ที่มา ประชาไท
Tue, 2012-09-11 19:27
กสทช. จัดเวที วอยซ์ทีวี-เอเอสทีวี-บลูสกาย-เอเชียอัพเดท
พร้อมนักวิชาการ-สื่อต่างประเทศ-ผู้บริโภค
คุยมุมมองเรื่องการกำกับดูแลกันเองของ "สื่อการเมือง"
(11 ก.ย.55) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์
และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดเสวนาไตรภาคี ครั้งที่ 3 หัวข้อ
“จรรยาบรรณสื่อกับการพัฒนาการเมืองไทย” ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท
เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าวโดยมีคนทำสื่อ นักวิชาการ และผู้บริโภคเข้าร่วม
รมิดา จรินทิพย์พิทักษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแลตนเอง กสทช.
เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงร่างกรอบจรรยาบรรณพื้นฐานของวิชาชีพสื่อ 7 ข้อ
ว่าได้แก่ หลักจริยธรรม หลักความเป็นอิสระ หลักสิทธิมนุษยชน
หลักความทั่วถึง หลักความหลากหลาย ทั้งแง่เนื้อหารายงานและกลุ่มเป้าหมาย
หลักความถูกต้องเที่ยงตรง และหลักความไม่ลำเอียง ไม่ใส่ร้ายป้ายสี
ไม่ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง และเปิดพื้นที่ให้ชี้แจง
พิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กล่าวว่า สื่อถือเป็นสินค้าสาธารณะหรือสินค้าคุณธรรม
ซึ่งมีผลต่ออุดมการณ์ความคิดของคนในสังคม สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการจากสื่อ
คือ ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ดราม่า รู้ทันกลุ่มการเมือง กลุ่มอำนาจ กลุ่มทุน
กลุ่มอำมาตย์ทั้งใหม่และเก่า แม้หลายครั้งในการร่วมเวทีกับสื่อ
สื่อมักบอกว่าผู้บริโภคต้องเท่าทันสื่อ
แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าผู้บริโภคมีงานส่วนตัวที่ต้องทำ
ไม่ได้มีหน้าที่หาความจริง ค้นหาข้อมูลข่าวสาร การจะรู้เท่าทันสื่อคงยาก
อยากให้สื่อทันกลุ่มอำนาจมากกว่า
ในด้านความถูกต้องเที่ยงตรง ในข่าวการเมืองนั้น
เมื่อนักข่าวลงพื้นที่จะมีการเล่าเรื่อง มุมกล้อง
ซึ่งมีอัตวิสัยเป็นปกติอยู่แล้ว จากงานวิจัยของตนเองพบว่า
สำนักข่าวต่างประเทศ ไม่ว่าบีบีซี ซีเอ็นเอ็น
ก็มีความเห็นส่วนบุคคลอยู่บ้าง แต่จะเห็นว่าสื่อที่ไม่ได้อยู่บนกลไกตลาด
เช่น บีบีซี การแบ่งพื้นที่ของสื่อจะเท่ากัน
ด้านองค์กรกำกับดูแลสื่อ
ต้องมีจุดยืนเชิงนโยบายว่าจะให้สื่อเป็นตลาดทางความคิด
ให้ผู้บริโภคมีทางเลือก หรือจะเป็นสินค้าคุณธรรม
ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออุดมการณ์ ทั้งนี้
อยากให้เน้นการกำกับข่าวการเมืองช่วงการเลือกตั้ง เพราะระยะเวลาสั้นๆ
ในช่วงหาเสียงนั้นสำคัญ และการเมืองหลายครั้งเป็นอารมณ์
หากเสนอข่าวเลือกข้างหรือดราม่า จะมีผลต่อการจูงใจคน
อันจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเลือกตั้ง
ซึ่งจะส่งผลต่อโครงสร้างอำนาจในอนาคต
ทั้งนี้ พิจิตรา เรียกร้องต่อสื่อสามข้อ ได้แก่ หนึ่ง
ขอให้เคารพข้อมูลส่วนตัว หรือสิทธิมนุษยชนของคนที่เป็นข่าว สอง ระวัง hate
speech ข้อมูลที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง ความแตกแยก และ สาม
