ที่มา โลกวันนี้ “สมัยพฤษภา 2535 การเสียชีวิตมีการบันทึก การชันสูตรอยู่ในเกณฑ์ที่คิดว่าพอรับได้ มีบันทึกแพทย์ ทำให้เห็นแผลแต่ละแผล มีมุม มีลักษณะที่ถูกยิง ปืนที่ใช้ยิงเป็นลักษณะแบบไหน อย่างไร เป็นการจ่อยิง เป็นบาดแผลอย่างไร สมัยนั้น ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ทำการวิเคราะห์เอกสารที่ชันสูตรศพ 39 ศพ จากทั้งหมด 44 ศพ แล้วมีบันทึกที่นำเอามาใช้ได้ ในขณะนั้นอาจารย์วิฑูรย์บอกว่ายังไม่สมบูรณ์ ควรปรับปรุง แต่เหตุการณ์นั้นผ่านมา 18 ปี สิ่งที่น่าตกใจในเชิงระบบการแพทย์เองก็ไม่มีบันทึกครบสมบูรณ์ อย่างน้อยถ้าเทียบกับปี 2535 ตอนนั้นยังมีมากกว่า” ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นักวิชาการจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ข้องใจการชันสูตรพลิกศพ 90 ศพในเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิต เพราะที่ผ่านมาแทบไม่ปรากฏเป็นข่าวใดๆเลย และตั้งคำถามถึงหน่วยแพทย์ที่เกี่ยวข้องทุกแห่ง 3 กรณีคือ 1.ศพส่งที่ไหนก็ชันสูตรที่นั่น ซึ่งการชันสูตรเป็นแบบไหนเขายังไม่เห็นเอกสาร เขาเพียงแต่เขียนว่าชันสูตร 2.ศพส่งไปที่ ไหนแล้วไปชันสูตรอีกที่หนึ่ง และ 3.ทำไมไม่มีข้อมูลชันสูตรศพทั้งหมด แต่มีเพียงประมาณ 1 ใน 3 2 ใน 3 ไม่มีการชันสูตร? “ที่น่าสนใจคือ ศพที่ถูกยิงในเหตุการณ์และเสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน มีทั้งหมด 26 ศพ บอกว่ามีการชันสูตรศพ พอหลังจากนั้นคือหลังวันที่ 28 เมษายนมีการปะทะกันบนถนนวิภาวดีรังสิต แล้วมีทหารเสียชีวิตนายหนึ่ง ซึ่งบอกว่ายิงกันเองก็ไม่มีการชันสูตรศพ พอวันที่ 13 พฤษภาคม วันที่ เสธ.แดงถูกยิง จนมาถึงวันที่ 19 และ 20 พฤษภาคม มีผู้เสียชีวิตอีก เอา 26 ลบ 90 ทั้ง หมดนี้แค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่มีการชันสูตรศพ อันนี้เป็นคำถามของวิธีการว่าเกิดอะไรขึ้นถึงไม่มีการชันสูตรศพที่เหมาะที่ควร และสามารถจะใช้เป็นหลักฐานได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน” ดร.กฤตยายังตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้ศพถูกฌาปนกิจไปแล้วส่วนใหญ่ จึงมีข้อมูลน้อยมากหรือไม่มีเลย ซึ่งเป็นการเจตนา เป็นการจงใจหรือไม่ไม่ทราบ แต่ในฐานะทำงานด้านมนุษยชนมีความรู้สึกว่าภาครัฐ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ สถาบันการแพทย์ ไม่น่าจะปล่อยให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งไม่รู้ว่าจะไปเรียกร้องความยุติธรรมจากใคร 90 ศพที่พูดไม่ได้? ความเห็นของ ดร.กฤตยาไม่ได้แตกต่างจากคนเสื้อแดง นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาชนต่างๆ หรือแม้แต่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและสื่อต่างประเทศ ที่เห็นว่ารัฐบาลไทยพยายามกลบเกลื่อนหรือเบี่ยงเบนความจริงในการใช้กำลังทหารปราบปราม คนเสื้อแดงจนมีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ศพ และบาดเจ็บเกือบ 2,000 ราย โดยใช้สารพัดนโยบายประชานิยมที่จะทำให้ประชาชนสนับสนุนรัฐบาล หรือประกาศแผนปรองดอง วาทกรรมสวยหรู และตั้งคณะกรรมการต่างๆขึ้นมาปฏิรูปประเทศไทย แต่ 3 เดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่เหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน หรือ 2 เดือนจากเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม แทบไม่มีความจริงใดๆเกี่ยวกับเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” มาแถลง ให้ประชาชนรับทราบเลย ที่สำคัญรัฐบาลยังต่ออายุ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปิดสื่อและเว็บไซต์ต่างๆเร่งไล่ล่าและกวาดล้างคนเสื้อแดงและฝ่ายตรงข้ามด้วยข้อหา “ผู้ก่อการร้าย” และ “ล้มสถาบัน” อย่างต่อเนื่อง เสียงของญาติผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บมากมายจึงเงียบสนิทและไม่รู้จะทวงถามความยุติธรรมกับใคร แม้ล่าสุดจะมีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน แต่นายคณิตแถลงชัดเจนว่าไม่ได้เน้นค้นหาความจริงว่าใครผิดหรือถูกในการสังหารคนเสื้อแดง แต่เน้นแสวงหาความจริงถึงต้นเหตุของความรุนแรงทางการเมือง เพื่อป้องกันความขัดแย้งและฟื้นฟูเยียวยาสังคมให้เกิดความปรองดองในระยะยาว ยูเอ็นจี้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่คนเสื้อแดงและประ-ชาชนที่รักความเป็นธรรมไม่ได้สิ้นหวังที่จะทวงคืนความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ โดยเฉพาะองค์กรระหว่างประเทศมีการเกาะติดและเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลไทยมากกว่าคนไทยและองค์กรต่างๆของไทย อย่างเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม นายอิเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย องค์การฮิวแมนไรท์วอทช์ ส่งจด หมายเปิดผนึกถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทันที โดยระบุว่าเป็นกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และขัดหลักการประชาธิปไตย แม้จะมีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในบางพื้นที่ก็ตาม โดยเฉพาะการคุมขังคนเสื้อแดงโดยไม่มีการตั้งข้อหาชัดเจน การไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้ถูกจับกุม การใช้สถานที่คุมขังในที่ที่ไม่เหมาะสม และไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ถูกคุมขังถูกทารุณกรรมหรือไม่ ซึ่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ก็ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว แต่กลับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่ออ้างความชอบธรรมและสร้างเกราะคุ้มครองให้รัฐบาลและ ศอฉ. หลุดพ้นจากข้อกล่าวหาฆ่าและทำร้ายประชาชน ทั้งยังปิดสื่อและเว็บไซต์จำนวนมาก ซึ่งเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่จำกัดและขัดต่อหลักการด้านมนุษยชนตามสนธิสัญญานานาชาติว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ซึ่งไทยเป็นสมาชิก เช่นเดียวกับเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม อินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป (International Crisis Group-ICG) องค์กรพัฒนาเอกชนที่ศึกษาวิกฤตระดับนานาชาติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งรุนแรง ได้เผยแพร่รายงานชื่อ “ประสานรอยแยกในประเทศไทย” เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทันที