ที่มา ข่าวสด
เหล็กใน
มันฯ มือเสือ
กระแส ตอบรับการทำงานของ 'รัฐบาลยิ่งลักษณ์' ช่วงก้าวเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 หลังแถลงนโยบาย อาจไม่ถึงขั้นน่าผิดหวัง แต่ก็ไม่ค่อยประทับใจนัก
อาจเป็นเพราะรัฐบาลอยู่ในช่วงกระชับกลไกอำนาจรัฐ
โดยเฉพาะในส่วนของการโยกย้ายข้าราชการที่ยังไม่เสร็จสิ้นลงตัว จึงเป็นธรรมดาที่การขับเคลื่อนนโยบายยังเดินหน้าได้ไม่เต็มที่
อีก ทั้งองค์ประกอบรัฐบาลส่วนใหญ่ก็เป็นมือใหม่หัดขับ เช่นเดียวกับตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่อาศัยเวลาสั้นๆ ก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดทางการเมือง
เลยต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่บ้าง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้สัมภาษณ์ชี้แจงนโยบายต่างๆ หรือการตอบโต้ประเด็นทางการเมืองที่นายกฯ หญิงยังตะกุกตะกัก ไม่ฉะฉาน
จนทำให้พรรค 'เก่งแต่พูด' หยิบจับเอาไปเป็นประเด็นค่อนแคะว่า
อึกอัก เพราะไม่เป็นตัวของตัวเอง ต้องคอยเงี่ยหูฟังสัญญาณทางไกลจากคนอยู่ต่างประเทศตลอดเวลาว่าจะให้พูด เรื่องอะไร ไม่พูดเรื่องอะไร ทำอะไร ไม่ทำอะไร
จริง-ไม่จริงไม่รู้ แต่ใจกองเชียร์ก็อยากเห็นนายกฯ ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์แบบมีลูกดุดันบ้าง
แต่คงไม่ถึงกับต้องเอาอย่างรองนายกฯ บางคนที่กรำศึกการเมืองมาแล้วโชกโชน รายนั้นออกแนวบู๊ล้างผลาญมากไปจนน่าหวาดเสียว
ขนาดคนกันเองยังต้องท้วงติงให้เพลาๆ ดีกรีลงบ้าง ไม่เช่นนั้นอาจเสียหายถึงนายกฯ และรัฐบาลโดยรวม แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ผล
แน่นอนว่าคนเป็นนายกฯ ไม่จำเป็นต้องออกมาชี้แจงตอบโต้ทุกเรื่องจนถึงขั้นได้รับฉายา 'บิดาแห่งการดีแต่พูด'
การเมืองไทยมีทั้งเรื่องที่เป็นสาระและไม่เป็นสาระปนๆ กันอยู่
ถ้าหากแยกแยะได้ก็จะพบว่ามีบางเรื่องเช่นกันที่คนเป็นนายกฯ จำเป็นต้องชี้แจงเอง คนถึงจะฟังและมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
เพราะการพูดแล้วคนเชื่อถือนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของ 'บารมี' ที่รองนายกฯ ต่อให้เก๋าการ เมืองแค่ไหน ก็มีไม่เทียบเท่าคนเป็นนายกฯ
ยกตัวอย่างการสับเปลี่ยนโยกย้ายผบ.ตร.และเลขาธิการสมช.ที่ผ่านมา
หลายคนเชื่อว่าถ้าเป็นนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ใช้การพูดจาที่สุภาพนุ่มนวล อธิบายเรื่องราวด้วยเหตุด้วย แทนที่จะใช้อารมณ์กระโชกโฮกฮาก
เรื่องคงไม่ลุกลามวุ่นวายอย่างที่เห็น