สื่อไม่ควรทำตัวเป็นศูนย์โฆษณาชวนเชื่อ ไม่ควรเป็นเอเย่นต์ของกลุ่มอำนาจใด
เพราะถือว่าให้พื้นที่สาธารณะแก่สื่อแล้ว
ก็อยากให้สื่อให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงกลับมา โดยถ้าสื่อทำได้
ประเทศไทยจะมีความหวังมากขึ้น
สมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทีวีสาธารณะ
ระบุว่า ที่ผ่านมา มีความเหลื่อมล้ำด้านข้อมูลข่าวสาร
ทำให้มีการก่อตั้งสื่อขึ้นมากมาย ทั้งก่อนและหลังรัฐประหาร 19 ก.ย.49
เกิดสื่อเฉพาะกิจหรือสื่อการเมืองจำนวนมาก
เนื่องมาจากมีผู้ใช้อำนาจการเมืองและเศรษฐกิจควบคุมข้อมูลข่าวสารให้เป็นไป
ในทางที่ต้องการ จึงเกิดการเปิดสื่อใหม่ๆ ผ่านเทคโนโลยีใหม่ เช่น ดาวเทียม
วิทยุชุมชน
อย่างไรก็ตาม เขาตั้งคำถามว่า การเกิดขึ้นของสื่อจำนวนมาก
แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของข่าวสารจริงหรือไม่ โดยส่วนตัวมองว่าเมื่อเกิดมาก
กลับมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เกิดการจูงใจ ใช้เป็นกระบอกเสียงการเมือง
ทำให้เกิดปัญหา เพราะไม่ได้ใช้หลักวิชาชีพสื่อมาเทียบเคียง สื่อต่างๆ
มีภารกิจเฉพาะกิจของตัว เพื่อสร้างคะแนนนิยมหรือกำหนดทิศทางการเมือง
มีการใช้กลยุทธ์ต่างๆ สร้างคะแนนนิยม และมองว่าบางครั้ง
แม้ว่าคนทำสื่อเลือกข้างจะมีความเป็นวิชาชีพสื่อ
แต่ก็ไม่กล้าใช้ฝีมือวิชาชีพเพราะจะกระทบจิตใจผู้ติดตามสื่อ
สำหรับเสรีภาพสื่อ เสนอว่า รัฐไม่ยุ่งจะดีที่สุด
ควรปล่อยให้สื่อสามารถดูแลกันเอง กำกับกันเอง อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมา
ดูเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์จะเห็นว่าคุมกันไม่ได้ผล
ในต่างประเทศเองก็ไม่สามารถควบคุมดูแลกันเองได้ เช่น กรณี News of the
World ของอังกฤษ
ซึ่งมีคณะกรรมการไต่สวนเรื่องการได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารที่ผิดจรรรยาบรรณ
และความเกี่ยวข้องกับนักการเมือง โดยมีการเสนอให้ภาครัฐมาร่วมกำกับ
แต่ก็มีการสะท้อนจากทั้งสื่อและนักการเมืองบางส่วนว่าไม่เห็นด้วย
ขณะที่สื่อวิทยุโทรทัศน์ของอังกฤษ มีการกำกับดูแลมากกว่า
เพราะถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรสาธารณะมาทำสื่อ มีองค์กรคล้าย กสทช.กำกับ
ครั้งหนึ่งในลอนดอน ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มีดีเจวิทยุ
สนับสนุนผู้สมัครคนหนึ่ง คณะกรรมการกำกับดูแลมีมติว่า
ดีเจไม่ได้ปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อ
ดีเจคนดังกล่าวจึงถูกเจ้าของสถานีลงโทษ
สมชัย กล่าวว่า จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ดูเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ของไทย
ยังดูแลกันเองไม่ได้ผล การกำกับดูแลนั้น
อาจต้องมีองค์กรอะไรมาผสมเพื่อให้กำกับได้หรือไม่ นอกจากนี้ ฝากถึงคำถามถึง
กสทช.ด้วยว่า จะกำกับสื่อค่ายการเมืองและสื่อค่ายศาสนา
ที่มีอิทธิพลควบคุมความคิดคนอย่างไรด้วย
จอม เพชรประดับ ผู้สื่อข่าวอิสระ วอยซ์ทีวี มองว่า สิบปีที่ผ่านมา
ภาวะทำสื่อของเมืองไทย ตกต่ำ วิกฤต และเลวร้ายที่สุด ก่อน 19 ก.ย.49
เห็นการทำข่าวที่ตรวจสอบท้วงติงอย่างเป็นระบบ แต่หลัง19 ก.ย.
