ที่มา บางกอกทูเดย์
เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว
การเปรียบเปรยที่สะท้อนให้เห็นถึงการเชื่อมโยงจากสิ่งที่ดูเหมือนเล็กๆน้อยๆ
แต่สามารถสร้างความสั่นสะเทือนได้ถึงสิ่งที่ใหญ่โต หรือเรื่องราวที่สำคัญ
จับตามองการเดินเกมประลองกำลังกันทางการเมืองระหว่างรัฐบาลปัจจุบัน กับอดีตรัฐบาล
หรือก็คือระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว
จะเห็นว่าประเด็นที่โหมกระแสจะเป็นจะตายอยู่ในเวลานี้ของพรรคฝ่ายค้านที่ระบุว่า
จะเป็นพรรคฝ่ายค้านอย่างสร้างสรรค์
ก็คือเรื่องของการโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการ และเจ้าหน้าที่พนักงานของรัฐในส่วนงานสำคัญๆต่างๆ
ทำไมคนเหล่านี้จึงเป็นเหมือนดอกไม้ ที่สามารถจะสร้างความสั่นสะเทือนถึงดวงดาวได้
หากถูกเด็ด และพรรคประชาธิปัตย์ไม่ต้องการที่จะให้ดอกไม้เหล่านั้น
ซึ่งรัฐบาลประชาธิปัตย์เป้นคนเลือกสรรคัดพันธ์ุมาด้วยมือตนเอง
แล้วมาวางเอาไว้ในตำแหน่ง ในกลไกที่สำคัญๆ
ประชาธิปัตย์จึงรู้ดีว่า หากถูกเด็ด หากถูกเปลี่ยนแปลง งานนี้สะเทือนจนเกินจะรับไหวแน่ๆ
เพราะอาจจะหมายถึงอนาคตเส้นทางบนถนนการเมืองของใครหลายๆคน
หรือของพรรคประชาธิปัตย์เลยก็ว่าได้
การโยกย้ายคนของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงถูกโหมภาพสร้างกระแสว่า
เป็นการโยกย้ายที่มีการเล่นพรรคเล่นพวก และเป็นระบบคุณธรรมที่มีปัญหา
ว่ากันว่ามีการเดินเกมกระตุ้นให้คนที่ถูกโยกย้ายบางคนในลุกขึ้นสู้
โดยมีการหยิบยกเอาเรื่องของนายวงศักดิ์ สวัสดิ์พาณิชย์ อธิบดีกรมการปกครองมาเป็นโมเดล
จูงใจคนที่ถูกคำสั่งย้าย
ทั้งๆที่โมเดลวงศ์ศักดิ์นั้น ยังไม่มีการโยกย้ายกรณีใดๆของรัฐบาลนี้
ที่พอจะเทียบเคียงกับการที่ กระทรวงมหาดไทยยุครัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำ ได้เลยสักกรณีเดียว
เป้าหมายในการโยกย้ายของคนในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ กับ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์
จริงๆแล้วไม่ได้มีพื้นฐานที่แตกต่างกันเลย นั่นคือ
การเปลี่ยนคนมาเป็นคนที่ไว้ใจได้ มาเป็นคนที่สั่งได้ มาเป็นคนของตนเอง
เพื่อที่จะได้มั่นใจได้ว่า ทุกสิ่งที่สั่งการลงไปจะได้รับการตอบสนอง
เพียงแต่ในช่วงท้ายของการโยกย้ายคนในปลายรัฐบาลนายอภิสิทธิ์
โดยเฉพาะที่กระทรวงมหาดไทย มีเป้าหมายพิเศษเกิดซ้อนขึ้นมา นั่นคือ
ต้องการวางคน วางตัว เพื่อมุ่งหวังผลการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในตอนนั้น
ตามความเชื่อตามเป้าหมาย คนเหล่านั้น ถูกวางหมุดเอาไว้
เพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคูมิใจไทยได้เปรียบในการเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด
และจนถึงวันนี้ ลึกๆในพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย
ยังเชื่อว่าภายในไม่เกิน 6 เดือนจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นอีกครั้ง
และจะมีการเลือกตั้งใหม่ตามมา???
