ที่มา ประชาไท
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่หอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อบูรณาการ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ร่วมกับภาคีเครือข่ายอีก 12 องค์กร ร่วมกันจัดโครงการประชุมวิชาการระดับชาติ “ชุมคนชุมชนคนใต้ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้” (Voices of Voiceless: from the Southernmost People in Thailand) เป็นวันที่ 2 มีประชาชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล คนไทยพลัดถิ่น เครือข่ายชุมชนในพื้นที่ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักพัฒนาเอกชน (NGOs) นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยทักษิณ และสื่อมวลชน ร่วมงานประมาณ 500 คน
หลังจากเวทีเสวนา “นโยบายองค์กรภาคีเพื่อร่วมขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้เข้าร่วมทั้งหมดได้ขึ้นเวทีเพื่อร่วมประกาศปฏิญญาสงขลาเพื่อการพัฒนาภาค ใต้ยั่งยืน ชื่อว่า ปฏิญญาสงขลา สังคม-ชุมชนใหม่ที่เป็นไปได้ โดยมีแนวทางสู่การปฏิบัติการและการเคลื่อนไหวทางสังคม 5 แนวทาง คือ การใช้หลักศาสนานำการพัฒนา สิทธิกลุ่มทางวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์ จะต้องได้รับการคุ้มครอง เปิดพื้นที่เหมาะสมสำหรับหญิง-ชายในงานพัฒนา เด็กและเยาวชน จะต้องมีหลักประกันในความเท่าเทียม ยุติและทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ทั้งระบบ และปฏิเสธการจัดการศึกษาแบบดิ่งเดียวหรือรูปแบบเดียว
สำหรับการระดมความคิดเห็นกลุ่มย่อยสมัชชาประชาชน”ว่าด้วยเสียงผู้ไร้ สิทธิ” มี 3 ประเด็น คือ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ การเมืองภาคพลเมืองภาคใต้ และปัญหาภาคใต้
นายแวรอมลี แวบูละ ที่ปรึกษาเครือข่ายชุมชนศรัทธา กล่าวในกลุ่มการพัฒนาและการปรับตัวของชุมชนชายแดนใต้ ในประเด็นปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ถึงการเกิดขึ้นของชุมชนศรัทธาว่า การพัฒนาต้องเดินไปพร้อมกับความสามัคคีและการปรับตัวให้เข้ากับสังคม จึงเกิดแนวคิดในการแก้ไขปัญหาด้วยการพึ่งพาตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคมอื่นๆ ที่ร่วมกันเป็นเครือข่ายในการสร้างความยุติธรรมและเยียวยาผลกระทบจากความไม่ สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
นายแวรอมลี กล่าวว่า กระบวนการจัดการในหมู่บ้าน ผู้นำหรือชุมชนต้องมีความเข้าใจปัญหา โดยอยู่ในกรอบของศาสนา จึงเกิดแนวปฏิบัติที่เป็นนวัตกรรมใหม่และกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นเยอะมาก ถือเป็นแนวทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ เช่น กิจกรรมการสอนอ่านคำภีร์อัลกุรอ่านแบบกีรออาตีในเครือข่ายชุมชนศรัทธาที่ อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา กำลังขยายตัวเพิ่มเป็น 3 พื้นที่ มีคนเข้าร่วมกว่า 700 คน ซึ่งช่วยพัฒนาคุณภาพทางด้านศาสนาของเด็กได้ดีขึ้นมากกว่าเดิม จากงบประมาณเพียง 100,000 บาท จึงอยากให้รัฐบาลส่งเสริมในเรื่องนี้ให้มากขึ้นกว่าเดิม
“กว่า 3,000 หมู่บ้านใน 3 จังหวัดชายแดนใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา หากมีการขับเคลื่อนเครือข่ายชุมชนศรัทธาหรือชุมชน“ตักวา” จะทำให้สามารถพัฒนาชุมชนได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นการนำหลักการทางศาสนามาเป็นตัวนำในการพัฒนา” นายแวรอมลี กล่าว
นายแวรอมลี กล่าวอีกว่า นโยบายของรัฐบาลหลายอย่างดีแล้ว แต่การปฏิบัติการล้มเหลว โดยเฉพาะเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาหลักในจังหวัดชายแดนใต้ ขณะเดียวกันก็ยังขาดการพัฒนา จึงต้องการให้รัฐบาลเหลียวแลประชาชนให้มากขึ้น เช่น การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของ คน ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ อาชีพ ที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยที่ การมีส่วนรวมของชุมชน เป็นต้น
