ที่มา ประชาไท 1 คนเสื้อเหลืองคือใคร? ตอบได้ยากมาก แต่จากข้อมูลที่มีอยู่น้อย ทั้งอาจารย์อภิชาต สถิตนิรามัย และอาจารย์อเนก เหล่าธรรมทัศน์ พบตรงกันว่า โดยเฉลี่ย พวกเขามีรายได้สูงกว่าคนเสื้อแดง เช่น คนเสื้อเหลืองอยู่ในระบบประกันสังคมจำนวนมากกว่า แปลว่าพวกเขาทำงาน "ในระบบ" เช่นถึงเป็นแรงงาน ก็เป็นแรงงาน "ในระบบ" ในขณะที่คนเสื้อแดงอาจเป็นแรงงาน "นอกระบบ" เช่น ลูกจ้างรายวัน เป็นต้น ผมขอตีขลุมรวมๆ ว่า คนเสื้อเหลืองเป็นคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไป แม้จะรู้ดีว่าทั้งเสื้อเหลืองและแดง ล้วนมีคนหลากหลายประเภทปะปนกันทั้งสิ้น แต่เมื่อพูดโดยเฉลี่ยแล้ว คนเสื้อเหลืองคือคนชั้นกลางระดับกลาง (ขึ้นไป) นอกจากนี้ เราไม่อาจเอาแกนนำเป็นตัวแทนของผู้ชุมนุมได้ ทั้งเหลืองและแดง การที่มีคนจำนวนมากเช่นนี้ออกมาชุมนุมกันเป็นเดือนๆ ต้องมีปัจจัยในทางสังคมผลักดันอยู่เบื้องหลัง มากกว่าวาทะของแกนนำบนเวที เราจะเข้าใจการเคลื่อนไหวทางการเมืองของสองสีนี้ได้ ก็ต้องเข้าใจปัจจัยทางสังคมที่อยู่เบื้องหลัง ยิ่งกว่านี้ แม้แต่พยายามล้วงลึกลงไปที่อ้ายโม่งซึ่งเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ก็ยังอธิบายไม่ได้อยู่ดี แกนนำและอ้ายโม่งมีพลังก็จริง แต่ไม่มีวันที่ใครจะมีพลังถึงกับดึงคนจำนวนมากไปเสี่ยงตายกลางถนนได้มากขนาดนี้ หากไม่มีปัจจัยทางสังคมเอื้อให้ผู้คนสวมเสื้อสีออกไป เหตุใดคนเสื้อเหลืองจึงออกมา "เย้วๆ" (หากใช้ศัพท์เดียวกับที่บางคนใช้ในการบรรยายการกระทำของเสื้อแดง) บนถนน? นี่เป็นคำถามที่จะยิ่งตอบยากกว่าคำถามแรก แต่ผมพยายามตอบ แม้จะอย่างผิดๆ ถูกๆ อย่างไรก็ตาม เพราะผมเชื่อว่าคำถามนี้มีความสำคัญ และสักวันหนึ่งก็คงมีคนที่เก่งกว่าผมและขยันกว่าผมจะตอบได้ดีกว่านี้ แม้คนเสื้อเหลืองมีรายได้สูงกว่าคนเสื้อแดง และมโนภาพที่เรามีต่อเขาก็คือเขา (โดยเฉลี่ย) ไม่ใช่คนจน แต่ผมยังคิดว่า ควรเริ่มต้นด้วยการมองหาปัจจัยทางเศรษฐกิจก่อนว่า เกิดอะไรขึ้นในเศรษฐกิจไทยในช่วงประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมา จึงทำให้คนชั้นกลางระดับกลางรู้สึกตัวว่าเดือดร้อนทางการเมือง มากพอที่จะออกมาประท้วงในท้องถนน ผมต้องสารภาพว่า ผมหาตัวเลขทางเศรษฐกิจที่อธิบายเรื่องนี้ตรงๆ ไม่ได้ แต่ด้วยความกรุณาของคุณบรรยง พงษ์พานิช ซึ่งได้ส่งส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่องของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยของท่านมาให้ผมดู ในขณะเดียวกัน ด้วยความกรุณาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้เชิญผมเข้าร่วมสัมมนาเรื่อง "การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม" ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ผมจึงได้รับเอกสารที่ใช้ในการคลำหาคำตอบของผมเองได้ แต่ตัวเลขเศรษฐกิจเหล่านี้ ผู้ทำวิจัยไม่ได้เก็บรวบรวมเพื่อตอบปัญหาของผม