ไม่เห็นสิ่งเหล่านั้นแล้ว
จอม กล่าวว่า สื่อรู้ทันทุนอยู่แล้ว
แต่สื่อเองก็กลัวที่จะหลุดจากวิชาชีพ ไม่สามารถอยู่ได้ในพื้นที่
แทนการรู้ทันท้วงติงตามวิชาชีพ กลับต้องดูแลปกป้องทุนที่ช่วยเหลือตัวเอง
ทั้งนี้ มองว่า สื่อที่ถูกมองว่าเลือกข้างแล้ว การจะยืนบนจริยธรรมยากมาก
เพราะมีมวลชน-แฟนคลับที่อยากฟังด้านเดียว เช่น กรณีวอยซ์ทีวี
หลายครั้งพยายามสร้างสมดุล สร้างความแตกต่าง วิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง ฝั่งแดง
หรือรัฐบาล พบว่าเป็นเรื่องยาก
เรื่องของจรรยาบรรณเป็นสิ่งที่พยายามพูดกัน แต่ปฏิบัติจริงไม่ได้
กลไกการตรวจสอบมี แต่ก็จะเห็นว่า
แม้แต่หนังสือพิมพ์ที่มีระบบชัดเจนมานานก็ยังตรวจสอบไม่ได้
เพราะจิตสำนึกคนทำสื่อไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะอย่างจริงจัง
แต่คำนึงถึงการอยู่รอดและสถานะส่วนตัว
จอม กล่าวว่า เรามีคนทำข่าวการเมืองที่มีคุณภาพเยอะ แต่ก็เลี่ยงไม่ทำกัน
เพราะพูดไปแล้วอยู่ไม่ได้ หรือช่องไม่ยอม จึงหันมาเล่นเชิงดราม่า
อาชญากรรม หรือเล่นกับคนที่ไม่มีอำนาจแทน เช่น ศิลปิน ดารา
เขาตั้งคำถามว่า
คนทำข่าวคิดหรือยังว่าจะเปลี่ยนผ่านโดยไม่ฆ่ากันได้อย่างไร
ในขณะที่ความรู้สึกของคนไทยทุกวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว
พวกเขาไม่เชื่อในอำนาจรัฐ หรืออำนาจเดิมที่มีอยู่
เช่นนี้เราจะเปลี่ยนความคิดหลากหลายไปสู่การสร้างประเทศที่มั่นคงได้อย่างไร
เรากำลังต่อสู้ทางความคิด ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมเป็นส่วนหนึ่ง
แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ การต่อสู้ทางความคิดในสื่อทุกแขนง ทั้งนี้
ไม่ต้องการให้เกิดสงครามการเมืองอีก
คนทำข่าวการเมืองจะต้องสังวรณ์เรื่องนี้ให้มาก
ด้านการกำกับดูแล ไม่อยากให้คนทำสื่อมาตั้งองค์กรดูแลกันเอง
เพราะเมื่อกระทบประโยชน์กันจะไม่แตะกัน
แต่ควรให้ประชาชนตั้งและบอกว่าอยากเห็นสื่อเป็นอย่างไร นอกจากนี้ การที่
กสทช.จะมากำกับเองนั้นมองว่าไม่ถูกต้อง เพราะยังถือเป็นองค์กรรัฐ
แต่อาจทำหน้าที่หนุนองค์กรอิสระที่มีหลายภาคส่วน มาตรวจสอบน่าจะดีกว่า
สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า
ข้อแตกต่างของสื่อปัจจุบันกับสิปีก่อน แบ่งได้เป็น 4 ข้อ หนึ่ง
เกิดความขัดแย้งทางการเมือง เกิดสื่อหลายฝ่าย ประกาศตัวเองเลือกข้างชัดเจน
มีความหลากหลาย สอง ประชาชนเป็นสื่อเองได้
ในแง่การเข้าถึงพื้นที่อินเทอร์เน็ต วิทยุชุมชน เคเบิล ดาวเทียม ต้นทุนลดลง
ทำให้ทางเลือกและพลังการเข้าถึง-กระจายความเห็น มากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
โลกของสื่อใหม่ เส้นแบ่งระหว่างสื่ออาชีพและมือสมัครเล่นแยกกันยาก
ยกตัวอย่างว่า เมื่อเปิดสื่อออนไลน์มา เรามีทั้งข้อความจากนักข่าวสนาม
จากเพื่อน จากการแลกเปลี่ยนความเห็น ในพื้นที่เดียวกัน สาม มี กสทช.
