ที่มา Thai E-News
โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
27 มกราคม 2554
กระบวนการ นำเผด็จการประเทศไทยสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศไม่ราบรื่นแน่นอน เมื่อประเทศไทยอยู่ภายใต้การกำกับทางการเมืองของพรรคการเมืองเก่าแก่เช่นประชาธิปัตย์ ที่เข้าใจการฑูตระหว่างประเทศเป็นอย่างดี หรือจะพูดได้ว่า การใช้การฑูตและภาษาการฑูตเพื่อเอาตัวรอดของประธาธิปัตย์นั้นเรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในภูมิภาคนี้
การฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศของคนเสื้อแดง ครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะเมื่อจะต้องฝ่าด่าน 3 องครักษ์ศักดินาประชาธิปัตย์ ที่ไปนั่งในตำแหน่งสำคัญในระดับภูมิภาคและในระดับโลกถึง 3 ตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งประธานสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว) เลขาธิการอาเซียน (สุรินทร์ พิศสุวรรณ) และศุภชัย พานิชภักดิ์ ในตำแหน่งเลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD)
นี่อาจจะเป็นที่มาของคำกล่าวของบัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เมื่อครั้งมาเยือนไทยในช่วงปลายเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา อันนำความผิดหวังมาสู่คนเสื้อแดงไปตามๆ กันเมื่อเขากล่าวว่า "สถานการณ์ในเมืองไทยเป็นเรื่องภายในประเทศ"
แม้ว่าคนเสื้อแดงจาก หลายกลุ่ม จะยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังสหประชาชาติหลายฉบับ รวมทั้งรายชื่อผู้เรียกร้องให้สหประชาชาติเข้ามาดูแลสถานการณ์ในเมืองไทย กว่า 9,400 รายชื่อ แต่ก็ไม่มีคำตอบจากสหประชาชาติในเรื่องดังกล่าว
การเดินทางมาไทยของฮันส์-พีเทอร์ โคล (Mr.Hans Peter Kaul) รองประธานลำดับที่ 2 ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) พร้อมกับให้สัมภาษณ์นักข่าวเกี่ยวกับการการนำคดีของคนเสื้อแดงขึ้นสู่ศาล อาญาระหว่างประเทศ (ICC) เว็บไซต์ประชาไท เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ได้ลงคำตอบของ ฮันส์ - พีเทอร์ โคลไว้ว่า “ จะทำได้ก็ต่อเมื่อประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นภาคีของศาลอาญา ระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้เป็นภาคี เพียงแต่ลงนามในธรรมนูญกรุงโรม เมื่อวันที่ 2 ต.ค. พ.ศ. 2545 เท่านั้น แต่ยังไม่มีการให้สัตยาบัน”
บางกอกโพสต์ฉบับวันที่ 21 มกราคม มีรายละเอียดการสัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า “ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศสมาชิก ICC ก็ตาม การที่ ICC จะรับเรื่องร้องเรียนได้ ก็ต่อเมื่อประเทศไทยไม่ได้มีความพยายามอย่างแท้จริงที่จะดำเนินการสอบสวน อาชญากรรมนั้นๆ”
ในความสัมพันธ์อย่างยาวนานกับนักสิทธิมนุษยชนของ พรรคประชาธิปัตย์ การดึงสมชาย หอมลออ มาเป็นประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบเพื่อค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ต่อกรณีการปราบปราบคนเสื้อแดง สมชายให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553 ว่า " . . มีหลายประเด็นที่มีพยานขัดแย้งกันอยู่ เช่น กรณีวัดปทุมฯ ว่า เป็นการต่อสู้ยิงกันหรือไม่ เพราะเราก็มีพยานหลักฐานบางส่วนที่ชี้ว่าอาจมีการยิงกันด้วย แต่ไม่ชัดเจนว่าช่วงเวลาไหน แต่จริงๆก็เป็นเรื่องที่สังคมทราบอยู่ว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีทหารอยู่บนรางรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตามคอป.ยังไม่มีการสรุป"
