ที่มา Voice TV
ข้อเสนอให้ตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญของนิติราษฎร์
เงียบหายไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งในหมู่มิตรและศัตรู ไม่ค่อยได้รับการขานรับ
ซึ่งทำให้กระแสต้านลดลงไปเช่นกัน
เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะข้อเสนอให้ตุลาการ 8 คน มาจากคณะรัฐมนตรี 3 คน รัฐสภา 3 คน วุฒิสภา 2 คน ถูกมองว่าจะกลายเป็นคนของรัฐบาลเสียหมด ทำให้แม้แต่นักคิดนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยก็ไม่ใคร่เห็นด้วย ซึ่งมองอีกแง่หนึ่งเป็นเรื่องดี แปลว่าเราไม่ได้คิดเอาชนะคะคานโดยไม่เลือกวิธีการอย่างพวกเขา
ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่านิติราษฎร์ต้องการเอาชนะคะคาน แต่ข้อเสนอที่ออกมาทำให้คนไม่เข้าใจว่าทำไมเอาแต่ฝ่ายการเมือง ซึ่งผมเห็นว่านิติราษฎร์มีจุดอ่อนในวิธีการนำเสนอ หรือพูดอีกอย่าง ไม่ทันคิดให้ดีว่าควรเสนออย่างไรให้สังคมยอมรับ
แต่ไม่ใช่ว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์อ่อนเหตุผลโดยสิ้นเชิง
นิติราษฎร์อาจพลาดที่ไม่สามารถสร้างความเข้าใจโดยทั่วกันว่านี่คือ “คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ” ในรัฐธรรมนูญ 2550 ในบริบทที่วุฒิสภากึ่งหนึ่งยังมาจากการลากตั้ง และองค์กรอิสระยังมาจากฝ่ายอำมาตย์ ปปช. กกต. ยังเป็นชุดเดิมที่แต่งตั้งโดย คมช. ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม ก็ยังไม่ได้ปฏิรูป
นิติราษฎร์ไม่ได้เสนอ “คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ” ในรัฐธรรมนูญที่จะยกร่างใหม่ ถ้ายกร่างใหม่ทั้งฉบับ ภายใต้โครงสร้างที่เป็นประชาธิปไตย นิติราษฎร์ก็จะเสนอรูปแบบ “ถาวร” อีกครั้ง
คณะตุลาการที่นิติราษฎร์เสนอเป็น “องค์กรเฉพาะกิจ” ที่ตั้งขึ้นมา “แก้ลำ” รัฐธรรมนูญอำมาตย์และองค์กรอำมาตย์ คณะตุลาการที่นิติราษฎร์เสนอ ไม่ใช่ตัวแทนเสียงข้างมากที่ปฏิเสธเสียงข้างน้อย ถ้ามองเพียงระบอบรัฐสภาอาจเป็นเช่นนั้น แต่ถ้ามองกลไกในรัฐธรรมนูญทั้งระบอบ คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญต่างหาก ที่จะเป็นเสียงข้างน้อย
สาเหตุที่ต้องเสนออย่างนี้ ก็เพราะพฤติกรรมของศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ถึงขีด “เหลือทน” ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหาในแง่คำวินิจฉัยที่อ่อนเหตุผล ไม่มีหลักทางกฎหมาย จนถูกเคลือบแคลงว่าเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง เช่น คดีเปิดพจนานุกรมตีความออหมักทำกับข้าว คดีแถลงการณ์ร่วมปราสาทพระวิหาร “อาจจะ” ทำให้เสียดินแดน หรือคดียุบพรรคพลังประชาชน ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์
