ม.เที่ยงคืนชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีอำนาจกว้างขวาง ไม่มีหลักประกันเสรีภาพการแสดงความเห็นของฝ่ายที่คิดต่างจากรัฐบาล เสนอให้เลิก พ.ร.ก. เพื่อให้ความคิดเรื่องปฏิรูปไม่ออกมาแต่ข้างฝ่ายรัฐบาล ชี้การพิสูจน์ข้อเท็จจริงกรณีสลายชุมนุมเมษา-พฤษภามีความสำคัญต่อการปฏิรูป พร้อมเรียกร้องสังคมกดดันให้เกิดการ “ปฏิรูป” การ “ปฏิรูปประเทศ”
เวลา 16.00 น. วันนี้ (16 ก.ค.) ที่ห้อง 102 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณาจารย์กลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ประกอบด้วย รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ อาจารย์ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และ อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ ร่วมกันออกแถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง “ปฏิรูปการปฏิรูปประเทศไทย” โดยมี นายสมชาย เป็นผู้อ่านแถลงการณ์
ใจความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ “ปฏิรูปการปฏิรูปประเทศไทย” ระบุว่า “ภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝ่ายที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่เจ้าหน้าที่ในการกล่าวหาและควบคุมบุคคลที่เห็นว่ากระทำการขัดต่อกฎหมาย ซึ่งแม้กระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังมีการกล่าวหาและการควบคุมบุคคลจำนวนมากโดยไม่เคารพต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าได้กระทำความผิดในลักษณะใด
อำนาจที่ฉ้อฉลของกฎหมายฉบับนี้จึงย่อมเป็นผลให้บุคคลที่มีจุดยืนแตกต่างจากฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐไร้หลักประกันว่าจะสามารถแสดงความเห็นอย่างบริสุทธิ์ใจได้อย่างปลอดภัย เมื่อเป็นเช่นนี้กระบวนการปฏิรูปประเทศไทยจึงยากที่จะเกิดขึ้นท่ามกลางการแลกเปลี่ยนทัศนะอย่างกว้างขวางและการต่อรองอย่างเป็นธรรม จึงต้องมีการยกเลิก พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้ความคิดในการปฏิรูปประเทศไม่ปรากฏออกมาสู่สังคมเฉพาะที่มาจากฝ่ายของรัฐบาล ชนชั้นนำ และปัญญาชนที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปคณะต่างๆ เท่านั้น”
แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า กระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจ “ความจริง” และต้องมีผู้ “รับผิด” ต่อการตัดสินใจและการกระทำของตนเอง ตลอดจนการที่สังคมโดยรวมจะได้หาทางแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ ที่เป็นเหตุปัจจัยแห่งความรุนแรง เพื่อจะสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันมิให้เกิดความรุนแรงซ้ำอีก กระบวนการดังกล่าวนี้สำคัญอย่างมากต่อการที่จะดึงให้ทุกฝ่ายทุกสีให้หันหน้าเข้าหากันโดยต่างก็ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปประเทศ และเกิดความกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศในวิถีทางที่ตนสามารถกระทำได้
“มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเรียกร้องให้สังคมร่วมกันกดดันเพื่อให้เกิดการปฏิรูป “การปฏิรูปประเทศไทย” เพื่อให้สังคมมีส่วนร่วมในการปฏิรูปอย่างแท้จริง ซึ่งการมีส่วนร่วมของสังคมนี้นับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะทำให้การปฏิรูปประเทศบรรลุผล หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างกว้างขวางอันจะเป็นผลดีต่อสังคมไทยในระยะยาว” ตอนท้ายของแถลงการณ์ระบุ
