ที่มา ประชาไท
ในหมู่ชาวพุทธบ้านเรา เวลาเกิดปัญหาหรือเรื่องร้ายๆ ในชีวิตและสังคม ผู้คนมักจะพูดว่าเป็นเรื่องของ “กรรม” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทักษิณที่ต้องระหกระเหินไปอยู่ต่างประเทศก็บอกว่าเป็น เรื่องของกรรม อาจจะเป็นทั้งกรรมในชาติปัจจุบัน หรืออดีตชาติก็ว่ากันไป ความขัดแย้งแบ่งสีก็บอกเป็นกรรมของสังคม น้ำท่วมใหญ่ก็บอกเป็นกรรมที่มนุษย์ทำกับธรรมชาติ ฯลฯ
แน่นอนว่าเรื่องของ “อากง 20 ปี” ก็ไม่พ้นที่จะพูดกันว่าเป็นเรื่องของ “กรรม” เช่น อากงเองก็พูดถึงการติดคุก 20 ปี ของตนเอง (ขออนุญาตนำข้อความบนสเตตัสของ คุณอานนท์ นำภา มาเผยแพร่ต่อ) ดังข้างล่างนี้
ขณะที่เลขานุการของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็บอกว่าที่ตนต้องแจ้งความ เพราะจำเป็นต้องเลือก “ความถูกต้อง” และกรณีนี้มันก็เป็นเรื่อง “กรรมใดใครก่อ”
บางคนอาจมองว่าเรื่องความเชื่อ หรือ “คำทางศาสนา” ไม่ควรนำมาเกี่ยวโยงกับเรื่องทางสังคมการเมืองเพราะมันมีความหมายเฉพาะ สำหรับใช้กับชีวิตทางศาสนามากกว่า แต่ถ้าเรามองตามข้อเท็จจริง “คำทางศาสนา” ไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศ หากแต่ถูกหยิบมาใช้ในบริบททางสังคมการเมือง หรือถูกตีความรับใช้สภาพสังคมการเมืองในยุคสมัยต่างๆ มากบ้าง น้อยบ้างเสมอ ไม่เช่นนั้นความเชื่อหรือคำทางศาสนาอาจหายไปจากโลกแล้วก็ได้
โดยเฉพาะในสังคมไทย “คำทางศาสนา” เข้ามาป้วนเปี้ยนกับการเมืองแทบในทุกมิติ ตั้งแต่เรื่องดี ชั่วของตัวบุคคลทางการเมือง เรื่องน่าพึงประสงค์ไม่พึงประสงค์ของระบบการเมือง ไปจนถึงเรื่อง “ชะตากรรม” ของบ้านเมืองเป็นต้น ฉะนั้น การตั้งคำถาม หรือวิพากษ์การใช้คำทางศาสนาในทางสังคมการเมืองจึงมีความจำเป็นอยู่ไม่น้อย
กล่าวเฉพาะคำว่า “กรรม” ที่นิยมใช้กันในบ้านเรามักใช้ในความหมายประมาณนี้ เช่น
1) ใช้เจาะจงกับเรื่องราว หรือเหตุการณ์ร้ายๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตและสังคม เช่น มันเป็นกรรมของอากง เป็นเวรกรรมของแผ่นดิน เป็นกรรมของสังคมไทย ฯลฯ
2) ใช้อธิบายความเป็นไปของชีวิตในปัจจุบันและอนาคตว่าถูกกำหนดอย่างแน่นอนตายตัวโดย “กรรมเก่า”
3) ใช้อธิบายว่า มันยุติธรรมแล้วที่เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น “กรรมใดใครก่อ”
