ที่มา ประชาไท
ชี้ การจับกุมส่อให้เห็นว่าประเทศยังถูกรัฐปิดกั้นและละเมิดสิทธิเสรีภาพ การแสดงออก ร้องตำรวจแห่งชาติทบทวนวิธีการการออกหมายจับในทันที โดยไม่ออกหมายเรียกก่อน พร้อมเสนอรัฐบาลทบทวนแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ไม่ให้ผลักภาระความรับผิดให้ “ผู้ให้บริการ”
แถลงการณ์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
แถลงการณ์องค์กรสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท
เผยแพร่วันที่ 27 กันยายน 2553
ตาม ที่นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทได้ถูกควบคุมตัวที่สนามบินสุวรรณภูมิหลังจากเดิน ทางกลับจากต่างประเทศในวันที่ 24 กันยายน 2553 ตามหมายจับ ศาลจังหวัดขอนแก่น โดยกล่าวหาว่านางสาวจีรนุช เปรมชัยพรได้กระทำความผิดฐานเป็นตัวการ, ร่วมกันประกาศแก่บุคคลทั่วไปให้กระทำความผิด ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ, ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการ ก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นผู้ให้บริการจงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการกระทำผิดในระบบ คอมพิวเตอร์ในความควบคุมของตนเองซึ่งเข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 83, 85, 112 และมาตรา116 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 มาตรา15 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550
องค์กรดังมีรายนามข้างท้ายมีความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวต่อไปนี้
1. สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิ่งสำคัญและเป็นหลักการซึ่งยอมรับตามหลักสากล พื้นที่เว็บไซต์ประชาไทเป็นพื้นที่ซึ่งเปิดให้ประชาชนซึ่งมีความคิดเห็นที่ แตกต่างหลากหลายได้เข้ามาใช้พื้นที่ดังกล่าวแสดงความเห็นต่อประเด็นต่างๆ โดยที่ผ่านมาเว็บไซต์ประชาไทพยายามจัดระบบในการดูแลข้อความไม่เหมาะสมดัง กล่าว หากมีการแสดงข้อความไม่เหมาะสมสมาชิกเว็บไซต์สามารถตรวจสอบและแจ้งลบได้ แต่เว็บไซต์ประชาไทยังคงถูกปิดกั้นการรับรู้ข่าวสารของประชาชนหลายครั้ง รวมถึงความจำเป็นในการปิดตัวของเว็บบอร์ดประชาไท และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับกุมนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ ย่อมแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังถูกรัฐปิดกั้นและละเมิดสิทธิเสรีภาพการ แสดงออกอันเป็นการละเมิด สิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
2. การจับกุมนางสาวจีรนุชในฐานะ “ผู้ให้บริการ” ตามมาตรา 14 และมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 83 , 85 , 112 ฐานความผิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และมาตรา 116 ฐานความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยที่นางสาวจีรนุชเป็นเพียงผู้อำนวยการเว็บไซต์ ไม่ใช่ผู้จัดทำข้อความ ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดโดยตรง มิได้มีเจตนาในการกระทำความผิดย่อมเป็นการผลักภาระให้แก่ผู้ให้บริการให้ ต้องรับผิดทางอาญาต่อเนื้อหาซึ่งผู้ให้บริการไม่ได้เป็นผู้โพสต์หรือเป็นผู้ ผลิตขึ้น ประกอบกับวิธีการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ไม่มีขั้นตอนการแจ้งเตือนข้อความดังกล่าวแก่ผู้ให้บริการ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการรับทราบและลบข้อความทิ้งโดยเป็นการ แสดงเจตนาว่าไม่ได้ยินยอมให้มีการโพสต์ข้อความที่ผิดกฎหมายได้ การตีความและการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะเป็นการผลักภาระความรับผิดทางอาญามา ให้แก่ผู้ให้บริการดังกล่าวจึงเป็นการขัดกับหลักนิติธรรมอย่างรุนแรง เนื่องจากเป็นการตรากฎหมายและบังคับใช้กฎหมายแก่ผู้ซึ่งไม่ได้กระทำความผิด
3. การที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าดำเนินการออกหมายจับกุม นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร โดยไม่เปิดโอกาสให้เข้ามอบตัวโดยกระบวนการปกติ คือ ออกหมายเรียกให้ไปรายงานตัว เป็นการดำเนินการที่เกินกว่าเหตุ และไม่มีมาตรฐาน เพราะ นางสาวจีรนุช ไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าจะหลบหนี หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจแต่อย่างใด
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นองค์กรที่มีรายนามข้างท้ายขอเรียกร้องให้
1. ให้พนักงานสอบสวนยุติการดำเนินคดีนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร โดยพิจารณาสั่งไม่ฟ้องคดีในทันที เพราะนางสาวจีรนุช เพียงผู้อำนวยการเว็บไซต์ ไม่ใช่ผู้จัดทำข้อความ ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดโดยตรง มิได้มีเจตนาในการกระทำความผิด และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินคดี เช่น ก่อนจะดำเนินคดีพนักงานสอบสวนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีหนังสือแจ้ง เตือนผู้ให้บริการก่อน หากผู้ให้บริการไม่ดำเนินการใด ๆ เจ้าพนักงานตำรวจจึงจะมีอำนาจดำเนินการมาตรการต่อไป เป็นต้น
2. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทบทวนการออกหมายจับในลักษณะดังกล่าว ซึ่งเป็นการสร้างภาระแก่ผู้ต้องหาและจำเลยเกินสมควร และควรสืบสวนเพื่อให้ข้อเท็จจริงเพียงพอโดยการออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหามา ให้ปากคำก่อนไม่ใช่เพียงมีผู้กล่าวหาว่าผู้ต้องหากระทำความผิดซึ่งมีอัตรา โทษสามารถออกหมายจับได้ จะออกหมายจับในทันที เนื่องจากวิธีปฏิบัติดังกล่าวนำมาสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนอัน กระทบต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน
3. ให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติในพระราชบัญญัติว่าด้วยการ กระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ให้มีความเหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง เพื่อไม่ให้เป็นการผลักภาระความรับผิดทางอาญามาให้ “ผู้ให้บริการ” ซึ่งไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)