หลังการแถลงข่าวนายอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ตอบคำถามและอธิบายข้อเสนอเรื่องการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองและเปิดเผยต่อสังคมว่า การมีส่วนร่วมไม่ใช่แค่การเปิดเวที ระดมคนร้อยคน หรือสองร้อยคนไปฟัง นอกจากนี้ต้องมีการพิมพ์เอกสารและสื่อทั้งหมดที่คณะกรรมการฯ กำลังดำเนินการสู่สาธารณะชนในวงกว้างและง่ายต่อการเข้าถึง อาจจะพิมพ์สิ่งที่คณะกรรมการฯ จะเสนอในหนังสือพิมพ์หรืออื่นๆ รวมทั้งในบางกรณีเช่นกรรมการที่เป็นชุดตรวจสอบข้อมูลฯ ก็มีความจำเป็นต้องเผยแพร่ข้อมูลหรือหลักฐานด้วยซ้ำ เพื่อที่สังคมทั้งหมดจะได้เห็นข้ออ่อนหรือจะทำอะไร การเปิดเวทีเพียงครั้งๆ เกรงว่าถ้าทำอย่างนั้นจะคล้ายการทำประชาพิจารณ์จอมปลอมซ้ำรอยรัฐธรรมนูญปี 2550 ท้ายสุดจะไม่ได้อะไรขึ้นมา
นายชำนาญ จันทร์เรือง กล่าวหลังการแถลงข่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปทั้ง 2 ชุดที่ตั้งขึ้น เป็นเรื่องซื้อเวลาของฝ่ายบริหาร เพราะจริงๆ แล้วฝ่ายบริหารมีหน้าที่ปฏิรูปอยู่แล้ว ไม่ต้องตั้งกรรมการอะไรอยู่แล้ว อำนาจเต็มอยู่ที่ฝ่ายบริหาร คณะรัฐบาลอยู่แล้ว คณะกรรมการทั้งสองชุดตั้งโดยคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเท่านั้นเอง ถ้ามีการเสนอขึ้นมาถ้ารัฐบาลไม่เอาด้วยก็จบ และระยะเวลาทำงานก็เนิ่นนาน 2-3 ปี และไม่แน่ว่ารัฐบาลชุดหน้าจะเอาหรือไม่เอาอย่างไร ก็เป็นการซื้อเวลา แต่การปฏิรูปไม่สามารถเคลื่อนได้ถ้ามี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ใช่ยกเลิกประกาศธรรมดา แต่ต้องเลิกกฎหมายนี้ไปเลย พ.ร.บ.ความมั่นคงก็ร้ายแรงเต็มที ยังมี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ปิดปาก เซ็นเซอร์ ปิดกั้นอินเทอร์เน็ต ซึ่งขัดต่อหลักการรัฐธรรมนูญโดยชัดแจ้ง และประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มากี่เดือนแล้ว ไม่ใช่แค่ฉุกเฉิน แต่เป็นฉุกเฉินฉบับถาวรไปแล้ว โดยรายละเอียดของแถลงการณ์เป็นไปดังแนบท้าย
000
แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เรื่อง “ปฏิรูปการปฏิรูปประเทศไทย”
ในห้วงเวลาที่สังคมไทยกำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอย่างรุนแรง รัฐบาลได้นำเสนอกระบวนการ “ปฏิรูปประเทศไทย” เพื่อเป็นหนทางในการจัดการกับความขัดแย้งและนำสังคมไทยกลับคืนสู่ภาวะสันติสุข โดยได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่ได้เข้ามาร่วมในการปฏิรูปประเทศไทยในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายประเด็นที่สังคมควรพิจารณาเพื่อให้การปฏิรูปประเทศไทยมีความชอบธรรมและบรรลุผลอันพึงปรารถนา
1. ปัญหาสำคัญอย่างยิ่งของสังคมการเมืองไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมาก็คือ การที่อำนาจในการอธิบายปัญหา การเสนอทางเลือกในการแก้ไขปัญหา และการตัดสินใจหรือการวินิจฉัยต่างๆ ตกอยู่ในมือของชนชั้นนำเพียงหยิบมือเดียว แม้ว่าการปฏิรูปประเทศครั้งนี้จำเป็นจะต้องมีปัญญาชนและชนชั้นนำเข้ามาร่วมอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ แต่ก็จำเป็นจะต้องมีภาคสังคมเข้ามามีบทบาทในกระบวนการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง อย่างน้อยที่สุดก็ต้องเปิดโอกาสให้ภาคสังคมสามารถควบคุมตรวจสอบความคิดและการตัดสินใจของคณะกรรมการปฏิรูปแต่ละชุดได้อย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพ การปฏิบัติงานของคณะกรรมการแต่ละชุดต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส เปิดเผย เพื่อให้สาธารณชนได้มีโอกาสรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทั้งหมด ทั้งเพื่อการวิพากษ์วิจารณ์และการเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป
2. ภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่มีหลักประกันสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในฝ่ายที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากรัฐบาล เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่เจ้าหน้าที่ในการกล่าวหาและควบคุมบุคคลที่เห็นว่ากระทำการขัดต่อกฎหมาย ซึ่งแม้กระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังมีการกล่าวหาและการควบคุมบุคคลจำนวนมากโดยไม่เคารพต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และมีจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันว่าได้กระทำความผิดในลักษณะใด
อำนาจที่ฉ้อฉลของกฎหมายฉบับนี้จึงย่อมเป็นผลให้บุคคลที่มีจุดยืนแตกต่างจากฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐไร้หลักประกันว่าจะสามารถแสดงความเห็นอย่างบริสุทธิ์ใจได้อย่างปลอดภัย เมื่อเป็นเช่นนี้กระบวนการปฏิรูปประเทศไทยจึงยากที่จะเกิดขึ้นท่ามกลางการแลกเปลี่ยนทัศนะอย่างกว้างขวางและการต่อรองอย่างเป็นธรรม จึงต้องมีการยกเลิก พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้ความคิดในการปฏิรูปประเทศไม่ปรากฏออกมาสู่สังคมเฉพาะที่มาจากฝ่ายของรัฐบาล ชนชั้นนำ และปัญญาชนที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปคณะต่างๆ เท่านั้น
อนึ่ง แม้ว่าบุคคลหลายคนที่เข้าร่วมในคณะกรรมการปฏิรูปฯ จะยืนยันถึงเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของตนว่ามิได้เป็นเครื่องมือของรัฐบาล แต่ความมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นของสังคมต่างหากที่มีความสำคัญมากกว่า หากสังคมขาดเสรีภาพอย่างแท้จริงในการแสดงความเห็น เสรีภาพของคณะกรรมการแต่ละคนก็จะไม่มีความหมายใดเลย
3. ความขัดแย้งที่ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการสูญเสียที่เกิดขึ้นในระหว่างเหตุการณ์เดือนเมษายนและพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการกล่าวหาและการตอบโต้กันว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ที่สร้างความรุนแรง กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญของความไม่ไว้วางใจรวมถึงความเกลียดชังระหว่างผู้คนต่างสีในสังคมไทย
กระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เข้าใจ “ความจริง” ทั้งในเรื่องของตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงและเงื่อนไขแวดล้อมของความรุนแรง เพื่อนำไปสู่การที่แต่ละฝ่ายจะได้มีความเข้าใจต่อกันมากขึ้น และการที่จะต้องมีผู้ “รับผิด” (accountability) ต่อการตัดสินใจและการกระทำของตนเอง ตลอดจนการที่สังคมโดยรวมจะได้หาทางแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขแวดล้อมต่างๆ ที่เป็นเหตุปัจจัยแห่งความรุนแรง เพื่อจะสามารถหลีกเลี่ยงหรือป้องกันมิให้เกิดความรุนแรงซ้ำอีก กระบวนการดังกล่าวนี้สำคัญอย่างมากต่อการที่จะดึงให้ทุกฝ่ายทุกสีให้หันหน้าเข้าหากันโดยต่างก็ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปประเทศ และเกิดความกระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศในวิถีทางที่ตนสามารถกระทำได้
กระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงต้องดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ก่อนที่พยานหลักฐานจะถูกจัดการหรือสูญหาย และเพื่อให้กระบวนการนี้ไม่ถูกมองว่าเป็นแต่เพียงเครื่องมือในการซื้อเวลาของรัฐบาล ซึ่งความระแวงสงสัยดังกล่าวนี้ย่อมไม่เอื้อต่อการดึงความร่วมมือจากทุกฝ่ายให้เข้ามาสู่กระบวนการปฏิรูปประเทศ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเรียกร้องให้สังคมร่วมกันกดดันเพื่อให้เกิดการปฏิรูป “การปฏิรูปประเทศไทย” เพื่อให้สังคมมีส่วนร่วมในการปฏิรูปอย่างแท้จริง ซึ่งการมีส่วนร่วมของสังคมนี้นับเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่จะทำให้การปฏิรูปประเทศบรรลุผล หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันอย่างกว้างขวางอันจะเป็นผลดีต่อสังคมไทยในระยะยาว
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
16 กรกฎาคม 2553