สิ่งที่เขากล่าวต่อไปนี้เป็นเรื่องที่แสดงให้เห็นว่ากระบวนรับเรื่องร้องเรียนของ ICC เป็นเรื่องยากลำบากมากขึ้น "การทำงานของคอป. ยังได้รับความร่วมมือจากองค์การสหประชาชาติ องค์กรระหว่างประเทศ นักวิชาการต่างประเทศจำนวนมาก ที่เข้ามาช่วยเหลือ ให้ความเห็น ทั้งเรื่องการเขียนรายงาน การจัดอบรม โดยต่างเห็นว่า คอป.ของไทยมีความแตกต่างจากในหลายประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งทั้ง แอฟริกา จอร์เจีย ติมอร์ ที่จะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหลังจากเหตุการณ์จบไปแล้ว แต่ของไทยความขัดแย้งยังมีอยู่ ซึ่งพวกเขาต่างเอาใจช่วย ให้คอป.ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดสำหรับสังคมไทย" ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
ไม่นับว่าอดีตเพื่อนร่วมงานของสมชาย หอมลออ สมัยอยู่ฟอรั่ม เอเชีย มือเขียนสุนทรพจน์ภาคภาษาอังกฤษของเขา ในปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ประสานงานภาคีความร่วมมือภาคเอกชนกับศาลอาญาระหว่างประเทศ (The Coalition for the International Criminal Court) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย การจะเรียกร้องให้ ICC รับพิจารณาคดีในประเทศไทย เป็นเรื่องที่คนเสื้อแดงต้องเตรียมใจรับความผิดหวังไว้พอสมควร หรือไม่ก็ต้องรณรงค์ทางสากลกันให้หนักกว่านี้
ถึงแม้ว่าทางสำนักกฎหมายอัมเตอร์ดัมแอนด์พีรอฟฟี จะได้ยื่นรายงานเบื้องต้นเกี่ยวกับการปราบปรามคนเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษาและ พฤษภาคม 2553 ให้กับทาง ICC ไปตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2553 แต่กระบวนยื่นเรื่องร้องเรียนอย่างเป็นทางการ ยังไม่ได้กระทำ
โรเบิร์ต อัมเตอร์ดัม ได้เขียนที่เฟสบุคของเขาว่า “สื่อมวลชนในประเทศไทยรายงานข่าวผิดพลาดเกี่ยวกับ ICC ทาง ICC ยังไม่มีการ “ปฏิเสธ” ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเรายังไม่ได้ยื่นเรื่อง ซึ่งจะดำเนินการยื่นในวันที่ 31 มกราคม ทีมทนายของเรารู้สึกว่าพวกเรามีข้อโต้แย้งที่มีน้ำหนักมากพอต่อการดำเนินคดี ครั้งนี้ และที่สำคัญยิ่ง อาชญากรรมต่อมนุษยชาติได้เกิดขึ้นแล้ว ไม่มีใครสามารถตัดสินคดีที่ยังไม่ได้แม้แต่จะอ่านมันได้”
แน่นอนว่าโรเบิร์ต ตระหนักรู้ในเรื่องความเก่งกาจของอภิสิทธิ์ ในเรื่องวิถีการฑูตและการสร้างภาพกับนานาชาติ เขาจึงได้เชิญชวนนักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงมาเข้าร่วมทีมกฎหมายครั้งนี้เช่นกัน ในเวบไซด์ของโรเบิร์ต อัมเตอร์ดัม วันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ลงข่าวว่า "ในการเตรียมความพร้อมสำหรับการยื่นเรื่องในวันที่ 31 ที่จะมาถึงนี้ สำนักกฎหมายได้ระดมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนทั้งจากไทยและต่างประเทศมาร่วมทำงานจนเป็นทีมใหญ่ ร่วมทั้งศาสตราจารย์ดักลาส คาสเซล อาจารย์ด้านกฎหมายที่มีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยน๊อทเทอร์ดาม (Uuiversity of Norte Dame)"
การต่อสู้ทางศาลอาญาระหว่างประเทศครั้งนี้จึงหนักหน่วงอย่างยิ่ง และคนเสื้อแดงต้องเตรียมใจกันไว้เยอะๆ ทีเดียว ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราไม่สนใจการสนับสนุนจากสากล ในทางตรงกันข้าม เราเห็นว่าการสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้ของคนเสื้อแดง การสร้างให้เกิดความเข้าใจและเสียงสนับสนุนจากภาคประชาชนและรัฐบาลนานาชาติ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องทำ และควรจะทำอย่างต่อเนื่องและเปิดเผย
