WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Thursday, September 13, 2012

รัฐบาลอยู่ยาว ประชาธิปไตยไปทางไหน

ที่มา Voice TV

 ใบตองแห้ง Baitonghaeng



ใบตองแห้ง Baitonghaeng

VoiceTV Staff

Bio

คอลัมนิสต์อิสระ


มองให้ทะลุกระแสโจมตีรัฐบาลรายวัน ทั้งที่มีเหตุผล และไม่มีสติ เบื้องหลังก็คือรัฐบาลกำลังจะอยู่ยาว ทำให้ฝ่ายค้านฝ่ายแค้นมีอาการคลุ้มคลั่ง สิ้นหวัง

การโจมตีที่มีเหตุผล (แต่กระพือจนใหญ่โต) ก็เช่น “White Lie” หรือนโยบายจำนำข้าว มีเหตุผลเพราะมีปัญหาจริง แต่ยังไม่ใช่ประเด็นที่จะล้มรัฐบาลได้

การโจมตีที่ไร้สติก็เช่น แค่ทดสอบระบายน้ำ สื่อ สลิ่ม แมลงสาบ คุณชาย วี้ดว้ายกระตู้วู้ ทำเป็นวิตกอกสั่น อ้างคนกรุงหวั่นผวา ล่องเรือหาตะเข็บ ถามว่าถ้าพ้นวันที่ 7 ไม่มีอะไรในกอไผ่ จะเอาน้ำลายยัดปากตัวเองไหม

พูดอย่างนี้เดี๋ยวหาว่าผมเข้าข้างรัฐบาลตะพึดตะพือ ความจริงก็เข้าข้าง ฮิฮิ แต่ถ้าเรามองเชิงยุทธวิธีทางการเมือง การโถมสุดตัวไปปั่นกระแสในเรื่องแค่นี้ มันไม่คุ้มนะครับ สำหรับพรรคเก่าแก่ 60 กว่าปี

คือคุณอยู่เฉยๆ แค่แสดงความเห็นแต่พองาม ถ้ารัฐบาลทดสอบแล้วผิดพลาด น้ำท่วมฉิบหาย รัฐบาลก็เจ๊งเองแหละ ค่อยกระทืบซ้ำยังไม่สาย ถ้าเขาทดสอบแล้วผ่านไปด้วยดี ได้ผล คุณก็เสมอตัว ไม่เสียอะไร ทำไมต้องออกมาตีปี๊บ ทำเรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่ เปรียบเหมือนแทงหวย ถ้ารัฐบาลเจ๊งก็ถูกหวย แต่ถ้าเขาทดสอบได้ผลดี ไม่กลัวหน้าแหกหรือ

อาการฟาดงวงฟาดงาของฝ่ายแค้นและสื่อยังระบายออกที่การแต่งตั้งโยกย้ายข้า ราชการ ซึ่งแน่นอนว่ามีปัญหาความชอบธรรม มีการผลักดันคนของฝ่ายการเมืองอย่างไม่เหมาะสมในหลายตำแหน่ง แต่พวกเขาจ้องเล่นเฉพาะจุดที่เอามาขยายผลได้ เช่น เล่นเรื่องความขัดแย้งระหว่าง รมว.กลาโหม กับปลัดกลาโหม ทั้งที่รู้ว่า “แตงโม” ด้วยกัน แต่สื่อและฝ่ายค้านไม่พูดถึงอดีต (ไม่ใช่ไม่ทำการบ้าน แต่จงใจ) ไม่ย้อนปูมหลังว่าปลัดคนนี้ก็รัฐบาลนี้แหละตั้งมา หวังจะกระพือให้เป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ แต่กองทัพไม่เล่นด้วย ตอนนี้ก็ไปฝากความหวังศาลปกครอง

เช่นเดียวกับการย้ายเลขา ปปท. ซึ่งตีปี๊บว่าเพราะเปิดโปงทุจริตงบน้ำท่วมภาคอีสาน ก็จงใจไม่กล่าวถึงปูมหลังว่า เมื่อปีที่แล้วตอน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เอา พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ มาดำรงตำแหน่ง ก็สื่อนี่แหละหาว่าเป็น “เด็กรับใช้ในบ้านเจ้ามูลเมือง” (ปอกเปลือก"3 เกลอ"ยุติธรรม “ทวี-สุชาติ-ดุษฎี” เด็กรับใช้ในบ้าน “เจ้ามูลเมือง”http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9540000118342)