ซึ่งแบกความคาดหวัง ว่าจะมีบทบาทในการทำให้เกิดสถานการณ์ที่ดีขึ้น
ทั้งสามข้อนำไปสู่ สี่ การเรียกร้องจริยธรรมสื่อ
เสนอตัวอย่างของวิชาชีพบัญชี ที่มีสภาวิชาชีพบัญชี
ซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าวางมาตรฐานและยกระดับวิชาชีพ
มีการบังคับใช้ที่เท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ เช่น
ร้องเรียนเรื่องการฟอกเงิน มีกลไกตรวจสอบกันเอง เรียกสอบสวน
มีการลงโทษตั้งแต่ภาคทัณฑ์ไปจนถึงการยึดใบอนุญาต
ในด้านกรอบจริยธรรม เมื่อยอมรับว่ามีสื่อเลือกข้าง
ตั้งคำถามว่าเลือกข้างอย่างเป็นมืออาชีพได้หรือไม่
จะบอกได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่สื่อกลายเป็นโฆษณาชวนเชื่อ
และนักข่าว-สมาคมนักข่าว จะว่าอย่างไร ถ้าไม่มีการแก้ไข
กสทช.จะช่วยกำกับได้หรือไม่ ถ้ามีการเอาอุดมการณ์การเมืองมายั่วยุ
ให้แตกแยก จะมีกลไกจัดการอย่างไร
สฤณี กล่าวว่า โดยสรุป โจทย์ใหญ่ของ กสทช. คือ หนึ่ง
สร้างความเข้าใจตรงกันว่ามาตรฐานขั้นต่ำจรรยาบรรณสื่อไทยอยู่ตรงไหน
เพราะปัจจุบันสับสนมาก สอง สร้างกลไกให้ความเชื่อมั่นกับประชาชนว่า
ไม่ทำตามมาตรฐานแล้วจะเกิดอะไรขึ้น
ฝากสื่อมวลชนว่าไม่อยากเห็นการแบ่งแยกว่า
เป็นมืออาชีพแล้วไม่สนใจว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร
เหมือนแพทย์ประกอบโรคศิลป์ที่ทำหน้าที่ของตัวเองแต่สนใจไม่จัดการกับหมอ
เถื่อน ก็จะกระทบกับทั้งวงการ
อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า
จริยธรรมของผู้ประกอบการและนักวิชาชีพนั้นต่างกัน
อาจต้องมีกติกาในองค์กรระหว่างผู้มีอำนาจในการคุมเนื้อหากับฝ่ายวิชาชีพที่
ทำหน้าที่ปฏิบัติงาน ไม่อย่างนั้น จริยธรรมของนักวิชาชีพจะถูกคอร์รัป
แล้วต่อไปสังคมจะไม่เหลือคนที่พูดอะไรเที่ยงตรง แทนความคิดที่หลากหลาย
พูดความจริง จะมีแต่สื่อที่ตีกรอบให้เข้าแนวคิดของตัวเอง
ทั้งนี้ ในการกำกับจริยธรรมนั้น อาจเป็นในรูปแบบไตรภาคี หรือมีวิธีใหม่ๆ
เพื่อถ่วงดุลในองค์กรระหว่างห้องข่าวกับผู้บริหาร
หรือให้มีการเตือนผู้บริโภคเป็นระยะๆ ว่าสื่อนั้นๆ
เลือกข้างไหนเพื่อให้ผู้บริโภคถ่วงดุลด้วยตัวเองได้
เพราะแม้ว่าผู้บริโภคจะรู้อยู่แล้ว แต่อาจมีแฟนคลับใหม่เข้ามาติดตาม
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ASTV
อ้างถึงผลสำรวจเอแบคโพลล์ที่บอกว่า ประชาชนกว่า 60%
รับได้กับการคอร์รัปชั่น โดยคนอายุน้อยมีแนวโน้มยอมรับได้มาก
แสดงถึงความล้มเหลวรวมหมู่ ซึ่งสื่อปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้
เพราะสื่อเป็นอย่างไร ประชาชนเป็นอย่างนั้น นอกจากนี้ จากการที่ ดุสิต
นนทนาคร อดีตประธานหอการค้าไทย เคยบอกว่า การเรียกสินบนเมื่อปี 54