ถึงตอนนั้นหากหมุดทุกตัวที่เคยตอกเคยวางเอาไว้สมัยที่เป็นรัฐบาล ยังไม่ถูกเปลี่ยน
โอกาสของความได้เปรียบก็ยังคงจะมีอยู่
แต่หากคนที่วางไว้ถูกเปลี่ยนหมดในตอนนี้ ก็เหมือนกับการเด็ดดอกไม้
ที่จะสะเทือนถึงดวงดาว แผนที่จะย้อนคืนกลับมาเป็นรัฐบาลให้สง่างามหน่อย
โดยไม่ต้องพึ่งพาการจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหารอีกครั้ง ก็จะสะเทือนไปด้วย
วันนี้จึงได้เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ทุกส่วนจึงโหมกระหน่ำในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายคนมากเป็นพิเศษ
บรรดากลุ่มคนเสื้อแดง บรรดากลุ่มคน นปช. ซึ่งต่อสู้ทวงประชาธิปไตยจนได้การเลือกตั้งมา
และพรรคเพื่อไทยเห็นว่า เพราะคนเสื้อแดงทำให้มีการเลือกตั้ง จึงควรที่จะให้กำลังใจคนเหล่านั้น
จึงได้มีการแต่งตั้งคนที่เหาะสมให้มามีตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง
แต่ก็ไม่ใช่ตำแหน่งบริหาร ไม่ใช่ตำแหน่งรัฐมนตรีเลยแม้แต่เก้าอี้เดียว
พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังโจมตีไม่หยุด
เรียกว่าเดือนกันยายน ซึ่งปกติของทุกปีจะเป็นเดือนแห่งการโยกย้าย
เพราะเป็นเดือนเกษียณอายุราชการนั้น ในปีนี้เกมการเมืองจึงแหลมคมและรุนแรงอย่างยิ่ง
เพราะมีการพยายามโยงที่จะให้เกิดความเชื่อว่า การแต่งตั้งโยกย้ายที่เกิดขึ้น
โดยเฉพาะในกระทรวงยุติธรรม
เป็นไปเพราะมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
เป็นไปเพื่อที่จะให้มีการขอพระราชทานอภัยโทษ
เพราะตามมาตรา 191 แห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย ปี พ.ศ.2550 ระบุชัดเจนว่า...
พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ
พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งถือว่าเป็นคู่แข่งทางการเมืองโดยตรงกับพรรคเพื่อไทย
จึงต้องทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ตกเป็นเบี้ยล่างในเกมการเมืองให้ได้
ซึ่งการสร้างภาพเกี่ยวกับเรื่องความจงรักภักดี เรื่องเกี่ยวกับสถาบัน
เป็นอะไรที่สามารถใช้ทำลายกันในทางการเมืองมาได้โดยตลอด
ประวัติศาสตร์ทางการเมืองของไทยมีบทเรียนและความทรงจำมาแล้วว่า
แค่การตะโกนในโรงหนังเพื่อป้ายสีนายปรีดี พนมยงค์ ก็สามารถทำให้เป็นกระแส
และทำให้นายปรีดี ซึ่งวันนี้พิสูจน์แล้วว่า เป็นผู้ทรงคุณประโยชน์ต่อประเทศไทย
ยังต้องกระเจิงเพราะพิษการเมืองที่ชั่วร้ายจนอยู่เมืองไทยไม่ได้
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่วันนี้จะมีการเดินเกมว่า
จะมีการเร่งขอพระราชทานอภัยโทษ จะมีการรือฟื้นคดีต่างๆขึ้นมาใหม่
รวมทั้งการโยกย้ายคน แต่งตั้งคนก็เพื่อรองรับวัตถุประสงค์เหล่านั้น
ทำให้คำสั่งโยกย้าย พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย
ผู้ตรวจราชการกระทรวงไอซีที ไปเป็นอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ถูกใช้ปลุกกระแสทันที
และที่ตลกก็คือ แม้แต่คนที่ไม่ถูกโยกย้าย อย่างเช่น
นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ก็ยังอุตส่าห์มีการตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น
ทำไมถึงยังไม่ถูกย้าย
เรียกว่ารัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ขณะนี้ ย้ายคนก็ถูกโจมตี ไม่ย้ายคนก็โดนสงสัย
เป็นเพราะเล่นการเมืองกันแบบหวาดระแวงไปหมดหรือไม่
ที่ทำให้ขณะนี้มีการวิ่งพล่านกันไปหมดว่า
ทำไมจึงมีการแต่งตั้ง นายอุกฤษ มงคลนาวิน มานั่งเป็นประธาน
คณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ หรือ คอ.นธ.