ผมก็ไม่ทราบว่า พ.ต.อ.ดุษฎีขัดแย้งกับ พล.ต.อ.ประชาและรัฐบาลหรือไม่ ด้วยเรื่องอะไร ทำไมจึงถูกย้าย แต่แทนที่สื่อจะสนใจหาความจริง สื่อกลับตีปี๊ปว่าเป็นเพราะเปิดโปงทุจริต ชู พ.ต.อ.ดุษฎีเป็นพระเอก รัฐบาลเป็นผู้ร้าย ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นของชาติ (ภตช.) อีกคราบหนึ่งของพันธมิตร นำโดยนายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์  รีบโผล่ไป ปปท.ให้สัมภาษณ์เป็นตุเป็นตะ ยังกะเป็นเลขา ปปท.เสียเอง

ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ดุษฎีก็มีผลงาน ที่เข้าเนื้อทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน เรื่องทุจริตงบน้ำท่วมผมก็เชื่อว่ามีจริง (แต่คงไม่เว่อร์ขนาดมงคลกิตต์ ณ ร.ร.บดินทร์ ตีปี๊บ) อ่านทางข่าวแล้วมันไม่ใช่การย้ายเพราะเปิดโปงเรื่องนี้ เพราะ พ.ต.อ.ดุษฎีเพิ่งแถลงข่าววันศุกร์ ออกข่าววันเสาร์ พร้อมกับให้สัมภาษณ์พิเศษสื่อบางฉบับ ถัดมาวันอาทิตย์ก็มีข่าว “เด้ง”

ประชาอ่านข่าววันเสาร์แล้วเด้งทันทีหรือครับ มองมุมกลับ คนในน่าจะรู้กันมาช่วงหนึ่งแล้ว เป็นไปได้ไหมที่ พ.ต.อ.ดุษฎีรู้ว่าตัวเองจะโดนเด้งจึงชิงแถลงข่าว ผมไม่ได้บอกว่าใครถูกใครผิด แต่กังขาว่ามีเรื่องลึกกว่างบน้ำท่วม ซึ่งไม่มีใครสนใจหาความจริง สนใจแต่จะโฉบฉวยมาเป็นประเด็นโจมตีรัฐบาล

ที่ยกมาเป็นแค่ตัวอย่างเพราะยังมีสารพัดเรื่อง แต่ให้สังเกตว่าจุดไม่ติด สร้างกระแสได้ไม่ต่อเนื่อง โดนข่าวดรามาหนูพลอยหนีภาษี ดรามาเฟอร์รารี “เป้าหมายมีไว้พุ่งชน” หรือกระทั่งข่าวควายเผือกบุญมา กินพื้นที่ไปเป็นระยะๆ

อันที่จริงก็ไม่แปลกอะไร ฝ่ายค้านฝ่ายแค้นถล่มรัฐบาลตั้งแต่ยังไม่คลอดแล้ว เพียงแต่การโจมตีรัฐบาลตอนนี้ไม่เหมือนตอนตั้งใหม่ๆ ตอนนั้นพวกแมลงสาบ สลิ่ม เสื้อเหลือง และสื่อ ยังมีความหวังว่าจะล้มรัฐบาลได้ ในเวลาซัก 1 ปี หมอดูหมอเดาเต้าเป็นตุเป็นตะ แต่น้ำท่วมใหญ่ก็แล้ว ทั้งที่ “เอาไม่อยู่” ศาลรัฐธรรมนูญก็แล้ว ทั้งที่ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยแพ้ สถานการณ์กลับคลี่คลายไปในทางที่ว่า รัฐบาลจะอยู่ได้ยาว ไม่ล้มง่ายเว้นแต่จะมีจุดเปลี่ยนอะไรที่สำคัญ

