ที่มา ประชาไท
อ่านข่าว “มติชน” เรื่องที่สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) เรียกร้องให้ปลดหมอวิชัย โชควิวัฒน์ จากบอร์ด สปสช.เพราะทับซ้อนกับการดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดองค์การเภสัชกรรม แล้วผมก็รู้สึกเศร้าใจพร้อมกับห่วงใย เพราะมีทีท่าว่าหมอวิชัยจะถูก “ล้างบาง” หลังจากที่การตั้งบอร์ด สปสช.ผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คนก่อนหน้านี้ คนของฝ่ายการเมืองได้เข้ามาทั้งหมด กระทั่งหมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ก็หลุดไปรายหนึ่งแล้ว
แน่นอน ผมวิพากษ์วิจารณ์เครือข่ายลัทธิประเวศตลอดมา กระทั่งล่าสุดที่หมอวิชัยเป็นประธานอนุกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สอบ “อีเมล์ซื้อสื่อ” แล้วดันมาสรุปว่าค่ายมติชน “เอนเอียง” อย่างไม่ให้ความเป็นธรรม
แต่ในการต่อสู้กับลัทธิประเวศ เราก็ต้องแยกแยะ และต้องให้ความเป็นธรรม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชนเป็นสำคัญ
อันที่จริงผมวิพากษ์วิจารณ์เสมอว่า บรรดา “กลุ่มสามพราน” สานุศิษย์หมอประเวศ นั่งไขว้กันไปไขว้กันมาใน 4 ส.คือ สวรส.สช.สปสช.และ สสส.แล้วก็มองเห็นแต่พวกตัวเอง ให้ทุนกันเอง (ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเครือข่ายสีเหลือง)
แต่พอเห็นทิศทางของการ “ล้างบาง” ใน สปสช.ก็บอกตรงๆ ว่าผมไม่สบายใจ และเป็นกังวล ถ้าฝ่ายการเมืองจะเข้ามายึด สปสช.เพราะประเด็นที่น่าห่วงใยที่สุดคือ ฝ่ายการเมืองจะยึดอำนาจบริหารจัดการงบประมาณ 30 บาทรักษาทุกโรคกลับไปให้ข้าราชการประจำในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งตัวเองสั่งการได้ เข้ามาแทรกแซงการจัดซื้อจัดจ้างได้ และจะทำลายแก่นสำคัญของนโยบาย 30 บาท ที่พรรคไทยรักไทยผลักดันมากับมือ
อย่าลืมนะครับว่า 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด จับใจประชาชนที่สุด และยั่งยืนที่สุด แม้แต่ธีรยุทธ บุญมี หรือพวกที่ต่อต้านนโยบาย “ประชานิยม” ของรัฐบาลทักษิณ ก็ยังต้องยอมรับว่า 30 บาทเป็น “สวัสดิการสังคม” นโยบายนี้ถือกำเนิดมาจากการที่หมอวิชัย กับหมอสงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ไปนั่งคุยกับทักษิณ
หมอสงวนเป็นเจ้าของไอเดีย ซึ่งเสนอทุกพรรคนั่นแหละ แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยกล้าคิดกล้าทำสิ่งใหม่ ทั้งที่นโยบาย 30 บาททดลองทำมาแล้วในรัฐบาลชวน ที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว หมอวิชัย หมอหงวน ไปคุยกับทักษิณ ผ่านการเชื่อมต่อของหมอมิ้ง ที่เป็นคนเดือนตุลาเพื่อนพ้องน้องพี่มหิดล
