ที่มา ประชาไท
สรุปความ “รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์” ในการบรรยายพิเศษเรื่อง “พลังชุมชน–พลังผู้ไร้สิทธิกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงจากข้างล่าง” ในงานโครงการประชุมวิชาการระดับชาติ “ชุมคน ชุมชน คนใต้ ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้” (Voices of the Voiceless : from the southernmost People in Thailand)
ระหว่างวันที่ 12 – 14 กันยายน 2554 โครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้จัดโครงการประชุมวิชาการระดับชาติ “ชุมคน ชุมชน คนใต้ ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้” (Voices of the Voiceless : from the southernmost People in Thailand)
เวลา 09.30 น. วันที่ 13 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการจัดงาน ก็เป็นคิวของ “รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์” อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขึ้นบรรยายพิเศษเรื่อง “พลังชุมชน–พลังผู้ไร้สิทธิกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงจากข้างล่าง” ณ หอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
ต่อไปนี้ เป็นข้อความเฉพาะบางส่วนที่น่าสนใจ ที่เก็บได้จากการบรรยายทางวิชาการในหัวข้อนี้
………………………………………………
“ปัจจุบันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการคืนความยุติธรรมให้กับชุมชนมากขึ้น เอกสารของคนทำงานพัฒนาในพื้นที่นี้ ชี้ให้เห็นว่าหลังจากรัฐได้ฟังเสียงของคนในชุมชนแล้ว ในช่วงหลังองค์กรของรัฐได้ตระหนักว่า ความอยุติธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ลึกซึ้งมาก องค์กรของรัฐจึงพยายามปรับตัวคืนความยุติธรรมให้กับชุมชนในหลายมิติ ไม่ว่าการยอมรับให้มีสภาชุมชน หรือการสร้างนิติธรรมชุมชน นี่ถือเป็นเสียงที่ยอมรับในความชอบธรรมของชุมชน ที่เกิดจากปฏิบัติการของเสียงผู้ไร้เสียงที่ดังมากขึ้น จากการแสวงหาทางออกของสังคมที่มีความหลากหลาย
โครงสร้างฐานที่มั่นของชุมชนคือ การสร้างชุมชนในอุดมคติ และฐานในการปกครองตนเอง ที่มีอยู่ 3 ฐานคือ การปกครอง สังคมชุมชน และจิตวิญญาณ กรณีชุมชนตักวา 4 ชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เกิดเสาหลัก ทำให้เกิดพื้นที่สาธารณะ มัสยิดก็ถือเป็นพื้นที่สาธารณะเช่นกัน จากการอ่านเรื่องชุมชนตักวา พบว่า เริ่มจากบ้านมั่นคง จากการพูดคุยกันหลายฝ่าย เริ่มขยับจากบ้านไปสู่ชุมชน จากชุมชนไปสู่อุดมคติชุมชน นี่คือความต่อเนื่อง และการตกผลึก
การสร้างตัวตนของผู้ไร้สิทธิ์ท่ามกลางการกดทับ ผ่านปฏิบัติการทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ นำไปสู่การตกผลึกทางอุดมคติของชุมชนและมนุษย์ นี่คือการท้าทายสังคม ด้วยการกระตุกเตือนให้คนคิดถึงสิ่งที่สูงกว่ามนุษย์ ซึ่งไม่ได้สร้างจากตัวเปล่า แต่เป็นการขยายรากฐานทางปัญญาเดิม
แม้ในวันนี้ อาจจะยังไม่สามารถบรรลุทุกอย่างได้อย่างที่คาดหวัง แต่สิ่งที่ทำลงไปแล้ว และกำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบั คือ การวางรากฐานทุกอย่างไว้ให้แก่อนุชนคนรุ่นหลัง เพื่อให้เขาสามารถเข้าถึงชีวิตที่ดีกว่า และเข้าถึงอุดมคติสูงสุดของชีวิตมนุษย์
มนุษย์ต้องเชื่อมั่นในสังคมโดยรวม จึงจะสามารถแก้ปัญหา และกระบวนการต่อสู้ต่อรองของหลายฝ่าย จะเข้าสู่ความทรงจำกลายเป็นประวัติศาสตร์ร่วมกันของมนุษย์ เกิดปรากฎการณ์การสร้างชุมชน เช่น ชุมชนศรัทธา ภายใต้อุดมคติใหม่ ถ้าหากปราศจากความเชื่อมั่นทางสังคมแล้ว ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์จะเกิดปัญหามากมาย ถ้าหากมนุษย์กับมนุษย์เชื่อมั่นกันแล้ว หนทางการแก้ปัญหาก็จะมีมากยิ่งขึ้น ความเชื่อมั่นนี้หมายความว่า มนุษย์กับสังคมโดยรวม จะต้องเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ความเชื่อมั่นแบบนี้เป็นแนวทางสำคัญ ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาในอนาคต ภายใต้ความเชื่อมั่นนี้ แม้กระทั่งหน่วยงานที่ค่อนข้างแข็งตัว และไม่ค่อยคิดอะไรมากนัก ก็สามารถปรับตัวเข้าใจปัญหาได้มากขึ้น
ชุมชนคนไทยมักจะบอกว่า สังคมของตัวเองเป็นสังคมแห่งความสุข แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นที่กระทบกระเทือนได้ง่าย สังเกตจากกลุ่มทุนเข้าไปมีบทบาทในชุมชนมากขึ้น ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก มาจากการแสวงหาอย่างต่อเนื่อง ความพยายามปรับเปลี่ยนเรื่องเล่า เพื่อให้เกิดการประนีประนอมมากขึ้น ครั้งหนึ่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่จังหวัดเชียงใหม่ เคยเขียนประวัติศาสตร์ชายแดนภาคใต้ รศ.ดร.รัตติยา สาและ จากมหาวิทยาลัยทักษิณ นำไปแปลเป็นภาษามลายู คนในชุมชนชายแดนภาคใต้บอกว่า อยากได้ประวัติศาสตร์แบบนี้
การสร้างความเข้าใจใหม่ หรือการแสวงหาแนวทางเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนเห็นเราได้ชัดขึ้น ขณะเดียวกันเราก็มีโอกาสเห็นคนอื่นได้ชัดเช่นเดียวกัน นอกจากการนำเสนอในส่วนที่เป็นแนวทางปฏิบัติการของเรา ยังมีส่วนสำคัญคือ บทสุรปที่บอกว่ามีเสียงในการปฏิบัติการของผู้ไร้เสียงจะดังมากขึ้น หากเสียงของผู้ไร้เสียงดังมากขึ้น ไม่มีใครอยู่เฉยได้ ไม่มีใครปฏิเสธความชอบธรรมได้ ดังนั้นเราจะเห็นว่าช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีปฏิบัติการที่ทำให้สังคมมองชุมชนคนใต้ได้ชัดขึ้น จากการสร้างอุดมคติก้าวข้ามความต้องการส่วนตัว จนเกิดแรงผลักดันและการเสียสละร่วมกัน”