เพื่อสร้างบรรยากาศการปรองดองในชาติ ซึ่งต้องเริ่มต้นด้วยการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อให้ได้รัฐบาลใหม่ที่มีความชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับของประชาชน อนุญาตให้ฆ่า! ขณะที่องค์กรสื่อไร้พรม แดนแถลงข่าวเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พร้อมรายงานที่ได้จากการสืบสวน สัมภาษณ์ และวิเคราะห์จากสื่อมวลชนต่างๆที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งไทยและต่างชาติชื่อ “อนุญาตให้ฆ่า” เรียกร้องรัฐบาลไทยและเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) ให้องค์กรต่างๆของสหประชาชาติเข้ามามีส่วนร่วมในการสอบสวนอย่างอิสระและโปร่งใสใน “อาชญากรรม” ที่เกิดขึ้นในไทยระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งมีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างชาติเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากแล้ว ยังกระทบต่อวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างยิ่งอีกด้วย แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า ในจำนวนผู้เสียชีวิต 90 ศพนั้น มีนักข่าวต่างประเทศ 2 ราย และผู้สื่อข่าวที่ได้รับบาดเจ็บถึง 10 ราย บางรายอาจต้องพิการไปตลอดชีวิต ขณะที่รัฐบาลไทยยังเซ็นเซอร์และปิดสื่อที่มีความเห็นตรงข้ามกับรัฐบาลอีกมากมายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แถลงการณ์ยังระบุว่า แม้รัฐบาลจะสามารถสลายการชุมนุมครั้งใหญ่กลางกรุงเทพฯได้ แต่เป็นชัยชนะที่เต็มไปด้วยความรุนแรงของทหาร ซึ่งมีพยานมากมายเห็นการยิงประชาชนที่ไร้อาวุธ ขณะที่รัฐบาลอาศัยการประกาศภาวะฉุกเฉินกวาดล้างคนเสื้อแดงและฝ่ายตรงข้าม โดยไม่คำนึงถึงกฎหมายระหว่างประเทศหรือกฎหมายของประเทศไทยที่ให้การคุ้มครองสิทธิพลเมืองไว้อย่างชัดเจน ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจึงเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างเป็นอิสระในอาชญากรรมที่เกิดขึ้น โดยขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ เพราะไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะสูญเสียความน่าเชื่อถือในเวทีนานาชาติ ซึ่งนายอภิสิทธิ์ต้องแสดงความจริงใจเพื่อนำไปสู่ความปรองดองของคนในชาติ รวมทั้งในฐานะที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนได้รับคำบอกเล่าจากนักข่าวยุโรปที่อยู่ในพื้นที่วันสุดท้ายของการชุมนุมว่าทหารใช้อาวุธสงครามกับประชาชน และไม่เคารพกติกาสากลในการสลายการชุมนุม แม้โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจะอ้างว่ากองทัพมีคำสั่งชัดเจนห้ามยิงประชาชน แต่สามารถใช้กระสุนจริงได้เพื่อป้องกันตัวเองจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย เช่นเดียวกับการยืนยันว่ารัฐบาลให้เสรีภาพสื่อ แต่วันนี้ยังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินปิดสื่อและเว็บไซต์ต่างๆอยู่ ทวงถามความยุติธรรม สำหรับการเคลื่อนไหวเพื่อทวงถามความยุติธรรมให้กับ 90 ศพที่เสียชีวิตนั้น เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมเพื่อประชาธิปไตย (คกป.) ได้รวมตัวกันประท้วงการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ (คปร.) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ (คสป.) ที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ที่บ้านพิษณุโลก โดยแต่งกายใช้สัญลักษณ์กาชาดและพระสงฆ์ พร้อมสวมหน้ากากอาบเลือด และนำแผ่นกระดาษพิมพ์รายชื่อผู้เสียชีวิตปูบนพื้นถนน เพื่อแสดงการคัดค้านที่มาของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุดว่าไม่ถูกต้อง แต่ไม่ได้แสดงความสนใจแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม คกป. ได้แจกจ่ายเอกสารมาจากบทความ “ปฏิรูปไม่ได้ ปรองดองไม่ได้ ถ้าไม่รู้สึกเจ็บปวด” โดยตั้งคำถามถึงจุดยืนของ นพ.ประเวศ ในการเป็นประธาน คสป. ว่า “ความคิดที่จะมุ่งปฏิรูปอนาคตโดยไม่สนใจไยดีต่ออดีต และอันที่จริงอดีตก็ไม่ใช่เรื่องของเฉพาะโจทก์และจำเลย แต่เป็นเรื่องของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นของหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐและผู้ชุมนุม แต่เป็นเรื่องของการสูญเสียที่ร้าวลึกของหลายฝ่าย เป็นเรื่องของบาดแผลในจิตใจมนุษย์ ที่คงใช้เวลาอีกนานกว่าจะเยียวยา ทั้งยังเป็นบาดแผลต่อจิตวิญญาณของชนชาติไทย แต่ทำไมประธานกรรมการท่านนี้จึงเริ่มจากการบอกให้มองข้ามอดีต” นอกจากนี้นายวรรณเกียรติ ชูสุวรรณ หนึ่งใน คกป. ยังเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์แสดงความรับผิดชอบต่อผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้สูญเสียจากการสลายการชุมนุมก่อน ไม่ใช่เร่งการปฏิรูปที่เป็นเพียงการซื้อเวลา และการเบี่ยงเบนความรับผิดชอบต่อผู้สูญเสียในเหตุการณ์เท่านั้น มาร์ค V11 เหยื่ออำมหิต ความปรองดองหรือแผนปฏิรูปของนายอภิสิทธิ์จึงไม่มีใครเชื่อว่าจะสำเร็จตราบใดที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจนว่าใครฆ่าและทำร้ายประชาชน ไม่ใช่แค่การตั้งกลุ่มอรหันต์มาสร้างภาพและยื้อเวลาให้ตนอยู่ในอำนาจต่อไปให้นานที่สุด ขณะที่อีกด้านหนึ่งใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไล่ล่าและกวาด ล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งขบวนการต่างๆกดดันและทำลายฝ่ายตรงข้าม อย่างกรณีนายวิทวัส ท้าวคำลือ หรือมาร์ค V11 ผู้เข้าแข่งขัน “ทรู อะคาเดมี แฟนเทเชีย ซีซั่น 7” (AF7) ที่โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ควิจารณ์และขับไล่นายอภิสิทธิ์ออกจากตำแหน่งกรณีสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายนและพฤษภาคม จนเกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่มที่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ โดยเฉพาะขบวนการล่าแม่มดออนไลน์ที่กดดันให้ปลดมาร์ค V11 ออกจากรายการ ในที่สุดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม มาร์ค V11 ประกาศขอถอนตัวจากการแข่งขัน แม้จะอ้างเหตุผลเพื่อให้ทุกฝ่ายหันมาสมานฉันท์ พร้อมทั้งปฏิเสธข่าวหมิ่นเบื้องสูงก็ตาม แต่คงยากจะให้ผู้ที่ให้กำลังใจมาร์ค V11 มาตลอดเชื่อว่าเป็นการตัดสินใจอย่างบริสุทธิ์ใจด้วยตัวเอง เพราะนายวทัญญู ท้าวคำลือ บิดาของมาร์ค V11 