ที่มา ประชาไท
Sat, 2012-07-28 04:43
รัฐธรรมนูญเป็นแก่นของประชาธิปไตย
ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ ขออนุญาตแสดงความรู้สึกและความเข้าใจที่เป็นพื้นฐานของการแสดงความคิดเห็น ดังนี้ ระบบประชาธิปไตยเป็นระบบที่มีสัญญาประชาคมเป็นหลักของทุกเรื่องในความ สัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์ต่อมนุษย์ มนุษย์ต่อชุมชน ชุมชนต่อชุมชน ภายใต้สิทธิและหน้าที่ โดยมีการมอบอำนาจรัฐให้กับ รัฐบาล สภานิติบัญญัติและศาลสถิตยุติธรรม ภายใต้ระบบแบ่งและคานอำนาจกัน
สัญญาประชาคมในระบบประชาธิปไตยมีได้ ดังนี้ คือ 1) รัฐธรรมนูญ 2) จารีตและวัฒนธรรมประชาธิปไตย 3) เจตนารมณ์ที่ผู้ได้รับมอบอำนาจที่ต้องทำและควรทำทั้งที่ประกาศเป็นการเฉพาะ กิจและกำหนดไว้ในกฎหมายต่าง
รัฐธรรมนูญโดยนัยยะแล้วเป็นสัญญาประชาคมที่เป็นลายลักษณ์อักษร ที่ครอบคลุมทุกมิติและทุกคน ดังนั้น รัฐธรรมนูญในเชิงอุดมคติแล้ว ก็คือ อุดมการณ์ของชาติหรือความเป็นชาติไทย ซึ่งต้องหลอมรวมทุกความคิดทุกมิติให้คนในชาติจนทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของ มิใช่”ในโลกประชาธิปไตยที่ไหนจะทำตามเสียงข้างน้อย การกระทำอะไรก็ต้องเป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่” ถ้าจะใช้หลักการนี้จริงๆรัฐธรรมนูญจะต้องอายุสั้นแน่นอน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงเสียงข้างมาก อุทาหรณ์ในเรื่องนี้ คือ ปัญหาเยาวชนเกือบครึ่งหนึ่งเกิดจากเสียงของขาใหญ่ที่เป็นพ่อแม่ที่ใช้เสียง ส่วนใหญ่ดูแลลูกโดยไม่ให้ลูกมีส่วนร่วมที่มากพอ
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญคำตอยอยู่ที่คำถามที่ทุกคนตอบ ได้ในใจว่า การแก้ไขครั้งนี้เป็นสัญญาประชาคมที่มีลักษณ์อุดมการณ์ของชาติหรือไม่? ข้อสรุปที่ผ่านวาระสองมีที่ยืนให้ทุกฝ่ายหรือไม่? สัญญาประชาคมที่เป็นอุดมการณ์ของชาติมีพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนแค่ ไหนเพียงไร?
จารีตและวัฒนธรรมประชาธิปไตย
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในขบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตลอดขบวนการที่เกิดขึ้นในรัฐสภาและศาลรัฐธรรมนูญ แม้ว่าจะมีความขรุขระไม่ราบรื่น เกิดข้อขัดแย้ง การวิวาทะในทุกระดับก็ตาม แต่ก็มีวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่มีความชัดเจนและถูกนำมาใช้ ซึ่งเป็นหลักและเป็นรากฐานในอนาคตได้ ดังนี้
1. การรับฟังกันมากขึ้น ที่เกิดขึ้นในรัฐสภา แม้ว่าการยอมรับข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะจะน้อมมากก็ตาม แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ซึ่งถ้าขบวนการอย่างนี้กลายเป็นวัฒนธรรมที่ต้องรับฟังแล้ว ขบวนการที่จะหลอมความเห็นที่แตกต่างจนทำให้ทุกฝ่ายมีที่ยืนในแต่ละเรื่อง “วันเสียงปืนแตกที่นครพนม” ก็จะเป็นอดีตที่ตายแล้งไม่มีวันฟื้นกลับมาในสังคมไทยอีก
2. ขบวนการคานอำนาจได้ทำงานในระบบแล้ว แม้ว่าการทำงานครั้งนี้จะสร้างความความคลางแคลงใจ ข้อสงสัย ความงุนงงก็ตาม แต่สิ่งที่ควรดีใจก็ คือ ระบบการคานอำนาจในระบบประชาธิปไตยได้เริ่มขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรให้กำลังใจเหมือนกับเด็กที่ตั้งไข่ ความเชื่อโดยบริสุทธิใจ (ไม่ใช่เห็นด้วยกับสาระของการตัดสินใจ) ถ้าวัฒนธรรมการคานอำนาจนี้แข็งแรงขึ้นเหมือนกับความเชื่อของทหารปืนใหญ่ ที่เชื่อว่าการยิงปืนใหญ่นัดต่อไปผลจะดีขึ้นเรื่อยๆหรือเข้าเป้า จากการประสานงานกับทหารที่ตรวจการณ์หน้า
ประเด็นพื้นฐานที่ต้องยอมรับกันในเบื้องต้น คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ใช่สัญญาประชาคมที่มีลักษณ์อุดมการณ์ชาติ จากปรากฏการณ์ที่มีอีกฝ่ายที่ยอมไม่ได้ โดยใช้ทุกวิธีที่จะยับยั้งหรือชลอขบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการมีศาลรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่คนกลาง จึงเป็นระบบที่น่าจะเหมาะสมและดีที่สุด แต่การจะทำหน้าที่ดีที่สุดหรือไม่เป็นเรื่องที่สังคม ทั้งสังคมจะเพาะบ่มทั้งคนที่จะมาทำหน้าที่และสร้างระบบในเชิงวัฒนธรรมขึ้นมา แต่อย่างไรก็ตามทุกอย่างในโลกก็ยังอยู่ภายใต้กฎของความอนิจจัง ที่อาจจะมีบางช่วงเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญรุ่งเรืองแล้วตกต่ำ
อย่างไรก็ตามการทำหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญในกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้ง นี้ ตุลาการได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ในระดับปุถุชนพึงกระทำ ทำให้เกิด “อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน แม้องค์ปฏิมายั้งราคิน มนุษย์เดินดินหรือจะพ้นคนนินทา”
ประชาธิปไตยของไทยผ่านการเวลามา 80 ปี มีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 18 ฉบับ ยังคงมีความต้องการรัฐธรรมนูญใหม่อีกเนืองๆ ในบางมุมอาจจะต้องถามตัวเองว่า มีบางคนที่ต้องการใช้รัฐธรรมนูญเป็นอนุสาวรีย์หรือเปล่า? หรือเราต้องการรัฐธรรมนูญที่เป็นสัญญาประชาคมอย่างแท้จริง? ผลที่เกิดทุกวันนี้เป็นไปดั่ง “ปลูกถั่วได้ถั่ว ปลูกงาได้งา” ท้ายที่สุดต้นประชาธิปไตยตรงไหนมีปัญหาก็แก้ปัญหาตรงนั้น การเปลี่ยนต้นประชาธิปไตยบ่อยครั้ง วงปีของต้นประชาธิปไตยจะเพิ่มขึ้นได้อย่างไร?