ที่มา ประชาไท
ฮันส์-พีเทอร์ โคล รองประธานลำดับที่ 2 ศาลอาญาระหว่างประเทศให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ประชาไท ระบุได้สนทนากับแกนนำ นปช. แล้ว แจงศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีอำนาจพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะไทยยังไม่ได้เป็นภาคี
ฮันส์-พีเทอร์ โคล (Mr.Hans Peter Kaul) รองประธานลำดับที่ 2 ศาลอาญาระหว่างประเทศ
ฮันส์-พีเทอร์ โคล (Mr.Hans Peter Kaul) รองประธานลำดับที่ 2 ศาลอาญาระหว่างประเทศให้สัมภาษณ์เว็บไซต์ประชาไท เมื่อวันที่ 22 ม.ค. ที่ผ่านมา ถึงการนำคดีขึ้นสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศว่า จะทำได้ก็ต่อเมื่อประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นภาคีของศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ได้เป็นภาคี เพียงแต่ลงนามในธรรมนูญกรุงโรม เมื่อวันที่ 2 ต.ค. พ.ศ. 2545 เท่านั้น แต่ยังไม่มีการให้สัตยาบัน
และถึงแม้จะเข้าเป็นภาคีแล้วก็ตาม หากประเทศภาคีมีการดำเนินการไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรมแล้ว ศาลอาญาระหว่างประเทศก็จะไม้เข้าไปก้าวล่วง
เขากล่าวด้วยว่า หลังจากที่เขาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในประเทศไทยไปบ้างแล้ว รวมถึงได้สนทนากับแกนนำของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทำให้เขาเข้าใจว่ามีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับขอบอำนาจของศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเขาต้องการให้สังคมไทยเข้าใจให้ถูกต้องถึงขอบอำนาจของศาลฯ
อย่างไรก็ตาม เขาอธิบายว่า มีกรณีที่ประเทศซึ่งไม่ได้เป็นภาคีแต่ถูกตัดสินโทษโดยศาลอาญาระหว่างประเทศเช่นกัน ได้แก่กรณีของประเทศซูดาน ซึ่งศาลอาญาระหว่างประเทศมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 13 (ข) ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ* ซึ่งระบุว่า ให้อำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศพิจารณาคดีได้ในกรณีที่อาชญากรรมนั้นขึ้นได้รับการเสนอต่ออัยการโดยคณะมนตรีความมั่นคงซึ่งปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หมวด 7 ของกฎบัตรสหประชาชาติ
เขาปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นต่อการที่ประเทศไทยยังไม่ให้สัตยาบันต่อธรรมนูญกรุงโรม แต่กล่าวว่าช่วงเวลาหนึ่ง สหรัฐอเมริกาทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยการให้สัญญาณยังประเทศต่างๆ ที่ได้รับความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและทางทหารจากสหรัฐว่าหากให้สัตยาบัน สหรัฐจะงดหรือลดความช่วยเหลือดังกล่าว
นอกจากนี้เขากล่าวว่าแม้ว่าจะมีประเด็นว่าประเทศที่เข้าเป็นภาคีศาลอาญาระหว่างประเทศจะผูกพันให้ประมุขของประเทศอาจถูกเรียกตัวขึ้นให้การต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม กรณีของประเทศที่มีกษัตริย์เป็นประมุข เช่น ประเทศญี่ปุ่น สวีเดน หรือนอรเวย์ ก็เข้าเป็นภาคี ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่รัฐแต่ละรัฐจะต้องจัดการสร้างความเข้าใจกันเป็นการภายใน
ทั้งนี้ เว็บไซต์เนชั่นชาแนล รายงานว่า เมื่อเวลา12.00 น. นางธิดา ถาวรเศรษฐ รักษาการประธาน นปช. พร้อมด้วย นายวรวุฒิ วิชัยดิษฐ์ รักษาการโฆษก นปช. เเละนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย เดินทางมายังโรงเเรมโฟร์ซีซั่นส์ เพื่อเข้าพบ ฮันส์-พีเทอร์ โคล รองประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อเตรียมยื่นฟ้องรัฐบาลกรณีสลายชุมนุมของคนเสื้อเเดงเมื่อปี 2553 โดยเจ้าหน้าที่โรงแรมขอให้ นางธิดา นายวรวุฒิ นายจตุพร เเละตัวเเทนคนเสื้อเเดงรวมทั้งสิ้น10 คน ไปพบ Mr.Hans ที่ห้องรับรองชั้น 2 ของโรงเเเรม ส่วนสื่อมวลชนขอให้รอที่ด้านหน้าโรงเเรม
ประชาไทจะนำเสนอบทสัมภาษณ์โดยละเอียดต่อไป
*มาตรา 13 (ข) บัญญัติว่า “ในกรณีที่ปรากฏว่า อาชญากรรมหนึ่งหรือมากกว่าดังกล่าวซึ่งดูเหมือนว่าได้กระทำขึ้นได้นับการเสนอต่ออัยการโดยคณะมนตรีความมั่นคงซึ่งปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หมวด 7 ของกฎบัตรสหประชาชาติ