จึงจำเป็นที่ผมต้องอ่านเอาเองทั้งๆ ที่ไม่เคยเรียนเศรษฐศาสตร์เลย ผมจึงไม่รับรองว่าที่ผมอ่านนั้นถูกต้อง ถึงผมจะอ้างใคร คนที่ถูกอ้างก็ไม่ต้องรับผิดชอบเพราะผมเองต่างหาก ที่ยัดความหมายลงไปในกราฟนานาชนิดที่เขาแสดงเพื่อพูดเรื่องอื่น ต่อไปนี้คือปัจจัยทางเศรษฐกิจบางอย่างที่ผมคิดว่าน่าจะอธิบายพฤติกรรมของคนเสื้อเหลืองได้ เมื่อพูดถึงความเหลื่อมล้ำ เราอาจหาตัวเลขทางเศรษฐกิจเพื่ออธิบายให้เห็นชะตากรรมของคนเสื้อแดงได้มาก แต่จะอธิบายชะตากรรมของคนเสื้อเหลืองด้วยความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร ต้องเข้าใจก่อนว่า ความเหลื่อมล้ำไม่ได้แปลว่าความยากจน ความเหลื่อมล้ำคือไม่เท่ากัน หรือให้ชัดกว่านั้นคือไม่เท่ากันในระดับที่คนรู้สึกว่ายอมรับได้ (ที่ไหนๆ คนก็ไม่เท่ากันทั้งนั้น แต่จะไม่เท่าแค่ไหน คนที่มีน้อยได้น้อยกว่าจึงจะยอมรับได้ นี่ต่างหากคือปัญหาของความเหลื่อมล้ำ ไม่เกี่ยวกับความยากดีมีจน) ก.คุณบรรยง ชี้ให้เห็นว่าในช่วงประมาณ 1 ทศวรรษกว่าๆ ที่ผ่านมา ผลตอบแทนจากค่าจ้างแรงงาน (รวมเงินเดือนที่คนชั้นกลางระดับกลางได้รับด้วย) ซึ่งอาจมีขึ้นมีลงตามแต่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนจากทุนแล้ว จะเห็นว่าห่างกันมากขึ้น แปลออกมาเป็นภาษาธรรมดาก็คือ คนที่ทำงานรับเงินเดือนบริษัทอยู่ มองเห็นผลกำไรของบริษัทสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เงินเดือนของตนไม่ได้ขยับขึ้นในอัตราที่เร็วเท่ากับผลกำไร ข.คุณบรรยงอีกเหมือนกันที่ชี้ว่า ผลตอบแทนจากค่าเช่าและอื่นๆ ลดลงในวิกฤตครั้งแรกอย่างฮวบฮาบ แล้วก็ไม่กระเตื้องขึ้นจนถึง 2547 ก็เริ่มเงยหัวขึ้นมาบ้าง แต่หากเปรียบเทียบกับรายได้จากการประกอบการของธุรกิจ (ดูจากภาษี) ลดลงในวิกฤตครั้งแรกเหมือนกัน แต่ก็สูงขึ้นกว่าเดิมมาเรื่อยๆ จนสูงกว่าเก่า ฉะนั้นโดยเปรียบเทียบแล้ว ผลตอบแทนจากค่าเช่ามีแต่จะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการประกอบการด้วยทุน (จากที่ "ค่าเช่า" เคยอยู่สูงสุดในปี 2541 เป็นกว่า 24% ของรายได้ประชาชาติที่ไม่ได้มาจากค่าจ้าง เหลือเพียงประมาณ 7% ในปี 2546) ผมเข้าใจว่า รายได้ของคนชั้นกลางระดับกลางจำนวนหนึ่งก็มาจาก "ค่าเช่า" (นับตั้งแต่ที่ดิน, เครื่องจักร, เครื่องมือการเกษตร, นายหน้าแรงงาน, ฯลฯ) คนเหล่านี้ "โดนหยิก" จากการที่รายได้ของตนลดลง และแน่นอนย่อมรู้สึกในความเหลื่อมล้ำมาก ค.แม้มีการขยายตัวของการจ้างงานในภาคหัตถอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง แต่ค่าจ้างในภาคหัตถอุตสาหกรรมก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จนมาถึงระดับต่ำสุดในปี 2550 เหตุผลก็พอเดาได้ นั่นคือมีคนหลั่งไหลจากภาคอื่นๆ เข้ามาสู่ภาคการผลิตนี้จำนวนมาก รายได้ของแรงงานลดลงนั้นแน่นอนอยู่แล้ว แต่ผมต้องการชี้ให้เห็นว่าแรงงานฝีมือนับตั้งแต่เสมียนขึ้นไปถึงฟอร์แมนและคนงานระดับกลางเองก็ลดลงไปด้วย (อยากได้ ปวส. หรือปริญญาตรีหรือ มีให้เลือกถมถืดไป) ฉะนั้น จึงมีคนชั้นกลางระดับกลางจำนวนหนึ่งที่รู้สึกเจ็บปวดกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ง.