WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Sunday, March 28, 2010

ทหารในการเมืองไทย: ใครจะพานายพลพวกนี้ออกไป

ที่มา ประชาไท


ทหารมีบทบาทสำคัญในการเมืองไทยเสมอมานับแต่การปฏิวัติ 2475 จนถึงปัจจุบัน มีช่วงระยะเวลาสั้นๆ เพียงสามช่วงเท่านั้นในประวัติศาสตร์ยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ทหารลดบทบาททางการเมืองลงไป กล่าวคือ ช่วงปี 2487-2490 ช่วงปี 2516-2519 และ 2535-2549 เพราะพลังของกลุ่มอื่นๆในสังคมประสบความสำเร็จในการแทรกตัวเข้ามามีบทบาทในทางการเมืองมากขึ้น และเกิดการต่อสู้กันก่อนที่ฝ่ายทหารจะสามารถตีโต้เอาคืนมาได้ในที่สุด

ในประวัติศาสตร์ 77 ปีที่ผ่านมานั้น มีช่วงระยะเวลาสั้นๆเท่านั้นที่ทหารจำต้องถอยห่างออกไปจากการเมือง แต่เราก็ไม่อาจจะพูดได้เต็มปากว่า ทหารไม่ได้มีบทบาททางการเมืองเอาเสียเลย แม้แต่ในช่วงระยะเวลาค่อนข้างนานหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่ทหารไม่ปรากฏตัวอย่างชัดเจนในเวทีการเมือง จนนักสังเกตการณ์ทางการเมืองจำนวนมากพากันประกาศว่า เป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่ทหารจะกลับมาทำการรัฐประหารยึดอำนาจทางการเมือง แต่ในความเป็นจริงนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทหารได้ออกไปจากการเมืองหรือถูกทำให้ปลอดการเมือง (de-politicalization) อย่างสิ้นเชิง หากแต่ Duncan McCargo และ อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ ได้ชี้ให้เห็นว่าช่วงเวลาดังกล่าวเป็นระยะเวลาการปรับฐานะและตำแหน่งทางการเมืองของทหารต่างหาก [1] และสุดท้ายเราก็ได้เห็นทหารกลับเข้ามาในการเมืองอีกครั้งอย่างเต็มรูปแบบหลังการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 และยังคงสืบทอดอำนาจเพื่อแสดงฐานะและบทบาททางการเมืองอยู่ในจนถึงปัจจุบัน

แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วเราจะยังเห็น รัฐบาลพลเรือนอยู่ในอำนาจ มีนักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งได้มาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม แต่ในความเป็นจริงยุคสมัยปัจจุบันรัฐบาลพลเรือนที่ว่านั้นก็ไม่สามารถใช้อำนาจในฐานะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้อย่างเต็มที่ ตรงกันข้ามเราจะได้เห็นบทบาทของกองทัพค่อนข้างจะชัดเจนในหลายๆ เรื่อง และในหลายๆส่วนของการเมือง

มีวิธีการมากมายที่จะศึกษาบทบาทของทหารในการเมือง มีนักวิชาการจำนวนมากพยายามที่จะค้นหาคำตอบว่า มีปัจจัยและเงื่อนไขอะไรเป็นตัวกำหนดให้ทหารเข้ายึดอำนาจทางการเมือง ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ศึกษาข้ออ้างในการทำปฏิวัติ-รัฐประหาร [2] แล้วพบว่ามีข้ออ้างซ้ำไปซ้ำมาประมาณ 9 เรื่องที่ทหารไทยใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร เช่นเรื่องรัฐบาลและรัฐมนตรี เรื่องพระมหากษัตริย์ เรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องเสถียรภาพและความมั่นคง เรื่องทหารและกองทัพ เรื่องการแตกความสามัคคีของคนในชาติ เป็นต้น แต่ข้ออ้างพวกนี้ก็ไม่ได้บอกอะไรมากนักว่าทำไมและเมื่อไหร่ทหารจะเข้ามาสู่การเมือง เพราะเอาเข้าจริงทหารสามารถอ้างปัญหาทุกปัญหาเพื่อสร้างความชอบธรรมเข้ามายึดอำนาจทางการเมือง แต่โดยหลักๆแล้วทหารจะเข้ายึดอำนาจทางการเมืองเมื่อเกิดความยุ่งยากภายในประเทศ เมื่อทหารกับพลเรือนขัดแย้งกัน เมื่อทหารขัดแย้งกันเอง และ เมื่อทหารต้องการมีอำนาจมากขึ้นหรือพูดง่ายๆต้องการบริหารประเทศเสียเอง สรุปแล้วทหารจะยึดอำนาจเมื่อไหร่ก็ได้ ด้วยเงื่อนไขและปัจจัยอะไรก็ได้ การยึดอำนาจสองครั้งล่าสุดในประวัติศาสตร์คือในปี 2534 และ 2549 นั้นเป็นที่แน่ชัดว่า หากผู้นำเหล่าทัพประสงค์จะยึดอำนาจเป็นอันว่าทำได้โดยที่ไม่มีใครต้านทานได้ (หรือจริงๆแล้วไม่มีใครอยากจะต้านทาน)
พอล แชมเบอร์ส นักวิชาการชาวอเมริกัน ผู้ศึกษาบทบาททหารในการเมืองไทยคนหนึ่ง ได้เสนองานของเขา เรื่อง U-Turn to the Past?: The Resurgence of the Military in Contemporary Thai Politics ในการสัมมนาของสถาบันศึกษานานาชาติและความมั่นคง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเดือนกันยายน 2552 ได้เสนอกรอบในการวิเคราะห์บทบาททหารในการเมืองเอาไว้อย่างน่าสนใจ