4) ใช้ปลอบใจตัวเอง (และคนอื่น) ให้ยอมรับชะตากรรม หรือยอมจำนน เช่น “มันเป็นกรรมของเราเอง”
5) ใช้ปฏิเสธความรับผิดชอบทั้งของตนเอง เช่น อ้างว่า “กรรมใดใครก่อ” เพื่อปฏิเสธความรู้สึกผิดที่ตนเองไปแจ้งความ ทำใช้ชายแก่คนหนึ่งต้องติดคุก 20 ปี (ทั้งที่ถ้าเขามีความเข้าใจว่ากฎหมายไม่ยุติธรรม และข้อความนั้นก็เป็นเพียง “ข้อความ” ที่ปรากฏในโทรศัพท์มือถือส่วนตัวของเขาเท่านั้น เขาก็ย่อมแสดงความรับผิดชอบต่ออิสรภาพของคนอื่นได้ด้วยการไม่ไปแจ้งความ) และปฏิเสธที่จะเรียกร้องความรับผิดชอบจากคนอื่นที่กระทำผิดต่อตนเอง เช่น ลูกถูกรถชนตายก็ไม่เรียกร้องความรับผิดชอบทางกฎหมายจากคู่กรณีอย่างเต็มที่ นึกเสียว่าเป็นการ “ใช้เวรใช้กรรมที่เคยมีต่อกัน” จะได้จบๆ ไม่จองเวรจองกรรมกันอีกต่อไป
การใช้กรรมใน ความหมายดังกล่าวเป็นต้นนี้ ไม่น่าจะตรงกับที่พระพุทธเจ้าใช้ หากศึกษาจากคำสอนเรื่องกรรมในพระไตรปิฎก เราจะพบว่า การใช้คำสอนเรื่องกรรมมีการใช้ภายใต้หลักคิดสำคัญประมาณนี้ เช่น
1) ใช้ปฏิเสธระบบชนชั้น ที่ถือว่า ความประเสริฐไม่ประเสริฐของมนุษย์ถูกกำหนดเอาไว้แล้วอย่างตายตัวโดยชนชั้น ที่คนได้มาโดยกำเนิด เช่น คุณเป็นผู้ประเสริฐโดยชาติ (การเกิด) ถ้าคุณเกิดในวรรณะกษัตริย์ หรือวรรณะพราหมณ์ เป็นสามัญชนถ้าเกิดในในวรรณะแพศย์ และเป็นคนชั้นต่ำถ้าเกิดในวรรณะศูทร สถานะทางชนชั้นโดยการเกิดนี้ถูกกำหนดโดยการเกิดจากพระพรหมอีกที เช่น พราหมณ์เกิดจากปาก กษัตริย์เกิดจากแขน แพศย์เกิดจากสะดือ ศูทรเกิดจากเท้า ของพระพรหม จึงมีสถานะสูง-ต่ำลดหลั่นกันตามโครงสร้างทางร่างกาย (Organism) ของพระพรหม
พระพุทธเจ้าไม่เห็นด้วยกับความเชื่อนี้ จึงใช้เหตุผลโต้แย้ง (arguments) อย่างตรงไปตรงมา สรุปสาระสำคัญได้ 3 ประการ คือ (1) พระพรหมไม่มีจริงเพราะไม่มีใครเคยเห็นพระพรหม (2) คนทุกวรรณะต่างเกิดจากโยนีของมารดา (3) ระบบวรรณะเกิดจากวิวัฒนาการทางสังคม เริ่มจากสังคมก่อนสังคมการเมืองมาเป็นสังคมการเมือง และมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ทางสังคม มีการสร้างความเชื่อสร้างจารีตประเพณีขึ้นมากำกับความคงอยู่ของระบบวรรณะ
จะเห็นว่าพระพุทธเจ้าอ้าง “ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์” หรือใช้เหตุผลแบบ “ประสบการณ์นิยม” (empiricism) เพื่อปฏิเสธระบบชนชั้น แล้วจึงเสนอว่า “ความประเสริฐไม่ประเสริฐ” หรือคุณค่าของคนขึ้นอยู่กับ “กรรม” หรือการกระทำของคนแต่ละคน
2) ใช้ “กรรม” เพื่อยืนยันความยุติธรรม ตามหลักคิดเรื่องกฎแห่งกรรมที่ว่า “ทำกรรมเช่นใด ย่อมได้รับผลเช่นนั้น” ความยุติธรรมตามความหมายนี้มีสาระสำคัญ 2 ประการ คือ (1) ไม่ว่าใครก็ตามเมื่อกระผิดหรือถูกในสิ่งเดียวกัน ก็ย่อมผิดหรือถูกเสมอภาคกัน เช่น กษัตริย์ฆ่าคน ศูทรฆ่าคนก็ผิดศีลข้อ “ปาณาติบาต” เหมือนกัน เป็นต้น ความยุติธรรมในความหมายนี้เป็นการปฏิเสธ “ระบบอภิสิทธิชนทางศีลธรรม” ของระบบชั้นนั้น และถือว่ามนุษย์มี “ความเสมอภาคทางศีลธรรม” (2) การกระทำสิ่งที่ผิดน้อยย่อมได้รับโทษเบา ทำผิดมากย่อมได้รับโทษหนัก
หากพิจารณาตามความหมายของความยุติธรรม 2 ประการตามหลักคิดเรื่อง “กฎแห่งกรรม” ดังกล่าว การออกกฎหมายที่กำหนดให้ชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งมีอภิสิทธิ์เหนือเพื่อมนุษย์คน อื่น ย่อมเป็นกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม การตัดสินลงโทษคนตามกฎหมายเช่นนั้น เช่น กรณีตัดสินจำคุก 10-20 ปี สำหรับ “กรรมเบา” หรือการกระทำทางศีลธรรมที่มีความผิดเบามาก อย่าง “กรรมทางวาจา” (วจีกรรม) ที่หมิ่นประมาทบุคคลอื่น จึงเป็นการตัดสินที่ไม่ยุติธรรมตามกฎแห่งกรรม หรือเป็นการตัดสินที่ “ไม่ยุติธรรมในทางศีลธรรม”
พึงตระหนักว่า เมื่อพระพุทธเจ้าใช้หลัก “กรรม” ปฏิเสธระบบวรรณะ” ย่อมมีความหมายสำคัญว่าระบบวรรณะไม่ใช่ระบบที่มีความยุติธรรมตามทัศนะของ พระองค์ หลักที่ยุติธรรมกว่าคือหลักกรรม ฉะนั้น สังคมที่มีความยุติธรรมกว่าสังคมระบบชนชั้น คือสังคมที่สร้างกติกาการอยู่ร่วมกันให้สอดคล้องกับความยุติธรรมตามกฎแห่ง กรรมทั้ง 2 ประการดังกล่าว
คำถาม ณ ที่นี้คือ ทำไมสังคมไทยที่อ้างว่าสังคมตนเองเป็นสังคมพุทธ และถึงขนาดบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ” จึงมีกฎหมาย เช่น ม.112 เป็นต้น ที่ขัดแย้งกับหลักความยุติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้า และมีการใช้กฎหมายนั้นลงโทษประชาชนอย่างขัดต่อ “หลักความยุติธรรมทางศีลธรรม” ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า สังคมนี้ควรเลิกประกาศว่าเป็น “สังคมพุทธ” หรือควรยกเลิกกฎหมายที่ขัดกับคำสอนของพุทธศาสนาดี!