นางพาฮีสะ ท้วมงาน อาสาสมัครชุมชนศรัทธา กล่าวในประเด็นปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในกลุ่มนโยบายการพัฒนาของภาครัฐกับผลกระทบชุมชนชายแดนใต้ ที่ห้อง 15202 อาคารเรียนรวม 15 มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลาว่า พื้นที่หมู่ที่ 4 ชุมชนวังกระ ตำบลตาเซะ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เป็นพื้นที่หนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ เนื่องจากหลังจากมีการสร้างเขื่อนปัตตานีขึ้น ทำให้พื้นที่ชุมชนวังกระเป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนปัตตานี
“ผลของการสร้างกำแพงกั้นน้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนวังกระถึงปีละ 2 ครั้ง ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถทำนาได้ จนกลายเป็นนาร้างอยู่หลายปี แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านพยายามฟื้นฟูนาร้างขึ้นมา แต่สามารถทำนาได้เพียงปีละครั้งเท่านั้น” นางพาฮีสะกล่าว
นางนิธิมา บินตำมะหงง จากสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เปิดเผยว่า ทัศนียภาพของภาคใต้เป็นเชิงเขา ทุ่งนาและทะเล ปัจจุบันพื้นที่เชิงเขากำลังมีการบุกรุกทำลายป่าไม้หลายพื้นที่ เช่น ในเขตอนุรักษ์สัตว์ป่าป่าบาลาฮาลา และเขตอนุรักษ์ป่าไม้ในจังหวัดสตูล ส่วนพื้นที่ทุ่งนาหลายแหล่งถูกทิ้งร้าง เช่น ในพื้นที่ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ซึ่งเกิดจากการที่ภาครัฐไม่ส่งเสริมเกษตรกรรมมากนัก แต่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมมากกว่า ขณะที่พื้นที่ทางทะเลก็ถูกนายทุนทำประมงแบบทำลายล้าง ส่งผลให้ชาวประมงพื้นบ้านได้รับกระทบอย่างหนัก
นายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กล่าวในกลุ่มแผนพัฒนาภาคใต้และการจัดการทรัพยากรที่ดินชายฝั่ง ประเด็นปัญหาภาคใต้ว่า แผนพัฒนาภาคใต้ เป็นคำที่คนเข้าใจผิดว่าเป็นแผนที่ทำให้ภาคใต้เจริญ แต่อีกนัยยะหนึ่ง คือ แผนที่จะผลักดันให้โครงการขนาดใหญ่ลงมามากกว่า จึงถูกเรียกว่า “แผนพัฒนาภาคใต้” เช่น โครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก เป็นต้น
นายสมบูรณ์ กล่าวอีก เหตุที่ทำให้ต้องมีการขยายอุตสาหกรรมมายังภาคใต้เพิ่มขึ้น เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยองไม่สามารถขยายตัวได้อีกแล้ว เพราะผลกระทบจากมลภาวะต่างๆ ภาครัฐจึงต้องเล็งหาพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรมแห่งใหม่ ซึ่งภาคใต้มีความเหมาะสมทั้งสภาพภูมิภาคและทำเลที่ตั้ง แต่รัฐบาลจะไม่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กระจุกตัวอยู่แห่งหนึ่งแห่งใด จะใช้วิธีกระจายให้ทั่วชายฝั่งทะเลแทน
นายสมบูรณ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งรัดการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคใต้ให้เร็วขึ้น เพื่อให้ทันกับการเปิดเสรีอาเซียน โดยคาดหวังว่า ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางในการขนส่งระดับอาเซียน ถ้าภาคใต้จะถูกพัฒนาไปในทิศทางนั้น ถามว่า รัฐบาลได้ถามประชาชนที่อยู่ในพื้นที่นั้นแล้วหรือยังว่า พวกเขาต้องการโครงการนั้นหรือไม่ ทำไมภาครัฐไม่ชี้แจงให้ประชาชนในพื้นที่ทราบว่า จะสร้างอะไร แต่ละโครงการมีผลกระทบอะไรบ้าง
ผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการระดับชาติ “ชุมคนชุมชนคนใต้ครั้งที่ 3 เสียงจากผู้ไร้สิทธิชายแดนใต้” (Voices of Voiceless: from the Southernmost People in Thailand) ประชาชน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล คนไทยพลัดถิ่น เครือข่ายชุมชนในพื้นที่ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ นักพัฒนาเอกชน (NGOs) นิสิตนักศึกษา ร่วมประกาศปฏิญญาสงขลา เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 ที่หอประชุมอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา
ปฏิญญาสงขลา
สังคม-ชุมชนใหม่ที่เป็นไปได้
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อมจากการเข้าสู่สังคมโลกาภิวัตน์ การเติบโตของระบบการค้า นโยบายการพัฒนา การผันแปรทางการเมือง ภัยคุกคามและความไม่มั่นคงในภาคใต้ ได้ส่งผลกระทบอย่างขนานใหญ่ต่อพวกเราในฐานะประชาชน คนธรรมดาสามัญ ที่ถูกกำหนดชะตาชีวิตให้เดินในเส้นทางที่ไม่ได้กำหนด ทำให้เผชิญกับความเจ็บปวด ทรมาณอย่างแสนสาหัส
