ที่มา uddred
ไทยรัฐ 24 กรกฎาคม 2555 >>>
ศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ จำคุก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 4 เดือนปรับ 2 พันบาท
แต่รอลงอาญา 1 ปี ฐานหมิ่นประมาท นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช
กรณีกล่าวหาจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง...
วันนี้ (24 ก.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 909 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก
ศาลนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่ นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช
อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
ส.ส.ประธิปัตย์ และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยที่
1-4 ในความผิดในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา
จากกรณีเมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2549 นายสุเทพ และนายองอาจ ได้ร่วมกันแถลงข่าว
ที่พรรคประชาธิปัตย์ โดยกล่าวในทำนองว่า พรรคไทยรักไทย ทุจริตการเลือกตั้ง
โดยจ้างพรรคเล็กลงสมัคร ทำให้พรรคไทยรักไทยได้รับความเสียหาย
โดยโจทก์นำสืบว่า นายสุเทพ จำเลยที่ 3 แถลงข่าวในที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์
ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ จำเลยที่ 1, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จำเลยที่ 2
และ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ จำเลย4 ต้องร่วมกันรับผิดฐานหมิ่นประมาทไปด้วย
อีกทั้งการที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยที่ 305/2550
ที่สั่งยุบพรรคไทยรักไทยนั้น ก็ไม่มีข้อความระบุถึงตัวโจทก์
ขณะที่นายสุเทพ จำเลยที่3 ต่อสู้คดีว่าไม่มีเจตนาใส่ความโจทก์ และจำเลยที่
1, 2 และ 4 ต่อสู้คดีว่า ไม่ได้มีการกระทำผิดตามฟ้องของโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การแถลงข่าวของจำเลยที่ 3
มิได้แต่งเรื่องราวอันเป็นเท็จ แต่ได้รับฟังมาจากนายชวการ โตสวัสดิ์
หนึ่งในผู้เดินทางมาพบผู้บริหารพรรคไทยรักไทย ว่า
ผู้บริหารพรรคไทยรักไทยและโจทก์
ร่วมกันส่งคนไปเลือกตั้งและให้เงินกับแก้ไขข้อมูลในคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ใช้อิทธิพลครอบงำบุคคลต่างๆ
โดย นายชวการ อ้างว่าได้ยินคำว่า "หมอมิ้ง" และ
"ให้เงินจ้างพรรคเล็กเข้าเลืองตั้ง" กับคำว่า "เป็นคนสายตรงกับหมอมิ้ง"
พร้อมกับนายชวการ ยอมให้จำเลยที่ 3
อัดภาพวีซีดีการให้ข้อมูลดังกล่าวไว้ด้วย
ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลย
ต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า
การแถลงข่าวของจำเลยที่ 3 ไม่น่าเชื่อว่า กระทำไปโดยสุจริตใจ
โดยสำคัญผิดหรือมูลเหตุอันควรเชื่อโดยสุจริตใจว่า
โจทก์มีส่วนร่วมกับการกระทำผิดของ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา
และนายพงศ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ตามคำกล่าวอ้างของ นายชวการ โตสวัสดิ์
แม้จำเลยที่ 3 มีสิทธิ์จะแถลงข่าวและแสดงความคิดเห็นได้
เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือที่จำเลยเกี่ยวข้องมีส่วนได้เสีย ตามครรลอง
แต่จำเลยที่ 3 ก็ต้องแถลงข้อเท็จจริงด้วยความระมัดระวัง และโดยสุจริตใจ
ไม่ให้เกิดความเสียหายแกผู้หนึ่งผู้ใด
โดยการกรองข่าวหรือวิเคราะห์ข่าวให้แน่นอนก่อนแถลงข่าวว่าข้อเท็จจริงเกี่ยว
กับโจทก์ เป็นดังคำกล่าวอ้างของ นายชวการ จริงหรือไม่
ทั้งจำเลยที่ 3 มีตำแหน่งเป็นถึงเลขาฯ พรรคการเมืองใหญ่
จึงต้องกระทำโดยความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น การกระทำของจำเลยที่ 3
ในการแถลงข่าวเกี่ยวกับโจทก์ว่า
ร่วมกระทำผิดในการจ้างผู้สมัครพรรคการเมืองขนาดเล็ก
ให้ลงแข่งขันกับพรรคไทยรักไทยและร่วมกันแก้ไขข้อมูลเพิ่มรายชื่อผู้สมัครลง
ในฐานข้อมูล ของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือ กกต. โดยทุจริต
ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
ถูกดูหมิ่นเกลียดชังว่าเป็นนักการเมืองที่กระทำผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
อันเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ โดยการโฆษณา
ส่วนปัญหาว่า พรรคประชาธิปัตย์ จำเลยที่ 1 นายอภิสิทธิ์ จำเลยที่ 2
และนายองอาจ จำเลยที่ 4 ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 3 ด้วยหรือไม่นั้น
เห็นว่าขณะจำเลยที่ 3 แถลงข่าว ที่พรรคประชาธิปัตย์ จำเลยที่ 1 นั้น
นายอภิสิทธิ์ จำเลยที่ 2 ในฐานะหัวหน้าพรรคไม่ได้นั่งแถลงข่าวด้วย
ขณะที่นายองอาจ จำเลยที่ 4 ในฐานะโฆษกพรรค นั่งอยู่ด้วย
แต่ไม่ได้ร่วมแถลงข่าวแต่อย่างใด พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นแน่ชัดว่า จำเลยทั้งสาม
ดังกล่าวมีส่วนร่วมกระทำผิดอย่างไร
ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นควรพิพากษาแก้ว่า จำเลย 3
มีความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.328
จำคุก 6 เดือน ปรับ 3 พันบาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 3
เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 4 เดือน ปรับ 2 พันบาท
โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 1 ปี และให้จำเลยที่ 3
ประกาศคำพิพากษาลงในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ไทยรัฐ และมติชน เป็นเวลา 3 วัน
ในหน้า 1 หรือหน้า 3 โดยให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด
นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น