กระนั้นก็ตาม พวกเราก็อดวิตกกังวลไม่ได้ เพราะเท่าที่สังเกตุการทำงานด้านสากลของแกนนำคนเสื้อแดงหรือของฝ่ายพรรคไทยรักไทยที่ลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ มีกระบวนการดำเนินงานแนวใต้ดิน (แนวทางเสรีไทย) ในการดำเนินงานด้านต่างประเทศ ไม่เปิดเผย ไม่สื่อสารหรือประชาสัมพันธ์ข่าว มักจะกล่าวอ้างว่าคุยกับประเทศโน้น ประเทศนี้ เท่าที่เห็น ก็ดูจะวนเวียนอยู่กับกลุ่มประเทศที่ไม่มีชื่อเสียงดีนักในด้านสิทธิมนุษยชน เป็นประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีเสียงในสหประชาชาติ ไม่มีประชาธิปไตยในประเทศตัวเองการต่อสู้ของคนเสื้อแดง จึงไม่ได้ถูกนำเสนออย่างสมฐานะและศักดิ์ศรีแห่งการลุกขึ้นสู้ของภาคประชาชน ไทย ถูกฉายภาพอยู่ใต้เงาและบารมีของทักษิณ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
วิถี "สิทธิมนุษยชนบนการเจรจา" เป็นรูปแบบการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนของนักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและในเอเชียจำนวนไม่น้อย ที่มักจะไม่ได้ยืนหยัดที่ประเด็นเรื่องหลักการสิทธิมนุษยชนสากล แต่เป็นแนว "สิทธิมนุษยชนเลือกข้าง" ที่เป็นคำที่เปล่งออกมาเองจากปากนักสิทธิมนุษยชนสีเหลืองในประเทศไทยตลอดสี่ห้าปีที่ผ่านมา
ทำให้ความล่าช้า และไม่ใส่ใจต่อคดีของคนเสื้อแดงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้งสองชุด โดยเฉพาะชุดของศาสตราจารย์อมรา พงศาพิชญ์ และขององค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ที่มีหัวขบวนชื่อโคทม อารียา และสมชาย หอมลออ จึงค้านสายตาคนเสื้อแดงและผู้ห่วงใยในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ
กระนั้นก็ตามรัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็รู้จักดีว่าการดึงคนเหล่านี้มาช่วยจะช่วยงาน จะชลอแรงต้านทานจากต่างชาติไปได้พอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลดำเนินการสอบสวนและติดตาม คดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น
นี่เป็นสัมฤทธิผลของการเล่นการเมืองระหว่างประเทศของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ส่งสุรินทร์ พิศสุวรรณ เข้าไปคลุกคลีวงในกับ NGOs เรื่องสิทธิในภูมิภาคมากว่าทศวรรษ สอดประสานรับกับรูปแบบการทำงานขององค์กรสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคและ นานาชาติ ที่มุ่งเรื่องการเจรจากับรัฐบาล มากกว่าการทำงานกับภาคประชาชนระดับล่าง เป็นการทำงานเจรจาสิทธิมนุษยชนเลือกข้าง มากกว่ามุ่งปฏิบัติตามกติกาแห่งสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ดังเช่นที่เห็นและเป็นอยู่คนเสื้อแดงจึงไม่อาจหวังได้ จากการฝากความหวังไว้ที่กลไกสิทธิมนุษยชน หรือเทวดาทั้งหลายได้อย่างเต็มที่ แต่จำเป็นจะต้องสร้างพลังการต่อสู้อย่างต่อเนื่องให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสื่อ และภาคประชาชนนานาชาติ และต้องทำงานรณรงค์ต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับประชาชนและรัฐบาลของชาติตะวันตก ที่มีบทบาทในเรื่องการปกป้องสิทธิมนุษยชนและมีเสียงที่หนักแน่นใน สหประชาชาติ ซึ่งนี่เป็นส่วนงานที่ทักษิณและพลพรรคทำไม่ได้ และไม่ได้ทำ