ที่มา ประชาไท
ผมได้รับสำเนาหนังสือจากสถาบันพระปกเกล้าเชิญนิสิตนักศึกษา (ระดับปริญญาตรี โท เอก) นักวิชาการ อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษาให้ส่งบทความทางวิชาการเข้าประกวดชิงเงินรางวัลชนะเลิศ 70,000 บาท เพื่อเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา หัวข้อที่กำหนดมาคือ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับธรรมาภิบาล”
และเมื่อวานมีผู้ที่อ้างว่าเป็นลูกศิษย์พระระดับ “พระราชาคณะ” โทรมาชวนเขียนบทความเรื่องดังกล่าว ทำนองว่าท่านเจ้าคุณไม่ว่าง เลยโยนเรื่องดังกล่าวมาให้ แล้วเขาก็นึกถึงผม อยากให้ผมช่วยเขียน (เห็นเราเป็นมือปืนรับจ้างหรือไง) ผมตอบไปทีเล่นทีจริงว่า “ถ้าจะให้มีธรรมาภิบาลโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เงื่อนไขอย่างต่ำที่สุดต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 8 และกฎหมายหมิ่นฯ มาตรา 112 ก่อนนะ เขียนแบบนี้ได้ไหม” เขาตอบว่า “โอ๊ย ไม่ได้ๆ ต้องยอพระเกียรติเท่านั้น”
ประเด็นของผมคือ ศีลธรรมที่อิงอยู่กับอุดมการณ์ความจงรักภักดี กับศีลธรรมแบบธรรมาภิบาลในโลกยุคใหม่เป็นศีลธรรมคนละระบบกัน และขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง (แต่ดูเหมือนว่าหน่วยงานที่จัดประกวดคงต้องการให้เขียนออกมาในแนวสนับสนุน กัน?) เพราะระบบศีลธรรมที่อิงอุดมการณ์ความจงรักภักดีเป็น “ศีลธรรมประจบ” (ยืมคำของอาจารย์สมภาร พรมทา) ส่วนศีลธรรมแบบธรรมาภิบาลคือ “ศีลธรรมเสรีชน”
ศีลธรรมประจบ คือศีลธรรมที่อยู่บนพื้นฐานความศรัทธาอย่างปราศจากข้อสงสัยในอำนาจ ศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง อำนาจศักดิ์สิทธิ์นั้นอาจจะเป็นเทพเจ้า พระเจ้า หรืออภิมนุษย์ก็ได้ แต่ “ลักษณะร่วม” คือ ผู้ทรงอำนาจศักดิ์สิทธิ์นั้นๆ มีสถานะดัง “พระบิดา” อาจเป็นพระบิดาของโลก ของมนุษย์ในฐานะผู้สร้างโลกสร้างมนุษย์ หรือพระบิดาของประเทศก็ได้
พระบิดานั้นมีสถานะเป็น “ศูนย์กลางทางศีลธรรม” ในความหมายว่าเป็นที่มาของความดีงามทั้งปวง เป็นผู้สอน เป็นแบบอย่าง เป็นสื่อกลาง หรือเป็นแรงบันดาลใจในการทำความดีต่างๆ เช่น พระเจ้าคือความดีสูงสุด และเป็นที่มาของความดีทั้งปวง เราทำความดีเพื่อเข้าถึงพระเจ้า เพราะเรารักพระเจ้า เราจึงรักเพื่อนมนุษย์ รับใช้พระเจ้าคือรับใช้เพื่อนมนุษย์ คือพระเจ้าเป็นทั้งสื่อกลาง แรงบันดาลใจ และเป้าหมายในการทำความดีทั้งปวง
ผมไม่ได้บอกว่าความเชื่อดังกล่าวงมงาย หรือไม่ใช่รากฐานทางศีลธรรมที่ดี แต่ความเชื่อเรื่องพระเจ้ามีพัฒนาการที่ซับซ้อน ในสมัยพุทธกาลนั้น การทำความดีเพื่อพระเจ้ามักแสดงออกในรูปแบบของการประจบเอาใจพระเจ้า เพื่อต้องการให้พระเจ้าโปรดปรานประทานพร เช่น พิธีสวดอ้อนวอน บวงสรวง บูชายัญญ์ ล้างบาปในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่พุทธศาสนาปฏิเสธ
เพราะพุทธศาสนาเห็นว่าศีลธรรมแบบประจบพระเจ้า หรือหวังพึ่งพาการดลบันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ นั้น ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลว่าจะแก้ทุกข์ในชีวิตและสังคมได้อย่างไร บางเรื่องกลับไปสร้างทุกข์ซ้ำเติมอีก เช่น พิธีฆ่าสัตว์ ฆ่ามนุษย์ (ทาส) บูชายัญญ์ เป็นต้น ฉะนั้น พุทธศาสนาจึงเสนอ “ศีลธรรมเสรีชน” หมายถึงการทำความดีบนพื้นฐานการใช้เสรีภาพในการเลือกและรับผิดชอบตนเองบนฐาน คิด “มนุษย์เป็นที่พึงของตนเองได้” ไม่ต้องพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาล
ในยุโรปหลังยุคกลาง นิทเช่ ก็เคยประกาศว่า “พระเจ้าตายแล้ว” เขาเห็นว่าศีลธรรมแบบประจบพระเจ้าเป็น “ศีลธรรมแบบทาส” มนุษย์ควรมี “ศีลธรรมแบบนาย” คือศีลธรรมที่มาจากการใช้เหตุผลตัดสินดีชั่วถูกผิดด้วยตัวเราเอง เราทุกคนคือนายของตัวเอง ความคิดทำนองนี้ คือที่มาของศีลธรรมแบบมนุษยนิยม หรือศีลธรรมเสรีชนอันเป็นที่มาของความคิดเรื่องเสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตยในระยะต่อมา
ศีลธรรมแบบพุทธศาสนาก็คือศีลธรรมเสรีชน หรือศีลธรรมแบบมนุษยนิยมนั่นเอง และระบบธรรมาภิบาลก็อยู่บนพื้นฐานของศีลธรรมเสรีชน แต่ศีลธรรมที่อิงอุดมการณ์ความจงรักภักดี เป็นศีลธรรมประจบที่เชื่อในอำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบไม่ ได้
ดูเหมือนคุณบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็เคยพูดทำนองว่า “ทศพิธราชธรรมคือธรรมรัฐ หรือธรรมาภิบาล” ผมคิดว่า ถ้าพูดถึงทศพิธราชธรรมอย่างตรงไปตรงมาตามระบบศีลธรรมแบบเสรีชนของพุทธศาสนา ก็พออธิบายว่าเป็นธรรมมาภิบาลได้ เพราะตามหลักทศพิธราชธรรมจริงๆ ไม่มีข้อใดที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบพระมหากษัตริย์ ยิ่งกว่านั้นสาระสำคัญของทศพิธราชธรรมยังมีนัยให้ต้องตรวจสอบมากกว่า เพราะเราจะรู้ว่า พระมหากษัตริย์มีทศพิธราชธรรมสมบูรณ์ทั้ง 10 ประการได้ ก็ต่อเมื่อพระมหากษัตริย์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้อย่างแท้จริงเท่านั้น
แต่หากนำทศพิธราชธรรมไปสนับสนุนอุดมการณ์ความจงรักภักดีที่ถือว่าพระ มหากษัตริย์อยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ ก็เท่ากับไม่ซื่อสัตย์ต่อหลักทศพิธราชธรรมแบบพุทธ เพราะเป็นการนำเอาศีลธรรมของพุทธที่เป็นศีลธรรมเสรีชนไปรับใช้ระบบศีลธรรม แบบประจบ ทศพิธราชธรรมที่ถูกนำไปใช้เช่นนั้นจึงไม่เป็นธรรมาภิบาล (หรือเป็นไม่ได้)
ระยะหลังมานี้สังคมเราโปรโมทในหลวงให้เป็น “ศูนย์กลางทางศีลธรรม” ของสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ พระองค์เป็นทั้งศูนย์รวมความศรัทธาในความดีงามทั้งปวง เป็นผู้สอน เป็นแบบอย่าง เป็นสื่อกลาง เป็นแรงบันดาลใจในการทำความดีต่างๆ เพื่อ “พ่อ” เช่น ร้องเพลงเพื่อพ่อ เก็บขยะเพื่อพ่อ เลิกยาเสพติดเพื่อพ่อ ปลูกป่าเพื่อพ่อ ฯลฯ (ว่ากันว่ามีอาจารย์บางคนในมหาวิทยาลัยชั้นนำ สอนนักศึกษาปีสี่ให้ “อ่านหนังสือเตรียมสอบเพื่อพ่อ” ด้วย)
ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นสิ่งที่ดี (ในความเชื่อของเขา) นะครับ แต่น่าสังเกตว่าทำไมประเทศนี้จึงไม่มีการรณรงค์ทำความดีในความหมายของการส ร้าง “ความเป็นธรรมทางสังคม” เพื่อพ่อบ้าง เช่น เรียกร้องเสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตยเพื่อพ่อ ฯลฯ หรือว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความดี? แน่นอนครับ มันไม่ใช่ความดีในความหมายของศีลธรรมแบบประจบ แต่เป็นความดีในความหมายของศีลธรรมแบบเสรีชน
ฉะนั้น ผมจึงรู้สึกทึ่งมากกับการจัดประกวดบทความทำนองนี้ เช่น “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับธรรมาภิบาล” ที่ทึ่งผมหมายความว่า มันเป็นเรื่องน่าอ้ศจรรย์กับความช่างคิดที่จะรวม (ยำ) ศีลธรรมแบบประจบกับศีลธรรมแบบเสรีชนให้เป็นเนื้อเดียวกันให้ได้