พูดชัดเจนว่าจะพาลูกชายเข้าพบนายอภิสิทธิ์เพื่อขอโทษ ซึ่งก่อนหน้านี้พ่อแม่ของมาร์ค V11 ไม่ยอมให้ขึ้นเวทีแสดงคอนเสิร์ตเมื่อวันเสาร์ที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยอ้างเรื่องความปลอดภัย และต้องการให้เห็นความสมานฉันท์ โดยมาร์ค V11 เองก็ไม่รู้เรื่องมาก่อน กรณีของมาร์ค V11 จึงถือเป็นตัวอย่างชัดเจนที่สะท้อนให้เห็นความแตกแยก ความอคติ และจิตใจที่ใฝ่ต่ำของสังคมไทยขณะนี้ เพราะแม้แต่ความเห็นของเยาวชนคนหนึ่งที่แสดงความคิดเห็นอย่างบริสุทธิ์ตามสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยยังถูกต่อต้านอย่างรุนแรง แม้แต่นายอภิสิทธิ์ยังแสดงความกังขาและทวงถามถึงความรับผิดชอบ แทนที่จะแสดงความป็นผู้นำที่มีจิตใจเป็นประชาธิปไตย เป็นผู้นำที่มีความเอื้ออาทรและเมตตาธรรม จึงไม่แปลกที่วันนี้คนจำนวนมากจะไม่เชื่อความจริงใจของนายอภิสิทธิ์ และไม่เชื่อว่าจะสร้างความปรองดองหรือกลุ่มอรหันต์จะปฏิรูปประเทศได้สำเร็จ โมฆบุรุษ-โมฆรัฐบาล คำพูดที่ว่า “เมื่อไม่มีก้าวแรกก็ไม่มีก้าวที่สอง” จึงสอด คล้องกับวิกฤตประเทศไทยขณะนี้อย่างดี เพราะหลายฝ่ายไม่เชื่อและยังกังขาแผนการปรองดองของนายอภิสิทธิ์ หากยังไม่มีคำตอบและคืนความยุติธรรมกับการสังหารโหดประชาชนทั้ง 90 ศพ แม้แต่นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และหนึ่งใน คปร. ของนายอานันท์ ยังให้ความเห็นต่อเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมว่าเป็น “พฤษภามหาโฉด” ที่ขณะนี้ไม่มีใครไว้วางใจใครได้เลย ตราบใดที่ยังมีการใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นคนเสื้อแดงหรือนายอภิสิทธิ์ “ผมคิดว่าคุณอภิสิทธิ์ไม่มีความชอบธรรมในการปรองดอง นอกจากการลาออก” เช่นเดียวกับ ดร.กฤตยาที่เห็นว่า หลังเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ถือว่านายอภิสิทธิ์เป็น “โมฆบุรุษ” เพราะวาทกรรม “ก่อการร้าย” ที่นำมาใช้กับคนเสื้อแดง หากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ที่ใช้คำว่า “ผู้ก่อความไม่สงบ” นั้น เหมือนการสร้างความสกปรกให้สะอาด สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาล แล้วสร้างความอัปลักษณ์ให้กับคนเสื้อแดง โดยรัฐบาลใช้อำนาจอำมหิตจัดการในสิ่งที่เห็นว่าสกปรก ทั้งนี้ แม้ประชาชนจะเกลียดรัฐบาล แต่รัฐบาลไม่มีสิทธิเกลียดประชาชน และไม่มีอำนาจสั่งฆ่าประชาชน “นายอภิสิทธิ์เคยพูดกับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ว่านายสมชายเป็นคนหรือไม่ แต่ดิฉันจะไม่ถามว่านายอภิสิทธิ์เป็นคนหรือไม่ เพราะรู้ว่าเป็นคนอยู่แล้ว นอกจากนี้ในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา นายอภิสิทธิ์อภิปรายโจมตีนายบรรหารตอนหนึ่ง นายอภิสิทธิ์กล่าวหานายบรรหารว่าเป็นโมฆบุรุษ และในเหตุการณ์นี้มีการสั่งสลายการชุมนุมจนทำให้คนเสียชีวิตจำนวนมาก แต่นายอภิสิทธิ์ยังอยู่ในอำนาจ นายอภิสิทธิ์เป็นโมฆบุรุษ และรัฐบาลชุดนี้ก็เป็นโมฆรัฐบาล” ดร.