ที่มา ประชาไท อนุสนธิจากจดหมายเปิดผนึกของเครือข่ายสันติประชาธรรม อันประกอบด้วยนักวิชาการและประชาชนกว่า 250 คน ถึงนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และแกนนำ นปช. เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ได้มีผู้ตั้งคำถามอย่างกว้างขวางว่า อะไรคือเหตุผลรองรับของการเสนอให้รัฐบาลประกาศยุบสภาภายใน 3 เดือน ทางเครือข่ายฯ จึงใคร่ชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อสร้างความเข้าใจแก่ทั้งฝ่ายรัฐบาล นปช. และประชาชนทั่วไป ดังนี้ 1. การยุบสภาเป็นหนทางที่เหมาะสมที่สุดในภาวะที่บ้านเมืองกำลังเผชิญกับทางตัน รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศต่อไปได้ การเผชิญหน้าระหว่างกองกำลังของรัฐและมวลชนเสื้อแดงอาจกลายเป็นเงื่อนไขไปสู่การปะทะและปราบปรามผู้ชุมนุม และเปิดโอกาสให้การรัฐประหารได้ในที่สุด จริงอยู่ แม้ว่าการยุบสภาจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุกประการในสังคมได้ เพราะหลายปัญหาเป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำและความอยุติธรรมในสังคม เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องใช้เวลายาวนาน แต่รัฐบาลย่อมมีหน้าที่แก้ไขวิกฤติการณ์ที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ การยุบสภาคือการดึงเอาการแก้ไขปัญหาการเมืองกลับเข้าไปสู่กลไกในระบอบประชาธิปไตย และแม้ว่าการยุบสภาจะไม่สามารถรับประกันความสงบทางการเมืองหลังเลือกตั้งได้ แต่มันเป็นวิถีทางที่จำเป็นและชอบธรรมสำหรับปัจจุบัน ประการสำคัญ ณ วันนี้ นายกฯ อภิสิทธิ์ ก็ได้ยอมรับว่าจะต้องมีการยุบสภาแล้ว เพียงแต่ยังไม่สามารถตกลงเรื่องเวลากับทางฝ่าย นปช. ได้เท่านั้น 2. เงื่อนไข 3 เดือนเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหาและผลักดันนโยบายเศรษฐกิจที่เร่งด่วนเช่น กรณีมาบตาพุด และการจัดสรรงบเงินกู้ 4 แสนล้าน เป็นต้น เพื่อทำให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าไปได้ แม้ว่าจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองก็ตาม 3. ทางเครือข่ายเห็นว่าก่อนการยุบสภา ทั้งฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน และแกนนำ นปช. ควรมีเวลาทำสัญญาประชาคมในเรื่องกติกาการเลือกตั้ง ที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายสามารถหาเสียงเลือกตั้งในทุกพื้นที่ได้อย่างเสรี รวมทั้งการยอมรับผลการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลตามวิถีทางของระบอบรัฐสภา 4. พรรคการเมืองต่าง ๆ ควรมีเวลาจัดเตรียมนโยบายสำหรับการหาเสียงเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจทางการเมือง อนึ่ง หลังประกาศยุบสภา รัฐบาลยังมีเวลาจัดการเลือกตั้งอีก 45-60 วัน จึงเท่ากับว่าพรรคการเมืองมีเวลาเตรียมตัวถึง 5 เดือน ซึ่งนับว่าเหมาะสม เพราะในสภาพปัจจุบัน พรรคการเมืองจะต้องเสนอนโยบายที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ว่าตนจะแก้ไขวิกฤติการเมืองและเศรษฐกิจที่สังคมกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันอย่างไร 5. การทำประชามติว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นการสูญเสียงบประมาณโดยไม่เกิดประโยชน์ ประการสำคัญ ไม่มีหลักประกันว่า หลังการลงประชามติ พรรคการเมืองจะสามารถตกลงแก้ไขรัฐธรรมนูญได้จริง หากจะมีการทำประชามติจะต้องทำหลังจากแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วต่างหาก เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ว่ามาตราที่ถูกแก้ไข มีเนื้อหาสาระอะไร ประชาชนไม่ควรลงมติในเรื่องที่ขาดความชัดเจน ฉะนั้น การแก้รัฐธรรมนูญควรเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ท้ายนี้ เครือข่ายสันติประชาธรรมยังยืนยันในความเหมาะสมของช่วงเวลา 3 เดือน จึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความยืดหยุ่นและเจตจำนงในการเจรจามากกว่าที่ผ่านมา ด้วยความห่วงใยต่อสังคม เครือข่ายสันติประชาธรรม