ที่มา ประชาไท
23 ก.ค.52 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดพิธีมอบเหรียญเจริญ วัดอักษร ประจำปี 2552 ให้แก่ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
สมชาย ปรีชาศิลปกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อ่านคำประกาศเนื่องในโอกาสการมอบเหรียญเจริญ วัดอักษร ประจำปี 2552 แก่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ความว่า สหภาพแรงงานเป็นเครื่องมือสำคัญของผู้ใช้แรงงานตัวเล็กๆ ในการปกป้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตนในการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์คนอื่นที่อยู่ร่วมสังคม ในการปกป้องสิทธิของตนจากการแสวงหาประโยชน์ทั้งจากบรรดานักลงทุนไม่ว่าจะเป็นคนไทยด้วยกันหรือต่างชาติ และจากทางภาครัฐที่มักมองเห็นความสำคัญของตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าชีวิตและความกินดีอยู่ดีของผู้ใช้แรงงาน
ด้วยบทบาทในการเรียกร้องสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ใช้แรงงาน ทำให้สหภาพแรงงานมักถูกมองไปในด้านลบหรือถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ตระหนักถึงประโยชน์หรือความเจริญของส่วนรวม สหภาพแรงงานจึงมักไม่ได้รับการสนับสนุนจากสังคมมากเท่าใดในการดำเนินบทบาทเพื่อปกป้องคุณค่าและความหมายของผู้ใช้แรงงาน
อีกทั้งความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจการเมืองโลกในห้วงเวลาปัจจุบันมีผลกระทบอย่างสำคัญต่อระบบการจ้างงาน ระบบเสรีนิยมใหม่ที่เปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนย้ายทุนอย่างเสรี การแข่งขันในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ เป็นผลให้สหภาพแรงงานต้องตกอยู่ในสถานะที่ยากลำบากมากขึ้น
สหภาพแรงงานไทรอัมพ์เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการทำหน้าที่ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะต้องได้รับในฐานะของผู้ใช้แรงงาน อย่างไรก็ตาม สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคอย่างมากทั้งจากภายในและภายนอกโรงงาน แม้จะเผชิญกับปัญหาอย่างมากมายแต่การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของทางสหภาพสหภาพไทรอัมพ์ก็ได้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันของคนตัวเล็กๆ อย่างแข็งขัน
ความสำเร็จของสหภาพแรงงานแห่งนี้อาจไม่ได้หมายถึงเฉพาะชัยชนะในการต่อรองกับทางฝ่ายนายจ้างเท่านั้น บทเรียนที่เกิดขึ้นในระหว่างการเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในความพยายามกำหนดชะตาชีวิตของกลุ่มร่วมกันยามที่ต้องเผชิญหน้ากับอุ้งมือที่มองไม่เห็นขนาดใหญ่ นับเป็นคุณูปการที่จะมอบให้ทั้งกับผู้ใช้แรงงานและกับสังคมไทยที่จะได้มองเห็นถึงบทเรียน ข้อจำกัด รวมถึงการสร้างทางเลือกที่จะเป็นทางรอดให้กับคนตัวเล็กๆ ในสังคมไทยกลุ่มอื่นได้เรียนรู้ต่อไปในอนาคต
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอมอบเหรียญเจริญ วัดอักษร ประจำปี 2552 ให้กับทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์
แล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการด้านแรงงาน เป็นตัวแทนมอบเหรียญแด่ตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ บุญรอด สายวงศ์ เลขาธิการสหภาพฯ