และบัดนี้เราได้ประจักษ์ชัดถึงความจำเป็นในเส้นทางที่เป็นไปได้ สำหรับการสร้างสรรค์สังคมใหม่ ที่ทำให้ประชาชน ธรรมดา สามัญ สามารถกำหนดนิยามสังคม-ชุมชนใหม่ ที่เราต้องการ ด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่ต่อเนื่องและโยงใย เพื่อปฏิบัติการปกป้อง คุ้มครอง และร่วมกันสร้างสังคมใหม่-ชุมชนใหม่อย่างมุ่งมั่นและจริงจัง
ในฐานะประชาชน ธรรมดาสามัญ เราทั้งหลาย ณ ที่นี่ จึงร่วมกันประกาศปฏิญญา “สังคม-ชุมชนใหม่” ดังต่อไปนี้
- เราจะกระทำทุกวิถีทางที่ชอบธรรมในการส่งเสริม สนับสนุนความเข้มแข็ง ภาคประชาชนในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การสร้างสังคม ชุมชนใหม่ ที่เราสามารถกำหนดด้วยตัวเองอย่างมีเกียรติ์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งในฐานะที่เป็นศูนย์กลางและเป้าหมายของการพัฒนา
- เราจักต่อสู้ ยืนหยัดอย่างต่อเนื่องและกล้าหาญในการปกป้อง ผืนแผ่นดิน มาตุภูมิของเรา, การรุกราน ยัดเยียด การกระทำใดที่ปราศจากความชอบธรรม จะได้รับการตอบโต้ และต่อต้าน ในฐานะประชาชน สิทธิชุมชน ความเป็นพลเมือง ในทุกการกระทำที่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะไม่ได้เดือนร้อน เจ็บปวดเช่นที่ผ่านมา
- เราขอยืนยันว่าในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม เราทุกคนไม่ว่าจะเป็น ผู้หญิง เด็ก เยาวชน เกษตรกร กลุ่มชาติพันธุ์ จะต้องได้รับการปกป้อง คุ้มครอง ปลอดพ้นจากเลือกปฏิบัติขุมขู่ คุกคาม ทุกรูปแบบ อันรวมถึงการเลือกปฏิบัติใดๆอันเนื่องมาจากความแตกต่าง
- เราได้ใคร่ครวญอย่างถ้วนถี่จากเส้นทางประวัติศาสตร์อันยาวนาน จึงขอประกาศว่านับจากนี้พลังชีวิตทั้งมวลของพวกเราจะถูกปลดปล่อยออกมาอย่าง สร้างสรรค์และมีสามัญสำนึก สำหรับการสร้างสรรค์สังคม-ชุมชนใหม่ ที่เท่าเทียมและกำหนดโดยตัวเรา
- เราทั้งหลายจะนำปฏิญญาสงขลา สังคม-ชุมชนใหม่ที่เป็นได้ ออกสู่การปฏิบัติการและการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อให้ได้ซึ่งสิ่งปรารถนา ในทุกระดับ ดังนี้
- การใช้หลักศาสนานำการพัฒนา ตามแนวทางเครือข่ายชุมชนศรัทธาหรือกัมปง ตักวา ด้วยรูปแบบการพัฒนา “สี่เสาหลัก” โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนด้วยการสร้างพื้นที่สังคม การปฏิบัติการ และการสนับสนุนที่เหมาะสมจากภายนอก เพื่อให้สามารถสร้างความมั่นคงของชุมชนตามแนวทางศรัทธา
- สิทธิกลุ่มทางวัฒนธรรมและกลุ่มชาติพันธุ์ จะต้องได้รับการคุ้มครองทั้งในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคม ความเป็นมนุษย์ มีศักดิ์ศรี อิสระ ความเท่าเทียม กับกลุ่มอื่นๆในสังคม ปลอดพ้นจากการอคติ การรังเกียจ เบียดขับทางชาติพันธุ์ และการถูกกีดกันจากระบบทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม
- เปิดพื้นที่เหมาะสมสำหรับหญิง-ชาย ในงานพัฒนา มีสิทธิอย่างเท่าเทียมในการเข้าร่วมอย่างแข็งขันในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจ และการดำเนินการ การกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ การใช้ความรุนแรงจะได้รับปกป้อง คุ้มครองในทุกรูปแบบ
- เด็กและเยาวชน จะต้องมีหลักประกันในความเท่าเทียม ปราศจากการแบ่งแยก กีดกันใดๆ อันเนื่องมาจากความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ ภาษา การเมือง ศาสนาและวัฒนธรรม และการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้แสดงบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในการเป็นส่วน หนึ่งของการพัฒนาสังคม ชุมชนท้องถิ่น
- ยุติและทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ทั้งระบบ การดำเนินการใดๆที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วม และปราศจาการยินยอมจากชุมชนท้องถิ่นจะได้รับการคัดค้าน ต่อต้านในระดับที่ทันกันอย่างที่สุด
- ปฏิเสธการจัดการศึกษาแบบดิ่งเดียวหรือรูปแบบเดียว ทั้งเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาอย่างเหมาะสม อาทิ การจัดการศึกษาภายใต้แนวคิดและรูปแบบโรงเรียนตักวาในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ณ มหาวิทยาลัยทักษิณแห่งนี้ เราขอยืนยันและแสดงเจตนารมณ์อย่างแจ้งชัดและแน่วแน่ ว่าเราจักมุ่งมั่นในวิถีและเส้นทางใหม่ที่เลือกแล้ว
เสมอมั่นในแนวทาง
มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา
13 กันยายน 2554