ที่มา มติชน
วิเคราะห์
ต้องถือว่ากรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัดสินใจก้าวล่วงเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกระบวนการสืบสวนสอบสวนคดีลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และการใช้อำนาจเข้าไปข้องเกี่ยวกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ
เป็นการลดความเชื่อมั่นในตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรีลงไปมากทีเดียว
นับตั้งแต่วันที่นายอภิสิทธิ์ เรียก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเข้าหารือ และออกมาให้สัมภาษณ์ว่า พล.ต.อ.พัชรวาทจะลาไปราชการต่างประเทศ เพื่อเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีตั้งรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติขึ้นมาปฏิบัติราชการแทน เพื่อให้การสืบสวนสอบสวนในคดีลอบยิงนายสนธิคืบหน้า
นับแต่วันนั้นจนถึงวันนี้
เครดิตของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรีก็มีแต่ต่ำเตี้ยลงเรื่อยๆ
ทั้งนี้เพราะหลังจากที่นายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่า พล.ต.อ.พัชรวาทเสนอทางออกเกี่ยวกับปัญหา "ตอ" ในคดีลอบยิงนายสนธิ ด้วยการ "ลาราชการ" เป็นเวลา 10 วัน แต่ พล.ต.อ.พัชรวาทกลับให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ได้เป็นคนเสนอเช่นนั้น
พล.ต.อ.พัชรวาทเพียงแต่บอกว่า มีกำหนดการเดินทางไปยังประเทศจีนเป็นเวลา 3 วัน และหลังจากกลับจากประเทศจีนแล้ว พร้อมทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม
คำปฏิเสธของ พล.ต.อ.พัชรวาท ทำให้คำพูดของนายอภิสิทธิ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีถูกบั่นทอน
อย่างไรก็ตาม ในภายหลังปรากฏว่า พล.ต.อ.พัชรวาทได้ทำหนังสือลาไปต่างประเทศเป็นเวลา 10 วัน โดยระบุว่าจะต้องกลับมาประเทศไทยในช่วงวันที่ 11-12 สิงหาคม เพื่อร่วมพระราชพิธีสำคัญ วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ขณะที่นายอภิสิทธิ์ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาการแทนตำแหน่งของพล.ต.อ.พัชรวาท
เหตุการณ์ทำท่าว่าจะทำให้เครดิตนายอภิสิทธิ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีกลับคืนมา
แต่การณ์กลายเป็นว่า เพียงไม่กี่วัน พล.ต.อ.พัชรวาทก็เดินทางกลับมาประเทศไทย พร้อมทั้งรายงานตัวต่อนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และทำหนังสือเวียนถึงผู้เกี่ยวข้องว่าได้กลับมาประเทศไทยแล้ว
เป็นเหตุให้ พล.ต.อ.วิเชียรต้องพ้นจากการรักษาการแทนตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไปโดยปริยาย
เรื่องราวยังไม่จบลงแค่นั้น เพราะเมื่อ พล.ต.อ.พัชรวาทกลับมาแล้ว ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียรเป็นรักษาการตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอีกครั้ง
แต่ครั้งนี้สร้างความแคลงใจ เพราะคำสั่งแต่งตั้ง "รักษาราชการแทน" นั้นไม่เหมือนกับคำสั่งแต่งตั้งให้ "ปฏิบัติราชการแทน"
คำสั่งให้ "รักษาการแทน" กระทำในกรณีที่ไม่มีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไม่สามารถทำงานได้
ส่วนการ "ปฏิบัติราชการแทน" เป็นการมอบอำนาจของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้ใครคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่แทน
ดังนั้น เมื่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียรเป็นรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จึงเกิดข้อสงสัยว่าระยะเวลาดังกล่าวใครคือผู้มีอำนาจในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกันแน่
การดำเนินการดังกล่าวคราวนี้ จึงเสมือนกับเป็นการลดเครดิตนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรีผู้ใช้อำนาจ
กระทั่งมีการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีใช้อำนาจไปเพื่อแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ทั้งนี้เพราะแต่ละครั้งที่ พล.ต.อ.พัชรวาทไม่อยู่ และ พล.ต.อ.วิเชียรรักษาราชการแทน ปรากฏว่ามีการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับบัญชีรายชื่อการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจทั้งสองครั้ง
สุดท้ายคือการประชุมคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. เพื่อเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ต่อจาก พล.ต.อ.พัชรวาท ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้
ข่าวแจ้งว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมได้เสนอชื่อ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ ขึ้นดำรงตำแหน่งต่อจาก พล.ต.อ.พัชรวาท
แต่ที่ประชุม จำนวน 11 คน กลับเด้งกลับ ด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 งดออกเสียง 2 คน
น่าสนใจตรงที่ หนึ่งในผู้ที่ค้านนายอภิสิทธิ์ คือ นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
ที่เหลือคือ นายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายเรวัต ฉ่ำเฉลิม ผู้ทรงคุณวุฒิ พล.ต.อ.สุเทพ ธรรมรักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการวางแผนหรือการบริหารจัดการ
และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ผลการลงคะแนนดังกล่าวเป็นการลงคะแนนแบบเปิดเผย ไม่ใช่ลงคะแนนลับ
เท่ากับว่าคณะกรรมการตำรวจแห่งชาติคัดค้านข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สำนักงานตำรวจแห่งชาติที่คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติคัดค้านนายกรัฐมนตรี
ถือเป็นการลดเครดิตนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในห้วงเวลาไม่ถึงเดือน
ดูเหมือนว่านายอภิสิทธิ์กำลังสะดุดขาตัวเอง และทุกๆ การกระทำของนายอภิสิทธิ์ล้วนกระทบต่อเครดิตของ "นายกรัฐมนตรี"
หรือบารมีของนายอภิสิทธิ์กำลังถดถอย ?