ที่มา Thai E-News
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
3 เมษายน 2553
แถลงการณ์ สนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของนปช.
คืนอำนาจอธิปไตยให้ประชาชน ทุกคนเท่ากัน หนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง
ความขัดแย้งทางการเมืองไทยในปัจจุบัน ระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย นำโดย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กับรัฐบาลอภิสิทธิ์ ตัวแทนระบอบอำมาตยาธิปไตย เป็นความขัดแย้งทางชนชั้นอีกรูปแบบหนึ่ง และสะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างไพร่ผู้ไร้อภิสิทธิ์ไม่มีเส้นกับผู้ดีอำมาตย์อภิสิทธิ์ชนในสังคมทุนนิยมไทยสมัยปัจจุบัน
ความขัดแย้งทางการเมืองถึงขั้นวิกฤตในครั้งนี้ เริ่มต้นจากการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยการกระทำการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งได้เอื้อให้อำนาจนอกระบบอำนาจอำมาตย์ครองอำนาจเหนือทางการเมือง ตลอดทั้งมีขบวนการและกระบวนการลดทอนเบียดขับอำนาจของประชาชนผู้ใช้สิทธิของตนเองผ่านการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรโดยการรัฐประหารซ่อนรูปและอำนาจของกระบวนการยุติธรรมอย่างน่าประณามยิ่ง ในที่สุดการครองอำนาจของฝ่ายอำมาตย์ ก็ผ่านการจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ ในค่ายทหารพื้นที่กองทัพ
ขณะที่ประชาชนผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม จำนวนมหาศาลและกว้างใหญ่ไพศาล ก็หาได้สยบยอมจำนนต่ออำนาจอธรรมดังกล่าว กลับมีความกระตือรือร้นต่อสู้คัดค้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรม นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สังคมการเมืองไทยที่ประชาชนได้ร่วมมือกันต่อสู้อย่างกล้าหาญท้าทายกับระบอบอำมาตยาธิปไตยที่ครอบงำสังคมไทยมายาวนาน เพื่อเสรีภาพ เสมอภาค ความเป็นธรรม และเพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้ง ณ ปัจจุบันนี้ จะนำพาสังคมไทยสู่ทางสองแพร่ง ระหว่าง เส้นทางสู่ความล้าหลังด้อยพัฒนาค่ำครึของระบอบเผด็จการอำมาตยาธิปไตย กับเส้นทางที่สู่การพัฒนาประชาธิปไตยให้ก้าวหน้าและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นได้
เราในนามองค์กรข้างล่าง ล้วนเป็นผู้ใช้แรงงานทั้งในเมืองในชนบท ในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ในฐานะสำนึกแห่งไพร่ ที่ต้องปลดปล่อยพันธการระบอบอำมาตย์และระบบทุนนิยมล้าหลังให้หมดสิ้น เพื่อเอาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กลับคืนมา
เราในฐานะผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ประเทศ มีข้อเรียกร้องและความคิดเห็นต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบันดังนี้
1. เราขอสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างสันติวิธีของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) องค์กรนำในการเคลื่อนไหวในครั้งนี้
2. เราขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจยุบสภาตามข้อเรียกร้องของนปช. เพื่อคืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชน ผู้เป็นเจ้าของประเทศโดยแท้จริง เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่นับวันรุนแรงมากยิ่งขึ้นอย่างสันติวิธี เพื่อดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยซึ่งทุกคนไม่ว่าไพร่หรือผู้ดี มีหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงเท่ากันในการเลือกผู้บริหารผู้ปกครองประเทศ