แต่คดีล่าสุดที่ศาลรับคำร้องคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับว่าล้มล้าง การปกครองระบอบประชาธิปไตยตามมาตรา 68 แม้ผลออกมาไม่ยุบพรรค ไม่ร้ายแรงถึงขั้นเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ในทางนิติศาสตร์ ถือว่าร้ายแรงกว่าทุกคดี เพราะศาลได้ขยายอำนาจตัวเองเข้ามายับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล่วงล้ำอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ทั้งที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้อำนาจไว้ ตีความมาตรา 68 จน “และ” กลายเป็น “หรือ” และยังออก “คำเสนอแนะ” ว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ “ควรจะ” ลงประชามติ ทั้งที่ไม่ใช่ประเด็นของคดี และยังไม่ชัดเจนว่า ตุลาการได้ลงมติประเด็นนี้หรือไม่
จะเห็นได้ว่าข้อเสนอของนิติราษฎร์ไม่ใช่แค่ “ยุบศาลรัฐธรรมนูญ” หากให้ก่อตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญขึ้นวินิจฉัยคดีโดยไม่ต้อง ผูกพันกับแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ซึ่งแปลว่า คณะตุลาการสามารถวินิจฉัยใหม่ได้ว่า ตุลาการไม่มีอำนาจยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
คนกลางมีจริงหรือ
ผมอ่านข่าวข้อเสนอนิติราษฎร์ (ไม่ได้ไปฟังเองที่ธรรมศาสตร์) ก็รู้แล้วละว่ายาก เพราะทัศนคติสังคมไทยปฏิเสธนักการเมือง ไม่เว้นแม้แต่นักคิดนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตย
แน่นอน ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่กล้ารับข้อเสนอเพราะกลัวถูกมองว่าจะฮุบคณะตุลาการฯ
สมมตินิติราษฎร์เสนออีกอย่าง ให้มาจากมติคณะรัฐมนตรี 3 คนแต่กำหนดที่มาของการสรรหา เช่น มาจากที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศ มาจากสมัชชาคณาจารย์นิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ทั่วประเทศ ฯลฯ ในส่วนรัฐสภา ให้ประธานรัฐสภาเสนอชื่อ 1 คน ผู้นำฝ่ายค้าน 1 คน พรรคอื่นรวมกัน 1 คน มันก็คงเป็นข้อเสนอ “สวยหรู” ที่แม้จะกินไม่ได้แต่เท่
ในแง่ที่หนึ่ง มันผิดหลักการ ที่ประชุมอธิการบดี คณาจารย์ อะไรเทือกนั้น ไม่ใช่องค์กรที่เป็นผู้แทนปวงชน ไม่ได้รับมอบอำนาจจากปวงชน แม้แต่การบอกว่าประธานรัฐสภา 1 ผู้นำฝ่ายค้าน 1 ฟังเข้าท่าแต่ตลก เพราะเราต้องยึดตัวองค์กรคือรัฐสภา องค์กรที่นิติราษฎร์กำหนดไว้ได้แก่ รัฐบาล รัฐสภา วุฒิสภา ซึ่งเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติตามที่ได้รับมอบจากปวง ชน
อ.วรเจตน์บอกผมว่าทีแรกอยากให้รัฐสภาเลือกด้วยมติ 2 ใน 3 เพื่อให้ฝ่ายรัฐบาลต้อง “รอมชอม” กับฝ่ายค้าน แบ่งโควตากันหรือหาคนที่ยอมรับร่วมกัน แต่ด้วยบรรยากาศทางการเมืองปัจจุบัน ชาติหน้าตอนบ่ายๆ ก็คงตั้งคณะตุลาการไม่ได้ (อันนี้ผมว่าเอง 55) จึงต้องตัดใจโดยถือว่าอย่างน้อยฝ่ายค้านก็มีส่วนร่วมในกระบวนคัดสรร