เพิ่มขึ้น 50% จะเห็นว่า สื่อถูกดึงเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมือง
ทำให้อิสรภาพสื่อถูกลิดรอนและหายไป
ทั้งนี้ ปานเทพ มองว่า ถ้าให้สื่อรู้ทันนักการเมือง
กสทช.ต้องรู้ทันทุนและนักการเมืองด้วย
เพราะถ้าตั้งโจทย์ผิดกลายเป็นเครื่องมือฝ่ายทุน สำหรับ
เอเอสทีวีตรวจสอบรัฐบาลทุกยุค ประท้วงทุกรัฐบาล ทั้งทักษิณ สุรยุทธ์ สมัคร
สมชาย ไม่เว้นแม้อภิสิทธิ์ ได้พิสูจน์บางอย่างโดยเห็นว่า
เมื่อเริ่มตรวจสอบประชาธิปัตย์ทุนจะหายไป เมื่อตรวจสอบยิ่งลักษณ์
ยิ่งไม่มีใครกล้าลงโฆษณา
สำหรับไทยพีบีเอสอาจไม่ต้องกังวลเรื่องทุนทางการเมืองกลั่นแกล้ง
แต่แคบไปเพียงโทรทัศน์หนึ่งช่อง ปัจจุบันมีสื่อที่สร้างสรรค์ เฟซบุ๊ก บล็อก
นำเสนอได้ก้าวหน้ากว่ากระแสหลัก ทั้งหมดเพราะสื่อหลักไม่ทำงาน ถ้าฟรีทีวี
วิทยุ มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาอะไรให้ชาติ จะไม่มาถึงขนาดนี้
ถ้าเปิดพื้นที่จริง ไม่จำเป็นต้องมีสื่อทางเลือก
สื่อทางเลือกล้วนมีทุนหนุนหลัง
ตั้งคำถามว่าสื่อเหล่านี้จะตรวจสอบคอร์รัปชั่นในทุนของตัวเองได้อย่างไร
ทั้งนี้ยังไม่คิดว่าสื่อที่เลือกข้างที่มีทุนทางการเมืองจะดูแลกันเองได้
การตั้งคณะกรรมการกันเองจะทำไม่ได้ เพราะจะเกรงใจกันและไม่ปฏิบัติตาม
จนต้องออกมาตรการบังคับ ซึ่งจะกระทบสิทธิเสรีภาพ ทั้งนี้
ในการกำกับกันเองนั้น เสนอว่า
ควรแยกสื่อเพื่อนักการเมืองไว้เป็นอีกหนึ่งหมวด
และควรให้พื้นที่สื่อแต่ละพรรคเท่าเทียมกัน โดยนอกจากการดูแลกันเอง
อาจต้องมี กกต. กำกับด้วย
ปานเทพ กล่าวด้วยว่า โจทย์สำคัญปัจจุบันคือ เรายังแยกไม่ออกระหว่างสื่อกับเครื่องมือของทุนและนักการเมือง
วิทเยนทร์ มุตตามระ ตัวแทนจากบลูสกายแชนแนล กล่าวว่า
คนมองว่าการเกิดขึ้นของสื่อจำนวนมาก มีจุดเปลี่ยนที่การรัฐประหาร แต่จริงๆ
แล้วเกิดก่อนหน้านั้น เพราะเสรีภาพที่ถูกจำกัดในช่วงปี 47-48 คน
คนเห็นต่างจากรัฐบาล ถูกถอดรายการ เช่น สนธิ ลิ้มทองกุล เจิมศักดิ์
ปิ่นทอง ต้องหาช่องทางแสดงความคิด โชคดีที่มีเทคโนโลยี ดาวเทียม วิทยุชุมชน
จนพอมาในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ คนก็ติกันว่ารัฐบาลไม่ทำอะไร
ทำให้เกิดสื่อดาวเทียม วิทยุชุมชนเป็นปัญหาขึ้น
สำหรับบลูสกายแชนแนลนั้น ก่อตั้งเมื่อตุลาคม 54
แต่มีปัญหาเรื่องการออกอากาศมาตลอด แม้จะมีการเซ็นสัญญาแล้วก็ตาม
จนมาได้ออกอากาศเมื่อ 1 ก.พ.ปีนี้ นอกจากนี้
อาคารที่เช่าก็ถูกเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าไปดูสัญญาเช่า เอกสารชำระเงินถึง 2
ครั้งในหนึ่งเดือน ถามไปยัง กสทช.ว่านี่คือการคุกคามเสรีภาพใช่หรือไม่
สำหรับแนวทางปฏิบัติในการดูแลกันเอง ขอให้มีทั้งการกำกับและส่งเสริม
บังคับปฏิบัติใช้กันเสมอหน้า ส่งเสริมค่านิยมที่ถูกให้กับสังคม เช่น