เมื่อทักษิณรับมาเป็นนโยบาย พรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ผู้ปฏิบัติก็คือหมอเลี้ยบ รมช.สาธารณสุข คนเดือนตุลาจากมหิดลอีกเช่นกัน โดยตอนนั้นหมอมงคล ณ สงขลา เป็นปลัดกระทรวง ร่วมกับหมอสงวน หมอวิชัย เครือข่ายหมอประเวศ และแพทย์ชนบท ช่วยกันผลักดันอย่างเต็มที่ จนประสบความสำเร็จ จากที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อภิปรายไว้ตอนรัฐบาลไทยรักไทยแถลงนโยบาย ปรามาสว่าทำไม่ได้ (รวมถึงนักวิชาการและสื่ออีกมากมายที่ไม่เชื่อว่าทำได้)
ผมเคยเปรียบเทียบไว้ว่า หมอสงวนกับเครือข่ายหมอประเวศเป็นเหมือนแม่ของนโยบาย 30 บาท ทักษิณเป็นพ่อ คือหมอสงวนคิดมาสำเร็จแล้ว เหมือนไข่สุกแล้ว ขาดแต่สเปิร์ม ต้องอาศัยพ่อที่มีความกล้าคิดกล้าทำ (ปชป.ไม่มีสเปิร์ม ฮิฮิ)
ที่พูดนี่ไม่ใช่ผมจะมาลำเลิกบุญคุณที่มีต่อพรรคไทยรักไทยให้หมอวิชัย แต่ผมกำลังจะพูดถึงแก่นของนโยบาย 30 บาทต่างหาก
นโยบาย 30 บาทไม่ใช่การรักษาฟรีแบบใช้จ่ายสิ้นเปลือง ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แต่แก่นของนโยบายคือการปฏิรูประบบสาธารณสุข คือเกลี่ยงบประมาณใหม่กระจายลงสู่ชนบท จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามรายหัวประชากร
ในอดีตการจัดสรรงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข จัดให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ตามจำนวนเตียง หมายถึงขนาดใหญ่เล็กของโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลชุมชนมีขนาดไม่เกิน 120 เตียง โรงพยาบาลทั่วไป มีขนาด 120-500 เตียง โรงพยาบาลศูนย์ มีขนาด 500 เตียงขึ้นไป
การจัดตั้งโรงพยาบาลทั่วไปหรือโรงพยาบาลศูนย์ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ไม่ใช่ว่าจังหวัดใหญ่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ จังหวัดเล็กโรงพยาบาลทั่วไป เพราะบางจังหวัดเช่น ราชบุรี มี รพ.ศูนย์ 1 แห่ง รพ.ทั่วไป 3 แห่ง จังหวัดปราจีนบุรี มี ร.พ.อภัยภูเบศร์เป็น รพ.ศูนย์ (ยกฐานะสมัยป๋าเหนาะเป็นรัฐมนตรี)
พูดได้ว่าในพื้นที่ไหนที่นักการเมือง พ่อค้าคหบดี หรือหลวงพ่อ หลวงตา มีบารมี สามารถหางบหรือหาเงินมาสร้างโรงพยาบาลได้ สิ่งที่ตกทอดให้ประชาชนในพื้นที่ไม่ใช่แค่ตัวตึก แต่รวมถึงงบประมาณ บุคลากร ที่จะได้มากขึ้นตามจำนวนเตียง ทุกๆ ปีตลอดไป
แล้วประชาชนในพื้นที่ห่างไกลพื้นที่ยากจนล่ะ ก็แห้วสิครับ งบประมาณกระทรวงสาธารณสุขจัดให้ รพ.ชุมชนพิบูลมังสาหาร น้อยกว่า รพ.โพธาราม ซึ่งเป็น รพ.ทั่วไป ทั้งที่ประชากรราวๆ 1.3 แสนคนเท่ากัน
ภาคอีสานทั้งภาค มี รพ.ศูนย์ 6 แห่ง รพ.ทั่วไป 17 แห่ง ขณะที่ภาคกลางไม่นับกรุงเทพฯ มี รพ.ศูนย์ 5 แห่ง รพ.ทั่วไป 25 แห่ง ภาคกลางได้งบประมาณมากกว่า ได้หมอพยาบาลมากกว่า ทั้งที่ประชากรน้อยกว่าเยอะ
