WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Friday, July 16, 2010

ภัควดี แปล 'ชีวิตภายใต้เงาอำมหิตของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ'

ที่มา ประชาไท


สัญญาณที่จับต้องได้ส่วนใหญ่ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน อาจไม่มีเหลือให้เห็นมากนักในภาคอีสานของประเทศไทย รั้วลวดหนามที่ล้อมรอบศาลากลางจังหวัดถูกรื้อออกไปแล้ว ทหารจากกองทัพที่เข้ามาคุมเชิงตามหมู่บ้านต่าง ๆ หลังจากการสลายการประท้วงต่อต้านรัฐบาลในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม ก็ถอนตัวออกไปหมดแล้วเช่นกัน สภาพการณ์ทั่วไปดูเหมือนกลับมาเป็นปรกติ

กระนั้นก็ตาม หลังจากทยอยกลับมาบ้านจากกรุงเทพฯ ผู้สนับสนุนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่า “คนเสื้อแดง” ยังคงรู้สึกถูกคุกคาม ในบรรดาผู้คนจำนวน 417 คนที่ถูกจับตัวไว้ภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ด้วยข้อหาต่าง ๆ นับตั้งแต่การเข้าร่วมชุมนุมโดยผิดกฎหมาย มีอาวุธอยู่ในครอบครอง ไปจนถึงวางเพลิง มีถึง 134 คนที่มาจากภาคอีสาน หมายจับอีกกว่า 800 คนที่รัฐบาลออกคำสั่งหลังสลายการชุมนุม ผู้ต้องหาส่วนใหญ่ตามหมายจับนี้ก็เป็นคนในต่างจังหวัด ข่าวการสังหารผู้นำเสื้อแดงสองคน คนหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งและทำให้เกิดข่าวลือต่าง ๆ นานาเกี่ยวกับผู้นำคนอื่น ๆ ที่หายไปอย่างไร้ร่องรอย

เป็นเรื่องยากที่จะหาข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ด้วยความกลัวว่าจะถูกจับหรือประสบชะตากรรมเลวร้ายกว่านั้น ผู้นำจำนวนมากจึงหนีไปที่อื่น หลบไปกบดานหรือปิดปากเงียบ พวกเขาวิตกว่าตัวเองถูกจับตามองและถูกดักฟังโทรศัพท์ หลายคนไม่เต็มใจที่จะพบปะกับผู้สื่อข่าวหรือคณะทำงานด้านสิทธิมนุษยชน มีความรับรู้อย่างหนึ่งในหมู่คนเสื้อแดงว่า รัฐบาลสามารถทำได้ทุกอย่างตามอำเภอใจภายใต้พระราชกำหนดฉุกเฉิน ในส่วนรัฐบาลเองนั้น รัฐบาลก็ไม่เคยแสดงจุดยืนชัดเจนว่ามีแผนการจะจัดการกับคนเสื้อแดงอย่างไร หลังจากปล่อยผู้ต้องขังจำนวนหนึ่งออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว นอกจากพูดว่า คนเสื้อแดงที่มีโทษสถานเบาอาจได้รับนิรโทษกรรม

ดูเหมือนรัฐบาลยังใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อรื้อทำลายความสามารถในการจัดตั้งของคนเสื้อแดงตามท้องถิ่นต่าง ๆ จากปากคำของแหล่งข่าวเสื้อแดงคนหนึ่งในภาคอีสานที่ขอร้องไม่ให้ระบุชื่อเพื่อเหตุผลด้านความปลอดภัย สถานีวิทยุชุมชนของคนเสื้อแดงเกือบทั้งหมดได้ส่งมอบเครื่องส่งสัญญาณวิทยุให้ทางราชการเมื่อเดือนที่ผ่านมา ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวผู้นี้ สำนักผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นได้อ้าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินและภายใต้แรงกดดันของ ศอฉ. จากกรุงเทพฯ กำลังพิจารณาที่จะรื้อทิ้งเสาอากาศของสถานีวิทยุชุมชนของคนเสื้อแดงในขอนแก่น แต่เพราะคำยืนกรานของเจ้าของสถานีว่าจะฟ้องรัฐบาลหากทำเช่นนั้นจริง ๆ ทำให้เงื้อมมือของรัฐบาลชะงักไปก่อน อย่างน้อยก็ในตอนนี้

ในระยะสั้น ดูเหมือนการตัดสินใจของรัฐบาลไทยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วให้ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีกในหลายจังหวัดของภาคอีสาน จะเป็นเครื่องมือที่ใช้ได้ผล มีความเงียบงันอย่างเด่นชัดครอบคลุมไปทั่วทั้งดินแดนแถบนี้ แม้กระทั่งตามบ้านเรือนของผู้คนจำนวนมากก็เงียบกริบ เมื่อไม่มีวิทยุหรือโทรทัศน์เสื้อแดงเหลือให้รับฟังรับชม หลาย ๆ ครอบครัวก็เลือกไม่ฟังอะไรเลย พวกเขาบอกว่า ถ้าต้องดูข่าวที่รัฐคุมเข้มหรือแม้แต่อ่านหนังสือพิมพ์ก็พาลให้โมโหเปล่า ๆ

