ที่มา โลกวันนี้ เรื่องสร้างภาพหรือไม่สร้างภาพของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คิดว่าพูดกันจนเบื่อ ว่ากันจนเซ็ง คนพูดก็เบื่อจะพูดเพราะมีเรื่องให้พูดได้มากมายเหลือเกิน ขณะที่คนฟังก็เริ่มจะชินชาจนอาจเห็นเป็นเรื่องปรกติของรัฐบาลนี้ไปแล้วก็ได้ แม้จะเบื่อจะชินอย่างไร แต่ไม่อยากให้ท้อที่จะรับรู้รับทราบเอาไว้ เพราะมันสำคัญต่อบ้านเมือง คนที่คิดอย่าง พูดอย่าง และทำอีกอย่าง ควรจะได้รับบทเรียนจากสังคมเสียบ้าง เพราะความหล่อเหลากับภาพพจน์ที่ดีเป็นดั่งยาพิษเคลือบน้ำตาล ที่แรกอมก็หวาน แต่แก่นแท้ข้างในโคตรขม การดูคนจึงควรมองให้ทะลุหน้าตาที่อาจสวยพริ้ง หล่อเหลา มองให้ทะลุภาพลักษณ์ที่ฉาบร่างกายเอาไว้เบื้องหน้า ดูกันให้ถึงแก่นแท้ของจิตใจและรอยหยักในสมอง เรื่องของการสร้างภาพที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้คือ เรื่องการ “ปฏิรูปสื่อ” ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสื่อของรัฐ และบรรดาคอหอยกับลูกกระเดือกอีกหลายคนเริ่มเดินสายพบเจ้าของและผู้บริหารสื่อ เบื้องหน้าคือการไปขอรับบริจาคความคิดว่าการปฏิรูปสื่อควรมีแนวทางอย่างไร ในขณะที่นายกรัฐมนตรีเดินพาหน้าหล่อเข้าออกสำนักงานสื่อเพื่อโชว์ว่าต้องการปฏิรูปสื่อ ก็มีความจริงอีกด้านถูกฉายออกมาจากเวทีสัมมนาที่หลายฝ่ายร่วมกันจัดเพื่อบอกเล่าประสบการณ์จากการถูกกระทำโดยฝ่ายรัฐในช่วงที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นายสุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ เปิดเผยเรื่องที่น่าทึ่งว่า ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.-7 ก.ค. 2553 รัฐบาลใช้อำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินปิดสถานีวิทยุชุมชนไป 26 สถานี ในพื้นที่ 9 จังหวัด ให้ยุติออกอากาศชั่วคราว 6 สถานี และขึ้นบัญชีดำเป็นสถานีที่ต้องจับตาอีก 84 สถานี ในพื้นที่ 12 จังหวัดมีหัวหน้าสถานี กรรมการ และผู้จัดรายการถูกตั้งข้อหาและดำเนินคดีไป 35 ราย การดำเนินการในส่วนกลางใช้วิธีเรียกตัวผู้บริหาร คนจัดรายการมาพบที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เพื่อขอความร่วมมือแกมบังคับโดยแจ้งให้ทราบว่าการจัดรายการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองต่อต้านรัฐบาลจะมีผลกับการออกใบอนุญาต นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือให้เผยแพร่ข่าวสารจากรัฐบาล ส่วนในต่างจังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัดจะเรียกผู้บริหารมาคุยและให้ลงนามในเอ็มโอยูห้ามลิ้งค์สัญญาณจากอินเทอร์เน็ตมาออกอากาศ และให้เชื่อมสัญญาณของสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยมาออกอากาศแทน ในขณะที่สถานีที่เป็นเป้าหมายว่าต้องปิดจะใช้วิธีส่งกำลังทหารตั้งแต่ 50-500 นาย เข้าไปยึดเครื่องส่งสัญญาณ สายส่ง อุปกรณ์การจัดรายการ ไมโครโฟน เทป รื้อถอนเสาอากาศ บางรายมีการยึดเครื่องปรับอากาศ แม้กระทั่งรถมอเตอร์ไซค์ที่ไม่ใช่เครื่องมือใช้ออกอากาศ และมีหลายสถานีถูกใช้กำลังเข้าไปข่มขู่ เมื่อมีทหารแบกปืนเอ็ม 16 ปืนกล กระบอง โล่ เข้าไปขอความร่วมมือ ยังมีอีกหลายตัวอย่างหลายกรณีแต่เอาแค่นี้ก็คงรู้แล้วว่าเรื่องการปฏิรูปสื่อที่พูดกันอยู่นั้นเป็นแค่การสร้างภาพหรือว่าต้องการปฏิรูปกันจริงๆเป็นประชารัฐ จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2842 ประจำวัน ศุกร์ ที่ 16 กรกฏาคม 2010 โดย ลอย ลมบน