ที่มา ประชาไท
'สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย' ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 แจงแนวทางแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ ร้องผู้อำนาจต้องเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงอย่างกว้างขวางในสาธารณะ พร้อมยกเลิกการให้ข้อมูลแก่ประชาชนเพียงด้านเดียว
เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2554 สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 เกี่ยวกับแนวทางแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเรียกร้องให้มีการทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งตั้งคณะกรรมการที่มาจากประชาชนเพื่อทบทวนและแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 นอกจากนี้ สนนท. ยังชี้ว่าต้องให้มีการปฏิรูประบบตุลาการเพื่อให้มีความโปร่งใสและมีอำนาจที่ ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้นด้วย
0000
แถลงการณ์ฉบับที่ ๒
สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขกฎหมายหมิ่นฯ มาตรา ๑๑๒
ด้วยสภาพปัญหาของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปัจจุบัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปี ถึงสิบห้าปี” ซึ่งเกิดจากการแก้ไขเพิ่มเติมในช่วงหลังเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ โดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ ๔๑ นำมาสู่การนำไปใช้ทำลายคู่ต่อสู้การเมือง และนำไปสู่ความขลาดของระบบตุลาการจนเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่าตุลาการภิวัฒน์ ในที่สุด จนละเลยหลักการประชาธิปไตยสากล จากสภาพการณ์ของประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ดังกล่าว พวกเราได้มองเห็นปัญหาดังนี้มีปัญหาดังต่อไปนี้
๑. ปัญหาที่มาของกฎหมาย ดังที่กล่าวมาแล้วว่ากฎหมายนี้เกิดมาจากคำสั่งคณะปฎิรูปการปกครองในปี ๒๕๑๙ บ่งบอกว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีความเป็นประชาธิปไตยเลยแม้แต่น้อย เนื่องมาจากหนึ่งกฏหมายนี้ถูกบัญญัติโดยกลุ่มคนที่กระทำรัฐประหารซึ่งเห็น ได้ชัดว่าเป็นการกระทำที่ผิดหลักประชาธิปไตย ไม่มีประเทศใดในโลกที่ยอมรับการยึดอำนาจของประชาชนเช่นนี้
๒. การแช่แข็งปัญหาเรื่อยมาของตัวกฎหมาย อันนำมาสู่การใช้ข้อหานี้มาโจมตีผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง เสมือนเป็นเครื่องมือเพื่อรับใช้ระบอบเก่า และสิ่งเหล่านี้ถูกทำให้รับรู้แต่เพียงวงแคบในสังคมทำให้กฎหมายนี้ถูกนำมา ใช้กลั่นแกล้งผู้ที่เห็นต่างอย่างไม่เป็นธรรม โดยในสภาพปัจจุบันที่ความคิดของผู้คนมีความหลากหลายจนเกิดการตั้งคำถามและ วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายหมิ่นฯ ยิ่งเป็นผลให้กฎหมายดังกล่าวถูกนำไปใช้ในการปิดหูปิดตาและปิดปากคนเหล่านี้ ยิ่งขึ้น อันเห็นได้จากสถิติการพิพากษาคดีด้วยมาตราดังกล่าวในรอบ ๕ ปีที่มีจำนวนสูงกว่า ๕๐๐ คดี
๓. ปัญหาความไร้เสถียรภาพ อันนำมาสู่ความอ่อนแอและความขลาดของระบบตุลาการในประเทศไทย เมื่อกระบวนการได้มาของตัวแทนประชาชนในการพิพากษาคดีไม่ได้มีความยึดโยงกับ ประชาชน จึงทำให้ระบบตุลาการถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือโดยกลุ่มคนเพียงบางกลุ่มที่ สถาปนาตัวเองให้มีอำนาจเหนือกว่าประชาชน สิ่งเหล่านี้ทำให้ระบบตุลาการไร้เสถียรภาพในด้านการบริหารงานของตัวผู้ พิพากษาที่จะพิจารณาคดีด้วยความโปร่งใส นำมาสู่ความอ่อนแอของตุลาการไทย ที่ไม่มีความกล้าในการทำให้คดีมีความโปร่งใสและยุติธรรม อันนำมาซึ่งการตีความของศาลที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล
๔. การละเลยหลักการประชาธิปไตยสากลของกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ เพราะองค์ประกอบของหลักประชาธิปไตยนั้นต้องประกอบไปด้วย หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หลักความเสมอภาค หลักสิทธิเสรีภาพ หลักนิติรัฐ และหลักการเสียงข้างมากแต่ต้องเคารพเสียงส่วนน้อย หลักการเหล่านี้เป็นหลักสากลที่มนุษย์ทุกคนพึงมี แต่กฎหมายหมิ่นฯมาตรา ๑๑๒ ได้ละเลยหลักการดังกล่าวไปอย่างสิ้นเชิง เห็นได้จากการกำหนดโทษของกฎหมายที่สูงเกินจริง และการตีความของกฎหมายที่มีลักษณะครอบจักรวาล อีกทั้งกระบวนการประกันตัวก็ยังครุมเครือและไม่เท่าเทียม