การโจมตีรัฐบาลในช่วงนี้จึงเต็มไปด้วยอารมณ์สิ้นหวัง คั่งแค้น ดิ้นพล่าน ทุรนทุราย น้ำตาตกในหัวอก ความรู้สึกสลิ่มคงเหมือนพวก “ผู้ดี” หลัง 2475 ที่ผู้ดีเดินตรอก ขี้ครอกเดินถนน มองไปข้างหน้าเห็นแต่ความมืดมน ไม่เห็นอนาคต เพราะอนาคตของศูนย์กลางอำนาจฝ่ายอำมาตย์ก็ไม่แน่นอน

กลับสู่ระบอบรัฐสภา

ผมเขียนและพูดมาระยะหนึ่งแล้วว่า รัฐบาลนี้อยู่ยาว ทุกฝ่ายก็มองเห็น

หลังวิกฤติศาลรัฐธรรมนูญ แม้กระแสสังคมพึงพอใจที่ศาลยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกรงกันว่าจะนำไป สู่วิกฤติรอบใหม่ แต่อีกด้านของปรากฏการณ์ก็สะท้อนเช่นกันว่า กระแสสังคมไม่อยากเห็นการล้มรัฐบาลด้วยรัฐประหารหรือตุลาการภิวัตน์อีกแล้ว เพราะเกรงจะเกิดวิกฤติรอบใหม่เช่นกัน ไม่มีใครอยากเห็นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคเพื่อไทยให้ประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็น รัฐบาล แล้วเสื้อแดงลุกฮือ ยึดกรุงเทพฯ ยึดราชประสงค์อีก

รัฐบาลจะได้คะแนนเท่าไหร่ก็ตาม แต่ตราบใดที่ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า สังคมไทยก็ยังอยากให้รัฐบาลนี้บริหารต่อไป จนกว่าจะเลือกตั้งใหม่ หรือจนกว่าจะเกิดวิกฤติอย่างหนึ่งอย่างใดที่ไปไม่รอดจริงๆ (ซึ่งยังมองไม่เห็น)

นี่คือสภาพที่น่าตลกว่า สังคมไทยเริ่มกลับมายอมรับ “ประชาธิปไตยปกติ” ทั้งที่ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาโครงสร้าง ยังไม่ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญ การเมืองกลับมาสู่การต่อสู้ช่วงชิงคะแนนนิยมกันตามวิถี เหมือนก่อนปี 49 แม้จะยังเว่อร์ ยังไร้สติ ยังดราม่ากันมากมาย แต่ก็ไม่ใช่การเมืองที่จะโค่นล้มรัฐบาลได้

ต่อให้กิตติรัตน์ ณ ระนอง White Lie ซักกี่รอบ อย่างเก่งก็ปรับ ครม.เอากิตติรัตน์ออก ถ้าจำนำข้าวมีปัญหา ก็ปรับบุญทรง เตรยาภิรมย์ออก แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังอยู่ได้ แม้อาจจะอยู่แบบแย่ๆ คะแนนคาบเส้น หรือคะแนนตกเส้นนิดหน่อย แต่สังคมไม่มีทางเลือก เพราะถึงอย่างไร รัฐบาลก็ยังมีเสียงข้างมากตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งในสภา และในผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องให้รัฐบาลเสื่อมคะแนนนิยมจากฐานเสียงตัวเอง ซึ่งยากส์เข้าไปใหญ่ เพราะต่อให้เสื่อมขนาดไหน คนเลือกพรรคเพื่อไทยก็คงไม่กลับไปเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ผู้ตีตั๋วแพ้ตลอดชีพ ไม่สามารถสลัดประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมทางการเมือง และหนี้เลือดพฤษภา 53

พูดอีกอย่างคือ สังคมไทยจำต้องกลับมายอมรับระบอบรัฐสภา ถ้าจะเปลี่ยนแปลง ก็ให้เป็นไปตามระบอบรัฐสภา เพื่อที่จะไม่เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย ต่อให้ถึงทางตันแค่ไหน ก็เข็ดแล้ว ไม่อยากเห็นรัฐประหาร ไม่อยากเห็นพันธมิตรหรือเสื้อแดงยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ยึดราชประสงค์อีก