ต่อต้านค่านิยมเรื่องคอร์รัปชั่น และส่งเสริมคนที่ปฏิบัติได้ตามกรอบ
ให้ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ถูกคุกคามในการนำเสนอ เช่น
ผู้ประกาศบลูสกายบางคนถูกถอดจากช่องอื่นๆ ที่ทำอยู่
บูรพา เล็กล้วนงาม ตัวแทนจากเอเชียอัพเดท กล่าวว่า
เมื่อพูดถึงจรรยาบรรณสื่อ ต้องพิจารณาก่อนว่า สื่อคืออะไร ส่วนตัวมองว่า
สื่อมวลชน คือ สื่อของมวลชน ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
โดยลัทธิที่เหมาะกับมวลชนคือประชาธิปไตย ซึ่งเคารพสิทธิเสรีภาพ ดังนั้น
สื่อจึงต้องมีประชาธิปไตยและประชาชนเป็นผู้กำกับ
สำหรับการกำกับดูแลกันเองของสื่อนั้น กสทช.อาจเป็นตัวกลาง
เชิญสื่อมาออกทีวี ตั้งประเด็นว่าการเสนอข่าวแบบนี้ สื่อถึงอะไร
ทำไมจึงเสนอแบบนั้น หรือในวาระครบหกปีการรัฐประหาร
ก็ให้บอกจุดยืนของสื่อแต่ละแห่ง ทำเช่นนี้ เดือนละครั้ง
เพื่อคนจะทราบจุดยืนและถือเป็นการตรวจสอบกันไปมา
แพทริก วินน์ กรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) และผู้สื่อข่าวอาวุโส เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Global Post
กล่าวว่า สื่อการเมืองไทยไม่ใช่แค่เลือกข้าง
แต่มีส่วนกับการเคลื่อนไหวบนถนน คนดูก็รู้ว่าใครเป็นสีอะไร
ซึ่งก็ดีที่จริงใจและยอมรับว่าเป็นสื่อเลือกข้าง ทั้งนี้ มองว่า
อคติแบบที่เป็นอันตรายต่อเมืองไทยกว่า คืออคติต่อนายทุนและผู้มีอำนาจ เช่น
ถ้าผู้มีอำนาจไม่แถลงข่าวก็ประหนึ่งว่าเรื่องนั้นไม่เคยเกิดขึ้น
เขากล่าวว่า ข้อควรรระวังในการนำเสนอคือ การรายงานแบบอ้างคำพูดโดยตรง
เพราะอาจได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน เท็จ หรือตกเป็นเครื่องมือ
โดยควรมีแหล่งน้อยอย่างน้อย 3 แหล่ง หรือ 2-3 มุมมองในเรื่อง
เพื่อมุมมองที่รอบด้าน นอกจากนี้
ส่วนตัวจะไม่เดินทางแบบที่มีสปอนเซอร์จัดให้
เพราะมองว่าจะได้เห็นแต่สิ่งที่เขาอยากให้เห็น และไม่ค่อยเห็นคนที่ไป
วิจารณ์คนจัดทริปเท่าใด รวมถึงไม่ควรเสนอข่าวลือของนักการเมือง
เพราะแม้จะมีเนื้อหาน่าตื่นเต้นมาก แต่พอนักข่าวไม่เจาะลึก-ตรวจสอบ
คนก็จะไม่รู้ว่าเรื่องนั้นๆ จริงไหม
แม้จะมีการเกิดขึ้นของสื่อพลเมืองจำนวนมาก อยู่ในที่ต่างๆ
ที่นักข่าวอาจไม่ได้อยู่ อัพเดทได้ปัจจุบันทันด่วน และนำมาใช้ได้ฟรี เช่น
ทวิตเตอร์ของมอเตอร์ไซค์รับจ้างคนหนึ่ง
ซึ่งถ่ายคลิปเหตุการณ์ระเบิดที่สุขุมวิท แต่นักข่าวอาชีพควรมีอยู่ต่อไป
เพราะการทำข่าววันต่อวันต้องใช้เวลาสูง มอเตอร์ไซค์รับจ้างคงไม่ไปรอนายกฯ
ที่ทำเนียบเพื่อถามถึงนโยบายจำนำข้าว เพราะไม่ใช่เรื่องสนุกของคนส่วนใหญ่
ดังนั้น
ตราบใดที่คนในสังคมยังไม่เห็นว่าเรื่องเหล่านี้สนุกต้องมีนักข่าวต่อไป