เมื่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะจัดโครงการเปิดรับสายโทรศัพท์จากประชาชน เพื่อรับฟังทัศนะเกี่ยวกับ “การปรองดองแห่งชาติ” คำแนะนำจากคนเสื้อแดงที่โกรธแค้นจำนวนมากที่โทรเข้าไป เช่น บอกให้นายกฯ ยุบสภาและสอบสวนรองนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในข้อหาการใช้กำลังปราบปรามเกินขอบเขต ฯลฯ แน่นอน รัฐบาลย่อมมองว่าคำพูดเหล่านี้เป็นคำแนะนำที่ไม่สร้างสรรค์ แต่อันที่จริง ก่อนที่รัฐบาลอภิสิทธิ์จะประกาศ “โรดแม็ป” แผนปรองดองเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ฝ่ายเสื้อแดงบอกว่าพวกเขาเสนอโรดแม็ปอันหนึ่งมาตั้งนานแล้ว นั่นคือ ยุบสภา ยกเลิกการสั่งปิดสื่อของเสื้อแดงและยุติปัญหาสองมาตรฐานในระบบยุติธรรม เพราะเหตุนี้เอง คนเสื้อแดงจำนวนมากจึงไม่อยากเสียเวลาโทรศัพท์เข้าไปในรายการ “6 วัน 63 ล้านความคิด” พวกเขาเลือกความเงียบดีกว่า

แต่ความเงียบและสภาพที่ดูผิวเผินเหมือนปรกติในภาคอีสานเป็นแค่ภาพลวงตา มันคือหน้าฉากที่อำพรางความรู้สึกหวาดกลัว คับข้อง รังเกียจและเคียดแค้น

ถ้ามองในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว อารมณ์ความรู้สึกแบบนี้ไม่เหมือนสภาพหลังการรัฐประหาร 2549 หรือแม้กระทั่งสภาพหลังการปราบปรามประชาชนของกองทัพเมื่อ พ.ศ. 2535 ทั้ง ๆ ที่ครั้งนั้นก็มีผู้ประท้วงถูกสังหารจำนวนมาก สภาพในตอนนี้มีบรรยากาศคล้ายประเทศไทยสมัยหลังการกวาดล้างนองเลือดนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 มากกว่า เช่นเดียวกับผู้นำเสื้อแดงในตอนนี้ ผู้นำนักศึกษาในตอนนั้นก็ถูกกล่าวหาว่าก่อการร้าย ล้มเจ้าและปลุกปั่นก่อความไม่สงบเช่นกัน เหตุการณ์ตุลาคม 2519 เป็นจุดเริ่มต้นที่สังคมไทยเสื่อมถอยไปสู่ระบอบเผด็จการทหาร ความแตกแยกอย่างลึกซึ้งและการกดขี่ปราบปรามประชาชนเป็นระยะเวลายาวนาน

คนไทยจำนวนมาก และไม่ใช่เฉพาะคนเสื้อแดงเท่านั้น เริ่มตั้งข้อสงสัยว่า วิธีการของรัฐบาลอภิสิทธิ์กำลังนำพาประเทศไทยถอยหลังกลับไปสู่ระบอบเผด็จการด้วยการขยายภาวะฉุกเฉินไปอย่างไม่มีกำหนดหรือไม่ ตัวอย่างก่อนหน้านี้ก็มีให้เห็นใน พ.ศ. 2501 มีการประกาศงดใช้ระบบกฎหมายตามปรกติ และสั่งให้ยึดถือเอาประกาศของคณะปฏิวัติมีความสำคัญเหนือกว่ากฎหมายอาญาและกฎหมายรัฐธรรมนูญ มองจากในแง่ของกฎหมายแล้ว ประเทศไทยอยู่ภายใต้สภาวะนี้ต่อมาอีกถึง 4 ทศวรรษ มีแต่รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 เท่านั้นที่มีความก้าวหน้าในแง่ของการรื้อทิ้งเศษซากตกค้างของระบอบเผด็จการ แต่การรัฐประหารของกองทัพเมื่อ พ.ศ. 2549 เพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่ได้รับการเลือกตั้งมาตามระบอบประชาธิปไตย ได้ผลักไสประเทศไทยจมลงสู่ความไร้เสถียรภาพอีกครั้ง

รัฐบาลอภิสิทธิ์บอกว่า การปราบปรามคนเสื้อแดงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาหลักนิติรัฐ แต่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกลับเป็นสิ่งที่สวนทางตรงกันข้าม มันจะกัดเซาะความเข้มแข็งและความมั่นคงระยะยาวของระบอบนิติรัฐ ถึงแม้มีการยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินในห้าจังหวัด แต่การขยาย พ.ร.ก. ฉุกเฉินไปอีก 3 เดือนใน 18 จังหวัดและในกรุงเทพฯ เป็นแค่สัญญาณบ่งบอกครั้งล่าสุดถึงภาวะความไม่มั่นคงทางกฎหมายที่จะเพิ่มขึ้นในระยะยาว

เป็นเรื่องยากที่จะคิดว่า รัฐบาลที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำจะสามารถทลายกำแพงความเงียบหรือบรรเทาความโกรธแค้นของคนจำนวนมากในภาคอีสาน แน่นอน การยกเลิก พ.ร.ก. ฉุกเฉินหรือการอนุญาตให้วิทยุโทรทัศน์เสื้อแดงกลับมาออกอากาศ อาจไม่ทำให้รัฐบาลชนะใจคนในภาคอีสานได้ง่าย ๆ ตราบใดที่รัฐบาลยังไม่สามารถ “คืน” สิทธิที่ประชาชนรู้สึกว่าเป็นของเขาในระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งผู้วางนโยบายในกรุงเทพฯ ก็ไม่ควรประหลาดใจด้วย หากการคืนสิทธินี้จะทำลายความเงียบในภาคอีสานและเปิดช่องให้การส่งเสียงที่โกรธแค้นยิ่งกว่าเดิม

*David Streckfuss เป็นนักเขียนที่อาศัยอยู่ใน จ.ขอนแก่น