บทวิเคราะห์ขนาด 100 หน้า กระดาษ A4 เริ่มต้นด้วยการพิจารณาความเป็นเอกภาพของทหารในกองทัพไทย แล้วจากนั้นได้เสนอกรอบในการวิเคราะห์ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างทหารและพลเรือน ซึ่งเป็นหัวใจของงานของเขาที่จะแสดงให้เห็นว่า ทหารไทยนั้นแตกต่างจากทหารพม่าอย่างสิ้นเชิง เพราะเมื่อทหารไทยยึดอำนาจแล้วไม่สามารถที่จะแสดงบทบาทผ่านสภาทหาร (junta) ไม่ว่าในชื่อใดๆ จะเป็นสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คณะมนตรีความมั่นคง ก็ตาม ก็ไม่สามารถที่จะปรากฏตัวในรูปแบบนี้ได้นานนัก จะต้องสลายตัวไปแล้วไปชักใยควบคุมการเมืองอยู่เบื้องหลัง [3]
ในแง่ความเป็นเอกภาพของทหารนั้น แชมเบอร์ส ชี้ว่า กองทัพไทยสมัยใหม่นั้นตั้งขึ้นมาในสมัยรัชการที่ 5 ได้นำเอาอุดมการณ์ในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นแกนกลางในการรักษาความเป็นเอกภาพ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 กองทัพได้เปลี่ยนอุดมการณ์มาปกป้องมาตุภูมิจากอริราชศัตรูที่หมายจะยึดครองประเทศให้เป็นอาณานิคม แต่นับจากปี 2490 จนถึงยุคสิ้นสุดสงครามเย็นทหารทำหน้าที่ในการต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ทั้งจากภายนอกและภายในประเทศ ซึ่งช่วงนี้เองที่ทหารได้เปลี่ยนแกนกลางของอุดมการณ์มาเป็นผู้พิทักษ์ราชบัลลังก์อีกครั้ง เพราะคอมมิวนิสต์นั้นเป็นภัยโดยตรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และอีกประการหนึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ประสบความสำเร็จในการยึดคืนพื้นที่ทางการเมืองโดยความช่วยเหลืออย่างเข้มแข็งของกองทัพในสมัย สฤษดิ์ ธนะรัชต์ [4] ทหารจึงได้ยึดเอาสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นแกนกลางทางอุดมการณ์เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพมาได้จนทุกวันนี้
นอกจากเรื่องอุดมการณ์แล้ว แชมเบอร์ส เห็นว่าบุคลากรในกองทัพสามารถเชื่อมโยงกันอยู่ได้ด้วย การแต่งงาน สายสัมพันธ์ทางเครือญาติและการเป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้นในบางกรณี บารมีส่วนบุคคลก็เป็นปัจจัยสำคัญในการเชื่อมโยงบุคลากรในกองทัพเอาไว้ด้วยกัน ตัวอย่างของจอมพล ป พิบูลสงคราม จอมพล สฤษดิ์ และในยุคปัจจุบันนี้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ กำลังใช้บารมีส่วนตัวในการสร้างเอกภาพในกองทัพเอาไว้ เครือข่ายของ “ลูกป๋า” มีส่วนอย่างสำคัญในการยึดโยงบุคคลากรจำนวนหนึ่งของกองทัพเอาไว้ด้วยกัน
ในแง่ของความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือนซึ่งแชมเบอร์สใช้เป็นกรอบในการวิเคราะห์บทบาทของทหารในการเมืองไทยนั้นจะพิจารณาว่าระหว่างทหารกับพลเรือนใครจะมีอำนาจในการควบคุม ตัดสินใจ และ กำหนด ทิศทางการเมืองได้มากกว่ากัน เขาได้แบ่งพื้นที่สำหรับการพิจารณาอำนาจการตัดสินระหว่างทหารและพลเรือนใน 5 ส่วนสำคัญคือ การคัดเลือกผู้นำ (elite recruitment) นโยบายสาธารณะ (public policy) ความมั่นคงภายใน (internal security) การป้องกันประเทศ (national defense) และองค์กรทางทหาร (military organization)
จากกรอบแนวการวิเคราะห์ดังกล่าว สามารถนำมาประยุกต์กับบทบาทของทหารในการเมืองไทย ก็จะสามารถบอกได้ถึงระดับความเข้มข้นมากน้อยของบทบาทของทหาร ดังต่อไปนี้
1 การคัดเลือกผู้นำ เนื่องจากในรัฐธรรมและกฎหมายอื่นใดของไทยมิได้ระบุเอาไว้อย่างชัดเจนว่าให้ทหารเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการคัดเลือกผู้นำเข้าสู่การเมือง กรณีอาจจะแตกต่างจากพม่า ซึ่งระบุเอาไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่าให้ทหารมีสัดส่วนและโควตาในระบบรัฐสภา 25 เปอร์เซ็นต์ แชมเบอร์ส พิจารณาเรื่องนี้จากการใช้อำนาจที่เป็นจริงของกองทัพไทยในการเข้าไปมีบทบาทในการคัดสรรผู้นำ ซึ่งเขาพบว่าในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้นทหารมีอำนาจและความสามารถในการคัดเลือกผู้นำเข้าสู่การเมืองได้แตกต่างกัน โดยเขาได้แบ่งยุคสมัยนับจากสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัน มาจนถึงปัจจุบันได้ 6 ยุคด้วยกัน คือสมัยพลเอกชาติชายเอง สมัยรัฐบาลทหารหนุนหลังการยึดอำนาจ 2534 ยุคหลังการต่อต้านทหารเดือนพฤษภาคม 2535 ยุคทักษิณ ชินวัตร ยุคการยึดอำนาจ 2549 แ ละ ยุคปัจจุบัน