เขากล่าวว่า หวังว่า กสทช.จะเน้นการปกป้องนักข่าวจากผู้มีอิทธิพลในสังคม
ไม่ใช่ปกป้องผู้มีอิทธิพลจากการเป็นข่า
ทั้งนี้หากรัฐบาลอยากกำกับควบคุมสื่อจะนำสู่การลงโทษซึ่งไม่ใช่หนทางที่ดี
ควรให้ดูแลกันเอง เราไม่สามารถเซ็นเซอร์ได้อีกแล้ว ทันทีที่ปิดวิทยุชุมชน
ดาวเทียม จะขึ้นมาอีกในรูปอินเทอร์เน็ต คนจะกระหายข้อมูลเหล่านั้น
ไม่รู้ว่ามีทางเลือกอื่นไหม นอกจากเผชิญหน้ากับมัน เชื่อในผู้บริโภค
ให้มีข้อมูลหลากหลาย
อุษา บิกกินส์ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิเทศศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
มองว่า สื่อเลือกข้างนั้นไม่เป็นไร แต่อยากให้บอกหน่อยว่าอยู่ข้างไหน
ส่วนการปิดกั้นสื่อเลือกข้างนั้น มองว่าทำไม่ได้
ต้องเข้าใจเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
สำหรับการตัดอิทธิพลสื่อทุน-รัฐพูดกันมานานแล้ว แต่ยังทำไม่ได้
มองว่าสิ่งที่ภาครัฐ หรือ กสทช.ทำได้คือตกลงร่วมกัน ว่า
ควรมีข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนกี่เปอร์เซ็น ไม่ใช่ผลิตซ้ำ
สะท้อนแต่เสียงนักการเมือง แต่ควรฟังภาคประชาชนด้วย และเน้นว่า
การตรวจสอบ-กำกับดูแลกันเอง ควรอยู่ที่สื่อกระแสหลัก
ที่อยู่ในฟรีทีวีทุกช่อง
ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. แสดงความเห็นว่า หลายคนคาดหวังกับ
กสทช. แต่อยากบอกว่า กสทช. 11 คนก็มีความคาดหวังส่วนตัว ไม่ว่าจากรัฐ ทุน
ฯลฯ สังคมจึงต้องกำกับการโหวตต่างๆ ของ กสทช.ด้วย อย่างไรก็ตาม มองว่า
หากรัฐมาเซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสาร ประชาธิปไตยจะล้มเหลว ดังนั้น
หน้าที่ของรัฐจึงควรกำกับหน่วยธุรกิจ เช่น เวลาโฆษณา
ส่วนวิชาชีพนั้นให้กำกับกันเอง
สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง ให้
สัมภาษณ์ว่า จากการพูดคุยกันนี้ มองว่า
กสทช.ได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งในการเป็นตัวกลางระหว่างคนทำสื่อต่างๆ
ซึ่ง กสทช. คงต้องใช้เวลาพิสูจน์ตัวเองว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
สุภิญญา กล่าวว่า
สำหรับการพูดคุยในวันนี้จะนำไปใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลต่อไป
โดยในปีหน้า เมื่อสื่อต่างๆ ลงทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบกิจการแล้ว
ต้องมีการตั้งองค์กรวิชาชีพ เพื่อกำกับดูแลกันเอง
เมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน ต้องแก้ไขปัญหา แต่หากไม่จบในขั้นของวิชาชีพ
กสทช.ก็อาจต้องเข้ามาใช้อำนาจตามกฎหมาย ซึ่งมองว่าจะใช้เวลานาน
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดในเรื่องนี้ยังไม่สรุป
จีนหลอกจีนมีมานาน ไทยปิดตาข้างเดียว
4 hours ago