ด้วยสภาพ ปัญหาดังกล่าว ทางสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) จึงขอเสนอแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาและหาทางออกให้กับสังคมไทยเพื่อไม่ให้เกิด ความขัดแย้งอันนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดอย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วในประวัติ ศาสตร์ ดังนี้
๑. เราขอเรียกร้องให้มีการทบทวนและแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ อย่างจริงจัง ทั้งนี้การทบทวนและแก้ไขควรมีการทำประชาพิจารณ์จากภาคประชาสังคม และควรตั้งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยตัวแทนจากทางภาครัฐและภาคประชาชน โดยผู้ที่จะมาเป็นตัวแทนดังกล่าว ต้องมาจากการทำประชามติโดยประชาชนทั้งประเทศ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในกระบวนการทบทวนและแก้ไขกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศอันเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงใน สังคมไทย
๒. เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเร่งเร้าและผลักดันให้ปัญหานี้ออกสู่สาธารณะชน อย่างกว้างขวางโดยเร็ว เนื่องด้วยการกดขี่ของผู้ที่ใช้อำนาจนอกระบบยังดำเนินอยู่ในสังคมไทยอย่าง ไม่ลดละ ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชนอย่างรุนแรง การใช้กฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ มาโจมตีผู้ที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมืองนับวันยิ่งทวีเพิ่มมากขึ้น เราได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้และเห็นควรว่าถ้าปัญหาเหล่านี้ไม่ถูกเปิด เผยออกสู่สาธารณะโดยเร็ว ปัญหาเหล่านี้จะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจนยากเกินจะแก้ไขเยียวยา และอาจนำไปสู่การนองเลือดอย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์ไทยครั้ง แล้วครั้งเล่า การผลักดันปัญหาเหล่านี้ให้เป็นไปตามข้อที่หนึ่งจึงมีความจำเป็นยิ่ง เพื่อลดความขัดแย้งของสังคมไทยที่นับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น
๓. เราขอเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบตุลาการ โดยการทำให้ระบบตุลาการมีความยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งกระบวนการสรรหาและการตีความทางกฏหมายของระบบตุลาการต้องคำนึงหลักสิทธิ เสรีภาพสากล และต้องมีความโปร่งใสในการที่จะตรวจสอบได้อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมอีกทั้ง ต้องตั้งอยู่บนหลักนิติรัฐนิติธรรม มิใช่ตัดสินโดยใช้อคติส่วนตัวโดยไม่คำนึงถึงหลักสากล ทั้งนี้รวมไปถึงสิทธิการประกันตัว และสิทธิอื่นๆที่ผู้ต้องหาพึงได้รับ
๔. เราขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจ เปิดพื้นที่ทางความคิดเพื่ออภิปรายประเด็นปัญหาอันแหลมคมนี้อย่างกว้างขวาง ทั้งในสื่อ และวงการการศึกษากระแสหลัก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และตระหนักรู้ถึงปัญหา อีกทั้งยังจะช่วยให้เกิดการถกเถียงอภิปรายอย่างเป็นรูปธรรมในทางสาธารณะ มิใช่เอาแต่ปิดกั้นและริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน และขอให้เลิกการให้ข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียวอันจะนำไปสู่ความแตกแยกของ สังคมไทย การนำประเด็นปัญหาเหล่านี้ออกสู่สาธารณะจะเป็นการเปิดพื้นที่ทางความคิด เสริมสร้างการเรียนรู้ทางด้านสิทธิเสรีภาพและหน้าที่พลเมือง อันจะนำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจในการแก้ไขปัญหาในสังคมไทยอย่างแท้จริง
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่าปัญหาและข้อเสนอข้างต้นจะได้รับการพิจารณาจากทางภาครัฐ และภาคประชาชนทุกภาคส่วนต่างๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยอย่างจริงจัง และนำไปสู่เส้นทางแห่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มิใช่การการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิดอย่างที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน มิใช่การจำกัดสิทธิพลเมืองและไร้ซึ่งความโปร่งใสของกระบวนการยุติธรรม ความยุติธรรมที่ตั้งอยู่บนหลักสิทธิเสรีภาพสากลจะต้องบังเกิดในประเทศที่ อ้างว่าปกครองระบอบประชาธิปไตยเสียที
ด้วยจิตคารวะ
สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)