ความจำเป็นต้องยอมรับ “ประชาธิปไตย(เกือบ)ปกติ” นี้มีขึ้นทั้งที่กลไกอำมาตย์ ตุลาการภิวัตน์ ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ยังมีอำนาจอยู่ แต่พวกเขาก็ไม่กล้าใช้อำนาจจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล อย่างเก่งก็จะใช้อำนาจศาลในบางเรื่องที่สามารถโน้มน้าวกระแสสังคมได้ ต่อไปก็อาจใช้อำนาจถอดถอนรัฐมนตรีหรือ ส.ส.บางคน

ความไม่แน่นอนในศูนย์กลางอำนาจของฝ่ายอำมาตย์ ยังทำให้พวกเขารวนเร ทำได้แค่เป็นฝ่ายตั้งรับ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำได้แค่ปกป้องโผทหารในโควต้าของตัว เอาตัวให้รอดจากการไล่บี้ “สไนเปอร์” ไม่กล้าแข็งกร้าว ต่อต้านอำนาจรัฐบาล อำนาจทหารซึ่งเคยเหนียวแน่นผูกขาดแค่ “บูรพาพยัคฆ์” ก็เริ่มสลายคลายตัว เมื่อมองเห็นว่ารัฐบาลอยู่ยาว ทหารและข้าราชการที่อยู่ห่างศูนย์อำนาจหน่อย ก็จะเริ่มวิ่งเข้าหารัฐบาล หรืออย่างน้อยก็เหยียบสองขา

รัฐบาลก็อ่านเกมขาด ตราบใดที่ยังไม่รุกแก้รัฐธรรมนูญ ยังไม่ดัน พรบ.ปรองดอง ก็ประคองตัวไปได้เรื่อยๆ แค่อย่าให้มีเรื่องฉาวโฉ่นัก ทักษิณก็ไม่จำเป็นต้องรีบกลับบ้าน เพราะเดินทางไปได้ทั่วโลกแล้ว สนุกสนานกับระบอบ 2 นายกฯ คือยิ่งลักษณ์บริหารภายใน ทักษิณเดินสายอยู่ข้างนอก ว่างๆ ก็แวะมาฮ่องกง เมืองจีน เขมร ให้นักการเมือง ข้าราชการ วิ่งไปพบ

“เราต้องทนหน่อย บางครั้งต้องทน นักสู้บางคนบอกใส่ไปเลย ผมว่ามันง่าย ได้สะใจ แต่ไม่ได้ผล เราเดินหน้าวันนี้ต้องเดินเอาผล ไม่ได้เดินเอาสะใจ เป็นรัฐบาลต้องใช้ไม้นิ่ม เป็นฝ่ายค้านต้องใช้ไม้แข็ง แต่ว่าเราเป็นรัฐบาลไปใช้ไม้แข็งก็เท่ากับว่าเราเป็นฝ่ายค้าน จะไปเป็นทำไมเราเป็นรัฐบาลอยู่แล้ว”

ทักษิณให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราที่ซานฟรานฯ ชี้ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลไว้ตั้งแต่ต้นเดือนที่แล้ว โดยพูดชัดว่าไม่เดือดร้อนกับการบินไปบินมา

“กฎหมายปรองดองถามว่าจะถอนไหม ก็ถอนทำไม ก็คาไว้อย่างนั้น เขาจะได้มายืนเฝ้าทั้งวันทั้งคืน แต่ถ้าเผลอโหวตเลย จะได้ขยันหน่อย เพราะเขาไม่มีงานทำอยู่แล้วนี่ อันนี้ก็คือสรุปว่า ไม่มีการถอน แต่ถามว่าจะดันไหม สบายๆ ไม่รีบไม่ร้อน”

แน่นอน ทักษิณ พรรคเพื่อไทย รัฐบาล ไม่รีบไม่ร้อนแก้ปัญหาโครงสร้างประชาธิปไตยเช่นกัน เพราะสามารถเล่นเกมอำนาจแบบนักการเมือง “กระชับพื้นที่” ในระบบราชการ โยกย้ายคนของตนไปคุมตำแหน่งต่างๆ รวมทั้งฟื้นเครือข่ายเส้นสายกลุ่มทุน