คือถ้ารัฐบาลเสนอคนที่ย่ำแย่ ลำเอียง ประวัติไม่ดี ฝ่ายค้านก็มีสิทธิถลุงในที่ประชุมและในรายการ “สายล่อฟ้า”
ในอีกแง่หนึ่ง ที่บอกว่าเท่แต่กินไม่ได้ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงอย่าไปฝันหาความ “เป็นกลาง” ที่ประชุมอธิการบดีเอย คณบดีเอย ตุลาการเอย ทั้งสมัยทักษิณและสมัย คมช.ก็เห็นแล้วว่าหาความเป็นกลางยาก
เลิกคิดเสียเถอะว่าจะหา “เทวดา” ลอยลงมาจากสวรรค์ ไม่มีอคติ สุคติ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่มีบุญคุณความแค้น ทุกคนเป็นมนุษย์ที่อยู่ในสังคมสีเทามาตลอด
แนวคิดของนิติราษฎร์ขัดจริตสังคมไทย ตรงที่เห็นว่าไหนๆ ก็ไม่มีใครเป็นกลางแล้ว ก็ให้มันชัดเจนไปซะว่าตุลาการมีที่มาจากฝ่ายไหน แบบเดียวกับอเมริกา ที่ประธานาธิบดีเสนอชื่อศาลสูง แต่เมื่อเป็นแล้ว พรรคไหนเสนอชื่อคุณ ประชาชนรู้ทั้งประเทศ ถ้าคุณยังหน้าด้านหน้าทนวินิจฉัยอย่างไร้เหตุผล เพื่อเข้าข้างพรรคการเมืองหรือรัฐบาลที่เลือกมา ก็จะถูกประณาม ขับไล่ หรือยื่นถอดถอน
ซึ่งตามที่กล่าวแล้วว่าคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ อยู่ในบริบทของรัฐธรรมนูญ 2550 อำนาจถอดถอนยังอยู่กับวุฒิสภา ที่ลากตั้งเข้ามาเสียกึ่งหนึ่ง นั่นจะคานอำนาจกันอยู่ในตัว
แนวคิดของนิติราษฎร์เป็นแนวคิดใหม่ สวนกระแส บางคนรับไม่ได้ แต่ลองคิดกลับด้านดูว่า เวลาเราได้ตุลาการหรือกรรมการองค์กรอิสระมาจากกระบวนการที่อ้างว่า “เป็นกลาง” แล้ววินิจฉัยอย่างดันทุรังเนี่ย อะไรแย่กว่า ต้องไปเหนื่อยขุดคุ้ยว่าคนนั้นคนนี้เคยนิยมชมชอบพรรคการเมืองนี้ เคยมีหนี้บุญคุณมึความสัมพันธ์กับคนนี้ ฯลฯ
แต่ถ้าเห็นกันโต้งๆ ไปเลย สมมติรัฐบาลเสนอโภคิน พลกุล มาเป็นตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ โภคินก็ต้องระมัดระวังการวินิจฉัยลงความเห็น ถ้าจะวินิจฉัยให้รัฐบาลได้ประโยชน์ คุณก็ต้องมีเหตุผลเพียงพอ ถ้าวินิจฉัย 10 เรื่อง ให้รัฐบาล 10 เรื่องตะพึดตะพือ ก็เสียสุนัขสิครับ สังคมจับตาอยู่ คราวนี้ละ สมคิด เลิศไพฑูรย์ จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่ต้องเกรงใจว่าเป็นเจ้าภาพแต่งเมียให้ (เมียสมคิดเคยทำงานสำนักงานโภคินนะ จะบอกให้ เค้าไปปิ๊งกันที่นั่นแหละ)
แต่แน่นอน นี่เป็นทัศนะที่ต้องใช้เวลาอธิบายกับสังคม และยังต้องผ่านการถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ หาจุดที่เหมาะสม แต่นิติราษฎร์นำเสนอโดยไม่ได้ปูพื้นฐานความคิดไว้เพียงพอ จึงเป็นธรรมดาที่กระแสสังคมไม่ยอมรับ
