ที่มา ประชาไท
“สืบสกุล กิจนุกร” นำเสนองานวิจัย “ประชาธิปไตยชายแดน: ประสบการณ์ทางการเมืองของคนเสื้อแดงในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่” นำเสนอเส้นทางการต่อสู้ของกลุ่มชาวบ้านสันทรายคลองน้อย ที่ฝาง จ.เชียงใหม่ ว่ามีพัฒนาการจากกลุ่มอนุรักษ์-ทำประเด็นสวนส้ม กลายเป็นกลุ่มเสื้อแดงย่อยระดับอำเภอได้อย่างไร
เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการอภิปรายหัวข้อ เวที “ประสบการณ์ประชาธิปไตยของชาวบ้านเชียงใหม่” โดยมีการนำเสนอบทความจากงานวิจัย “พัฒนาการจิตสำนึกและขบวนการทางการเมืองของชาวเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่” โดยคณะผู้วิจัยซึ่งเป็นอาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษย วิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกอบด้วย ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, ดร.อรัญญา ศิริผล, นพพล อาชามาส และสืบสกุล กิจนุกร
และผู้วิจารณ์ ประกอบด้วย ศ.ทามาดะ โยชิฟูมิ มหาวิทยาลัยเกียวโต, รศ.ดร.อร รถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล สถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ
โดยก่อนหน้านี้ประชาไทได้นำเสนอส่วนหนึ่งของการวิจารณ์การนำเสนอโดยไชยันต์ รัชชกูล [1] และการนำเสนอของปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี [2] และในตอนนี้จะเป็นการรายงานการนำเสนอของสืบสกุล กิจนุกร หนึ่งในคณะผู้วิจัย ซึ่งนำเสนอหัวข้อ “ประชาธิปไตยชายแดน: ประสบการณ์ทางการเมืองของคนเสื้อแดงในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่” โดยมีรายละเอียดการนำเสนอดังนี้
000
ประชาธิปไตยชายแดน:
ประสบการณ์ทางการเมืองของคนเสื้อแดงในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
“ที่ ชาวบ้านต่อสู้เรื่องสวนส้มเพราะพวกเขาต้องการความเป็นธรรมหรือความยุติธรรม มันก็เช่นเดียวกันกับการเข้าร่วมกับคนเสื้อแดง เพราะพวกเขาต้องการประชาธิปไตย สำหรับชาวบ้านแล้ว ความยุติธรรมและประชาธิปไตยเป็นสิ่งเดียวกัน สำหรับคนสันทราย คลองน้อย”
สืบสกุล กิจนุกร
เริ่มต้นสืบสกุล ระบุว่ามีประเด็นที่อยากจะนำเสนอ 4 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง เสนอให้ทำความเข้าใจขบวนการเสื้อแดงในฐานะที่เป็นกระบวนการเรียนรู้ภายใต้ บริบทท้องถิ่น ประเด็นที่สอง เงื่อนไขที่ทำให้คนเสื้อแดงบ้านสันทรายคลองน้อยก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวในเขตอำเภอฝาง ประเด็นที่สาม จะอธิบายถึงองค์ประกอบของแกนนำชมรมคนรักฝาง-แม่อาย-ไชยปราการ ที่ทำให้องค์กรหลักของคนเสื้อแดงบริเวณนี้มีความเข้มแข็ง ประเด็นสุดท้าย จะพูดถึงกิจกรรมของชมรมคนรักฝางในฐานะที่เป็นรูปแบบการต่อสู้ทางวัฒนธรรม