กรอุมา พงษ์น้อย ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก – กุยบุรี กล่าวถึง “พลังและความหมายของคนตัวเล็กๆ” ว่า ที่วันนี้เราต้องมาค้นหาความหมายของคนตัวเล็กๆ ซึ่งก็คือประชาชนตาดำๆ เพราะในอดีต คนตัวเล็กๆ ถูกตีค่าให้เป็นแค่เพียงสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีสิทธิมีเสียงในสังคม ถูกตีค่าโดยคนตัวใหญ่ที่คิดว่าตัวเองมีสิทธิมีเสียงออกแบบทุกอย่างได้ แต่ที่ผ่านมา กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอกฯ ได้รู้จักตัวเองในอีกความหมายหนึ่ง ผ่านประสบการณ์คัดง้างกับนโยบายรัฐ และต่อสู้การกระทำของทุน ซึ่งมีกำหนดการสร้างโรงไฟฟ้าที่บ้านของพวกเรา ตอนนั้นถ้าคิดแบบที่เขาตีค่าวันนี้ต้องประสบปัญหาวิถีชีวิตแน่ เพราะตอนนั้นคนตัวใหญ่บอกว่ากำลังพัฒนาประเทศชาติ และพลังงานไฟฟ้ากำลังขาดแคลน ทั้งที่ตอนนั้นไฟสำรองเหลือ 20% แต่การสร้างโรงไฟฟ้าเป็นไปเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ถูกกำหนดให้มีขึ้น แบบเดียวกับอิสเทิร์นซีบอร์ดที่ระยอง
กรอุมา กล่าวว่า จากการได้ฟังประสบการณ์การต่อสู้ของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ทำให้ทราบว่า ประสบปัญหาแบบเดียวกัน คือต่อสู้กับปัญหาโครงสร้างที่รัฐกับทุนร่วมมือกันและแปรวิกฤตเป็นโอกาสของตัวเอง ขณะที่สหภาพแรงงานไทรอัมพฯ เจอประสบการณ์ทุนหว่านล้อมอิทธิพลท้องถิ่น เพื่อให้สามารถกระจายงานไปยังชนบท ชาวบ่อนอกเองก็เจอแรงเสียดทานแบบเดียวกัน กรณีของบ่อนอกฯ โชคร้ายกว่าที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จนต้องเสียเจริญ วัดอักษรไป นอกจากนี้ ความเป็นคนเล็กคนน้อย ทำให้มีหลายท่านโดนคดี รวมทั้งตนเองด้วย ทั้งคดีแพ่งและอาญา โดยแม้ว่าโรงไฟฟ้าจะไปแล้ว แต่คดีความก็ยังไม่จบ
ประธานกลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก – กุยบุรี กล่าวว่า ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาทั้งสองรอบไม่ได้กระทบกลุ่มของเธอแม้แต่น้อย โดยยังขายว่านหางจระเข้ สับปะรด กุ้งแชบ้วย ฯลฯ ได้ราคาดีอยู่ ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากการยืนหยัดต่อสู้เพื่อรักษาวิถีชีวิตเอาไว้ และมีผลพลอยได้ คือ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นี่คือพลังเปลี่ยนแปลงสังคมที่เกิดจากการรวมตัวของคนเล็กคนน้อย และที่ผ่านมา ประเทศไทย มีคนเล็กคนน้อยอีกหลายกลุ่มแม้ไม่อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบไม่พลิกฟ้าพลิกแผ่นดิน แต่ก็ทำให้สังคมได้ตื่นรู้
กรอุมา กล่าวว่า ปัญหาที่พี่น้องไทรอัมพ์ประสบอยู่นั้น ไม่ได้เกิดจากเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจ แต่เป็นสันดานของนายทุนที่เห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ ที่คิดเพียงว่า ต้องเแสวงหากำไรสูงสุดและต้นทุนต่ำสุด โดยสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้เปิดเผยข้อมูลของบริษัทมาตลอดว่า ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจและยอดส่งออกยังดีอยู่ แต่สาเหตุที่มีการเลิกจ้างนั้น เป็นเพราะฝ่ายทุนพยายามสลายการรวมตัวของสหภาพแรงงานฯ ที่ที่เข้มแข็งและสามารถต่อรองกับนายทุนได้ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ของบริษัทถือเป็นความเลวร้ายอย่างที่สุด
เธอกล่าวว่า จากที่เคยประสบชะตากรรมแบบเดียวกัน อยากให้กำลังใจว่า ตราบใดสหภาพฯ ไม่หมดพลังและเชื่อมั่นในพลังของตัวเอง ก็เชื่อว่า จะพลิกฟื้นสถานการณ์และฝ่าฝันวิกฤตร่วมกันได้ สังคมเราโหดร้ายขึ้น พร้อมบดขยี้คนเล็กคนน้อยตลอดเวลา ถ้าไม่ช่วยกัน เราอาจจะราพณาสูร ถ้าจะให้มีพลังต้องรวมตัวกัน
จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ในฐานะตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวปาฐกถา เรื่อง “บทเรียนและการต่อสู้ของสหภาพแรงงานกับรัฐและทุนข้ามชาติ” ตอนหนึ่งระบุว่า ตลอดระยะเวลา 29 ปีของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เป็นเวลาที่ต้องต่อสู้ตลอดนับตั้งแต่คนงานรุ่นแรกๆ ที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ กว่าจะมีองค์กรได้ โดยต้องเริ่มต้นปกป้อง เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ปากท้อง ความเป็นอยู่ที่ดีของคนงานต่อนายทุน ต่อรัฐบาล ไม่เคยมีสักครั้งที่ทุกอย่างจะได้มาโดยง่ายดาย และแม้ว่าจะได้บ้าง ไม่ได้บ้าง แต่มันก็เกิดจากการรวมตัวกันของคนงานจึงทำให้เรามีอำนาจ พลังที่จะสามารถต่อรองได้
