ที่มา Thai E-News
โดย จักรภพ เพ็ญแข
ที่มาคอลัมน์ผมเป็นข้าราษฎร นสพ.ไทยเรดนิวส์
อยู่ต่างประเทศดีอย่างหนึ่งตรงที่มีเวลาค้นคว้าและอ่านหนังสือ ผมได้อ่านหนังสือใหม่ๆ มากกว่าตอนอยู่บ้าน
หนังสือที่เคยอ่านแล้วบางเล่ม พอมาได้ข้อมูลและประสบการณ์ใหม่ในชีวิต ก็ย้อนกลับไปอ่านอีกและรู้สึกแจ่มแจ้ง พิสูจน์ได้ว่าสัจธรรมนั้นดำรงอยู่รอบตัวเราเสมอ อยู่ที่ตัวเราจะเข้าถึงสัจธรรมนั้นหรือไม่เท่านั้น
เล่มหนึ่งที่ผมหยิบมาอ่านซ้ำด้วยประสบการณ์ใหม่คืองานเขียนของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ ดร.ปรีดี พนมยงค์ ที่ชื่อว่า “คำอธิบายกฎหมายปกครอง” อ่านแล้วก็รู้สึกคึกคักขึ้นมา อยากจะแบ่งปันทัศนะบางอย่างที่ได้รับจากการอ่านซ้ำครั้งนี้กับท่านทั้งหลายผู้เป็นเจ้าของประเทศไทย
หนังสือเล่มนี้ให้ข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับทัศนะของอาจารย์ปรีดีในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยด้วยการปฏิวัติประชาธิปไตย ซึ่งท่านได้ร่วมกับสายทหารลงมือกระทำจนสำเร็จในขั้นต้น เมื่อ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕
จุดประสงค์หนึ่งของการปฏิวัติประชาธิปไตยครั้งนั้ นคือวางหลักเกณฑ์ทางกฎหมายให้เป็นทางออกของสังคมอย่างเป็นธรรม เรียกกันสั้นๆ ว่าหลักนิติธรรม ขณะเดียวกันก็อธิบายคำว่า ปกครอง ที่สัมพันธ์กับคำว่าการเมืองอย่างใกล้ชิด หนังสือเล่มนี้จึงเป็นการผสมผสานระหว่างหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมศักดินาอย่างสยามประเทศ
ท่านเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๗๔ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองกว่าหนึ่งปี ใครคิดจะกล่าวหาว่าคณะราษฎร์ปฏิวัติประเทศไทยอย่างฉับพลันและไม่วางแผนอะไรล่วงหน้า คงต้องคิดใหม่
ท่อนหนึ่งที่อาจารย์เขียนอธิบายรูปแบบการปกครองในเชิงทฤษฎีไว้ ทำให้เรารุ่นหลังเข้าใจว่าตัวท่านคิดอะไรอยู่ และพลอยให้เข้าใจด้วยว่า เพราะเหตุใดความคิดเชิงทฤษฎีเหล่านั้นจึงไม่สำเร็จผลสมความปรารถนาของท่านและคณะปฏิวัติ ท่านเขียนไว้ว่า
“...๒.๑.๒ รัฐบาลราชาธิปตัยอำนาจจำกัด (Monachie limitee) ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินไม่มีอำนาจในการแผ่นดิน นอกจากอำนาจในการพิธีและลงพระนาม และยอมให้อ้างพระนามในกิจการต่างๆ แต่พระองค์มิได้ใช้อำนาจด้วยตนเอง อำนาจทั้งหลายในการบริหารตกอยู่แก่คณะเสนาบดี เช่น ในประเทศอังกฤษ และเพราะเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินทำอะไรไม่ได้นี้เอง จึงมีสุภาษิตอังกฤษอยู่ว่า “King can do no wrong” พระเจ้าแผ่นดินไม่อาจทำผิด ถ้าจะพูดกลับอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทำอะไรไม่ได้ ก็ทำผิดไม่ได้อยู่เอง...”