ทักษิณรู้ดีว่าโครงสร้างนี้เป็นอันตรายต่ออำนาจนักการเมือง ทั้งจำเป็นต้องปลดล็อก “ตุลาการภิวัตน์” จึงกลับบ้านได้ แต่ในระยะนี้เมื่อยังไม่สามารถใช้ “ไม้แข็ง” ก็ “เอาผล” ก่อน ในขณะที่กระชับอำนาจ ก็อาจเจรจา ต่อรอง ฮั้ว เกี้ยเซี้ย บางประเด็น นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน (แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะฮั้วแล้วจบกันง่ายๆ เพราะความขัดแย้งบานปลายมีผู้คนมากมายแยกขั้วแยกข้างกันไปสองฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะแดง ที่มีทั้งแดง นปช. แดงอุดมการณ์ หรือกลุ่มก๊วนการเมือง อีกฝ่ายก็มีความหลากหลายและเป็นอิสระต่อกัน)

ถามว่ารัฐบาลจะอยู่ยาวไหม เป็นไปได้ที่จะอยู่ครบเทอมอีก 3 ปี เป็นไปได้ที่ครบเทอมแล้วชนะเลือกตั้งกลับมาอีก 4 ปี และเป็นไปได้ที่อาจจะแค่ปีหน้า ขึ้นกับ “จุดเปลี่ยน” ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศ หรือรัฐบาลสะดุดขาตัวเอง สมมติน้ำท่วมใหญ่อีกรอบ สมมติเศรษฐกิจโลกย่อยยับ เศรษฐกิจไทยพังพินาศ (ลองช่วยกันคิดอะไรที่มันเว่อร์ๆ)

ที่แน่ๆ ถ้าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตจริงๆ รัฐบาลจะอยู่ยาว แม้อยู่แบบแย่ๆ ในบางช่วง แต่เมื่อสังคมยอมรับระบอบรัฐสภาเสียแล้ว และพรรคเพื่อไทยไม่มีคู่แข่งในระบอบรัฐสภา ปชป.ไม่กล้าปรับเปลี่ยน (ซึ่งต้องพลิกวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิธีเล่นการเมือง ขอโทษประชาชน ฯลฯ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนหัวหน้าพรรค) เพราะการเปลี่ยนเท่ากับเสี่ยงเสียฐานเดิม (สลิ่ม) โดยไม่รู้ว่าจะหาฐานเสียงใหม่ได้ที่ไหน ส่วนจะหาผู้นำใหม่ พรรคใหม่ แบบทักษิณเมื่อปี 44 น่ะหรือ ก็ยังไม่เห็นตัว และสถานการณ์ยังไม่เปิดโอกาส

บางคนอาจตั้งความหวังว่าจะมี “มหัศจรรย์โอบามา” คือเมื่อปี 2006 โอบามายังเป็นวุ้นอยู่เลย อยู่ๆ ก็โผล่พรวดเป็นประธานาธิบดีในปี 2008 แต่เมืองไทยจะหาใครได้อย่างนั้น

นักประชาธิปไตยอึดอัด
สลิ่มคลั่ง

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้นักคิดนักวิชาการประชาธิปไตย หรือแดงอุดมการณ์ทั้งหลาย อยู่ในสภาพอึดอัด เพราะรัฐบาลไม่เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ล้างโครงสร้างอำมาตย์ สนุกกับการใช้อำนาจล้วงเอาแทน ด้านหนึ่งก็เป็นประโยชน์กับประชาธิปไตยแต่อีกด้านหนึ่งก็ได้ผลประโยชน์เข้า ตัว

อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนไว้ในมติชนล่าสุด “อนาคตทางการเมืองของคนเสื้อแดง” สรุปว่าทางเลือกทั้ง 3 ทางล้วนเป็นไปได้ยาก 2 ทางแรกคือหันไปสนับสนุนพรรคอื่น กับตั้งพรรคของตัวเอง ตัดไปได้เลย ส่วนที่บอกให้หาทางควบคุมทิศทางของพรรคเพื่อไทยให้ได้มากขึ้น ผมก็ว่ายาก