ยุคสมัยพลเอกชาติชาย นั้นถือว่าเป็นยุคที่ทหารมีอิสระ (autonomy) รัฐธรรมนูญสมัยนั้นระบุว่า คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ แต่พลเอกชาติชายได้อาศัยพลังทางการเมืองนอกกองทัพ คือ พรรคการเมืองและเครือข่ายทางธุรกิจผลักดันตัวเองให้ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนพลเอกเปรมได้ และพลเอกชาติชาย มีอำนาจตามกฎหมายในการคัดสรรผู้นำเหล่าทัพเอง แต่นั่นเป็นไปโดยการต่อรอง ทางฝ่ายกองทัพนั้นไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการเข้ามาคัดเลือกผู้นำทางการเมืองก็ใช้การต่อรองเช่นกัน แชมเบอร์ส ถือว่า อำนาจรัฐบาลพลเรือนในสมัยนั้นอยู่ในระดับกลาง กล่าวคือไม่สามารถจะกำหนดทิศทางของประเทศได้ตามอำเภอใจ ยังต้องมีการต่อรองกับทางกองทัพในหลายเรื่อง
ในสมัยหลังการยึดอำนาจปี 2534 แน่นอนว่ากองทัพสามารถควบคุมการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ เป็นผู้คัดเลือกอานันท์ ปันยารชุนเข้าไปเป็นนายกรัฐมนตรีเอง และเมื่อมีการเลือกตั้งในเวลาต่อมา กลุ่มนายทหารที่คุมอำนาจในกองทัพก็ได้เข้าไปจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อหวังจะใช้เป็นฐานเข้าควบคุมการเมืองโดยผ่านการเลือกตั้ง หลังการเลือกตั้งมีการจัดตั้งรัฐบาลพลเอก สุจินดา คราประยูร หนึ่งในคณะผู้ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจจากพลเอกชาติชาย ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยตัวเอง
ยุคหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 กลุ่มพลเรือนได้ขับไล่ทหารออกไปจากการเมือง นายทหารหลายคนนับแต่พลเอกวิมล วงศ์วานิช (ในสมัยชวน หลีกภัย 1) จนถึงพลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ (ในสมัยชวน 2) ได้ใช้ทักษะและความสามารถส่วนตัว ประกอบกับบารมีของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พาตัวเองเข้าไปสู่ตำแหน่งสำคัญในกองทัพและสามารถแสดงอิทธิพลทางการเมืองได้ แต่ก็ถือว่าอำนาจในการร่วมตัดสินใจทางการเมืองของกองทัพในห้วงเวลานี้ค่อนข้างต่ำ ในขณะที่อำนาจของรัฐบาลพลเรือนมีอยู่ค่อนข้างสูง จากการจัดชั้นของ แชมเบอร์ส ถือว่าอำนาจพลเรือนในห้วงนี้เป็นระดับกลางสูง
ในยุคสมัยของทักษิณ ชินวัตร นั้นมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ทำให้อำนาจของรัฐบาลพลเรือนมีมาก ประการแรก รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ซึ่งเรียกกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ได้ให้อำนาจสิทธิขาดแก่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งค่อนข้างมาก รัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างขึ้นจากความประสงค์ของภาคประชาชนที่ต้องการจะเห็นความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์เกิดขึ้นในสังคมไทยหลังจากที่ได้ผ่านการต่อสู้นองเลือดกับฝ่ายทหารในปี 2535 มาแล้ว ประกอบกับทักษิณ อาศัยอำนาจทางธุรกิจของเขาและฐานมวลชนจากพรรคการเมืองผ่านระบบการเลือกตั้งทำให้พลเรือนมีอำนาจค่อนข้างสูงในยุคสมัยนี้ แชมเบอร์ส ประเมินว่า อาจจะเป็นอำนาจพลเรือนที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเลยก็ว่าได้
แต่อำนาจพลเรือนของทักษิณ มีอายุแค่ 5 ปี กองทัพประสบความสำเร็จในการ “เอาคืน” โดยอาศัยพลังมวลชนหนุนหลังทำการยึดอำนาจทักษิณได้สำเร็จในเดือนกันยายน 2549 ทหารกลับเข้าสู่การเมืองอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง สภาทหารที่รู้จักกันในนาม คณะปฏิรูปการปกครองเพื่อประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คัดเลือกนายกรัฐมนตรีและฝ่ายนิติบัญญัติด้วยตัวเอง พร้อมทั้งวางรากฐานให้ทหารสามารถใช้อำนาจควบคุมการเมืองได้ในอนาคตผ่านกลไกที่เรียกว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีบทบาทสูงในยุคสมัยสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ และมีกฎหมายที่ว่าด้วยกฎหมายความมั่นคงภายใน ทหารมีบทบาททางการเมืองได้อย่างต่อเนื่องมาจนกระทั่งหลังการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550 และยังคงมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมาจนกระทั่งปัจจุบัน
