ที่มา ประชาไท
คดีการเสียชีวิตของยะผา กาเซ็ง อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ ระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ที่น่าเสียดายก็คือ เป็นการนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยญาติของผู้เสียชีวิตเอง หาใช่เป็นการดำเนินการโดยฝ่ายรัฐอย่างรวดเร็วฉับไว เพื่อแสดงถึงความจริงใจและเยียวยาความรู้สึกของผู้สูญเสียแต่อย่างใดไม่
ที่มา: โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
คดีการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกหนึ่งคดีแล้ว คือคดีของ นายยะผา กาเซ็ง อิหม่ามประจำมัสยิดบ้านกอตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส
แต่ที่น่าเสียดายก็คือ เป็นการนำคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยญาติของผู้เสียชีวิตเอง หาใช่เป็นการดำเนินการโดยฝ่ายรัฐอย่างรวดเร็วฉับไว เพื่อแสดงถึงความจริงใจและเยียวยาความรู้สึกของผู้สูญเสียแต่อย่างใดไม่
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 ส.ค.2552 ที่ศาลจังหวัดนราธิวาส นางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยาของนายยะผา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.วิชา ภู่ทอง ร.ต.ศิริเขตต์ วาณิชบำรุง จ.ส.อ.เริงณรงค์ บัวงาม ส.อ.ณรงค์ฤทธิ์ หาญเวช ส.อ.บันฑิต ถิ่นสุข ซึ่งเป็นทหารสังกัดหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 และ พ.ต.อ.ทนงศักดิ์ วังสุภา เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เป็นจำเลยที่ 1-6 ตามลำดับ กับพวกที่ยังไม่ทราบชื่ออีกหลายคน ในข้อหาร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดหรือไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด, กักขังหน่วงเหนี่ยว, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย
ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 290, 295, 297, 309, 310 ประกอบมาตรา 81, 91 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 26, 32, 39 และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel Inhuman or Degrading Treatment or Punishment: CAT) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคี และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2550
ภายหลังยื่นฟ้อง ศาลจังหวัดนราธิวาสได้นัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 19 ต.ค.2552 เวลา 13.30 น. (คดีที่ประชาชนยื่นฟ้องต่อศาลเอง ต้องมีการไต่สวนมูลฟ้อง) โดยการยื่นฟ้องดังกล่าวมีทนายความจากศูนย์ทนายความมุสลิม และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ช่วยเหลือประสานงาน
แหล่งข่าวจากองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ เผยว่า การที่ชาวบ้านยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐเอง เป็นการอาศัยช่องทางตามกฎหมาย และแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่น ไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรมของรัฐ จึงอยากให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเคารพการตัดสินใจของประชาชน และอาศัยช่องทางตามกฎหมายในการต่อสู้ด้วยเช่นกัน
ย้อนรอย”อิหม่ามยะผา”ถูกซ้อมเสียชีวิต
อนึ่ง นายยะผา ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 19 มี.ค.2551 หลังจากเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าหน้าที่ทหารได้นำกำลังไปปิดล้อมตรวจค้นหมู่บ้านกอตอ ต.รือเสาะ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส โดยได้ควบคุมตัว นายยะผา กับพวกรวม 6 คน ในฐานะผู้ต้องสงสัยโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และนำตัวไปควบคุมไว้ที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ตั้งอยู่ภายในวัดสวนธรรม หมู่ 2 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ โดยใช้รถยนต์บรรทุก 6 ล้อ ซึ่งเป็นรถยนต์ควบคุมตัวผู้ต้องหาของ สภ.รือเสาะ เป็นที่ควบคุมตัวนายยะผากับผู้ต้องสงสัยรวม 7 คน
ระหว่างที่ นายยะผา ถูกควบคุมตัวในวันที่ 20 มี.ค.2551 เวลากลางคืน ถึงวันที่ 21 มี.ค.2551 เจ้าหน้าที่ทหารได้นำตัว นายยะผา ไปซักถามหลายครั้ง ต่อมาในวันที่ 21 มี.ค.2551 เวลาประมาณ 06.30 น. นายยะผาถึงแก่ความตายในห้องควบคุมดังกล่าว
การเสียชีวิตของนายยะผา ถือว่าเป็นการตายระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าได้ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ พนักงานอัยการจึงยื่นคำร้องในคดีชันสูตรพลิกศพ ขอให้ศาลทำการไต่สวนและทำคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150
กระทั่งวันที่ 25 ธ.ค.2551 ศาลจึงมีคำสั่งว่า ผู้ตาย คือ นายยะผา กาเซ็ง ตายที่ฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดสวนธรรม หมู่ 2 ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2551 เวลา 06.30 น. เหตุที่ตายเนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกาย ทำให้กระดูกซี่โครงหัก ลมรั่วในช่องอกด้านขวา ระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่
กระบวนการยุติธรรมยังเดินช้า
แม้ศาลจะมีคำสั่งในคดีไต่สวนการตายว่า นายยะผา ถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิตระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งตามปกติหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมต้องดำเนินการต่อไปตามขั้นตอน แต่ปรากฏว่าความคืบหน้าของคดีเป็นไปอย่างล่าช้า
ขณะเดียวกัน ญาติของผู้เสียหายได้แจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมดไปแล้วตั้งแต่หลังเกิดเหตุการณ์ คือเดือน มี.ค.2551 ซึ่งทางพนักงานสอบสวนสภ.รือเสาะ ได้สรุปสำนวนคดีในเบื้องต้นส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนต่อตามขั้นตอน เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาล้วนเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่คดีก็ยังไม่ปรากฏความคืบหน้าชัดเจนเช่นกัน กระทั่งญาติผู้ตายต้องนำคดีขึ้นฟ้องต่อศาลเองดังกล่าว
สำหรับคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับนายยะผานั้นยังมีอีก 2 คดี โดยเป็นคดีที่ญาติผู้ตายยื่นฟ้องต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2552 และศาลได้รับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปแล้ว ได้แก่
1. คดีหมายเลขดำที่ 1084/2552 โดย นางนิม๊ะ กาเซ็ง ภรรยาของนายยะผา และบุตรผู้เยาว์อีก 3 คน เป็นโจทก์ฟ้องกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ ในข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ศาลแพ่งกำหนดนัดชี้สองสถานหรือกำหนดแนวทางในการดำเนินคดีในวันที่ 28 ก.ย.2552 เวลา 13.30 น.