ตั้งพรรคของตัวเองอาจทำได้ครับถ้าถึงเวลาเลือกตั้ง แกนนำอุดมการณ์ซัก 4-5 คน ตั้งพรรคสมัครปาร์ตี้ลิสต์อย่างเดียวแบบพรรคชูวิทย์ ส.ส.เขตให้มวลชนเลือกเพื่อไทยไป แต่ก็นั่นแหละ คงได้มา 4-5 คน ไม่มีผลมาก

ควบคุมทิศทางพรรคเพื่อไทย ก็มองไม่ค่อยเห็น ผมเห็นแต่พรรคเพื่อไทยควบคุมแกนนำ นปช. คือเมื่อรัฐบาลอยู่ยาว นปช.ก็จะมีภารกิจเพียงจัดงานครบรอบปี เมษา-พฤษภา 53 กับติดตามคดีในศาล (ซึ่งก็จะเป็นกระแสเป็นพักๆ) หรือถ้าอำมาตย์ทำท่าคุกคามหน่อย จตุพรก็จะออกมาตีปี๊บ “รัฐประหาร” เรียกมวลชนชุมนุมต้าน

พูดให้ถูกคือว่าที่รัฐมนตรีจตุพร เพราะนับจากนี้แกนนำ นปช.จะสลับกันรับตำแหน่ง

อย่างไรก็ดี ในความอึดอัด ผมคิดว่านักประชาธิปไตยส่วนใหญ่ก็เข้าใจสภาพ รู้ดีว่าเอาความสะใจไม่ได้ ต้องค่อยๆ สู้กันไปทีละขั้น เราอยากให้รัฐบาลรุก แต่รุกแล้วได้เปรียบไหม ต้องใคร่ครวญทั้งสองด้าน

การมองขั้นตอนทางยุทธศาสตร์ยุทธวิธีแต่ละขั้น อาจแตกต่างกันได้หลากหลาย เช่นมองย้อนหลังไปเรื่องการโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 นักคิดนักประชาธิปไตยยืนยันว่าต้องโหวต ต้องชน อย่างน้อยก็ต้องลงมติไม่รับคำสั่งศาล ผมก็ยังยืนยันอยู่นะ เพราะผมเห็นว่าในสถานการณ์ที่กล่าวมา ยังไงก็ไม่นำไปสู่การแตกหัก ยุบพรรค แต่รัฐบาลก็มองอีกแบบ คือมองในเชิงถอยก่อน ปล่อยให้ตุลาการเป็นฝ่ายรุก แล้วถูกกระแสสังคมกดดัน

ใครถูกใครผิดก็ตอบยาก แต่ที่แน่ๆ คือ อย่าไปพะวงกับมัน เมื่อเห็นว่าอะไรถูกต้องก็ต้องต่อสู้ ยืนหยัดอยู่ในจุดยืนที่เป็นอิสระ เป็นธรรมชาติของตน

ในความอึดอัด ผมคิดว่าด้านหนึ่งนักประชาธิปไตยก็พึงพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ คืออย่างน้อยเรามีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ เผยแพร่ความคิด อุดมการณ์ ที่มีเหตุผล ได้มากกว่ายุคสมัยของ คมช.หรือประชาธิปัตย์ โดยนอกจากวิจารณ์อำมาตย์ แมลงสาบ สลิ่ม สื่อ พันธมิตร เรายังวิจารณ์ทักษิณ พรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่ นปช.ได้ด้วย

เพราะในสภาพที่การเมืองนิ่งชั่วคราว และแกนนำ นปช.เข้าไปรับตำแหน่งต่างๆ มวลชนที่มีอุดมการณ์ มีความคิดของตนเอง จะหันมาฟังเหตุผลของนักคิดนักวิชาการประชาธิปไตยมากขึ้น นี่ไม่ได้ยุให้ช่วงชิงการนำนะครับ เพราะนักคิดนักวิชาการไม่สามารถเป็นผู้นำม็อบอยู่แล้ว แต่การมีบทบาทด้านปัญญาความคิดจะช่วยให้ขบวนการมวลชนเข้มแข็งหลากหลายขึ้น