แน่นอนแม้ว่าจะไม่มีระบุเอาไว้ในกฎหมายใด แต่กองทัพในยุคสมัยปัจจุบัน สามารถใช้อำนาจและอิทธิพลในทางความเป็นจริงจัดตั้งรัฐบาลได้ โดยการบีบบังคับให้กลุ่มที่เคยสวามิภักดิ์กับทักษิณ เปลี่ยนขั้วมาหนุนพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลได้ ก่อนหน้าที่จะได้รัฐบาลที่ทหารต้องการ กองทัพก็ได้แสดงอำนาจและอิทธิพลหลายต่อหลายครั้งเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาล พลเอก อนุพงศ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก เคยพาคณะนายทหารผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหลายออกรายการโทรทัศน์ เรียกร้องให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ ก่อนหน้านี้กองทัพก็ปฎิเสธสมัคร สุนทรเวช ในฐานะนายกรัฐมนตรีในอันที่จะใช้กำลังเข้าปราบปรามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งบุกยึดทำเนียบรัฐบาล พิจารณาในแง่นี้หมายความว่า อำนาจของพลเรือนในการคัดสรรผู้นำเข้าสู่การเมืองลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยทักษิณ ในขณะที่อำนาจของฝ่ายทหารในการกำหนดผู้นำทางการเมืองเพิ่ม
2 นโยบายสาธารณะ โดยหลักการแล้วการกำหนดนโยบายสาธารณะควรจะเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาล นับจากยุคสมัยพลเอกชาติชายเป็นต้นมา รัฐบาลมีความประสงค์อย่างชัดแจ้งที่จะทำให้การใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพมีความโปร่งใส กองทัพจะต้องตอบคำถามเรื่องการใช้จ่ายต่อรัฐสภา ในสมัยพลเอกชาติชายนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดว่ารัฐบาลเป็นผู้ดำเนินนโยบายต่างๆเอง แม้แต่นโยบายต่างประเทศต่อเพื่อนบ้านซึ่งเคยอยู่ในมือกองทัพมาตลอดยุคสมัยสงครามเย็น ก็มีการเปลี่ยนแปลงมาอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง พลเอกชาติชาย ได้ประกาศนโยบายแปรสนามรบเป็นตลาดการค้าโดยไม่ได้นำพาต่อท่าทีของกองทัพแต่อย่างใดเลย และในสมัยต่อๆมาทหารก็ไม่ได้นั่งอยู่ในใจกลางของนโยบายต่างประเทศต่อประเทศเพื่อนบ้านอีกต่อไป ยิ่งในสมัยทักษิณ นั้นเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้กำหนดนโยบายและดำเนินนโยบายทั้งหมด แชมเบอร์ส กล่าวว่า มีเพียงนโยบายต่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านผู้ก่อการร้ายเท่านั้นที่รัฐบาลทักษิณฟังเสียงกองทัพในการดำเนินนโยบายตามทิศทางของสหรัฐ แต่ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า ทักษิณไม่ได้รับฟังความเห็นจากกองทัพเสียทั้งหมด หากแต่เป็นผู้กำหนดเองเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้แต่นโยบายทางด้านความมั่นคงในเรื่องสถานการณ์ภาคใต้ก็กำหนดโดยรัฐบาลไม่ใช่กองทัพ
กองทัพเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายสาธารณะอย่างเต็มที่หลังการยึดอำนาจปี 2549 เพราะรัฐบาลในเวลานั้นมาจากการแต่งตั้งของทหาร รัฐบาลกับกองทัพและสภาทหารในเวลานั้นถือว่าเป็นหนึ่งเดียว แม้ว่าจะมีข่าวคราวความไม่ลงรอยกันบ้างหรือสภาทหารไม่สามารถบังคับรัฐบาลได้เนื่องจากนายกรัฐมนตรีมีอาวุโสกว่าผู้นำการยึดอำนาจและทั้งเคยเป็นผู้บังคับบัญชาก็ตาม แต่ไม่ได้ทำให้การกำหนดนโยบายระหว่างรัฐบาลและทหารในเวลานั้นมีความแตกต่างกันแต่อย่างใดเลย
หลังการเลือกตั้งในปี 2550 แล้วรัฐบาลที่มาใหม่ซึ่งเป็นผู้ภักดีต่อทักษิณ ประสบกับปัญหาว่ากองทัพไม่ยอมทำตามนโยบายของรัฐบาล กองทัพใช้งบประมาณของรัฐผ่านกลไกของตัว ดำเนินโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาชนบท เพื่อสร้างเครือข่ายต่อต้านทักษิณ ซึ่งก็คือการต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งบังเอิญนำโดยพรรคการเมืองที่ทักษิณให้การสนับสนุน แต่หากมองในแง่ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือนแล้วก็จะพบว่า กองทัพมีอำนาจในเชิงนโยบาย