เป็นเรื่องนามของคน เงาของไม้ ที่แผ่กิ่งก้าน
มีผลงานในอดีตว่าเป็นนักกฎหมายที่ไม่เป็นรองใครในแวดวงกฏหมายยุคปัจจุบัน
จึงทำให้เกิดอาการกระเพื่อมและหวาดวิตกกันอย่างรุนแรงในทันทีว่า
รัฐบาลนี้ตั้งนายอุกฤษ มาทำอะไรกันแน่???
ถ้ารัฐบาลที่แล้ว มี เนติบริกร หลายคนคอยช่วย
แล้วจะแปลกอะไรหากรัฐบาลนี้จะหานักกฎหมายมือฉมังมาช่วยบ้างไม่ได้
รัฐบาลที่แล้วซุกอะไรไว้ใต้พรม หรือว่ามีอะไรในรัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำ
ที่เกิดขึ้นหลังการทำรัฐประหารได้ซ่อนหรืออำพรางอะไรเอาไว้
แค่ปรากฏชื่อของนายอุกฤษ มงคลนาวิน จึงทำให้สะท้านไหวกันขนาดนี้
ทั้งๆที่การแต่งตั้งครั้งนี้เป็นเรื่องที่กระทรวงยุติธรรม ชงขึ้นมา
ตามร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. ...ระบุว่า
คอ.นธ.ตั้งขึ้นมาเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา ครม.ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
และหน่วยงานของรัฐเป็นไปตามหลักนิติธรรมอย่างแท้จริง
มีการจุดประเด็นว่า นายอุกฤษ ซึ่งเคยเป็นอดีตประธานรัฐสภา
และเป็นมือกฎหมายชั้นเซียนคนหนึ่งในประเทศไทย จะเข้ามาทำหน้าที่อะไร
ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของพ.ต.ท.ทักษิณ หรือไม่
เอาเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ มาโยงสร้างภาพสร้างกระแสอีกตามเคย
ก็ต้องเข้าใจ เพราะเส้นทางชีวิตของนายอุกฤษ การจะขุดคุ้ยโจมตีไม่ใช่เรื่องง่าย
เพราะไม่เพียงเป็นนักกฎหมายระดับหัวแถว
ยังเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2539
แต่ได้ขอลาออกหลังจากรับการแต่งตั้งในเดือนเดียวกัน
อีกทั้งยังเคยเป็นอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตประธานวุฒิสภา และอดีตประธานรัฐสภา
และที่สำคัญจะเล่นงานโจมตีแบบเดียวกับที่เสื้อแดง เพื่อไทย โดนก็คงไม่ได้
เพราะนายอุกฤษ สมรสกับท่านผู้หญิง มณฑินี มงคลนาวิน (บุณยประสพ)
นางสนองพระโอษฐ์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ข้อกล่าวหาข้อป้ายสีบางเรื่องจึงทำไม่ได้
เหลือเพียงแค่ข้อเดียวว่า จะมารื้อรัฐธรรมนูญปี 50 เพื่อคนๆเดียวหรือไม่???