คุณเดือนเด่น นิคมบริรักษ์และคุณศิริกาญจน์ เลิศอำไพนนท์ แห่ง TDRI แสดงให้เห็นว่า มีการกระจุกตัวของรายได้ภาคธุรกิจในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ในปี 2553 ธุรกิจ 20% ระดับบนสุด มีรายได้ 81.02% ของรายได้จากภาคธุรกิจทั้งหมด ส่วนธุรกิจขนาดกลางซึ่งรวมกันเป็น 60% ของธุรกิจไทย มีรายได้เพียง 18.05% ของรายได้ภาคธุรกิจ ครั้นถึงพ.ศ.2551 ธุรกิจ 20% ข้างบนมีรายได้ถึง 86.28% ในขณะที่ระดับกลาง 60% มีรายได้ลดลงเหลือเพียง 13.19% เท่านั้น นี่คือเหตุผลที่เจ้าของร้านโชว์ห่วยและผู้ส่งออกรองเท้าแตะไปยังรัสเซีย ได้มาสวมเสื้อเหลืองนั่งประท้วงร่วมกับพนักงานคอมพิวเตอร์และเซลส์ของบริษัทน้ำมัน จ.อาจารย์นิพนธ์ พัวพงศกร แห่ง TDRI เช่นกัน ชี้ให้เห็นว่า นโยบายแทรกแซงราคาพืชผลการเกษตรของรัฐบาลทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นการพยุงราคา, การแบ่งโซนนมโรงเรียน, การอุดหนุนให้ขยายพื้นที่ผลิตสินค้าบางตัว เช่น ยาง, ฯลฯ ล้วนทำให้รัฐขาดทุนหลายหมื่นล้านบาทต่อปี เพราะเป็นนโยบายที่อาจสรุปสั้นๆ ได้ว่า รัฐยอมซื้อแพงขายถูก แม้ว่าเกษตรกรจะได้รับผลดีจากนโยบายเหล่านี้อยู่บ้าง (แต่น้อยกว่าพ่อค้าและนักการเมือง) แต่ผู้บริโภคกลับต้องจ่ายในราคาแพงขึ้น (ไม่นับต้องเสียเงินภาษีไปโดยไม่คุ้ม) นี่ก็เป็นเรื่องที่คนชั้นกลางระดับกลางซึ่งเป็นผู้บริโภคสินค้าเกษตรอยู่ในเขตเมือง "โดนหยิก" โดยตรง สืบเนื่องกับเรื่องนี้ ยังมีปัญหาที่น่าสนใจด้วยว่า ภายใต้รัฐบาลทักษิณ (โดยเฉพาะนับตั้งแต่ครึ่งหลังของสมัยแรกเป็นต้นมา) คนชั้นกลางระดับกลางในเมืองรู้สึกว่าตัวถูกเอาเปรียบหรือไม่? ผมตอบไม่ได้ แต่มีข้อสังเกตว่าคุณทักษิณ ชินวัตร ถูกโจมตีด้วยเรื่องที่น่าหวั่นไหวต่อคนชั้นกลางระดับกลาง เช่น การแทรกแซงสื่อ เพราะสื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่สำคัญที่สุดของคนชั้นกลางระดับกลาง การแทรกแซงองค์กรอิสระก็เช่นเดียวกัน ราคาหุ้นของกลุ่มบริษัทคุณทักษิณซึ่งถีบตัวขึ้นสูงกว่าคนอื่นมาก กระทบความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นซึ่งมีความสำคัญแก่คนชั้นกลางระดับกลาง ในทางตรงกันข้าม นโยบายที่เรียกว่า "ประชานิยม" ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อคนชั้นกลางระดับกลางโดยตรงมากนัก ถึงแม้จะใช้บริการ 30 บาทมากพอสมควร แต่ไม่ได้ประโยชน์อะไรจากกองทุนหมู่บ้าน, แปลงสินทรัพย์เป็นทุน, หรือธนาคารเอสเอ็มอี ฯลฯ มากนัก อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า เราไม่สามารถใช้เศรษฐกิจอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ได้ทั้งหมด