ในยุคสมัยปัจจุบัน รัฐบาลของอภิสิทธิ เวชชาชีวะ มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องพึ่งพิงกองทัพ รัฐบาลจำเป็นต้องมอบนโยบายสาธารณะหลายด้านให้กับกองทัพ เช่นกระทรวงกลาโหมจะต้องอยู่ในมือของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตนายทหาร ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีในฐานะรุ่นพี่รุ่นน้องและอดีตผู้บังคับบัญชาของผู้บัญชาการทหารบกคือ พลเอก อนุพงศ์
3 ความมั่นคงภายใน รัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆในปัจจุบัน เช่นกฎหมายความมั่นคงภายใน ได้บัญญัติรับรองการใช้อำนาจของกองทัพในการรักษาความมั่นคงภายในเอาไว้อย่างชัดเจน ทั้งๆที่โดยหลักการแล้วงานรักษาความสงบภายในเป็นงานของตำรวจ แต่ด้วยอำนาจและอิทธิพลทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาจากการยึดอำนาจของกองทัพ ทำให้งานทางด้านความมั่นคงภายใน ต้องอยู่ในมือของกองทัพ แม้ว่าในการปฏิบัติจริงอาจจะต้องนำกำลังตำรวจมาใช้ร่วมด้วย แต่ในแง่การบังคับบัญชาก็ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองทัพทั้งสิ้น รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร คือรัฐบาลพลเอก สุรยุทธ จุลานนท์ เป็นผู้ทำโครงสร้างใหม่และชุบชีวิตของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จากองค์กรที่กำลังจะหมดภารกิจยุคหลังสงครามเย็นให้สามารถเกิดขึ้นใหม่และมีบทบาทนำในการรักษาความมั่นคงภายในได้และมีกฎหมายรองรับอำนาจหน้าที่เอาไว้อย่างชัดเจน
รัฐบาลภายใต้การนำของอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ต้องประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงภายในหลายครั้งหลายครา เพียงเพื่อจะควบคุมการประท้วงของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการเท่านั้น ในหลายกรณีการใช้กฎหมายดังกล่าวเพื่อให้อำนาจและงบประมาณแก่ฝ่ายทหารในควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศก็เป็นไปอย่างพร่ำเพรื่อ เพียงเพราะมี “รายงานข่าว” ว่าผู้ประท้วงสวมเสื้อสีแดงจะก่อความวุ่นวายเท่านั้นเอง หลายต่อหลายครั้งที่มีการประกาศบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเอิกเกริก โดยที่ปรากฏว่ามีผู้มาชุมนุมกันโดยสงบในจำนวนเพียงเล็กน้อย ลำพังเจ้าหน้าที่ปราบจลาจลธรรมดาก็สามารถรักษาความสงบได้ แม้ว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีหน่วยปราบจลาจลอยู่แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นเจตนาของรัฐบาลที่จะใช้กำลังทหารมาปฏิบัติงานของตำรวจอยู่เรื่อยๆ ในด้านหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลไม่ไว้ใจตำรวจที่ได้ชื่อว่ามีสายสัมพันธ์อันดีกับศัตรูของรัฐบาลคือ ทักษิณ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นสร้างและเสริมบทบาทของกองทัพให้ออกมาปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศ จนปัจจุบันเกือบจะเป็นงานหลักของกองทัพไปโดยปริยาย
ยังไม่นับงานทางด้านความสงบเรียบร้อยในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกิดความรุนแรงมาตั้งแต่ต้นปี 2537 ซึ่งแน่นอนว่าเป็นปัญหาความมั่นคงภายในมากกว่าจะเป็นปัญหาอย่างอื่น กองทัพก็เข้าควบคุมและรับผิดชอบอย่างเต็มรูบแบบมาตั้งแต่ยุคหลังการยึดอำนาจ 2549 เป็นต้นมา ความพยายามของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะออกกฎหมายเพื่อให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ สงขลา ก็ได้รับการต่อต้านจากกองทัพ นโยบายที่จะใช้ “การเมืองนำการทหาร” เพื่อแก้ไขปัญหาภาคใต้ไม่สามารถทำให้เป็นจริงได้ [5] สุดท้ายก็ต้องหาทางประนีประนอมโดยกฎหมายใหม่ของศอ.บต. กำหนดว่าองค์กรนี้ ซึ่งจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการเองนั้นจะทำงานทางด้านพัฒนา ส่วนกอ.รมน. ก็ยังคงทำหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงดังเดิม ความคิดที่จะให้พลเรือนเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้นั้นเป็นอันพับไป รัฐบาลพลเรือนในยุคปัจจุบันไม่มีอำนาจมากพอที่จะดึงงานทางด้านการรักษาความมั่นคงภายในมาอยู่ในมือของตนเองได้
