ที่มา ข่าวสด
ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเพื่อผูกผ้าแดงบนเสาป้ายสี่แยกราชประสงค์ทุกวันอาทิตย์
จุดเด่นของการเคลื่อนไหวเพื่อตอกย้ำให้จดจำรำลึกถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม
นั่นเห็นได้จากป้าย "เสียดายคนตายไม่ได้ปฏิรูป" ซึ่งชูเด่น
นั่นเห็นได้จากการจัดทำรายชื่อผู้เสียชีวิต 90 ราย ไปติดเพื่อให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยได้เห็น
นั่นเห็นได้จากการตระเตรียมผ้าแดง เทียนแดง พร้อมกับการแสดงละครสดๆ จากผู้ร่วมแสดงจำนวน 90 คน เพื่อเน้นย้ำให้เห็นและสำนึกตระหนักว่า ที่นี่มีคนตาย และเหมือนกับกู่ตะโกนเสียงดังให้รับรู้ว่า
"ที่นี่มีคนตาย"
ถามว่าเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคม (คปก.) ต้องการเรียกหาสำนึกจากคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย (คปร.) เท่านั้นหรือ
ถามว่ากลุ่ม "วันอาทิตย์สีแดง" ต้องการรำลึกความทรงจำของการตายเมื่อ 2 เดือนก่อนหรือ
คำตอบอาจใช่ แต่ที่เป็นเป้าประสงค์มากยิ่งกว่านั้นก็คือ การเสนอประเด็นให้รัฐบาลให้ศอฉ.ได้ขบคิดพิจารณา
ขบคิดพิจารณาและแสดงความรับผิดชอบ
เป็นความรับผิดชอบนอกจากการประกาศและบังคับใช้พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยืดยาวออกไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น
เสมือนกับต้องการรักษาสถานการณ์ฉุกเฉินเอาไว้ให้เป็นอาการอย่างหนึ่งของสังคม
ขณะเดียวกัน กล่าวสำหรับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย (คปร.) ก็เพื่อเพรียกหาความรับรู้ที่ว่าการปฏิรูปประเทศไทยจะเป็นจริงมิได้หากไม่มีการสะสางความจริง 90 ศพให้กระจ่าง
คำถามทั้งหมดนี้มิใช่เรื่องตามฤดูกาล หากแต่จะดำรงอยู่อย่างยาวนาน
เหมือนกับเป็นคำถามถึงบทบาทและความหมายของ จอมพลถนอม กิตติขจร ในสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2516
ทุกปีที่เวียนมาย่อมมีคนรำลึกถึงและยากจะลืมเลือน
เหมือนกับเป็นคำถามถึงบทบาทและความหมายของผู้อยู่เบื้องหลังการเข่นฆ่ากลางเมืองในสถานการณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2519
ทุกปีที่เวียนมาย่อมมีคนรำลึกถึงและยากจะลืมเลือน
เหมือนกับคำถามถึงบทบาทและความหมายของรัฐบาลอันนำไปสู่การเข่นฆ่านองเลือดในสถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2535
ทุกปีที่เวียนมาย่อมมีคนรำลึกและยากจะลืมเลือน
ยากจะลืมเลือน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยากจะลืมเลือน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยากจะลืมเลือน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในสถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2553
เพราะว่านำไปสู่ความตาย 90 ศพ บาดเจ็บเกือบ 2,000 คน
ไม่ว่าจะเป็นเดือนพฤษภาคม 2554 หรือเดือนพฤษภาคม 2564 ก็ยากจะลืมเลือนได้
เพราะว่า 90 ศพย่อมมีพ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง เพื่อนมิตร เพราะว่าผู้บาดเจ็บเกือบ 2,000 คนยังมีลมหายใจ ยังมีบาดแผล และรู้ว่าบาดแผลลั่นมาจากคำสั่งของผู้ใดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553
ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความทรงจำอันดำรงอยู่อย่างเป็น "ประวัติศาสตร์"
เพื่อไทย
Thursday, July 15, 2010
ความจริง 90 ศพ ณ เดือนพฤษภาคม 2553 ประวัติศาสตร์ไทย
ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมประท้วงที่หน้าบ้านพิษณุโลกทุกครั้งมีการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยของเครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคม (คปก.)