ที่มา ประชาไท
Blognone เว็บข่าวไอทีชื่อดัง ร่อนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล แสดงความเห็นต่อกรณีคดีนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) ระบุแค่หมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์มือถือ (อีมี่) ใช้ระบุมือถือที่ใช้ทำผิดไม่ได้
(2 ธ.ค.54) เว็บไซต์ Blognone เว็บข่าวไอทีชื่อดัง เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล แสดง ความเห็นต่อกรณีคดีนายอำพล (ขอสงวนนามสกุล) โดยระบุว่า หมายเลขประจำเครื่องโทรศัพท์มือถือ (IMEI) ไม่เพียงพอต่อการระบุมือถือที่ใช้กระทำความผิด
"แม้บันทึกการใช้งาน (log) หมายเลขประจำตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ (IMEI) จากผู้ให้บริการจะเป็นหลักฐานสำคัญในการนำสืบเพื่อหาตัวคนร้าย แต่ในทางวิชาการคอมพิวเตอร์ หลักฐานนี้ไม่แน่ชัดและไม่เพียงพอในการระบุตัวผู้กระทำความผิดได้จริง เจ้าหน้าที่ควรต้องหาหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อให้ระบุตัวคนร้ายได้อย่างแน่ชัด แต่จากคดีของนายอำพล เจ้าหน้าที่กลับอาศัยหลักฐานเพียง บันทึกการใช้งาน (log) หมายเลขประจำตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ (IMEI) ของผู้ให้บริการ เพื่อจับกุมและดำเนินคดี" แถลงการณ์ระบุ
แถลงการณ์ยังระบุถึงข้อเรียกร้อง คือ 1.คดีที่ยังไม่ฟ้องร้อง ให้หยุดกระบวนการฟ้องร้องจนกว่าเจ้าหน้าที่จะรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงพอ ที่จะระบุผู้กระทำความผิดได้อย่างชัดเจน 2.คดีที่ฟ้องร้องแล้ว ให้หยุดการคัดค้านประกันตัว พร้อมกับดำเนินการหาหลักฐานเพิ่มเติม หากหาไม่ได้ให้ถอนฟ้อง 3.คดีที่ตัดสินแล้ว ขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่ โดยการให้ผู้ต้องหามีโอกาสต่อสู้คดี และเจ้าหน้าที่ควรต้องหาหลักฐานเพิ่มเติม 4.สร้างมาตรฐานการรวบรวมหลักฐานในคดีความผิดทางคอมพิวเตอร์ขึ้นมาให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนอุ่นใจได้ว่า จะไม่มีใครถูกจับกุมหรือฟ้องร้องด้วยพยานหลักฐานที่ไม่แน่ชัดเช่นนี้อีก 5.เร่งแก้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ อย่างเร่งด่วน
00000
จดหมายเปิดผนึก Blognone ถึงรัฐบาลต่อคดีนายอำพล (คดีอากง SMS)
ถึง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, และนาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
จากเหตุการณ์ซึ่งมีผู้ส่ง SMS ไปที่โทรศัพท์มือถือของนายสมเกียรติ ครองวัฒนสุข แล้วมีการบุกจับนายอำพล [สงวนนามสกุล] ดำเนินคดี จนกระทั่งศาลอาญามีคำพิพากษาในสัปดาห์ที่ผ่านมา
คดีนี้อาศัยหลักฐานสำคัญคือ บันทึกการใช้งาน (log) หมายเลขประจำตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ (IMEI) จากผู้ให้บริการคือ DTAC และ Truemove เพื่อลงโทษนายอำพล ทีมงาน Blognone เห็นว่า คดีนี้ มีปัญหาว่า พยานหลักฐานดังกล่าว เพียงพอในการพิสูจน์ว่า นายอำพลเป็นผู้ส่ง SMS 4 ข้อความที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ เนื่องจากหมายเลขประจำตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ (IMEI) นั้น น่าจะไม่ใช่หลักฐานที่แน่ชัดในการระบุถึงเครื่องโทรศัพท์มือถือที่ใช้ในการ กระทำความผิดหรือระบุถึงตัวผู้กระทำความผิด เพราะหมายเลขประจำตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ (IMEI) สามารถปลอมแปลงได้โดยง่าย
การปลอมแปลงตัวบุคคลเพื่อทำความผิดเป็นเรื่องปกติในวงการอาชญากรรม คอมพิวเตอร์ ตัวอาชญากรมักปลอมแปลงตัวเองเพื่อใช้งานเครือข่ายของเหยื่อ ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อปกปิดตัวเองก่อนการเข้ากระทำความผิดจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นการแอบเข้าใช้งานคอมพิวเตอร์ผู้อื่นเพื่อโจมตีเครือข่าย หรือคอมพิวเตอร์ปลายทาง การแฮกจำนวนมากก็อาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีการรักษาความปลอดภัยหละหลวม บางครั้งอาจจะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ หลายๆ เครื่องเพื่อนัดโจมตีพร้อมกันเพื่อสร้างความเสียหายให้มากขึ้น โดยที่เครื่องของผู้กระทำผิดไม่ได้ส่งข้อมูลโดยตรงไปยังเครื่องที่ถูกโจมตี เลย