4 การป้องกันประเทศ แน่นอนทีเดียวงานป้องกันประเทศเป็นงานของกองทัพแต่ไหนแต่ไรมา แทบจะไม่มีใครสงสัยในเรื่องนี้เลย แต่ประเด็นสำคัญที่จะต้องอภิปรายกันคือ ในประเทศที่ปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับเลือกตั้งและอาณัติทางการปกครองมาจากผู้ลงคะแนนเลือกตั้งต้องรับผิดชอบทุกอย่างรวมทั้งการป้องกันประเทศตามอาณัติทางการเมืองที่ได้รับมาด้วย ในสหรัฐอเมริกา ผู้ที่กำหนดโยบายในการป้องกันประเทศและรับผิดชอบต่อนโยบายนั้นคือประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกตั้งมา ในประเทศอื่นๆที่มีการปกครองในระบบเลือกตั้งส่วนใหญ่แล้วรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องรับผิดชอบต่อนโยบายป้องกันประเทศนี้ด้วยเช่นกัน กองทัพก็เป็นแต่เพียงกลไกอย่างหนึ่งที่ใช้ในการป้องกันประเทศ กองทัพจะไม่สร้างนโยบายในการป้องกันประเทศเอง หากแต่จะต้องดำเนินการตามนโยบายที่นักการเมืองเป็นผู้นำและผู้กำหนด ในหลักการทั่วไป ประเทศไทยก็ต้องดำเนินแนวทางเช่นนั่นด้วยเหมือนกัน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็ต้องรับผิดชอบต่อนโยบายป้องกันประเทศด้วย แต่เนืองจากภัยความมั่นคงจากนอกประเทศของไทยส่วนใหญ่ในอดีตมาจากเพื่อนบ้าน และคำนึงถึงว่าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่แล้วยังไม่ได้มีการปักปันกันชัดเจนมากนักภาระหน้าที่ในการปกป้องความมั่นคงตามแนวชายแดนจึงอยู่ในมือกองทัพมาโดยตลอด นโยบายในการป้องกันประเทศในระยะที่ผ่านมา คือการป้องกันภัยจากเพื่อนบ้านก็อยู่ในมือกองทัพ จนกระทั่งสมัยพลเอกชาติชาย ได้มีการนิยามภัยความมั่นคงจากภายนอกกันใหม่ ทำให้เพื่อนบ้านไม่ได้เป็นภัยต่อความมั่นคงอีกต่อไป หากแต่กลายเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกันมากกว่า ทำให้ภาระหน้าที่ของกองทัพในการปกป้องภัยจากภายนอกหมดลงไปโดยปริยาย ภัยจากภายนอกก็มีเพียงการปะทะกันตามแนวชายแดนเท่านั้น ในหลายกรณีเช่นชายแดนทางด้านพม่า ไม่ได้เป็นการปะทะกันโดยตรงระหว่างทหารไทยกับทหารพม่า หากแต่ทหารพม่าปะทะกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยแล้วเกิดลูกหลงตกมาในเขตไทย หรือ มีผู้อพยพ หรือแม้แต่ทหารของชนกลุ่มน้อยติดอาวุธหนีการปราบปรามของพม่าเข้ามาเขตไทยเท่านั้นเอง หรือบางครั้งเป็นแค่กลุ่มกองกำลังค้ายาเสพติดลักลอบเข้ามาส่งยาเสพติด ไม่ใช่ภัยที่เกิดจากความพยายามที่จะโจมตีประเทศไทยแต่อย่างใด ทั้งหมดนั้นทำให้ภาระหน้าที่ของกองทัพที่มีต่องานทางด้านการป้องกันประเทศเปลี่ยนแปลงไปด้วย
หลังยุคพลเอกชาติชาย เป็นต้นมารัฐบาลพลเรือนจึงรับผิดชอบต่อนโยบายการป้องกันประเทศด้วย ในสมัยทักษิณ เกิดความขัดแย้งในเรื่องการป้องกันประเทศระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้บัญชาการทหารบก คือ พลเอก สุรยุทธ เนื่องจากกองทัพมีการปะทะกับทหารพม่าที่ชายแดนด้านจังหวัดเชียงราย สร้างความไม่พอใจให้กับนายกรัฐมนตรีซึ่งประสงค์จะมีความสัมพันธ์อันดีกับพม่า จนเกิดกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้นว่ากระทำการเกินกว่าเหตุ(overreact) เกินคำสั่งของรัฐบาล แต่สุดท้ายรัฐบาลก็สามารถดำเนินการปรับความสัมพันธ์กับพม่าได้ โดยที่กองทัพต้องถอยห่างออกมาปล่อยให้การดำเนินนโยบายในการป้องกันประเทศอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาล
มาถึงยุคสมัยปัจจุบันรัฐบาลของอภิสิทธิ์ ต้องประนีประนอมกับกองทัพอย่างมาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คือ พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ นั้นในความเป็นจริงคือผู้แทนของกองทัพในคณะรัฐมนตรีมากกว่าจะเป็นผู้แทนของฝ่ายการเมือง รัฐบาลพลเรือนดำเนินโยบายทางด้านการป้องกันประเทศส่วนใหญ่แล้วจะผ่านสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และองค์ประกอบอื่นๆของสภานี้ก็มาจากฝ่ายทหารเป็นสำคัญ โดยมีเจ้าหน้าที่อาวุโสจากกระทรวงอื่นๆเป็นส่วนประกอบ ตัวเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติคือ ถวิล เปลี่ยนสี นั้นเลือกโดยนายกรัฐมนตรีและถวิล เป็นพลเรือนที่เป็นลูกหม้อของสภาความมั่นคงแห่งชาติเพราะเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาฯมาก่อน ในทัศนะของแชมเบอร์ส องค์ประกอบในการดำเนินโยบายในการป้องกันประเทศแบบนี้เป็นลักษณะของการประนีประนอมกันระหว่างกองทัพกับรัฐบาลพลเรือน โดยฝ่ายกองทัพควบคุมกระทรวงกลาโหม ส่วนรัฐบาลพลเรือนดำเนินการผ่านสภาความมั่นคงแห่งชาติ