ผมอ่านย่อหน้านี้ทบทวนหลายครั้งและคิดตามไป ทำให้เกิดความสว่างขึ้นมาทันทีว่า ปัญหาใหญ่ที่รัดรึงสังคมไทยไว้ที่เดิม ไม่ยอมพัฒนาไปตามอนิจธรรมทั้งที่เป็นเมืองพุทธ อยู่ที่ตรงนี้เอง นั่นคือเรื่องของพระมหากษัตริย์และบทบาทในระบอบที่เรียกว่า ประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่เรื่องของพระมหากษัตริย์ในฐานะบุคคล หากในฐานที่เป็นสถาบันอันทรงอิทธิพลและได้รับอิทธิพลจากสถาบันทางสังคมอื่นๆ
ทุกวันนี้เรายังทำสงครามทางความคิดกันในประเด็นนี้ ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าวิกฤติการณ์การเมืองไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับพระมหากษัตริย์ เป็นเรื่องของผู้นำการเมืองเท่านั้น อีกแนวคิดหนึ่งเชื่อว่า ถึงเกี่ยวก็ไม่ทรงต้องรับผิดชอบใดๆ เพราะมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ (รับผิดแทน) อยู่แล้วทุกเรื่อง
เหลืองและชมพูอ้างว่าแดงจะล้มเจ้า โดยมุ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นระบบประธานาธิบดี เมื่อต้นทางส่งเสียงอื้ออึงขึ้น เครือข่ายของอำมาตย์ในบทบาทนักวิชาการ สื่อมวลชน ข้าราชการทหาร ข้าราชการพลเรือน องค์กรที่มิใช่รัฐ (NGOs) ฯลฯ ก็สะท้อนเสียงว่าแดงจะล้มเจ้า ใครไม่กล้าเล่นเรื่องนี้ก็จะไปที่ประเด็นลำดับสองและสาม ได้แก่ ฉ้อโกง และ เป็นพวกก่อความวุ่นวายในสังคม
ทั้งหมดนี้คืออ้างถึงพระมหากษัตริย์เพื่อสร้างความชอบธรรม (legitimacy) ให้ตัวเอง และเพิ่มน้ำหนักให้กับข้อถกเถียงที่ตัวนำเสนอ
ลึกลงไปในใจแล้ว ก็เชื่อว่าพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจจริงและเป็นพระราชอำนาจพิเศษจนไม่ต้องไปเสียเวลาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่อย่างนั้นจะอ้างถึงพระมหากษัตริย์ในฐานะอาวุธสำคัญในการต่อสู้ทางการเมืองกันทำไม
พระมหากษัตริย์ในรูปแบบไทยจึงมีอำนาจในทางการเมืองจริง เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อว่ามี เมื่อมีแล้วก็ฟังและพร้อมจะกระทำตาม นั่นล่ะคืออำนาจ เพราะอำนาจหมายความถึงสิ่งที่มีแล้วทำให้คนอื่นๆ กระทำตามความต้องการของตนได้ ไม่ว่าจะเป็นอาวุธสงคราม ปากที่พูดเก่ง ความรู้ที่เหนือคนอื่นและได้รับการยอมรับ จนกระทั่งถึงสิ่งที่เรียกว่า บารมี
แต่หลัก “King can do no wrong” ที่อาจารย์ปรีดีอธิบายไว้ชัดเจนว่า เพราะกษัตริย์ไม่มีอำนาจใดๆ ในทางการเมือง เว้นแต่ความเป็นสัญลักษณ์ของประเทศในทางต่างๆ กษัตริย์จึงไม่ต้องทรงรับผิดชอบในกิจการบ้านเมืองเลยนั้น กลับถูกแปลผิดๆ แบบเข้าข้างตัวเองในเมืองไทยจนกลายเป็นว่า พระมหากษัตริย์ทำอะไรได้ทุกอย่างโดยไม่มีความผิด ลุกลามไปจนถึงแนวคิดที่ว่าเมื่อพระองค์ไม่ผิด ใครก็วิจารณ์พระองค์ท่านไม่ได้ จนสุดท้ายก็เกิดวัฒนธรรมใหม่ที่เรียกว่าการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขึ้นมา
แปลว่าขณะนี้เมืองไทยมีรูปแบบการปกครองที่ออกจะประหลาด นั่นคือคนทั้งหลายเชื่อว่ากษัตริย์ทรงมีอำนาจจริง จะจบในวิกฤติการณ์ครั้งนี้เสียเมื่อไหร่ก็ได้ แต่กษัตริย์กลับไม่ต้องทรงรับผิดชอบอะไรเลยในทางการเมือง แต่รัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างคณะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะกลับมีความรับผิดชอบทางการเมืองเป็นอย่างมาก เสมือนมีอำนาจที่จะเสกเป่าให้ปัญหาการเมืองจบสิ้นลงไปได้ แต่ทว่ากลับไม่มีอำนาจแท้จริงในทางการเมืองเลย ต้องรอเสียงกระซิบจาก “มือที่มองไม่เห็น” อย่างเดียวเท่านั้น
เมื่อคนมีอำนาจกลับไม่ต้องแก้ไขปัญหา และคนมีปัญหากลับขาดอำนาจที่จะใช้แก้ แล้วจะไปแก้ปัญหาได้อย่างไร มองไม่เห็นทาง
แถมผู้เรียกร้องยังนัดกันว่า เรามาทำประหนึ่งว่ารัฐบาลเป็นผู้มีอำนาจแท้จริงทีเถิด ว่าแล้วก็เรียกร้องเฉพาะในสิ่งที่รัฐบาลมีอำนาจทำได้ นั่นคือยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเลือกตั้งใหม่ ทั้งหมดนี้เพื่อเน้นย้ำความเชื่อเดิมว่ารัฐบาลเป็นผู้มีอำนาจจริงและมีอำนาจทุกอย่างในการแก้ไขปัญหา ผู้คนจะได้ลืมว่าใครมีอำนาจจริงในการแก้ไขปัญหานี้
การแปล “King can do no wrong” อย่างผิดๆ โดยเจตนา เป็นสาเหตุพื้นฐานของความจลาจลในการเมืองไทยปัจจุบัน เพราะชวนกันวิ่งวนไปรอบๆ ไม่ยอมแหวกกระแสออกมาสู่ความจริง
ที่สุดแล้วก็ช่วยรักษา “วงจรอุบาทว์” ของการเมืองไทยไว้โดยไม่ได้ตั้งใจ.
---------------------------TPNews (Thai People News): ข่าวสารสำหรับผู้รักประชาธิปไตย เที่ยงตรง แม่นยำ ส่งตรงถึงมือถือทุกวัน สมัครวันนี้ ใช้ฟรี 14 วัน พิมพ์ PN ส่งมาที่เบอร์ 4552146 ทุกระบบ เพียง 29 บาท/เดือน (เฉพาะ DTAC 30 บาท/เดือน) Call center: 084-4566794-6 (จ.- ศ. 9.30-17.30 น.)