แม้บันทึกการใช้งาน (log) หมายเลขประจำตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ (IMEI) จากผู้ให้บริการจะเป็นหลักฐานสำคัญในการนำสืบเพื่อหาตัวคนร้าย แต่ในทางวิชาการคอมพิวเตอร์ หลักฐานนี้ไม่แน่ชัดและไม่เพียงพอในการระบุตัวผู้กระทำความผิดได้จริง เจ้าหน้าที่ควรต้องหาหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อให้ระบุตัวคนร้ายได้อย่างแน่ชัด แต่จากคดีของนายอำพล เจ้าหน้าที่กลับอาศัยหลักฐานเพียงบันทึกการใช้งาน (log) หมายเลขประจำตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ (IMEI) ของผู้ให้บริการ เพื่อจับกุมและดำเนินคดี
หมายเลขประจำตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ (IMEI) นั้น ไม่อาจป้องกันการปลอมแปลง และมันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อยืนยันตัวบุคคล เราสามารถหาหมายเลข IMEI จากข้างกล่องโทรศัพท์มือถือที่วางขายตามร้านค้า สามารถหาได้จากสติกเกอร์ที่แปะอยู่บนกล่องเครื่องโทรศัพท์มือถือ สามารถตรวจสอบจากหมายเลขพิเศษที่ใช้ขอดูหมายเลข IMEI โทรศัพท์จำนวนมากมีหมายเลข IMEI แปะเป็นสติกเกอร์ไว้ในช่องแบตเตอรี่ ผู้ร้ายสามารถหาหมายเลข IMEI ของผู้อื่นในแบบที่เจาะจงหรือไม่เจาะจงเพื่อเปลี่ยนหมายเลขให้ตรงกับเครื่อง ที่มีการใช้งานจริงได้โดยง่าย หรือแม้กระทั่งเคยมีรายงานว่า ผู้ผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานบางรายผลิตเครื่องโทรศัพท์มือถือโดยใส่หมายเลข IMEI ซ้ำซ้อนกัน
เพราะความน่าสงสัยมากมายเช่นนี้ เฉพาะหมายเลขประจำตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือ จึงไม่น่าจะเป็นหลักฐานที่แน่ชัดเพียงพอในการพิสูจน์ความผิดผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลยได้ ทีมงาน Blognone มองว่าเจ้าพนักงานสอบสวนไม่ควรใช้แค่ข้อมูลหมายเลขประจำตัวเครื่องโทรศัพท์ มือถือเป็นหลักฐานในการจับกุม, ฟ้องร้อง, ตลอดจนคัดค้านการประกันตัวจนกระทั่งผู้ต้องหาถูกกุมขัง ไม่เช่นนั้นแล้วมาตรฐานเช่นนี้อาจทำให้เกิดการใส่ความไปมาได้เป็นวงกว้าง ทั้งอาจทำให้มีผู้ถูกกุมขังระหว่างการสอบสวนโดยเป็นเหยื่อของผู้ร้ายอีกที หนึ่ง
เราไม่ทราบว่า มีคดีอีกกี่คดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี ด้วยหลักฐานที่ไม่แน่ชัดไม่เพียงพอในระดับเดียวกัน และมีผู้ต้องหาและผู้ถูกคุมขังจากคดีดังกล่าวกี่คน ทีมงาน Blognone เสนอให้รัฐบาลเยียวยาผู้ต้องหาและผู้ถูกกุมขังดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ด้วยมาตรการต่อไปนี้
- คดีที่ยังไม่ฟ้องร้อง ให้หยุดกระบวนการฟ้องร้องจนกว่าเจ้าหน้าที่จะรวบรวมพยานหลักฐานได้เพียงพอ ที่จะระบุผู้กระทำความผิดได้อย่างชัดเจน
- คดีที่ฟ้องร้องแล้ว ให้หยุดการคัดค้านประกันตัว พร้อมกับดำเนินการหาหลักฐานเพิ่มเติม หากหาไม่ได้ให้ถอนฟ้อง
- คดีที่ตัดสินแล้ว ขอให้มีการพิจารณาคดีใหม่ โดยการให้ผู้ต้องหามีโอกาสต่อสู้คดี และเจ้าหน้าที่ควรต้องหาหลักฐานเพิ่มเติม
- สร้างมาตรฐานการรวบรวมหลักฐานในคดีความผิดทางคอมพิวเตอร์ขึ้นมาให้ ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนอุ่นใจได้ว่า จะไม่มีใครถูกจับกุมหรือฟ้องร้องด้วยพยานหลักฐานที่ไม่แน่ชัดเช่นนี้อีก
- ดำเนินการแก้ไข พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 อย่างเร่งด่วน นำความผิดที่ซ้ำซ้อนกับความผิดในกฎหมายอื่นๆ ออกไป, ให้ใช้โทษเท่ากันสำหรับความผิดตามกฎหมายปกติ กับความผิดที่ทำทางคอมพิวเตอร์, เพิ่มการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของประชาชน, และเพิ่มการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการรวบรวมหลักฐานเพื่อดำเนินคดี พร้อมทั้งให้อำนาจเจ้าหน้าที่อย่างเพียงพอตามความจำเป็นในการสอบสวน
การใช้อินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ต่างๆ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต รัฐบาลต้องดูแลไม่ให้เกิดความหวาดกลัวในการใช้งาน คุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้งาน ทั้งจากการถูกโจมตี และจากการตกเป็นจำเลยเสียเองโดยไม่มีหลักฐานที่แน่ชัด
วสันต์ ลิ่วลมไพศาล
อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์
ทีมงานผู้ดูแลเว็บไซต์ Blognone.com