5 องค์กรทหาร เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาในรายละเอียดค่อนข้างมาก เพื่อที่จะได้มองเห็นบทบาทของทหารในการเมือง แชมเบอร์ส เสนอว่าจะต้องพิจารณาองค์กรทหารในหลายมิติ ตั้งแต่เรื่องหลักการที่ยึดถือ (doctrine) พันธกิจ (mission) กฎหมายทหาร การศึกษาของทหาร งบประมาณทหาร และการเลื่อนลดปลดย้ายบุคลากรในกองทัพ ว่ามีลักษณะเช่นไร
หลักการที่ทหารยึดถือและพันธกิจของทหารนั้นมีปรากฏอยู่ในหลายที่ แชมเบอร์ส ศึกษาเรื่องนี้โดยดูตั้งแต่พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานแก่ทหารในโอกาสต่างๆ ในเดือนธันวาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า หน้าที่หลักของทหารคือป้องกันชาติและปกป้องอธิปไตยของชาติ และรักษาเอกราชของชาติ แต่ทหารก็ยังมีหน้าที่อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญเท่าๆกันคือ การบรรเทาทุกข์และงานพัฒนาซึ่งจะนำมาซึ่งความสุข ความเจริญมาสู่ประเทศชาติ
พื้นฐานสำคัญของหน้าที่ทหารประการหนึ่งที่สร้างมาตั้งแต่สมัยสฤษดิ์คือการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ไปพร้อมๆกับการปกป้องอธิปไตยของชาติ และในหนังสือปกขาวที่จัดทำขึ้นในปี 2537 ก็พูดถึงบทบาทภาระหน้าที่ของทหารเอาไว้เช่นเดียวกัน ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ไม่ได้บัญญัติอะไรเป็นพิเศษเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของกองทัพเป็นการเฉพาะเจาะจง แม้แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ซึ่งเป็นฉบับที่จัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีทหารหนุนหลังก็ไม่ได้เขียนอะไรไว้ละเอียดนัก เพียงแต่ได้บัญญัติเอาไว้ในหมวดพระมหากษัตริย์ มาตรา10 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นจอมทัพไทย และในหมวดที่ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ฉบับปี 2550 จะกล่าวได้ละเอียดกว่าฉบับ 2540 เล็กน้อยเพราะได้แบ่งหมวดว่าด้วยแนวนโยบายทางด้านความมั่นคงของรัฐ ในมาตรา 77 บัญญัติไว้ว่า “รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตยและบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐ และต้องจัดให้มีกำลังทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์ และเทคโนโลยีที่ทันสมัย จำเป็นและเพียงพอ เพื่อพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเพื่อการพัฒนาประเทศ” [6]แต่ในรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้พูดถึงบทบาทกองทัพ หากแต่กำหนดให้รัฐ (เข้าใจว่า state ไม่ใช่ government) ให้มีหน้าที่จัดหา กำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพ และเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จัดทำโดยทหาร จึงได้ย้ำคิดย้ำทำกับเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์และเอาอกเอาใจกองทัพมากกว่าฉบับปี 2540
ในแง่กำลังพลและงบประมาณนั้น มีการขยายตัวอย่างมากในระยะหลังจากปี 2547 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ของประเทศ ซึ่งทำให้กองทัพได้ขยายบทบาทอย่างมากในการรักษาความสงบเรียบร้อย ประกอบกับการรัฐประหารในปี 2549 ก็ยิ่งทำให้กองทัพสามารถที่จะขยายตัวได้อีกมาก การใช้จ่ายทางทหารของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากการรัฐประหารในปี 2549 กล่าวคือ งบประมาณเพิ่มจาก 2,373 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือ ประมาณ 78,000 ล้านบาทในปีก่อนการยึดอำนาจมาเป็น 4,500 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 148,500 ล้านบาทในปี 2552 หรือคิดเป็นเกือบ 2 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ความสามารถในการเพิ่มงบประมาณของกองทัพในระยะเวลาที่ประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจนั้นบ่งบอกอย่างชัดเจนแล้วว่า กองทัพมีอำนาจสูงเพียงใดในทางการเมืองจึงสามารถเรียกร้องงบประมาณจากรัฐบาลได้อย่างมาก