นโยบาย 30 บาทล้มระบบที่ว่านี้ทั้งหมด แล้วจ่ายงบประมาณใหม่ตามรายหัวประชากร สมมติจ่ายหัวละ 1 พันบาท พิบูลมังสาหารกับโพธาราม ก็จะได้ 130 ล้านเท่ากัน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ ได้งบเฉพาะประชากรที่ตัวเองดูแล เช่น รพ.สรรพสิทธิ์ประสงค์ อุบลราชธานี ก็ได้เฉพาะจำนวนประชากรใน อ.เมือง แต่เมื่อ รพ.ชุมชนพิบูลมังสาหารส่งคนไข้มารักษาต่อที่ รพ.สรรพสิทธิ์ประสงค์ ก็ต้องเอาเงินมาจ่ายให้
แน่นอนที่ตอนแรกๆ พวก รพ.ศูนย์และ รพ.ทั่วไปโวยวาย เพราะงบประมาณหายไปเพียบ และมีปัญหาเรื่องการเก็บเงินจาก รพ.ชุมชน มีปัญหาในทางปฏิบัติอีกหลายอย่าง ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าเป็นธรรมดาของการริเริ่มสิ่งใหม่ แต่ถ้าไม่ปฏิรูประบบเช่นนี้ ก็ไม่เกิดความเป็นธรรมและไม่สามารถกระจายสิทธิการรักษาพยาบาลให้ประชาชนได้ ทั่วถึง
ถามว่าการปฏิรูปอย่างนี้ใครเดือดร้อน ก็แพทย์พยาบาลที่อยู่ตาม รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปสิครับ เพราะเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่แพทย์พยาบาลส่วนใหญ่อยากเลือกอยู่ รพ.มหาวิทยาลัย รพ.ศูนย์ อยากอยู่กรุงเทพฯ ใกล้กรุงเทพณ หรืออย่างน้อยก็ รพ.ในตัวจังหวัด ไม่มีใครอยากไปอยู่ รพ.ชุมชนหรอก การกระจายงบทำให้ รพ.ศูนย์ รพ.ชุมชน ต้องจำกัดจำนวนแพทย์พยาบาล ไม่รับคนใหม่ คนเก่าต้องทำงานหนักขึ้น การจ่ายยาก็ต้องควบคุมให้ใช้เท่าที่จำเป็น (ใช้ยาแพงตามแรงยุดีเทลยาไม่ได้)
นอกจากทำงานหนักขึ้นแล้ว แพทย์พยาบาลยังต้องเผชิญกับ “การใช้สิทธิ” ของคนยากคนจน ซึ่งพวกประชาธิปัตย์อ้างว่าก่อนมี 30 บาทก็ไม่ใช่ว่าโรงพยาบาลปล่อยให้คนไข้ตายถ้าไม่มีเงินรักษา โรงพยาบาลมีเงินกองกลางเงินบริจาค ใช่ครับ แต่มันการขอความอนุเคราะห์ ขอความเมตตาปรานี แต่ 30 บาททำให้คนยากคนจนตระหนักว่าตัวเองมีสิทธิ เป็นสิทธิที่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นสิทธิที่สามารถเรียกร้องทวงถาม ขอเพียงกำเงิน 30 บาทเดินเข้าโรงพยาบาล แพทย์พยาบาลก็ต้องให้การรักษาจนหาย เมื่อประชาชนตระหนักว่าเป็นสิทธิ มันจึงมีเรื่องฟ้องร้องหรือร้องเรียนมากมาย ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยมี
นโยบาย 30 บาทจึงไม่เป็นที่พึงพอใจของแพทย์พยาบาลตามโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป รวมทั้งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย แม้โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยจะมีทางออกด้วยการของบอุดหนุนทางวิชาการ แต่ก็ต้องจำกัดงบประมาณลงเช่นกัน (เชื่อได้ว่าการที่พวกหมอออกมาไล่ระบอบทักษิณเยอะ ก็มีสาเหตุจากเรื่องนี้ด้วย ตลกร้ายคือพวกหมอสายนี้กับสายหมอประเวศต่างก็ใส่เสื้อเหลืองมาเจอกัน)