3) ใช้ “กรรม” ปฏิเสธ “ลัทธิกรรมเก่า” (ปุพฺเพกตวาท) ที่เชื่อว่าความเป็นไปทุกอย่างของชีวิตในปัจจุบันและอนาคตถูกกำหนดเอาไว้ แล้วอย่างแน่นอนตายตัวโดย “กรรมเก่า” พระพุทธเจ้าถือว่าความหมายสำคัญของหลักกรรมอยู่ที่คนแต่ละคนมีเสรีภาพในการ เลือกกระทำ และเวลาปัจจุบันคือเวลาที่เราแต่ละคนมีอำนาจตัดสินใจเลือกมากที่สุดว่าจะทำ อะไร เช่น องคุลีมาลย์มีอำนาจตัดสินใจเลือกว่าจะฆ่าคนต่อไป หรือจะเลือกทางชีวิตแบบพระภิกษุ เป็นต้น ฉะนั้น การกระทำในปัจจุบันคือสิ่งสำคัญที่สุดที่กำหนดความเป็นไปในปัจจุบันและอนาคต ของชีวิต (และสังคม) ของเรา
จะเห็นว่าการยืนยันความสำคัญของ “กรรมปัจจุบัน” ย่อมสอดคล้องกับที่พระพุทธเจ้าอ้างเหตุผลเชิงประจักษ์ หรือ “ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้” เพื่อปฏิเสธระบบวรรณะ
ฉะนั้น ถ้าพระพุทธเจ้าปฏิเสธว่าพระพรหมไม่มีเพราะไม่มีใครเคยเห็น แต่กลับยืนยันว่าชีวิตปัจจุบันและอนาคตขึ้นอยู่กับ “กรรมเก่า” ที่ไม่มีใครมองเห็น ย่อมเป็นการยืนยันที่ขัดแย้งในตัวเอง ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงปฏิเสธ “ลัทธิกรรมเก่า” และยืนยืนความสำคัญของ “กรรมปัจจุบัน” ที่พิสูจน์ความเป็นเหตุเป็นผลได้ในเชิงประจักษ์
แต่การสอนเรื่องกรรมในยุคต่อมา รวมทั้งที่นิยมสอนกันมากในบ้านเราเช่นเรื่อง “แก้กรรม” เป็นการสอนตาม “ลัทธิกรรมเก่า” ที่พระพุทธเจ้าเคยปฏิเสธมาก่อน
4) ใช้กรรมเพื่อยืนยัน “ความรับผิดชอบ” โดย ปฏิเสธ “ลัทธิอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์” หรือ “ลัทธิรอผลดลบันดาล” พระพุทธเจ้าเรียกตนเองว่าเป็น “กรรมวาที” คือผู้ยืนยันว่าการกระทำด้วยความเพียรของตนเองคือสิ่งที่ทำให้บรรลุความ สำเร็จ กรรมในความหมายนี้มีลักษณะ active คือลักษณะของความเป็น “ผู้กระทำ” เพื่อกำหนดการเปลี่ยนแปลงชีวิต (และสังคม) ให้ก้าวหน้าไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งตรงกันข้ามกับลักษณะ passive คือความเป็น “ผู้ถูกกระทำ” หรือถูกกำหนดชะตากรรมโดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (หรืออำนาจกรรมเก่า) ตามลัทธิรอผลดลบันดาล
ความเป็น “กรรมวาที” หรือความเป็นผู้ริเริ่มกระทำสิ่งที่ดีเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต (และสังคม) ให้ดีขึ้นแสดงถึง “ความรับผิดชอบ” ต่อชีวิต (และสังคม) นี่คือสาระสำคัญของคำสอนเรื่อง “กรรม” ในพุทธศาสนา แต่ในบ้านเรากลับอ้างคำสอนเรื่องกรรมเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบ มันจึงกลับตาลปัตรกับที่พระพุทธเจ้าสอน
ฉะนั้น ในกรณีของ “อากง” หากเรามีความรับผิดชอบ (หรือมีความเป็น “กรรมวาที” ตามแบบอย่างที่พระพุทธเจ้าเป็น) ความรับผิดชอบนั้นย่อมแสดงออกด้วยการคัดค้านการลงโทษที่อยุติธรรมแก่อากง ด้วยการเรียกร้องให้ยกเลิก ม.112 และยกเลิกกฎหมายใดๆ ก็ตาม ที่สนับสนุนความอยุติธรรมทางชนชั้นซึ่งขัดกับหลัก “ความยุติธรรมทางศีลธํรรม” ตามคำสอนเรื่องกรรมโดยพื้นฐาน
ปัญหาคือ เมื่อเรายืนยันว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมนี้เป็นชาวพุทธ และสังคมนี้เป็นสังคมประชาธิปไตย เราพร้อมที่จะเป็นชาวพุทธตามที่พระพุทธเจ้าสอน และพร้อมที่จะเปลี่ยนสังคมให้เป็นประชาธิปไตยอย่างอารยประเทศหรือยัง? หรือจะอยู่กันแบบนี้ ซาบซึ้งกับ “การหลอกตัวเอง” เช่นนี้ไปชั่วกัลปาวสาน!