อย่างไรเสียเราก็ต้องมองลงไปที่ความเป็นมนุษย์ของเขาด้วย และตรงนี้แหละครับที่ยากและเถียงกันได้มาก เพราะมนุษย์คืออะไรนั้นนิยามไม่ตรงกัน มีเหตุในทางเศรษฐกิจหลายอย่างดังที่กล่าวแล้ว ซึ่งทำให้คนชั้นกลางระดับกลางรู้สึกเจ็บ เจ็บที่ต้องสูญเสียความมั่นคงในชีวิต ไม่เฉพาะแต่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจนะครับ แต่ต้องรวมถึงความมั่นคงที่คุ้นเคยกันมาด้วย (ซึ่งจะพูดถึงข้างหน้า) นอกจากนี้ ในท่ามกลางสถานภาพทางรายได้ของตัวที่ตนรู้สึกว่าตกต่ำลง สังคมไทยดูจะกลายเป็นสังคมฟูมฟายมากขึ้น (affluent society) จึงเท่ากับกีดกันตนให้ออกไปจากความฟู่ฟ่าหรูหราที่ดูจะไม่มีวันเข้าถึง ทั้งหมดนี้คือ "ความเหลื่อมล้ำ" อย่างหนึ่ง แต่อธิบายด้วยความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่พอ จำเป็นที่จะต้องนำเอาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนี้ เข้าไปให้ความหมายแก่ชีวิตของคนชั้นกลางระดับกลาง และผมขอเรียกอย่างกว้างๆ ว่าความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรม ความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรมนี่แหละ ที่ผมคิดว่าอธิบายพฤติกรรมทางการเมืองของเสื้อเหลืองได้ดีกว่าเศรษฐกิจ แม้ว่าเราจำเป็นต้องดำรงรักษาเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่กล่าวข้างต้นนั้นไว้ที่ข้างหลังหัวเราตลอดเวลาก็ตาม 000 2 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมพยายามจะตอบคำถามว่า คนชั้นกลางระดับกลางออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในท้องถนนทำไม นอกจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจแล้ว ผมได้ทิ้งท้ายว่าที่สำคัญกว่านั้นคือ ความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรม ซึ่งผมขออนุญาตนำมาขยายความในสัปดาห์นี้ ก. ในสังคมฟูมฟาย สินค้าที่ "ดีกว่า" หลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทีวีจอแอลซีดีซึ่งเพิ่งกัดฟันซื้อไปเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ยังผ่อนไม่ทันหมดดี ก็มีจอแอลอีดีเข้ามาวางขายในตลาด ว่ากันว่าชัดกว่า, สว่างกว่า และกินไฟน้อยกว่าเสียด้วย รถยนต์วีออสและซิตี้รุ่นใหม่นั้น สวยจับตากว่ารุ่นเก่าอย่างเทียบกันไม่ได้ ซ้ำยังมี "ลูกเล่น" ต่างๆ เพิ่มเข้าไปอีก เห็นอยู่เต็มถนนเสียด้วย คิดไปเถิดครับ มีสินค้าใหม่ที่ล่อตาล่อใจปรากฏให้อยากได้ไม่เว้นแต่ละวัน เพราะชีวิตก็วนเวียนอยู่กับการครอบครองวัตถุ เป็นสัญลักษณ์แห่งตัวตนตลอดมา จะให้ไม่รู้สึกรู้สากับความเหลื่อมล้ำที่เห็นคาตาอยู่ได้อย่างไร นักเศรษฐศาสตร์บางคนอธิบายว่า ตัณหาที่เผาผลาญมนุษย์อยู่นั้นมีประโยชน์ เพราะย่อมผลักดันให้ผู้ถูกเผาเร่งผลิตเพื่อหากำไรมาดับไฟตัณหาของตัว เศรษฐกิจโดยรวมย่อมเจริญขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากประยุกต์ใช้ทฤษฎีนี้กับคนแต่ละคน โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน จะให้ขยันไปอีกแค่ไหน เพราะดังที่ได้กล่าวแล้วว่า รายได้ของคนประเภทนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็วเท่ากับผลกำไรจากทุน ฉะนั้นจึงได้แต่มองสินค้าใหม่ ตัวตนใหม่ และชีวิตใหม่ในตลาดอย่างเหนื่อยอ่อน เพราะรู้ว่าล้วนเป็นสิ่งที่ตนเข้าไม่ถึง นี่คือเหตุผลที่คนจำนวนมากดึงเอา "เศรษฐกิจพอเพียง " มาเป็นคำตอบ ส่วนหนึ่งคงใช้เพื่อตอบตัณหาของตัวเอง แต่อีกมากทีเดียวใช้เพื่อตอบตัณหาของคนอื่น โดยเฉพาะของคนที่สามารถเข้าถึงสินค้าใหม่ที่ "ดีกว่า" เหล่านี้อย่างง่ายดาย พวกเขาน่าจะรู้จัก "พอเพียง" บ้าง แต่คนที่ไม่รู้จักพอเพียงก็นั่งอยู่ข้างๆ ตัวในการชุมนุมนั่นเอง พวกเขาจึงเห็นด้วยกับแกนนำว่า หัวโจกของคนที่ไม่รู้จักพอเพียงคือ นักการเมืองผู้ชั่วช้าซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งควรถืออำนาจได้ไม่เกิน 30% นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไม่ต้องรู้จักความพอเพียง ก็เพราะรายได้ของเขามาจากการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง แม้คนชั้นกลางระดับกลางเคยชินกับการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง เพราะในชีวิตจริงก็จ่ายเงินให้ตำรวจจราจรเป็นปกติ แต่การฉ้อราษฎร์บังหลวงของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง สร้างความเจ็บปวดให้มากกว่า เพราะรายได้อันชอบธรรมของเขาก็มากเกินกว่าที่คนชั้นกลางระดับกลางจะสามารถหามาได้อยู่แล้ว ส่วนใหญ่ของเสื้อเหลืองอยู่ "ในระบบ" จึงเป็นผู้เสียภาษีทางตรง จึงยิ่งรู้สึกเจ็บกว่าความเป็นพลเมืองธรรมดา ข. ความมั่นคงของชีวิตคนชั้นกลางระดับกลางในเมืองไทยนั้นลดลง ค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาของลูกหลานแพงขึ้น, ค่ารักษาพยาบาลก็แพงขึ้น ไม่ว่าในโรงพยาบาลของรัฐหรือเอกชน, การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบยากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 อย่างไรก็ตาม มีความโน้มเอียงในประเทศไทยที่เริ่มจะใช้หลักประกันสังคมบางส่วน (โดยคิดถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการนี้น้อยเกินไป ฉะนั้น คนชั้นกลางระดับกลางจึงไม่ได้จ่ายภาษีเพิ่มขึ้น) เช่นรัฐธรรมนูญ 2540 ให้หลักประกันว่าเด็กทุกคนจะได้เรียนหนังสือถึง 12 ปี หรือโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคของพรรค ทรท. แต่เพราะไม่ได้คิดจากหลักการประกันสังคมจริง ในทางปฏิบัติจึงมุ่งไปสู่การหาเสียงและเน้นที่ "คนจน" มากกว่ากระจายให้แก่คนทุกชั้นอย่างทั่วถึง ความมั่นคงของชีวิตที่คนชั้นกลางระดับกลางได้รับจากรัฐจึงมีลักษณะสุกๆ ดิบๆ เช่นการเข้ารับบริการโครงการ 30 บาท ย่อมหมายถึงการได้รับการปฏิบัติเหมือนกับคนอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนที่ "ต่ำ" กว่า เกิดความไม่แน่ใจใน "มาตรฐาน" ของการรักษาพยาบาล เช่นเดียวกับการเรียนฟรี 12 ปี (โดยปราศจากการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนให้ใกล้เคียงกัน) ทำให้บุตรหลานของคนชั้นกลางระดับกลาง ต้องเผชิญการแข่งขันมากขึ้น ซ้ำชั้นเรียนของบุตรหลานยังเคล้าคละปะปนระหว่างคนต่างสถานภาพมากขึ้นด้วย (สถาบันการศึกษาของไทยจะทำหน้าที่กรองคนใน "ชั้น" ต่างๆ ขึ้นไปตามลำดับ ยิ่งเรียนสูง เพื่อนร่วมชั้นก็จะอยู่ในสถานภาพที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น) คนชั้นกลางระดับกลางส่วนหนึ่ง นำบุตรหลานหนีจากระบบเข้าสู่โรงเรียนราษฎร์ หรือโปรแกรมพิเศษของโรงเรียนหลวง แต่คนชั้นกลางระดับกลางจำนวนมาก ไม่มีสมรรถนะที่จะทำอย่างนั้นได้ จึงได้แต่วิตกห่วงใยต่ออนาคตทางการศึกษาของบุตรหลาน ขึ้นชื่อว่าคนชั้นกลาง เส้นทางของการไต่เต้าทางสังคมที่ใหญ่สุดคือ การศึกษา แต่ความมั่นคงทางการศึกษาที่รัฐจัดให้กลับทำให้เส้นทางนี้แคบลงแก่คนชั้นกลางระดับกลาง ค. แม้ว่าความเสมอภาคเป็นอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่คนชั้นกลางระดับกลางพูดถึงมานาน แต่ในชีวิตจริงของคนชั้นกลางระดับกลางไทย ความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่เห็นได้ถนัด เมื่อมองขึ้นไปข้างบน ความเสมอภาคที่เรียกร้องจึงเป็นความเสมอภาคที่อยากเท่าเทียมกับคนชั้นกลางระดับเจ้าสัวและคุณหญิงคุณนาย แต่ความเสมอภาคที่รัฐนำมาให้ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เป็นความเสมอภาคที่ป้อนให้แก่คนชั้นกลางระดับล่าง มีคนแปลกหน้าที่เผยอหน้าขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งดูเหมือนคุกคามความมั่นคงในชีวิตมากยิ่งกว่าเจ้าสัวและคุณหญิงคุณนายเสียอีก ดังนั้น หลักการความเสมอภาคจึงรับไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งแปลกปลอมใน "ความเป็นไทย" ไม่น่าอับอายอย่างไรที่จะปฏิเสธความเสมอภาคอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย สิ่งที่เรียกร้องกันอย่างอึงมี่คือ "ระเบียบ" ในระยะแรกต่อต้านความไร้ "ระเบียบ" ซึ่งรัฐบาลอันเขาคุมไม่ได้นำมา และในระยะหลังต่อต้านความไร้ "ระเบียบ" ที่การชุมนุมของเสื้อแดงนำมา "ระเบียบ" ที่คนชั้นกลางระดับกลางเรียกร้องหา คือลำดับแห่งช่วงชั้นทางสังคมนั่นเอง นี่คือเหตุผลที่ยินดีจะผูกพันการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะสถาบันนี้ถูกคนชั้นกลางระดับกลางยึดถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของสังคมที่มีช่วงชั้น และนี่คือเหตุผลที่หลงใหลได้ปลื้มกับอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นักเรียนออกซ์ฟอร์ด ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ใช้ภาษาทั้งไทยและอังกฤษได้อย่างสละสลวย (eloquent), มีกำเนิดในตระกูล "ผู้ดี" และมีชีวิตส่วนตัวที่ไม่มีที่ติในระบบค่านิยมของคนชั้นกลางระดับกลางแต่อย่างใด