ท่าทีของนักประชาธิปไตยต่อสถานการณ์นี้ ผมคิดว่ามีสองด้าน คือหนึ่ง “สุขกันเถอะเรา” หมายถึงมีความสุขที่เห็นความทุกข์ของผู้อื่น (ฮา) อันได้แก่ แมลงสาบ สลิ่ม พันธมิตร และพึงพอใจระดับหนึ่งกับสภาพที่เป็นอยู่ ที่มีเสรีภาพค่อนข้างจะเต็มที่

สองคือ รณรงค์ทางความคิดอย่างอิสระ ทำความเข้าใจสถานการณ์ แต่ไม่ต้องผูกติดกับยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของรัฐบาล ก็เหมือนอย่างที่รณรงค์แก้ไข ม.112 ซึ่งส่งผลสะเทือนทั้งด้านกว้างและเชิงลึก แม้รัฐบาลไม่เอาด้วย

แน่นอนว่าเมื่อรัฐบาลอยู่ได้เช่นนี้ ก็ไม่พยายามแก้รัฐธรรมนูญ ขณะที่สังคมก็ยังไม่อยากเห็นการปะทะกัน แต่นักวิชาการเช่นนิติราษฎร์ก็สามารถเสนอแนวคิดใหม่ในการแก้รัฐธรรมนูญทั้ง ฉบับได้ ให้เข้าถึงผู้คนวงกว้าง นักคิดนักเคลื่อนไหวส่วนอื่นๆ ก็อาจเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ว่าจะเอาส่วนไหนก่อน

การรณรงค์ทางความคิดฟังเหมือนบอกให้พูดเรื่อยเปื่อย แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะขั้นตอนทางยุทธศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ขั้นนี้น่าจะเป็นการตีตื้นไล่ชิงพื้นที่ โดยความคิดเสรีประชาธิปไตย ไล่ชิงพื้นที่ความคิดจารีตนิยมไม่เอาประชาธิปไตย ความคิดจารีตนิยมอาจมีอิทธิพลกว้างขวาง แต่ถ้าเฉพาะเจาะจง ก็คือต้อง “ล้อมปราบ” ความคิดสุดขั้วสุดโต่งของพวกสลิ่มและพันธมิตร ให้เป็นพวกที่สังคมไม่ยอมรับ

การยืนหยัดความคิดอิสระ รวมทั้งการตรวจสอบรัฐบาล ในพฤติกรรมที่เราไม่เห็นด้วย (อย่างที่ อ.นิธิยกตัวอย่าง “หลอง ซีดี” นักคิดนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยควรมีบทบาทเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยลง โทษ เพราะเปล่าประโยชน์ที่จะอุ้มกัน ปปช.เขาเล่นแน่) มีความสำคัญในแง่ที่ยังไม่มีใครรู้ว่า สถานการณ์ที่รัฐบาลอยู่ยาว แต่ไม่เสถียร นี้จะจบลงเมื่อไหร่ จบอย่างไร “จุดเปลี่ยน” อยู่ตรงไหน

ผมเชื่อว่าเมื่อถึงจุดนั้น การแยกขั้วในสังคมไทยจะเปลี่ยนแปรไประดับหนึ่ง แม้ไม่ใช่เปลี่ยนตาลปัตรเป็นนิยาย แบบ “เหลืองแดงรวมกันได้” หรือ “แดงอุดมการณ์แตกหักทักษิณ” (เพ้อเจ้อทั้งสองแบบ) แต่มันอาจจะมีการแยกย่อยหลากหลายขึ้น มีความผันแปร มีความแตกต่าง มีความชัดเจนขึ้นในแต่ละกลุ่ม โดยนักประชาธิปไตยจะต้องช่วงชิงเป็นผู้นำความคิดใหม่ที่มีอิทธิพลต่อสังคม และคนรุ่นใหม่ให้มากที่สุด

                                                                                    ใบตองแห้ง
                                                                                    6 ก.ย.55
.......................................



6 กันยายน 2555 เวลา 17:36 น.