ทุก คนที่อำเภอฝาง แม่อาย และไชยปราการซึ่งอยู่ในพื้นที่ชายแดนและชายขอบอำนาจรัฐ ได้มีการเรียนรู้ประชาธิปไตยผ่านปัญหาในชีวิตประจำวันมาก่อนเข้าร่วมขบวนการ "คนเสื้อแดง" ผล การเรียนรู้ดังกล่าวทำให้พวกเขามีความตื่นตัวสูงในการเข้าร่วมเคลื่อนไหวใน การเมืองระดับชาติ พลิกโฉมหมู่บ้านให้กลายเป็นศูนย์กลางการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และได้ก่อรูปความเข้าใจและท้าทายอำนาจนำในสังคมไทยอย่างถึงรากถึงโคน
สืบสกุลกล่าวถึง หมู่บ้าน “สันทรายคลองน้อย” ว่าก่อนหน้านี้เคยมีกลุ่ม “เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำฝาง” ภายใต้การสนับสนุนอย่างแข็งขันจากเอ็นจีโอ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้เรื่องการจัดสรรทรัพยากร ทำให้ในสมัยรัฐบาลทักษิณปี 2546 มีการตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งขึ้นมา 6 คณะ อีก 2 ปีถัดมารัฐบาลใหม่ก็ยกเลิกกลไกดังกล่าวนี้ไป
ลักษณะของหมู่บ้านสันทรายคลองน้อย ว่ามีลักษณะการปรับตัวเข้ากับเศรษฐกิจสมัยใหม่ ความเป็นอยู่ของผู้คนเหล่านี้ขึ้นอยู่กับเงินทุนและความรู้ มากกว่าการถือครองที่ดินและการเกษตร หรือถ้าจะมีก็ต้องผูกโยงเข้ากับอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร ชีวิตของชาวบ้านจึงเป็นส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีทั้งด้านที่เป็นโอกาสและความเสี่ยง รัฐบาลทักษิณซึ่งชนะการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 2544 มีหลายนโยบายที่ทำให้ชาวบ้านปรับตัวเข้ากับยุคโลกาภิวัตน์ได้ เช่น การเข้าถึงเงินทุนหรือการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ เป็นต้น
“ถึงแม้ว่าชาวบ้านสันทรายคลองน้อยจะมองด้วยมุมมองทางเศรษฐกิจหรือ อัตถประโยชน์นิยมเป็นหลัก แต่พวกเขาก็ตีความอำนาจของทักษิณในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้งในชนบท ที่สามารถเลือกรัฐบาลของตัวเองได้ ซึ่งไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อนที่พรรคไทยรักไทยจะได้เป็นรัฐบาล” สืบสกุลกล่าว เขาบอกอีกว่านอกจากเรื่องอำนาจในการเลือกรัฐบาลแล้ว ชาวบ้านยังรู้สึกตระหนักว่าพวกเขาสามารถจัดการเงินทุนของตัวเองได้
ต่อเรื่องการชุมนุมของคนเสื้อแดงว่า เนื่องจากชาวบ้านสันทรายคลองน้อยเคยต่อสู้เรื่องสวนส้มมาก่อน จึงมีความแข็งขันในการเข้าร่วมชุมนุม โดยแบ่งกลุ่มกันไปชุมนุมที่กรุงเทพฯ แบบผลัดกันไปกลับ และเมื่อเสื้อแดงถูกปราบก็มีสมาชิกกลุ่ม 6 คน ที่ติดอยู่ในวัดปทุมวนารามในคืนวันที่ 19 พ.ค. 2553
ความเข้มแข็งของชาวบ้านสันทรายคลองน้อยทำให้ชาวบ้านที่อื่นๆ ถือว่าหมู่บ้านแห่งดังกล่าวเป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงใน บริเวณนี้
“ที่ชาวบ้านต่อสู้เรื่องสวนส้มเพราะพวกเขาต้องการความเป็นธรรมหรือ ความยุติธรรม มันก็เช่นเดียวกันกับการเข้าร่วมกับคนเสื้อแดง เพราะพวกเขาต้องการประชาธิปไตย สำหรับชาวบ้านแล้ว ความยุติธรรมและประชาธิปไตยเป็นสิ่งเดียวกัน สำหรับคนสันทราย คลองน้อย” สืบสกุลกล่าว