นอกจากนี้ 30 บาทยังไม่เป็นที่พึงพอใจของผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เพราะหลังจากดำเนินนโยบายมาครบปี หมอเลี้ยบ หมอหงวน ก็ผลักดันให้รัฐบาลไทยรักไทยออกกฎหมายจัดตั้ง สปสช.เป็นหน่วยงานที่ถือเงินงบประมาณค่ารักษาพยาบาลของคนไทยทั้งประเทศ ที่อยู่นอกระบบประกันสังคมและระบบราชการ แล้วเอาไปจัดให้ รพ.ต่างๆ ตามรายหัวประชากร
กระทรวงสาธารณสุขจึงหมดความหมายไปทันที เหลือแต่โครงไก่ ไม่ได้ถือเงินซื้อยาซื้ออุปกรณ์การแพทย์
พึงทราบด้วยว่าแพทย์สายบริหารในกระทรวง กับสายแพทย์ชนบท เครือข่ายหมอประเวศ เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานาน โดยเฉพาะตอนที่แพทย์ชนบทจับทุจริตยาสมัยหมอปรากรม วุฒิพงศ์ เป็นปลัดกระทรวง
การผลักดันนโยบาย 30 บาทของหมอเลี้ยบ หมอสงวน และแพทย์ชนบทในตอนนั้น จึงเจอศัตรูรอบด้าน ตั้งแต่ผู้บริหารในกระทรวง แพทย์พยาบาลตาม รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.มหาวิทยาลัย รวมทั้ง รพ.เอกชน และแพทยสภา ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับแพทย์ชนบทมาตลอดเช่นกัน
หลังหมอเลี้ยบออกจากกระทรวงสาธารณสุข ปล่อยให้เจ๊เป็นใหญ่ พวกผู้บริหารในกระทรวงพยายามจะล้มระบบ ด้วยการขอให้แยกเงินเดือนแพทย์พยาบาลออกมาจากงบประมาณรายหัว ซึ่งแปลว่าจะยังทำให้แพทย์พยาบาลกระจุกตัวอยู่ตาม รพ.ใหญ่ต่อไป แต่ก็ไม่สำเร็จ หลายปีที่ผ่านมา พวกผู้บริหารในกระทรวงทำได้แค่ขอแยกงบ 30 บาทเป็น 3 ส่วนคือ งบรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก และงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งยังจ่ายรายหัว แต่ขอให้กันงบผู้ป่วยในไปกองไว้ต่างหาก ให้ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปมาเบิกจาก สปสช.โดยตรง ทำให้ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปยังได้งบประมาณค่อนข้างเยอะ
ปัญหาก็คือ การที่ฝ่ายการเมืองไล่บี้สาวกหมอประเวศออกไปจาก สปสช.ด้วยความร่วมมือจากผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข แพทย์ รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป เช่นนี้แล้วจะส่งผลอย่างไรต่อนโยบาย 30 บาท เพราะหัวใจของ 30 บาทไม่ได้อยู่ที่การรักษาฟรี แต่อยู่ที่การปฏิรูประบบดังกล่าว ถ้าคุณบอกว่ารักษาฟรี แต่เอางบประมาณและบุคลากรกลับไปกองอยู่ที่ รพ.ศูนย์ รพ.ชุมชน รพ.มหาวิทยาลัย ชาวบ้านเดินไป รพ.ชุมชนแล้วเหลือหมออยู่แค่ 1-2 คน นโยบายนี้จะเดินไปอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร
เพราะเท่าที่ได้ข่าวมานะครับ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขกำลังจะเสนอให้รวบงบประมาณโครงการหลักประกัน สุขภาพ (30 บาทนั่นแหละ) ไปอยู่ในมือผู้ตรวจราชการกระทรวงซึ่งมีอยู่ 19 เขต เป็นผู้จัดงบให้โรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งเท่ากับล้ม สปสช.ไปโดยปริยาย แล้วก็จะกลับไปสู่ระบบเก่า ล้มค่าใช้จ่ายรายหัว (รวมทั้งนักการเมืองยังสามารถแทรกเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง)