กฤตยายังย้ำถึงการชันสูตรศพที่ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่จะพิสูจน์สาเหตุการเสียชีวิตที่มีแต่ 1 ใน 3 เท่านั้น เห็นได้ชัดเจนจากกรณีของ “น้องเกด” น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาของร่วมด้วยช่วยกัน ที่ถูกยิงที่วัดปทุมวนาราม ซึ่ง พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ บอกว่ามีกระสุนค้างที่ตัว แต่ภายหลังฝ่ายที่เกี่ยวข้องกลับบอกว่าไม่มี ซึ่งสรุปได้ว่าการชันสูตรศพของรัฐบาลไม่มีความชัดเจน และสะท้อนให้เห็นว่าเป็นการอำพรางการฆาตกรรมอย่างอำมหิต คนไทยรึเปล่า? สังคมไทยวันนี้จึงไม่ใช่แค่ไม่มีคำตอบกับ 90 ศพ และอีกเกือบ 2,000 ชีวิตที่บาดเจ็บ พิการเท่านั้น แม้แต่จะเรียกร้องความยุติธรรมยังมืดมน เพราะอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ใหญ่คับบ้านคับเมือง ที่รัฐบาลอ้างเป็นการบังคับใช้นิติรัฐนั้นกลับนำมาใช้แบบเอาเป็นเอา ตายและบ้าเลือดกับคนเสื้อแดงและฝ่ายตรงข้าม ไม่คำนึงถึงความเท่าเทียม สิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นพลเมืองและสิทธิความเป็นมนุษย์ มีการจับคนที่คิดเห็นตรงกันข้ามไปคุมขังโดยไม่ต้องแจ้งข้อหาใดๆก็ได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลและ ศอฉ. ยังใช้สื่อและวาทกรรมต่างๆเพื่อสร้างความชอบธรรมในการใช้อำนาจ ทั้งปิดกั้น ควบคุมและแทรกแซงสื่ออย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้ปรากฏภาพทหารที่ประทับเล็งปืน หรือการใช้กำลังของทหารที่เกินสมควรแก่เหตุ โดยใช้วาทกรรม “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับวงล้อม” ซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพที่นายอภิสิทธิ์และ ศอฉ. ถือเป็นความชอบธรรม เหมือนพฤติกรรมของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการ ศอฉ. ที่กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ถามว่า มีคนเห็นว่าทหารยิงประชา- ชน ทาง ศอฉ. ตรวจสอบอย่าง ไร นายสุเทพกลับยกมือชี้ไปที่ผู้สื่อข่าว แล้วถามว่า “เป็นคนไทยรึเปล่า?” ทั้งที่เป็นคำถามที่ผู้สื่อข่าวอยากทราบความคืบหน้าการเสียชีวิตของ 90 ศพ ซึ่งรัฐบาลและ ศอฉ. ต้องอดทนและทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากที่สุด แต่นายสุเทพกลับแสดงบารมีซึ่งไม่ต่างอะไรกับการข่มขู่ เหมือนเตือนว่าอย่าถามและคิดเช่นนี้อีก ทั้งที่ 90 ศพก็เป็นคนไทยเช่นกัน และยังเป็นคนไทยที่ถูกฆ่าอย่างอำมหิตอีกด้วย คนที่น่าสงสารและต้องถามตัวเองว่า “เป็นคนไทยรึเปล่า?” จึงน่าจะเป็นคนที่สั่งการ และคนที่ลงมือฆ่าและทำ ร้ายประชาชน! เหมือนครั้ง 6 ตุลาคม 2519 ที่สังหารโหดนักศึกษากลางเมือง แต่คนฆ่ากลับกลายเป็นวีรบุรุษ เพราะคำว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” เช่นเดียวกับการฆ่าอย่างเลือดเย็นและอำมหิต 90 ศพที่ราชดำเนินถึงราชประสงค์ และ 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม ที่ไม่ ใช่แค่ถามว่า “เป็นคนไทยรึเปล่า?” เท่านั้น แต่ต้องถามว่า “เป็นคนรึเปล่า?” ด้วย! ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 5 ฉบับ 268 วันที่ วันที่ 17-23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 หน้า 8 คอลัมน์ เรื่องจากปกโดย ทีมข่าวรายวันเรื่องจากปก จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข ปีที่ 5 ฉบับที่ 268 ประจำวัน ศุกร์ ที่ 16 กรกฏาคม 2010 โดย ทีมข่าวการเมือง