จากนั้นสืบสกุลจึงได้กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของชมรมคนรักฝาง-แม่ อาย-ไชยปราการ ต่อ โดยกลุ่มดังกล่าวถือเป็นองค์กรหลักของการเคลื่อนไหวในพื้นที่ และมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อการเคลื่อนไหวระดับท้องถิ่น และระดับชาติ โดยเฉพาะในระหว่างการชุมนุมช่วง มี.ค. ถึงช่วง พ.ค. 2553 มาจนถึงปัจจุบัน ชมรมคนรักฝางฯ โดยมาจากผู้นำสามกลุ่มที่แม้จะแตกต่างกันแต่ก็หนุนเสริมให้องค์กรเข้มแข็ง
สามกลุ่มที่ผู้นำเสนอกล่าวถึงคือ หนึ่ง อดีตสหายจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่มีประสบการณ์ทำงานเคลื่อนไหว ก็จะคอยทำหน้าที่แลกเปลี่ยนข้อมูล วิเคราะห์สถานการณ์ เป็นปัญญาชนของชาวบ้าน กลุ่มที่สอง คือผู้ประกอบการในท้องถิ่นทั้งรายย่อยอย่างพ่อค้าแม่ค้าในตลาด หรือนักธุรกิจท้องถิ่นรายใหญ่ที่เป็นคณบดี กลุ่มนี้จะไม่มีประสบการณ์การต่อสู้แต่จะมีทุนทางเศรษฐกิจ เช่น คหบดีซึ่งเป็นที่เคารพนับถือในท้องถิ่นก็บริจาคเงินและให้พื้นที่บ้านเป็น สถานีทำการวิทยุชุมชน สุดท้าย คือกลุ่มข้าราชการในท้องถิ่น กลุ่มนี้ครูจะเป็นอาชีพที่กระตือรือร้นมากที่สุด และมักจะอาศัยทักษะทางวิชาชีพในการช่วยเหลือกลุ่ม อาทิเช่น การจดบันทึก การทำเอกสาร การทำบัญชี การเงิน ตลอดจนการพูดในที่สาธารณะ ทำให้พวกเขาหลายคนมีบทบาทเป็นโฆษกเวทีการชุมนุมระดับท้องถิ่น และเป็นนักจัดรายการวิทยุ
สืบสกุลกล่าวถึงกลุ่มคนรักฝางอีกว่า กลุ่มนี้จะมีการระดมทุนของตนเอง เช่น การจัดผ้าป่า จัดเลี้ยงโต๊ะจีน และการจัดคอนเสิร์ต โดยไม่ต้องรอการสนับสนุนจากส่วนกลาง
(ที่มาของภาพ: สืบสกุล กิจนุกร)
สืบสกุลกล่าวถึงลักษณะกิจกรรมของกลุ่มคนเสื้อแดงหลังถูกสังหารที่ราชประสงค์ว่า เริ่มมีการหันมาต่อสู้ในเชิงวัฒนธรรมมากขึ้น เช่น กิจกรรมแรก กรณีที่มีการผูกผ้าแดงที่สี่แยกราชประสงค์เพื่อระลึกถึงผู้ตาย กลุ่มชมรมคนรักฝางก็มีการจัดงานบายศรีสู่ขวัญซึ่งเป็นพิธีแบบดั้งเดิมในภาค เหนือเพื่อเรียกขวัญกำลังใจในหมู่สมาชิก จัดขึ้นเมื่อ29 ส.ค. 2553 มีคนเข้าร่วมประมาณพันคน นอกจากนี้ยังมีการทำบุญไปถึงคนตาย การเผาหุ่นเผด็จการ (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)
"กิจกรรมเหล่านี้มันช่วยบรรเทาความเศร้าโศก ปลดปล่อยความโกรธ ปลุกความหวัง และแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนเสื้อแดงยังมีชีวิตอยู่" สืบสกุลกล่าว
กิจกรรมที่สอง คือการจัดเวทีปราศรัยทางการเมืองโดยสุรชัย แซ่ด่าน ที่เดินสายรณรงค์พูดทั่วประเทศเกี่ยวกับบทบาทสถาบันพระมหากษัตริย์กับการ เมืองไทย ซึ่งเป็นหัวข้อต้องห้ามในสังคมไทยตลอดจนกระทั่งทุกวันนี้ ครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านในชนบทเข้าร่วมฟังอภิปรายสาธารณะใน ประเด็นนี้โดยเปิดเผยตรงไป ตรงมาและอาจเป็นครั้งสุดท้าย เพราะสุรชัย แซ่ด่านอยู่ในคุก