3. เรามีความคิดเห็นว่า รัฐบาล พรรคการเมือง ร่วมรัฐบาล และองค์กรต่างๆ ต้องยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ในขณะนี้ และควรให้อำนาจประชาชนมีกระบวนการส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เพื่อขยายพื้นที่ประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ขึ้น เช่น การให้สิทธิผู้ใช้แรงงานเลือกตั้งตัวแทนในสถานที่ประกอบการ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นทุกระดับ การกระจายการถือครองที่ดิน การมีมาตรการภาษีที่ก้าวหน้า การสร้างรัฐสวัสดิการ เป็นต้น
4. เราขอเรียกร้องให้เครือข่ายของระบอบอำมาตยาธิปไตย ทั้งพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย กลุ่มสว. 40 ตลอดทั้งสื่อมวลชนและนักวิชาการบางส่วน โดยการยุติพฤติกรรมสร้างภาพ บิดเบือน ใส่ร้าย ทำลายความชอบธรรมการชุมนุมอย่างสันติวิธีของนปช. และให้เคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
5.ท่ามกลางการเรียกร้องให้ยุบสภา นายประเวศ วะสี กลุ่ม 40 สว และองค์กรต่างๆซึ่งล้วนมีจุดยืนเพื่อระบอบอำมาตยาธิปไตย นั้น ได้เสนอให้มีการปฏิรูปประเทศไทย แท้จริงแล้ว เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อบิดเบือนประเด็นการต่อสู้ของนปช. นั่นเอง
6. เรามีความคิดเห็นว่า การปฏิรูปโครงสร้างความเลื่อมล้ำในสังคมไทย การปฏิรูปประเทศไทย ที่ผ่านมาและเป็นอยู่นั้น อุปสรรคสำคัญเกิดจาก ระบอบอำมาตยาธิปไตยที่รวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลางและระบบราชการ การปฏิรูปประเทศไทยจึงต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในลักษณะต่างๆ เช่น เสนอกฎหมายโดยตรง ที่สำคัญ พรรคการเมืองต่างๆต้องเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือก ขณะที่องค์กรต่างๆก็เสนอนโยบายเพื่อผลักดันกดดันต่อพรรคการเมืองได้เช่นกัน
ดังนั้น จึงต้องเริ่มต้นด้วยยุบสภา คืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชน
ลงนามโดย
1.เครือข่ายองค์กรชุมชนแก้ปัญหาที่ดินภาคอีสาน (คอป.อ.)
2. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์น้ำเซิน (คอซ.)
3. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านลุ่มน้ำปาว (คอป.)
4. เครือข่ายอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภูค้อ-ภูกระแต จังหวัดเลย
5. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ภาคอีสาน (คอส.)
6. แนวร่วมเกษตรกรภาคอีสาน (นกส.)
7. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ลุ่มน้ำโขง จังหวัดอุบลราชธานี
8. กลุ่มสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมอีสาน (กสส.)
9. กลุ่มดงมูลเพื่อการพัฒนา จังหวัดกาฬสินธุ์
10. เครือข่ายอนุรักษ์ภูผาเหล็ก จังหวัดอุดรธานี
11. กลุ่มภูพานเพื่อการพัฒนา จังหวัดสกลนคร
12. เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน จังหวัดชัยภูมิ
13. กลุ่มประชาชนไทยแวงน้อย-แวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น
14. กลุ่มเยาวชนมิตรภาพ จังหวัดขอนแก่น
15. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์น้ำพรมตอนต้น จังหวัดชัยภูมิ
16. กลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ลุ่มน้ำบัง จังหวัดนครพนม
17. เครือข่ายคนรุ่นใหม่ยโสธร จังหวัดยโสธร
18. สหพันธ์เยาวชนอีสาน (สยส.)
19. กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ (นกน.)
20. ชมรมส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือตอนล่าง
21. เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู จังหวัดพิษณุโลก
22. เครือข่ายส่งเสริมสิทธิการจัดการทรัพยากรภาคเหนือตอนล่าง (คสปล.)
23. สหพันธ์เยาวชนคลองเตย (สยค.)
24. เครือข่ายองค์กรชุมชนคลองเตย
25. เครือข่ายชุมชนเมืองบ่อนไก่ กทม.
26. กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ
27. เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชนเขลาโคก จังหวัดร้อยเอ็ด
28. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
29.กรรมกรแดงเพื่อประชาธิปไตย
30.องค์กรเลี้ยวซ้าย
31.กลุ่มประกายไฟ