ประเด็นนี้เท่านั้นที่พอขายได้
เพราะเมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2550 นายอุกฤษ เคยให้สัมภาษณ์ในเว็บไซต์เดลินิวส์
ถึงร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 หลายช่วงหลายตอน อย่างมีคำถามหนึ่งถามถึงเรื่องมาตรา 309
นายอุกฤษ ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า
“แค่มาตรานี้มาตราเดียวก็ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้เสียทั้งฉบับ
ไม่รู้ว่ามีเจตนาอะไรที่มีการนิรโทษกรรมการกระทำที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 ได้นิรโทษกรรม คมช.เอาไว้แล้ว
ในอดีตทุกครั้งที่มีการปฏิวัติจะมีการออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรม
โดยให้ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ตรากฎหมาย
ถ้าเราทำผิดแล้วเขียนกฎหมายยกโทษให้ตัวเอง มันขัดหลักสากล
แล้วถ้าคนที่มาเป็นรัฐบาลทีหลังไม่เห็นด้วย
หากจะเอาผิดกันย้อนหลัง ก็สามารถทำได้ตามกฎหมาย เพราะคดีมีอายุความถึง 20 ปี”
ขณะที่อีกคำถาม ถามว่าหากสมมุติว่าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ
รัฐบาลและคมช. ควรนำรัฐธรรมนูญฉบับใดมาปรับใช้
นายอุกฤษ ตอบไว้ว่า “ควรนำรัฐธรรมนูญปี 40 มาปรับแก้และเพิ่มเติมบางประเด็น
เพื่อจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด
และให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นเพื่อปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการถาวร
เนื่องจากยอมรับกันว่ารัฐธรรมนูญปี 40 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเพียงฉบับเดียวโดยแท้
การเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง การแก้ปัญหาบ้านเมืองเหมือนการเล่นหมากรุก
ไม่ใช่แค่รู้ว่าเรือ ขุน โคน เดินกันอย่างไรเท่านั้น
แต่ต้องดูภาพรวมทั้งกระดาน ต้องวางหมากให้สัมพันธ์กัน
การเมืองจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ระบอบประชาธิปไตยเราใช้ระบบตัวแทน
ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของประชาชน
ถ้าได้เสียงข้างมากก็เป็นรัฐบาล ถ้าบริหารงานได้ดีก็ต้องสนับสนุน
การจะกำหนดเรื่องอะไร นักการเมืองต้องไปถามประชาชน
จะเขียนกฎหมายให้ประชาชนใช้หัวเดินต่างเท้าได้
แต่ถ้ามวลชนไม่ปฏิบัติตาม ความวุ่นวายก็จะเกิดขึ้นในบ้านเมือง”
จุดนี้หรือไม่ที่ทำให้ใครบางคนเริ่มผวาหวาด!!!
แม้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะบอกว่า
หลักการนายอุกฤษจะศึกษาในเรื่องกฎหมาย และหลักกระบวนการยุติธรรม ยืนยันว่า
ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ต้องดูรายชื่อคณะกรรมการที่นายอุกฤษจะเชิญเข้ามาร่วมทำงาน
และนายอุกฤษคงจะได้ชี้แจงให้ทราบต่อไป
ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ก็บอกว่าเป็นการให้มาดูเรื่องการปฏิรูปกฎหมายทั้งหมด
อะไรที่ไม่เป็นธรรมต้องสังคายนาใหม่ ซึ่งอาจารย์อุกฤษ เป็นคนเก่ง
ส่วนคณะกรรมการที่จะเข้ามาดูแลเป็นใครบ้างนั้นยังไม่ทราบรายละเอียดว่า
อาจารย์อุกฤษมีแนวคิดอย่างไร แต่รัฐบาลได้ให้ภาพกว้างในการทำงานไปแล้ว
จึงต้องมีคณะทำงานขึ้นมาเพื่อให้เกิดการเริ่มต้น
“ศาลใครไปปฏิรูปท่านไม่ได้ แต่ปฏิรูปกฎหมายได้
ซึ่งกฎหมายที่ศาลใช้ทุกวันนี้ก็มาจากรัฐสภาเป็นผู้ออกมาบังคับใช้”
ทั้งนี้จุดประสงค์ของการเสนอร่างระเบียบดังกล่าว
เพราะบางเรื่องจะต้องยอมรับความเป็นจริง ว่ามีที่มาจากการปฏิวัติ
แล้วตอนนี้เป็นรัฐบาลประชาธิปไตยจะเห็นด้วยทั้งหมดก็คงไม่ใช่
ซึ่งส่วนตัวอะไรที่มาจากคณะปฏิวัติตนไม่เห็นด้วย
ก็แบบนี้แหละที่ทำให้คนที่เห็นด้วยกับการทำปฎิวัติรัฐประหาร พากันสะดุ้งสะเทือนไปตามๆกัน