กิจกรรมที่สาม ตั้งสถานีวิทยุที่สันทรายคลองน้อย ที่ย้ายมาจากสถานีเดิมที่ตั้งอยู่บนที่ดินของคหบดีท้องถิ่น ซึ่งสถานีแห่งนั้นถูกสั่งปิดทันทีเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 53 เหตุที่เลือกที่นี้ เพราะชมรมคนรักฝางฯ ประเมินแล้วว่าชาวบ้านที่นี้มีความตื่นตัวทางการเมืองสูงเมื่อเทียบกับหมู่ บ้านอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ การจัดเนื้อหาให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยครอบคลุมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมท้องถิ่น การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และมีภาษาไทยใหญ่สำหรับพี่น้องแรงงานข้ามชาติ
นอกจากพิธีกรรมท้องถิ่นแล้ว กิจกรรมที่สี่ ของคนเสื้อแดงสันทรายคลองน้อยนั้น สืบสกุลบอกว่า เสื้อแดงยังมีการจัดพิธีกรรมตามวันสำคัญ เช่น การวางพวงมาลาในวันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นครั้งแรกที่สามัญชนเข้าไปร่วมกิจกรรม และตีความหมายใหม่ของรัฐพิธีให้เชื่อมโยงกับความหมายใหม่ในเชิงประชาธิปไตย ของประชาชนมากยิ่งขึ้น นอกจากวางพวงมาลาแล้วยังมีการเดินขบวนรณรงค์ให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองและ เรื่องการกระจายอำนาจ รวมถึงรณรงค์ให้ฝางเป็นจังหวัด
(ที่มาของภาพ: สืบสกุล กิจนุกร)
กิจกรรมที่ห้า คือกิจกรรมเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2553 (ข่าวที่เกี่ยวข้อง) ซึ่งรัฐไม่ได้จัดพิธีกรรมอันใดเลย แต่เสื้อแดงถือว่ารัฐธรรมนูญเป็นศูนย์กลางของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย มีการถ่ายทอดรายการเสวนา มีการทานอาหารร่วมกัน แสดงความในใจ รวมถึงการจุดเทียนชัยและปล่อยโคมพร้อมร้องเพลง "ตะโกนบอกฟ้า" ของอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง
ในตอนท้าย สืบสกุล เสนอว่า เราต้องทำความเข้าใจการเกิดขึ้นของคนเสื้อแดงจากบริบทของท้องถิ่น ให้มากขึ้น ในขณะเดียวกันประชาธิปไตยคือการเรียนรู้ ขบวนการเสื้อแดงที่ฝางแสดงให้เห็นว่าประชาชนเรียนรู้ประชาธิปไตยผ่านการ ต่อสู้ในชีวิตประจำวัน ชาวบ้านมีประสบการณ์ต่อสู้กับความเป็นชายขอบของการพัฒนามาก่อนที่จะเป็นคน เสื้อแดง ในขณะที่นักวิชาการเรียกร้องให้ชนชั้นนำยอมรับผลการเลือกตั้งและปรับทัศนคติ ใหม่เกี่ยวกับประชาธิปไตย การเมืองไทยยังอยู่ในมือของชนชั้นนำอยู่หรือไม่ ผมคิดว่าไม่สำคัญตราบที่คนเสื้อแดงยังแสวงหาคำตอบต่อคำถามของพวกเขาที่ถาม ว่า “ใครคือคนบงการฆ่า” “ประชาธิปไตยคืออะไร” “ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน” “คนเสื้อแดงเป็นใคร”
ใครจะให้คำตอบได้ ? นักวิชาการ ? สื่อ ? กรรมการสิทธิ ? หมอประเวศ ? อานันท์ ? คณิต ? พระไพศาล ? ถามดิน ถามฟ้าใครตอบได้ … สำหรับผมไม่มีคำตอบ แต่เสนอว่า “คนเสื้อแดงรู้คำตอบและความจริง” ซึ่งอยู่ในการต่อสู้ของพวกเขาแล้ว ด้วยเหตุนี้ทำให้พวกเขาก้าวเข้ามาสู่การนิยามประชาธิปไตยจากชายขอบของสังคม ไทยและมันจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป สืบสกุลทิ้งท้าย
(หมายเหตุ: ประชาไทจะทยอยนำเสนอคลิปการอภิปรายของสืบสกุล และการอภิปรายของผู้นำเสนอผลงานท่านอื่นๆ ในโอกาสต่อไป)