ฉะนั้นที่ผมกังวล จึงไม่ใช่กังวลแทนหมอวิชัย แต่กังวลว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับนโยบาย 30 บาทที่พรรคไทยรักไทยสร้างขึ้นด้วยมือ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชนคนยากคนจน
ผมคัดค้านอคติทางการเมืองของเครือข่ายลัทธิประเวศ เรื่องใดที่พวกเขาทำไม่ถูกต้อง ก็ต้องต่อสู้คัดค้าน ไม่ว่าหมอวิชัย หมอชูชัย (ตัวเอ้เลย) แต่เรื่องใดที่พวกเขาทำถูกและเป็นประโยชน์ประชาชน ก็ต้องยอมรับ เมื่อปี 50 ผมเลือกพรรคพลังประชาชน แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการย้ายหมอศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล จากเลขา อย.เพราะหมอศิริวัฒน์ หมอวิชัย หมอสุวิทย์ หมอหงวน หมอมงคล ร่วมมือกันทำ CL ยา ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชน (ยาละลายลิ่มเลือดเม็ดละ 80 บาท ทำ CL แล้ว สปสช.ซื้อได้ในราคาแค่เม็ดละ 1.50 บาท)
คณะอนุกรรมการของหมอวิชัย “พิพากษา” มติชนอย่างไม่ยุติธรรม ผมก็ต้องปกป้องมติชน แต่ถ้าจะมีการ “ล้างแค้น” หมอวิชัย อีหรอบนี้ผมก็ต้องปกป้องหมอวิชัย แม้ไม่ทราบว่าจะทำได้แค่ไหน (ทำได้แค่เขียนนี่แหละ)
ไม่ใช่ว่าผมไม่เห็นด้วยกับการ “กวาดล้าง” เครือข่ายลัทธิประเวศใน 4 ส.ซึ่งผมพูดไว้เองว่าถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ หมอประเวศล้มรัฐบาลได้
อย่างเช่นการไล่บี้ สสส.ที่เที่ยวอนุมัติงบ 19 ล้าน 18 ล้าน ให้เครือข่ายกันเอง (วงเงินไม่เกิน 20 ล้าน ผู้จัดการ สสส.อนุมัติได้โดยไม่ต้องผ่านบอร์ด) ซึ่งหลายกรณีก็น่าเกลียด เช่น ให้งบสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ไปจัดตั้งเครือข่ายวิทยุชุมชน หรือให้งบสถาบันอิศราแล้วมาตั้งเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย ที่ลงบทวิพากษ์นโยบายรัฐบาลถี่ยิบ
เพียงแต่เราต้องแยกแยะ และต้องคำนึงถึงเป้าหมายว่า เราต้องการทลายการผูกขาดขุมทรัพย์ภาษีเหล้าบุหรี่ของเครือข่ายลัทธิประเวศ เพื่อให้ภาคประชาสังคมได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ถูกเลือกสี ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ฝ่ายการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนควรมีอำนาจกำกับดูแลระดับหนึ่ง ไม่ใช่ 4 ส.เป็นรัฐอิสระ
แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ปล่อยให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาครอบงำ จนนำไปสู่การจัดซื้อยาซื้ออุปกรณ์ราคาแพง หรือเอาเงินไปหาเสียงกับ อสม.ตามสูตร
เราไม่ใช่พันธมิตรนะครับ ที่เห็นใครยืนตรงข้ามเป็นคนชั่วเลวต้องทำลายล้างให้หมด
ใบตองแห้ง
16 ก.ย.54