ถ้ามองย้อนหลัง (ฉลาดหลังเหตุการณ์) ก็อาจทำให้คิดอีกแบบว่า นิติราษฎร์ไม่น่าเสนอที่มาและองค์ประกอบของตุลาการ 8 คน เพียงเสนอหลักการตั้ง “คณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ” ขึ้นแทนศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อล้างแนวคำวินิจฉัยเดิม เพื่อเป็น “องค์กรแก้ลำ” รัฐธรรมนูญอำมาตย์ โดยละเรื่องที่มาองค์ประกอบไว้ ใช้ถ้อยคำสวยหรูหน่อย เช่น เป็นธรรม เป็นกลาง มีที่มาจากทุกฝ่าย ฯลฯ ก็อาจได้รับการยอมรับมากกว่านี้
เพียงแต่ต้องมาคิดกันว่า ถ้าทำแบบนั้นเท่ากับนิติราษฎร์ล้ำเส้นจากข้อเสนอทางวิชาการไปสู่การ “เล่นเกมการเมือง” หรือไม่
การเมือง การตลาด
จิตวิทยาสังคม
ผมสนับสนุนนิติราษฎร์ให้ทำหน้าที่นักวิชาการโดยไม่คำนึงถึงเป้าหมายทางการ เมือง ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนกับนักวิชาการอีกข้าง ที่ต้องการบรรลุเป้าหมายโดยไม่คำนึงถึงวิธีการ บิดเบือนหลักนิติศาสตร์หลักรัฐศาสตร์ เพื่อรองรับขบวนเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ตนเองสนับสนุน
ผมยืนยันว่านิติราษฎร์จะต้องเสนอความเห็นโดยไม่คำนึงถึงเป้าหมายทางการเมือง ไม่คำนึงว่าใครจะได้ประโยชน์เสียประโยชน์ รวมทั้งไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงยุทธศาสตร์ยุทธวิธีจนเกินกรอบการทำหน้าที่นัก วิชาการ
ถ้าย้อนไปดูข้อเสนอ “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร” จะพบว่าเป็นข้อเสนอที่พร้อมสมบูรณ์ทั้งในแง่หลักวิชา โดนใจมวลชน และช็อกฝ่ายตรงข้าม ทั้งยังออกมาใน Timing ที่เหมาะสมคือ 5 ปีรัฐประหารและพรรคเพื่อไทยเพิ่งชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย
แน่นอน พรรคเพื่อไทยไม่ขานรับ แค่แบ่งรับแบ่งสู้ แล้วก็เงียบหายไป แต่มนต์ขลังของข้อเสนอทำให้นิติราษฎร์กลายเป็นผู้นำทางความคิดของมวลชน และเป็นที่เกลียดชังของฝ่ายตรงข้าม ความพยายามตอบโต้ยิ่งทำให้เห็นความอับจนของนักนิติศาสตร์ นักวิชาการ ผู้ฝักใฝ่ประชาธิปไตยแบบอำมาตย์
ครั้นนิติราษฎร์เสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ร่วมกับนักวิชาการสันติประชาธรรม และนักเขียนแสงสำนึก ก็เริ่มมีเสียงข้างน้อยในข้างเดียวกันออกมาวิจารณ์ “ความผิดพลาดของนิติราษฎร์” ว่าไม่คำนึงถึงประเด็นทางการเมือง และจัดลำดับความสำคัญผิด เพราะควรมุ่งไปที่การปฏิรูปศาล ปฏิรูปกองทัพก่อนจะมาแตะเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหว
ประเด็นที่พูดผมเข้าใจ แต่ไม่เห็นด้วย ผมเห็นด้วยกับนิติราษฎร์ รัฐบาลเพื่อไทยและ นปช.ก็กล่าวเช่นกันว่าควรมุ่งไปที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน แต่สถานการณ์ขณะนั้น คดีอากง SMS ทำให้การเคลื่อนไหวคัดค้าน ม.112 ขึ้นสู่กระแสสูง ในทางสากล องค์กรสิทธิมนุษยชนและรัฐบาลอารยะประเทศก็ออกมาแสดงความเห็น ไม่เสนอแก้ไขตอนนั้นจะไปเสนอแก้ไขเมื่อไหร่ แน่นอน เรารู้ว่าไม่มีทางสำเร็จ แต่นัยสำคัญของการเคลื่อนไหวคือให้การศึกษามวลชน ให้ความชัดเจนทางหลักวิชา ให้ความชัดเจนว่าอะไรคือเป้าหมาย เป้าหมายคือ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งในอีกด้านหนึ่ง ยังฟอกล้างแนวคิดสุดโต่งให้เข้ามาอยู่ในกรอบเดียวกันให้มากที่สุด
