ที่มา ประชาไท
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ฯ เรียกร้องไทยเอาจริงเอาจังในการลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ รวมถึงลดอัตราการตายจากเอดส์ลงให้ได้ เนื่องในวันเอดส์โลก 1 ธันวา
เนื่องในวันเอดส์โลก ซึ่งตรงกับวันที่ 1 ธันวาคม ของทุกปี เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชน โดยระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องเอาจริงเอาจังในการลดอัตราการติด เชื้อเอชไอวีรายใหม่ และลดอัตราการตายจากเอดส์ลงให้ได้
เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ระบุด้วยว่า ปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 10,853 ราย หรือวันละประมาณ 30 ราย และยังมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากเอดส์ ปีละประมาณ 1,000 ราย ทั้งๆ ที่ระบบสวัสดิการด้านสุขภาพทุกระบบของประเทศ สามารถให้การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อฯ /ผู้ป่วยเอดส์ได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สวัสดิการประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ด้วยเห็นว่า หากคนทั่วไปรู้ผลเลือดของตนเอง กรณีผลเลือดลบ ก็จะนำไปสู่การประเมินและลดความเสี่ยง รวมทั้งป้องกันตนเองจากการติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งจะส่งผลต่อการลดอัตราการติดเชื้อฯ รายใหม่ลง และถ้ามีผลเลือดบวก หากรู้ได้เร็ว ก็จะทำให้เข้าสู่บริการสุขภาพได้เร็ว ทั้งการป้องกันรักษาโรคฉวยโอกาส ที่ทุกโรครักษาให้หายได้ และจะได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีอย่างทันท่วงที โดยไม่ต้องรอให้ป่วย ทำให้มีสุขภาพแข็งแรง ใช้ชีวิตตามปกติได้ รวมถึงลดอัตราการตายจากเอดส์ลงในที่สุด
ในกรณีคนที่ยังไม่รู้ว่าติดเชื้อฯ หรือไม่ สิทธิประโยชน์ของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมให้คนไทยทุกคน ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวี ไม่ว่าจะอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพระบบใดก็ตาม ขอรับบริการให้คำปรึกษา และตรวจเลือดหาการติดเชื้อเอชไอวีด้วยความสมัครใจได้ปีละ ๒ ครั้ง โดยสามารถเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลของรัฐ และเอกชนที่เข้าร่วมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทุกแห่ง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
ด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าวว่า จากประสบการณ์ของเขา และเพื่อนๆ ในเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ขอย้ำว่า เอดส์ รู้เร็ว รักษาได้
“เราขอเชิญชวนให้สังคม ให้ทุกคนตื่นตัว ในการรู้ผลการติดเชื้อฯ ของตัวเอง และถ้าเห็นว่าตัวเองมีความเสี่ยงจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน ให้เข้ารับบริการให้คำปรึกษาและตรวจเลือด แต่สิ่งที่เราไม่อยากเห็น คือการละเมิดสิทธิการตรวจเลือดเอชไอวีที่ยังมีปัญหาอยู่ เช่น การตรวจสุขภาพประจำปีของสถานประกอบการ การรับเข้าทำงานใหม่ การเข้าเรียนในสถานศึกษา ที่เป็นไปในลักษณะบังคับตรวจ ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจเรื่องเอดส์ในสังคมไทย” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กล่าว