2. คดีหมายเลขดำที่ 1086/2552 นายรายู ดอคอ (ผู้เยาว์) โดย น.ส.สาลีมะ หะมะ มารดาผู้แทนโดยชอบธรรม เป็นโจทก์ฟ้องกระทรวงกลาโหม กองทัพบก และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ ในข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหาย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ศาลแพ่งกำหนดนัดชี้สองสถานหรือกำหนดแนวทางในการดำเนินคดีในวันที่ 31 ส.ค.2552 เวลา 09.00 น.
กอ.รมน.ไม่ติดใจญาติ”อิหม่ามยะผา”ยื่นฟ้องเอง
ด้านบทบาทของฝ่ายความมั่นคง หลังเกิดกรณีของอิหม่ามยะผา ปรากฏว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้ออกมายอมรับว่า เหตุดังกล่าวเป็นการกระทำของทหารที่ไม่ดี และได้สั่งย้ายกำลังพลในหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 39 ออกจากพื้นที่ยกหน่วยไปแล้ว พร้อมประกาศให้กระบวนการยุติธรรมจัดการโดยจะไม่ปกป้องกำลังพลที่กระทำความผิด
ขณะที่ พ.อ.ปริญญา ฉายดิลก โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กล่าวว่า คดีนี้อยู่ในกระบวนการของศาลยุติธรรมอยู่แล้ว การกระทำผิดที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องตัวบุคคล ซึ่งกองทัพเองก็ยอมรับ และเมื่อเกิดเหตุ ทุกอย่างก็เป็นไปตามนโยบายของผู้บังคับบัญชา คือผู้ใดกระทำผิดก็ต้องรับโทษไปตามนั้น ส่วนการยื่นฟ้องของภรรยานายยะผา ก็ถือเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ และกองทัพจะปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามกระบวนการยุติธรรม โดยจะไม่ปกป้องหรือปกปิดใดๆ ทั้งสิ้น
เมื่อกระบวนการยุติธรรมยังถูกตั้งคำถาม
แม้คดี อิหม่ามยะผา จะเป็นคดีหนึ่งที่ศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายอย่างรวดเร็ว คือใช้เวลาไม่ถึงปี ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะมีผู้เสียหายเพียงคนเดียว ผิดกับคดีตากใบหรือกรือเซะ (เหตุการณ์เสียชีวิตของประชาชน 85 คนจากการสลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส และเหตุการณ์ยิงถล่มมัสยิดกรือเซะ จนมีผู้ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต 32 ราย) ซึ่งมีผู้เสียหายจำนวนมาก แต่การมีคำสั่งไต่สวนการตายก็ยังเป็นเพียงการพิสูจน์ความยุติธรรมในขั้นต้นเท่านั้น เพราะเป็นกระบวนการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ที่ให้อำนาจศาลไต่สวนการตายที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าได้ปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือการตายระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานที่อ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ ในลักษณะถ่วงดุลไม่ให้ฝ่ายความมั่นคงหรือตำรวจทำสำนวนกันเอง
แต่ประเด็นก็คือ นี่คือความยุติธรรมขั้นต้นซึ่งยังไม่ได้ลงลึกไปในเนื้อหาสาระแห่งคดีเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดและลงโทษตามกฎหมายเลยด้วยซ้ำ
คำถามก็คือ กระบวนการลักษณะนี้เพียงพอและเหมาะสมแล้วหรือสำหรับพื้นที่พิเศษที่มีความอ่อนไหวเช่นนี้
หากย้อนกลับไปดูคดีตากใบ จะพบว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 แต่ศาลมีคำสั่งไต่สวนการตายเมื่อวันที่ 29 พ.ค.2552 หรือเกือบ 5 ปีหลังเกิดเหตุ ถ้าชาวบ้านผู้เสียหายเลือกฟ้องต่อเอง ต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ความยุติธรรมถึงจะปรากฏ
และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของการที่กระทรวงยุติธรรมต้องไปจัดทำ "แผนยุทธศาสตร์กระบวนการยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับความยุติธรรมเฉพาะพื้นที่แผนแรกของประเทศไทย และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง นำมาแย้มพรายในการให้สัมภาษณ์ระหว่างลงพื้นที่ครั้งล่าสุดว่า จะหยิบมานำร่องใช้ในพื้นที่เล็กๆ ต้นเดือน ต.ค.นี้ ซึ่ง “ทีมข่าวอิศรา” ได้เก็บรวบรวมข้อมูลรายละเอียดต่างๆ มาพร้อมแล้ว และจะนำเสนอเป็นสกู๊ปข่าวบนเว็บไซต์ต่อไป
เพราะความยุติธรรมนั้นแค่ทำอย่างเดียวไม่พอ ต้องให้เห็นและรู้สึกว่ายุติธรรมด้วย หรือที่ภาษาอังกฤษบอกว่า justice must be seen to be done…
ฉะนั้นโปรดติดตาม!