปัจจัยภายในก็เหมือนจะไม่ให้เราเปลี่ยนผ่านไปง่ายๆ ปัจจัยภายนอกอย่างอเมริกาก็เหมือนจะมุ่งไปที่จีนมากกว่าไทย
การปฏิวัติประชาธิปไตยไทย ถือว่าคลาสสิคกว่าประเทศไหนๆ ในโลก เราก็ควรจะมีความสุขในการสร้างสรรค์ประชิปไตยร่วมกัน
..................................
สมชาย ปรีชาศิลปะกุล กล่าวว่า หลังจาก 5 ปีผ่านไป ผมถือว่ารัฐประหารนี้ประสบความล้มเหลวที่สุด มีการรำลึกถึงรัฐประหารในเชิงต่อต้านกันมายาวนานมาก จนบัดนี้ก็ยังระลึกถึงอยู่ ทุกฝ่ายที่พูดถึงรัฐประหารก็ไม่เห็นด้วย แม้ในตอนเริ่มบางส่วนอาจจะเห็นด้วย แต่ตอนนี้ก็ไม่อยากเป็นส่วนหนึ่งของการรัฐประหารนี้เลย เช่นกรณี พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ดังนั้นผมจึงคิดว่ารัฐประหาร 49 นั้นล้มเหลว
อยากให้มอง รัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ถ้าเทียบการเมืองหลัง 2520 กับการเมืองหลังปี 2550 นั้นจะเห็นว่าเหมือนกันคือการสร้างระบอบการเมืองกึ่งรัฐสภา กึ่งอำมาตยาธิปไตย คือยอมให้มีการเลือกตั้ง แต่ก็มีการออกแบบรัฐธรรมนูญกำกับระบอบการเลือกตั้งอีกทีหนึ่ง
ปัจจุบันเราจะเห็นอารมณ์ของสังคมไทย ปีนี้มีการจัดงานอย่างกว้างขวาง เราเห็นอารมณ์ร่วมของสังคมได้ คือ รัฐธรรมนญ 50 เป็นปัญหา มีคนเสนอแก้รัฐธรรมนูญ แต่ทั้งหมดนี้ เป็น เรื่องของการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่เป็นหลักการของสังคมไทย เท่าที่ผมจับประเด็นได้มีอยู่ 2 สองเรื่องเรื่องแรก การต่อต้านรัฐประหาร และการพยายามล้มล้างผลของการรัฐประหาร สอง มีความพยายามจะพูดถึงรากฐานของระบอบการปกครอง มีความพยายามจะเสนอหลักการ ประชาธิปไตยอันใหม่ให้เกิดขึ้น
ข้อเสนอของนิติราษฎร์นั้นน่าสนใจ ในอดีตมีการเขียนกฎหมายเพื่อป้องกัน
ข้อเสนอของนิติราษฎร์นั้นน่าสนใจ ในอดีตมีการเขียนกฎหมายเพื่อป้องกันการรัฐประหาร(เช่นรัฐธรรมนูญปี 2517) แต่ก็ถูกฉีกตลอด ข้อเสนอใหม่มีความพยายามในการแก้รัฐธรรมนูญให้เพิกถอนผลของการรัฐประหาร อันนี้จะสำเร็จหรือไม่ ไม่ รู้ แต่คิดว่านี่เป็นอุดมการณ์ของสังคมไทยโดยรวมว่า การรัฐประหารเป็นสิ่งที่แก้ไขอะไรไม่ได้ และรวมถึงการพยายามที่จะทำให้การรัฐประหาร ไม่มีผลผูกพันกับสังคมอย่างมั่นคงยาวนานอย่างเช่นที่เคยเป็นมา
ข้อเสนอเรื่องที่สอง มีการพูดถึงความพยายามในการวางรากฐานการปกครองของระบอบประชาธิปไตย มีเรื่องสำคัญที่กำลังถูกผลักดันอยู่ 5 เรื่องใหญ่ คือ หนึ่ง อำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งกับระบบราชการ (โดยเฉพาะทหาร) โดยหลักการนั้นตามความคิดตนนั้น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งควรจะมีอำนาจเหนือราชการ โยกย้ายได้ ข้าราชการเป็นกลไกของรัฐบาล
สอง กระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระ เป็นปัญหาอันหนึ่งที่สำคัญ ถ้าเราสังเกตการล้มของรัฐบาลสมชาย และสมัคร ล้มลงเพราะองค์กรอิสระ ไม่ได้ล้มลงเพราะการเคลื่อนไหวของมวลชน นี่ถือเป็นการกุมอำนาจของฝ่ายอำมาตยาธิปไตยผ่านองค์กรอิสระ ทำ ให้เราตั้งคำถามกับองค์กรอิสระที่มีความสัมพันธ์กับประชาชน จะมีการรับผิดอย่างไร เช่น กรณี กกต.กับการยื่นฟ้องคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ล่าช้า ซึ่งเป็นทำหน้าที่บกพร่องจะรับผิดชอบกับประชาชนอย่างไร นอกจากนี้เวลาเกิดความขัดแย้งทางการเมือง องค์กร อิสระมีการชี้ถูกชี้ผิดที่ไร้มาตรฐาน แต่ไม่มีการผิดชอบการกระทำของตนเอง (ในการที่ตนเองทำให้สังคมเสียหาย หรือทำให้เกิดข้อกังขาในสังคม)