ส่วนตัวผมประเมินว่าการเคลื่อนไหวแก้ไข 112 ของนิติราษฎร์และ ครก.ได้ผลชัดเจนเชิงคุณภาพ เป็นการยกระดับเชิงเนื้อหาให้มวลชนประชาธิปไตย และยังทลายกำแพงปิดกั้น กระทั่ง 112 กลายเป็นเรื่องถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันโดยเสรี
ข้อเสนอ 112 มี “คนกลางๆ” บางส่วนเห็นว่านิติราษฎร์ไม่น่าทำร่างแก้ไข “แรงส์” ซะขนาดนั้น ควรทำข้อเสนอที่สังคมพอรับได้ เช่น ลดโทษ แก้ไขการบังคับใช้ หรือการติชมโดยสุจริตไม่ถือเป็นความผิดก็ยังพอรับได้ แต่ไปทำให้คนยิ่งไม่พอใจกับการแยกความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี องค์รัชทายาท ออกจากกัน หรือการเอาออกจากหมวดความมั่นคง ซึ่งเป็นเรื่องทางหลักวิชาซับซ้อน
แต่ผมก็ยืนยันว่า เฮ้ย นิติราษฎร์เป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์สอนกฎหมาย เมื่อจะเสนอแก้ไขกฎหมาย เขาก็ต้องทำให้ครบถ้วนถูกต้องตามหลักวิชาทุกประการ จะมาขยักไว้ 2-3 ข้อไม่ได้ แต่เสนอไปแล้ว สมมติฝ่ายการเมืองจะแก้ไข โดยแก้ไม่หมด เอาแค่ 1-2 ประเด็น มันก็เป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองที่มีหน้าที่พิจารณาความเหมาะสม พิจารณาว่าสังคมจะยอมรับได้แค่ไหน ขั้วอำนาจต่างๆ ยอมรับได้แค่ไหน
กระนั้นหากจะมีความผิดพลาดบ้าง ก็คือในการแถลงเนื้อหาแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ในสัปดาห์ถัดมา ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ กว้าง หนัก ต้องสร้างพื้นฐานความเข้าใจอีกระดับหนึ่ง อันที่จริงไม่น่าแถลงติดกัน (ผมเป็นนักข่าวการเมืองรายเดียวที่อยู่ในที่ประชุมครั้งแรก ก็ดันไม่ทักท้วง คิดไม่ถึง) พอเนื้อหาเยอะมากแล้วยกตัวอย่างรูปธรรมบางประการก็เกิด “จุดอ่อน” ที่ฝ่ายตรงข้ามนำไปโจมตี เช่น การให้พระมหากษัตริย์สาบานตนพิทักษ์รัฐธรรมนูญเมื่อขึ้นครองราชย์ หรือการให้คณะรัฐมนตรีเสนอชื่อประธานศาลฎีกาต่อรัฐสภา
นี่เป็นบทเรียนข้อแรก นิติราษฎร์ต้องคำนึงว่ามีฉลาม อนาคอนด้า ซอมบี้ เอเลียน เกรียน แมลงสาบ จ้องงับอยู่เต็มไปหมด ข้อเสนอเรื่องใดที่ต้องใช้เวลาอธิบายอย่างเป็นระบบ ไม่ควรหยิบยกขึ้นมาพูดผ่านๆ ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องพูด
ข้อเสนอใดที่เป็นเรื่องอ่อนไหว (เช่นสถาบันพระมหากษัตริย์) หรือสังคมมีทัศนคติในเชิงลบ (ต่อนักการเมือง) เมื่อเสนอต้องแจกแจงให้ชัดเจน อาจจะต้อง “อ่านทางข่าว” ว่า ASTV ไทยโพสต์ แนวหน้า ฯลฯ จะเอาไปพาดหัวโจมตีอย่างไร แล้วปิดช่องนั้นเสียแต่ต้น
ต้องเข้าใจสื่อนะครับ ถ้าพวกเขาตั้งธงได้แล้วละก็ ชี้แจงก็ว่าแก้ตัว ไม่พูดก็ว่ามีพิรุธหรือจนแต้ม ยิ้มเหมือนหลอก หยอกเหมือนขู่ ยังไงกรูก็จะเอาผิดเมริงให้ได้