การเลื่อน-ลด-ปลด-ย้ายกำลังพลในกองทัพหลังการยึดอำนาจยิ่งบ่งบอกอำนาจของทหารในทางการเมืองได้มาก รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลภายใต้การนำของสมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ อภิสิทธิ เวชชาชีวะ ไม่กล้าแตะต้องโผโยกย้ายประจำปีของเหล่าทัพเลยแม้แต่น้อย เฉพาะอย่างยิ่งการแต่งตั้งโยกย้ายประจำปี 2552 ในสมัยของอภิสิทธิ์ เป็นสิทธิขาดของกองทัพและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งมอบความไว้วางใจให้กับผู้นำเหล่าทัพในการจัดทำบัญชีโยกย้ายตามที่เห็นสมควร ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลสมัยก่อนการยึดอำนาจปี 2549 ที่มักจะมีข่าวว่ารัฐบาลหรือนักการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บัญชาการเหล่าทัพอย่างมาก
ในยุคสมัยปัจจุบันเป็นยุคที่ แชมเบอร์ส สรุปว่า เป็นยุคสมัยที่กองทัพเป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งโดยแท้ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น พลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม คือผู้แทนของกองทัพที่ส่งมาอยู่ในรัฐบาล แทนที่จะเป็นผู้แทนของรัฐบาลพลเรือนที่ส่งมาดูแลกองทัพตามอาณัติจากการเลือกตั้งเหมือนประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเลือกตั้งทั่วๆไป พลเอกประวิตร เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 6 และเป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่น 17 เป็นเพื่อนร่วมรุ่นพลเอก สนธิ บุญรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบกที่นำการยึดอำนาจทักษิณ และเขายังเป็นทหารเสือราชินี รุ่นพี่และอดีตผู้บังคับบัญชา พลเอก อนุพงศ์ ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบันและพลเอกประยุทธ จันโอชา เสนาธิการทหารบก ความเป็นทหารเสือราชินี ทำให้ผู้นำทางทหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกองทัพบกนั้นใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างยิ่ง และด้วยสถานภาพเช่นนี้เองที่ทำให้ผู้บัญชาการทหารสามารถมีอิทธิพลทางการเมืองสูงเหนือรัฐบาลพลเรือน
แชมเบอร์ส ทำนายว่า ด้วยความสัมพันธ์และเส้นสายในลักษณะนี้เอง ทหารจะอยู่ในการเมืองในลักษณะนี้ไปได้อีกนาน เพราะลักษณะเช่นนี้เป็นส่วนผสมที่ค่อนข้างลงตัว พวกนายพลเหล่านี้จะทำงานอยู่เบื้องหลังรัฐบาลอภิสิทธิซึ่งเชื่อฟังกองทัพ ภายใต้คำปรึกษาและชี้แนะจากพลเอกเปรม
กองทัพได้เรียนรู้จากความเปลี่ยนแปลงในหลายยุคหลายสมัยแล้วว่า การเข้าไปบริหารประเทศโดยตรงหรือการไปยืนแถวหน้าในการเมืองอย่างโดดเด่นนั้นไม่เป็นผลดี เพราะกองทัพและบรรดาผู้บัญชาการทหารเหล่านี้จะตกเป็นเป้าของการโจมตีจากกลุ่มพลังอื่นๆในสังคมที่ก็เติบโตขึ้นมาพร้อมๆกับกระบวนการในการสร้างประชาธิปไตยในช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน ตรงกันข้ามการควบคุมการเมืองโดยผ่านรัฐบาลที่อ่อนแอแบบนี้จะทำให้กองทัพและผู้บัญชาการทหารได้ประโยชน์มากกว่า
รัฐบาลที่อ่อนแอเหล่านี้ ผ่านมาและก็ผ่านไป กองทัพจะเปลี่ยนแปลงเสียเมื่อไหร่ก็ได้เมื่อเห็นว่าหมดประโยชน์หรือไร้ค่า แต่กองทัพที่เข้มแข็งจะต้องอยู่ต่อไป
............
[1] Duncan McCargo and Ukrist Pathmanand. The Thaksinization of Thailand. (Copenhagen: NIAS Press, 2005) pp. 121-157
[2] ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ข้ออ้างในการทำปฏิวัติ-รัฐประหาร (กรุงเพทฯ:มูลนิธิโครงการตำรา, 2550) หน้า 41
[3] แชมเบอร์ส ไม่ได้ศึกษาเปรียบเทียบทหารไทยกับทหารพม่า แต่ผู้เขียนเห็นว่า อาจจะทำให้เห็นภาพชัดมากขึ้นว่าทหารมีรูปแบบการเข้าควบคุมการเมืองแตกต่างกันอย่างไร กล่าวคือ ทหารพม่าเข้าบริหารประเทศโดยตรงอย่างต่อเนื่องหลังจากการยึดอำนาจ แต่ทหารไทยต้องหาคนมาทำแทนอยู่เสมอๆ เพื่อที่จะปัดความรับผิดชอบในความล้มเหลวไปให้ผู้ที่มาทำแทน
[4] ทักษ์ เฉลิมเตียรณ การเมืองในระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2526)
[5] มาร์ค แอสคิว “การเมืองนำประชาธิปัตย์ นโยบายดับไฟใต้ที่ไม่มีอะไรพิเศษ” ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ http://www.deepsouthwatch.org/node/471
[6] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550