จิตรา กล่าวว่า สหภาพแรงงานฯ กำลังถูกทำลายโดยนายทุนที่ร่วมมือกับรัฐบาล กลไกทุกอย่างของรัฐที่สร้างขึ้นมา เช่น คุก ศาล ทหาร ตำรวจ กระทรวงแรงงาน มีไว้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนายทุน เพราะนายทุนต้องการกำไรสูงสุด รัฐบาลก็มีแต่ตัวแทนนายทุน ในขณะที่คนงานคนจนไม่มีตัวแทนในรัฐบาลและต้องคอยเรียกร้องให้รัฐบาลช่วย เพราะเชื่อว่ารัฐจะเป็นกลาง
“แต่ตลอดระยะเวลาการต่อสู้ของคนงานไทรอัมพ์ไม่เคยมีสักครั้งที่รัฐจะช่วยเหลือและเป็นกลาง มีแต่รัฐจะเข้ามาแทรกแซงเมื่อคนงานอย่างพวกเรากำลังจะได้อะไรจากนายทุนบ้าง เมื่อพวกเราถูกกระทำเราไม่เคยเห็นหน้ารัฐ เช่นทุกวันนี้ที่พวกเราชุมนุมกันที่หน้าโรงงานเพราะถูกเลิกจ้าง ทำไมต้องเลิกจ้างเพราะนายทุนและรัฐกำลังทำลายการรวมตัวของเรา เพราะเขารู้ว่าเราสู้ได้เรานำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ถ้าเรารวมตัวกัน” จิตรา กล่าวและว่า ขณะที่กลไกสำคัญที่รัฐสร้างขึ้นมาและคนงานส่วนใหญ่หลงเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตคนงานดีขึ้นคือระบบไตรภาคี ก็กลับทำให้คนงานแบ่งแยก ช่วงชิงและไม่ได้ให้ประโยชน์กับขบวนการแรงงาน แต่เป็นการเอื้อประโยชน์กับผู้นำบางคน ที่สุดแล้วคนงานก็ยังถูกควบคุมมากขึ้นจากพวกเรากันเองด้วยซ้ำ
"เมื่อเราย้อนถึงคำพูดของคุณเจริญ วัดอักษร ที่ว่า “เราสู้ได้ ถ้าพี่น้อง ประชาชน ยังรวมตัวกัน” เช่นเดียวกัน คนงานสู้ได้ถ้าเรารวมตัวกัน การต่อสู้ของคนงาน คนจนไม่มีวันจบสิ้นตราบใดที่นายทุนยังไม่หยุดการแสวงหากำไรสูงสุด ตราบใดที่อำนาจรัฐอยู่ในมือนายทุน และตราบใดที่คนงานคนจนยังขาดการรวมตัวกันและคนงานคนจนยังไม่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ" จิตรา กล่าว (อ่านปาฐกถาฉบับเต็มได้ที่ ปาฐกถา สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ: “บทเรียนและการต่อสู้ของสหภาพแรงงานกับรัฐและทุนข้ามชาติ”)
อนึ่ง เหรียญเจริญ วัดอักษร เริ่มต้นขึ้นหลังจาก เจริญ วัดอักษร นักต่อสู้ภาคประชาชนของชาวบ้านกรูด-บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถูกลอบสังหารเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2547 ทั้งนี้ เพื่อที่จะกระตุ้นให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงสิ่งที่เจริญ วัดอักษร ได้กระทำให้กับสังคมไทย ในฐานะผู้ดูแลปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงจัดให้มีการสร้างเหรียญเจริญ วัดอักษรขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่มอบให้กับนักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง ในการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย โดยผ่านกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การปกป้องทรัพยากร หรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนในทุกรูปแบบ
ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้มอบเหรียญเจริญ วัดอักษร แด่ ชุมชนบ่อนอก-บ้านกรูด (2547) พระอธิการเอนก จนทปญโญ เจ้าอาวาสวัดคลองศิลา (สันทรายคองน้อย) พระนักอนุรักษ์ลุ่มน้ำฝาง (2548) เครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อ.จะนะ จ.สงขลา (2549) อรุณี ศรีโต ผู้นำแรงงาน (2550) และกลุ่มอนุรักษ์แม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ (2551)