นับเป็นหมุดหมายสำคัญของความมั่นคงของ "ระเบียบ" ในฐานะนายกรัฐมนตรี ตามสถานภาพช่วงชั้นทางสังคมในอุดมคติควรกำหนดให้เป็นไป ง. ส่วนที่ใหญ่ไม่น้อยในความมั่นคงของชีวิตคนไทยมาจากเครือญาติ และเครือข่ายความสัมพันธ์ ทั้งสองอย่างนี้เปลี่ยนแปลงไปแล้วในชีวิตของคนชั้นกลางระดับกลาง เพราะมีญาติและเพราะมีเพื่อนจึงทำให้มี "เส้น" แต่ "เส้น" ของญาติและของเพื่อนกำลังอ่อนแรงลง ทั้งเพราะไม่สามารถผูกความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นเหมือนเดิม และทั้งเพราะ "เส้น" จะทำงานได้ผลก็ต้องเสียเงิน "ซื้อ" มากขึ้น "เส้น" กำลังเปลี่ยนไปเป็น "ซื้อ" ใน"ชีวิตของเขา ในขณะที่กำลังจะ "ซื้อ" ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นให้ทันกับการสูญเสีย "เส้น" ชีวิตจึงอึดอัดขัดข้องมากขึ้นเพราะขาดความมั่นคงในชีวิต ที่ถูกโจมตีว่า "ม็อบมีเส้น" นั่นแหละที่สอดคล้องกับสิ่งที่กำลังโหยหา ก็เพราะ "มีเส้น" นั่นล่ะสิ การชุมนุมจึงสะท้อนอุดมคติที่หลุดลอยไปแล้วได้อย่างดีที่สุด ที่ชุมนุมกลายเป็นความอบอุ่น, ความมั่นคงปลอดภัย อย่างที่หาไม่ได้ในชีวิตจริง จ. ผมมีเพื่อนรุ่นพี่ที่ผมนับถือท่านหนึ่ง ซึ่งขยันไปสังเกตการณ์การชุมนุมของเสื้อเหลืองเกือบทุกวัน ท่านเล่าให้ผมฟังว่า คนที่มาร่วมชุมนุมจับกลุ่มคุยกันเป็นกลุ่มๆ ตัวท่านเองก็เข้าร่วมวงสนทนากับกลุ่มโน้นกลุ่มนี้อยู่เป็นประจำ ท่านพบว่าประเด็นของการสนทนาก็คือ ความโหยหา (nostalgia) ต่ออดีตที่ไม่มีวันหวนกลับมาแล้ว โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางสังคมซึ่งเมื่อสรุปรวมแล้ว ก็คือความสัมพันธ์ที่มีที่ต่ำที่สูง หรือสังคมที่มีช่วงชั้น ฉะนั้นปัญหาของพวกเขาจึงเป็นปัญหาเช่นลูกไม่เชื่อฟังพ่อแม่, ศิษย์ไม่เชื่อฟังครูบาอาจารย์, เงินเป็นใหญ่กว่าความสูงของสถานภาพ รวยเสียอย่างทำอะไรก็ไม่น่าเกลียด แม้แต่ทุจริตคดโกงมาก็ไม่น่าอับอายแต่อย่างใด, ความโลภโมห์โทสันระบาดลงไปถึงชาวบ้านระดับล่าง จึงขายเสียงหรือสมัครเป็นบริวารของเจ้าพ่อผู้ทุจริตอื้อฉาว ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้สรุปรวมลงเป็นความเสื่อมโทรมทางศีลธรรม วิธีแก้ไขมิให้สังคมตกต่ำไปกว่านี้ จึงไม่มีทางเดียวได้แก่สนับสนุนให้คนดีมีศีลธรรมได้เป็นใหญ่ และป้องกันมิให้คนเลวไร้ศีลธรรมเข้าสู่อำนาจ หากทำได้ก็จะฟื้นเอาสังคมที่มี "ระเบียบ" อย่างเก่ากลับคืนมาได้ นั่นคือกลับคืนสู่สังคมที่มีที่ต่ำที่สูง คนมีศีลธรรมซึ่งเป็นคนสูงก็จะกำกับควบคุมให้บ้านเมืองมีความสงบสุขเจริญรุ่งเรืองโดยอัตโนมัติ จารีตนิยมกลายเป็นปราการสำหรับปกป้องตนเองจากความเปลี่ยนแปลงที่ตั้งรับไม่ทัน ฉ. อย่างไรเสีย เราก็หลีกหนีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคมไปไม่พ้น แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย เป็นความเปลี่ยนแปลงที่คนชั้นกลางระดับกลางไม่พึงพอใจ (ด้วยเหตุผลต่างๆ ดังที่กล่าวแล้ว) คนที่พยายามเสนอตัวเองเป็นหัวหอกของความเปลี่ยนแปลง คือคุณทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะเป็นทางเทคโนโลยี, การบริหาร, ไปจนถึงการจัดการรัฐกิจแบบซีอีโอ อีกทั้งเป็นความเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ที่ไม่เหลียวมองคนชั้นกลางระดับกลางสักเท่าไรด้วย ขอยกตัวอย่างจากนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน คุณทักษิณอ้างว่าแม้สามารถสร้างเถ้าแก่น้อยได้เพียง 10% ของประชาชนทั้งหมด ก็ถือว่าน่าพอใจแล้ว เถ้าแก่น้อยจะเกี่ยวข้องกับคนชั้นกลางระดับกลางอย่างไร ไม่ค่อยชัดนัก จะให้ขายบ้านขายรถเพื่อไปลงทุนทำธุรกิจแทนการรับเงินเดือน หากไม่ได้อยู่ใน 10% ที่ประสบความสำเร็จ จะมีโอกาสกลับเข้าสู่งานรับเงินเดือนได้อีกหรือไม่ จึงไม่แปลกอะไรที่คุณทักษิณจะเป็นเป้าโจมตีสำคัญของกลุ่มคนเสื้อเหลือง (แกนนำจะมีวาระซ่อนเร้นอะไรไม่เกี่ยว) แต่ชื่อนี้ชื่อเดียวเท่านั้น ก็เพียงพอแล้วสำหรับใช้แทนความเปลี่ยนแปลงอันน่ารังเกียจทั้งหมดที่ถาโถมเข้าใส่ชีวิตของคนชั้นกลางระดับกลาง ทักษิณจึงควรออกไป และไม่กลับมาอีกตลอดชั่วฟ้าดินสลาย หลังจากพยายามหาคำตอบว่าคนชั้นกลางระดับกลางออกมาทำไมแล้ว ผมก็นึกถามตัวเองว่า สภาพหวนกลับไปสู่อดีตเพื่อหลบหนีอนาคตเช่นนี้จะอยู่กับคนชั้นกลางระดับกลางไปตลอดหรือไม่ ผมคิดว่าไม่ เพราะความเปลี่ยนแปลงที่มาจากข้างนอกสังคมไทยแรงเกินกว่าใครจะไปหยุดยั้งมันได้ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีทักษิณ ในที่สุดพวกเขาก็ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงแบบไม่หลบหนีจนได้ การศึกษาที่สูงของพวกเขาจะให้ความสามารถที่จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงได้หลายรูปแบบ และในที่สุดกลุ่มหนึ่งก็จะต้อนรับความเปลี่ยนแปลงนั้น แล้วก็ขยายไปยังคนกลุ่มอื่นๆ ในหมู่คนชั้นกลางระดับกลางมากขึ้น แม้แต่อดีตที่เขาโหยหาอยู่ในเวลานี้ ก็ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์เสียทีเดียว อย่างน้อยก็ช่วยประคองจังหวะก้าวให้เป็นไปอย่างมีรากมีฐานได้ดีขึ้น ถึงจะต้องละทิ้งคุณค่าเก่าๆ ที่เป็นไปไม่ได้แล้วลงไปในที่สุด ก็รู้ว่าต้องทิ้งทำไม อีกเรื่องหนึ่งที่ผมอยากย้ำก็คือ ทั้งคนชั้นกลางระดับล่างและคนชั้นกลางระดับกลาง เป็นพลังยิ่งใหญ่ในสังคมไทยปัจจุบัน แต่เนื่องจากระบบการเมือง, ระบบปกครอง, ระบบสังคมและวัฒนธรรม ทำให้ขาดการจัดองค์กรที่ดี ทั้งๆ ที่พลังนั้นพยายามจะเบ่งตัวเองออกมามีบทบาทในสังคม ดังนั้น จึงง่ายที่คนชั้นกลางทั้งสองกลุ่มนี้จะตกเป็นเหยื่อทางการเมือง ของคนที่จัดองค์กรเพื่อประโยชน์ทางการเมืองส่วนตนและเฉพาะหน้า ที่มา: มติชนออนไลน์ หมายเหตุ: บทความนี้ถูกนำเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน 2 ตอน ห่างกันหนึ่งสัปดาห์ โดยตอนแรกตีพิมพ์ในฉบับวันที่ 6 ก.ค.2553