เพื่อนผมรายหนึ่งเป็นนักการตลาด ไม่เหลืองไม่แดง เห็นด้วยกับข้อเสนอนิติราษฎร์หลายข้อ แต่ท้วงติงว่านิติราษฎร์ “ไร้เดียงสา” ผมเถียงคอเป็นเอ็นว่านักวิชาการก็ต้องเสนอตามหลักวิชา จะมามัวคำนึงถึงกระแสสังคมไม่ได้ แต่เพื่อนผมก็โต้ว่าในมุมมองของนักการตลาด ต้องรู้จักวิธี “เซลส์ไอเดีย” ให้เป็นที่ยอมรับ และต้องเข้าใจจิตวิทยาสังคม ว่าจังหวะไหนอะไรควรเสนอ อะไรไม่ควรเสนอ
ผมไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด แต่เก็บมาคิดก็รู้สึกว่า แน่นอนนิติราษฎร์ต้องยืนหยัดในความเป็นนักวิชาการ เสนอความเห็นโดยไม่คำนึงว่าใครจะได้ประโยชน์เสียประโยชน์ ไม่คำนึงถึงผลทางการเมืองว่าจะเป็นอย่างไร แต่ขณะเดียวกันก็ควรหวังผลของการเคลื่อนไหว หวังผลให้ประชาชนเข้าใจ เรียนรู้ และขานรับให้ได้มากที่สุด สลัดจุดอ่อนที่จะทำให้ถูกใส่ร้ายป้ายสี แม้บางครั้งเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกโจมตี และต้องท้าทายให้โจมตี บางเรื่องเลี่ยงได้ เลี่ยงไปก่อน แต่บางเรื่องจำเป็นต้องชนก็ต้องชน
นิติราษฎร์ไม่ต้องการ “เล่นเกมการเมือง” แต่มาถึงขั้นนี้ก็จำเป็นต้องยอมรับว่านิติราษฎร์เป็น “ผู้นำทางความคิด” ของมวลชนจำนวนมาก ซึ่งก็ถือเป็น “ผู้นำทางการเมือง” ดอย่างเลี่ยงไม่พ้น การเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยทาง “การเมือง” อย่างรอบคอบเช่นกัน
ที่จริงผมไม่จำเป็นต้องเขียนเรื่องนี้เพราะสามารถนั่งถกกับนิติราษฎร์ได้ เพียงแต่ผมมองว่านิติราษฎร์เป็นบุคคลสาธารณะของขบวนประชาธิปไตยไปแล้ว จึงเสนอประเด็นที่ควรช่วยกันขบคิด เสนอแนะ ปกป้อง สนับสนุน ให้การเคลื่อนไหวของนิติราษฎร์มีพลังสูงสุด ทะลุทะลวงประชาธิปไตยแบบอำมาตย์และตุลาการภิวัตน์
ข้อเสนอให้ตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ อาจเงียบหายไป ไม่เป็นไร สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะหลังจากศุกร์ 13 แล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกสกัดโดย “กระแสรักสงบ” ของสังคมไทย ซึ่งเป็นผลจากการวางหมากร้ายลึกของฝ่ายอำมาตย์ สร้างกระแสที่ดูเหมือนรุนแรง แต่หยุดในจุดที่ตัวเองได้อำนาจ โดยไม่ไปถึงจุดร้ายแรง ผู้คนทั่วไปถอนหายใจโล่งอก และหันมากดดันรัฐบาลทำนองว่าอย่าทำให้เกิดความวุ่นวายกันอีกเลย (ซึ่งก็เป็นธรรมดาของสังคมไทยที่ชอบลูบหน้าปะจมูก ซุกปัญหาไว้ใต้พรม)
ขนาดนั้นผลโพลล์ก็ยังระบุว่ามีคนตั้ง 26% เห็นด้วยกับนิติราษฎร์ ทั้งที่เป็นเรื่องเข้าใจยาก เป็นเรื่องใหม่มาก น่าพอใจอย่างยิ่งแล้วครับ แล้วค่อยผลักดันความคิดให้แพร่กระจายไปกว้างกว่านี้
ใบตองแห้ง
24 ก.ค.55
..............................................
24 กรกฎาคม 2555 เวลา 11:25 น.