สาม เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยทั่วไปรัฐธรรมนูญมีการเขียนระบุไว้ แต่มักจะมีกฎหมายพิเศษ กับกฎหมายยกเว้น เช่น พรบ.คอมฯ มาตรา 112 ซึ่ง กฎหมายยกเว้นนี้เป็นกฎหมายที่มีปัญหาที่สุด สิ่งที่เป็นข้อยกเว้นกลับถูกใช้เป็นอย่างมาก ในขณะที่หลักการรัฐธรรมนูญกลับไม่ค่อยใช้ ดังนั้นจึงเห็นว่า ควรทำให้เรื่องสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องหลัก ทำให้กฎหมายพิเศษ หรือ กฎหมายยกเว้นมันเล็กลงกว่ารัฐธรรมนูญ เพราะมีคนจำนวนมากที่ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเพราะกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้เพราะสังคมไทยยังมีเรื่องที่ยังเบลอ และไม่มีใครกล้าพูด
สี่ ทำอย่างไรให้กระบวนการบังคับใช้ กฎหมายวางบนหลักการที่อยู่บนเหตุผลและความชอบธรรม ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม เช่น เรื่องข้อเรียกร้องเรื่องสองมาตรฐาน ดังนั้นจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ Rule of laws ได้รับการยอมรับ
ห้า เรื่องสถาบันกษัตริย์ และองคมนตรี คงจะต้องมีการจัดวางสถานะให้พ้นจากการเมือง เช่นองคมนตรีไม่ควรให้กำลังใจนักการเมืองหรือข้าราชการประจำ เป็นต้น
สังคมไทยกำลังก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ ไม่ใช่แค่การแก้รัฐธรรมนูญ แต่ จะเป็นการสถาปนารัฐธรรมนูญที่มีการวางหลักการพื้นฐานสำคัญ ในเรื่องต่างๆเหล่านี้ มันจะทำให้สังคมไทยหรือรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมีอนาคต กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นได้ สิ่งที่เราควรจะต้องทำ คือ เมื่อเราวิจารณ์เขาแล้ว ถ้าเราจะจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เราไม่ควรทำเหมือนที่เขาทำมา แต่เราควรทำให้รัฐธรรมนูญใหม่ เป็นของคนทุกคน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญของคนเสื้อแดง หรือรัฐธรรมนูญที่ปิดปากอีกฝ่าย ทุกฝ่ายสามารถขัดแย้ง โต้เถียงกันได้ คนเสื้อแดงต้องแสดงให้เห็นว่าเรากำลังผลักสังคมไทยไปข้างหน้าด้วยความเสมอภาคและเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง
................................................................
ณัฐกร วิทตานนท์ กล่าวว่า เวลานึกถึงปฏิรูปการเมืองหลังพฤษภาทมิฬ 35 สมัยที่ผมเรียน จะแค่คิดตื้นๆ ว่า รัฐธรรมนูญปี 40 นั้นคงจะก้าวหน้ากว่าสมัย รสช. สมัยนั้นการปฏิรูปการเมือง หมอประเวศก็เป็นประธาน ฯ และมาถึงปัจจุบัน หมอประเวศก็กลับมาเป็นอีกเช่นกัน
การแก้รัฐธรรมนูญ 40 อ.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ระบุว่า เราอยู่ในวงจรนักการเมืองบ้าอำนาจ และประชาชนโง่ รัฐธรมมนูญ 40 มันจึงถูกออกแบบ เช่น สส.ต้องจบปริญญาตรี
มาถึงประเด็นที่ว่า รัฐประหาร 49 เกิดขึ้นได้อย่างไร สำหรับผมในภาษาชาวบ้านง่ายๆ ก็คือการยึดอำนาจเท่านั้นเอง ไม่ใช่การอธิบายให้มันสวยหรู โจทย์ของการปฏิรูปการเมืองรอบใหม่นั้น จึงต้องมีการมองถึงมือที่มองไม่เห็นนอกรัฐธรรมนูญด้วย เราจะไม่มองแคบเหมือนปี 40 ไม่ใช่แค่ทหาร ไม่ใช่แค่มองประชาชนโง่ เพราะปัจจุบันประชาชนรู้มากกว่าที่หลายคนคิด
ดังนั้นโจทย์รอบใหม่ ใจกลางของปัญหาต้องมีการปฏิรูป ทหาร ศาล ระบบราชการ สื่อสารมวลชน ต้องมีการปฏิรูปให้เข้ากับระบอบประชาธิปไตยที่คนส่วนใหญ่ต้องการ กรณีศาล โครงสร้างอำนาจศาลมีการเปลี่ยนแปลงมาก หลังปี 2549 มีการ เปลี่ยนสัดส่วนโดยผู้พิพากษาศาลชั้นต้น แต่เพิ่มผู้พิพากษาอาวุโส ผู้พิพากษาอาวุโสสามารถตัดสินคดีได้ นอกจากนี้ศาลยังเข้าไปมีบทบาทในคณะกรรมการสรรหาต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่าคนแก่กลัวความเปลี่ยนแปลง
ประเด็น คือ ถ้าจะปฏิรูปการเมืองรอบใหม่ต้องปฏิรูปองค์กรเหล่านี้ นอกจากนี้ยังต้องมีการระบุคุณค่าพื้นฐานของ ประชาธิปไตยของคนในสังคมไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย
การทำให้ให้รัฐประหารหมดไป มีวิธีการไม่ซับซ้อน คือ การเอาคนผิดมาลงโทษ เหมือนการฆ่าคนตาย ถ้าเรามาลงโทษ ก็ไม่มีใครกล้าทำ ในประเทศเราแปลกประหลาด การทำรัฐประหารกลับได้ตำแหน่ง เราจึงต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง.