WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, January 25, 2011

ประชาธิปไตยไม่ใช่เหลืองหรือแดง

ที่มา ประชาไท

ต่อบทความเรื่อง “มายาคติ – ประชาชนยังไม่พร้อม” ของนักปรัชญาชายขอบ ในประชาไท ขอร่วมแสดงความเห็น เพื่อช่วยชี้ประเด็น และเพื่อให้เห็นทางสว่างร่วมกัน ตามที่ผู้เขียนอ้างถึง ขออภัยที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับความเห็นของอาจารย์วรเจตน์เรื่อง ร.๗ ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับของพระยากัลยาณไมตรี จะยกร่างอย่างไร การที่พระองค์ท่านลงพระนามเห็นชอบในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองสยามฉบับชั่วคราว ก็ถือว่าพระองค์ท่านเห็นด้วยในหลัก Democracy แล้ว ส่วนคณะราษฎรนั้น ถือว่าพลาดไปจริงๆ ที่ไม่ได้สร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้น หลังยึดอำนาจ แต่ได้สร้างระบอบรัฐธรรมนูญ (Constitutionalism) ขึ้นมาแทน (รธน.ฉบับ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕) เป็นต้นแบบการปกครองไทยจนปัจจุบัน เป็นอุปสรรคของประชาธิปไตยมาตลอด
ส่วนความเห็นของทั้งอาจารย์ยิ้ม คุณสุริยะใส และนักปรัชญาชายขอบ นั้นมีประเด็นหลักวิชาที่เห็นว่ายังขาด และอยากแก้ไขและเติมเต็ม ให้สาธารณะได้เข้าใจเป็นหลักเสียก่อน ก่อนจะวิเคราะห์ปัญหาเรื่องสีเสื้อ ซึ่งเห็นว่าทั้งเหลืองและแดง ก็ยังเข้าใจผิดเรื่องประชาธิปไตยพอๆ กัน ทำให้เป็นปัญหามาจนคนบริสุทธิ์ตายกันหลายร้อยคนแล้ว
๑.ประชาธิปไตยไม่ใช่การเลือกตั้ง แต่มันหมายถึงระบอบการปกครองดังนี้
(ก) ระบอบการปกครองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน (ทั้งหลาย) (โดยประชาชนและเพื่อประชาชน) มันเป็นเรื่องของ "อำนาจอธิปไตยของชาติ" ไม่ใช่เรื่องของการมีการเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง ในระบอบประชาธิปไตย อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของปวงชน ของทุกคนมิใช่เพียงของคนส่วนใหญ่ การลงคะแนน การตัดสินโดยเสียงข้างมากเป็นเพียงวิธีการเพื่อตัดสินเท่านั้น
กล่าวสุดโต่งคือ ถ้าไม่เลือกตั้งแต่ใช้การสรรหาคัดเลือกตัวแทนของคนไทยทุกหมู่เหล่า ทุกวัฒนธรรม ให้ได้ครบถ้วน "อย่างบริสุทธิยุติธรรม" แล้วให้คณะผู้ได้รับคัดเลือกนั้น เป็นผู้ถืออำนาจอธิปไตยของชาติ ก็ยังถือได้ว่าเป็นระบอบอำนาจแบบประชาธิปไตยได้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเลือกตั้งเสมอไป ความสำคัญของเรื่องประชาธิปไตยจึงอยู่ที่ Representation ไม่ใช่ Election
(ข) ภายในระบอบประชาธิปไตยนั้นจะต้องมีการประกันเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของพลเมืองทั้งโดยกฎหมายและการปฏิบัติจริง หลักของ UN Declaration on Human Rights และ กฎหมายระหว่างประเทศ (ICCPR) ก็กำหนดเกี่ยวกับสิทธิพื้นฐานและเสรีภาพบริบูรณ์ไว้ประมาณ ๓๐ ประการ เช่นการคิด การแสดงออก การพูดการเขียน การเดินทาง การแสวงหาความสุข การไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น การไปเลือกตั้ง การเปลี่ยนแปลงผู้ปกครอง ฯลฯ เป็นต้น
(ค) ระบอบประชาธิปไตยยึดหลักแห่งความเสมอภาค คนจะอยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน (คือจะไม่มีกรณีแบบเขายายเที่ยง) ต้องให้โอกาสคนเท่าเทียมกัน (ตัดสิทธิทางการเมืองไม่ได้) และจะมีความเสมอภาคทางการเมือง (ทั้งทางเพศ ทางการศึกษา หนึ่งคนหนึ่งเสียง จะนำเอา รายได้ วุฒิการศึกษา มากำหนดคุณสมบัติผู้แทนไม่ได้) ฯลฯ
(ง) ในระบอบประชาธิปไตยจะต้องยึดหลักนิติธรรมสากลและหลักกฎหมาย (Rule of Law) ที่จะต้องเป็นกฎหมายที่ผ่านรัฐสภาของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่ one-man-law ไม่ใช่รัฐสภาแบบ สนช. หรือยึดประกาศคณะคมช. หรือคณะใดๆ ให้เป็นกฎหมาย อำนาจประชาธิปไตยในแบบรัฐาธิปัตย์ อะไรอย่างนี้เขาไม่ถือเป็นกฎหมาย จะไม่ใช้กฎหมายย้อนหลัง ศาลต้องตั้งโดยชอบธรรม ต้องอิสระ สั่งไม่ได้ ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดจะลงโทษไม่ได้ จะตีความโดยใช้พจนานุกรมก็ไม่ได้ ตามหลักนี้อาการของศาลไทยถือว่าหนักสุดในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา และ
(จ) หลักประชาธิปไตยจะต้องให้ผู้ปกครอง คือรัฐบาล รัฐสภา หรือผู้มีอำนาจในรัฐทั้งหลายมาจากการเลือกตั้ง หรือต้องยึดโยงกับอำนาจประชาชน คือให้อำนาจเป็นที่ยอมรับของประชาชน นี่คือหลัก Elected Government (ไม่ได้แปลว่ารัฐบาลหรือ ครม.ที่แปลจาก Cabinet) นี่คือหลักประชาชนต้องเป็นใหญ่กว่าอำนาจรัฐ ประชาชนสามารถเปลี่ยนรัฐบาลได้ เปลี่ยนผู้ปกครองของเขาได้ ประชาชน จะถูกฆ่าเพราะการแสดงออกโดยความเห็นอย่างสันติไม่ได้
นอกจากนี้ยังมีคุณลักษณะอื่นๆ อีกที่เรียกว่าเป็นคุณลักษณะของประชาธิปไตย เช่น Fraternity คือ ภราดรภาพ คือการอยู่ร่วมกันฉันมิตร และ ฯลฯ แต่ที่สำคัญที่สุดคือหลักในข้อแรก หรือข้อ (ก) ถ้าหากมีหลักนี้แล้วอย่างอื่นก็จะตามมา
เรื่องพรรคการเมืองก็จะต้องอยู่เหนือรัฐเหนือกฎหมายเสมอ จะยุบพรรคไม่ได้ ถ้าหากพรรคได้อำนาจรัฐ พรรคจะยกเลิกกฎหมายหรือออกกฎหมายอะไรย่อมทำได้ พรรคจึงอยู่เหนือรัฐ จึงใช้กฎหมายอะไรมายุบพรรคไม่ได้ ผิดหลัก หลักประชาธิปไตยนั้น อำนาจอธิปไตยต้องเป็นของประชาชนเสมอ ทั้งในการรวมกลุ่มกันตั้งพรรคการเมือง ถือเป็นเรื่องพื้นฐาน เป็นสิทธิ เหมือนสิทธิในการหายใจ จะไปเขียนเป็นข้อห้ามอะไรไว้ก็ไม่ได้ นาย ก.ทำผิดต้องลงโทษนาย ก.เท่านั้น จะไปยุบพรรคไม่ได้ ลูกบ้านหนึ่งคนทำผิด จะเขียนกฎหมายให้ยุบทิ้งทั้งหมู่บ้านมันผิดหลัก มันคนละเรื่องกัน ทำไม่ได้ กรณีของไทยมันผิด ทั้งที่กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งหมดทั้งหลายเพราะระบอบไทยๆมันไม่ใช่ประชาธิปไตย
แต่ที่อยากเน้นย้ำมากในที่นี้ คือการเลือกตั้งนั้นเป็นเพียงวิธีหาคนเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ เท่านั้น เป็นวิธีการประชาธิปไตยเท่านั้น ความจริงวิธีการเลือกตั้ง ก็มีและใช้กันทั้งในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ อย่าได้หลงผิดว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง มันอาจจะเป็นวิธีการของระบอบเผด็จการก็ได้
เผด็จการคือระบอบการปกครอง ที่อำนาจอธิปไตยเป็นของคนส่วนน้อย หรือคนบางคน บางกลุ่ม
ในกรณีของไทยอำนาจอธิปไตย หรือระบอบการปกครองเป็นของคนส่วนน้อยตลอดมา แม้จะมีการเลือกตั้งก็ตาม เราก็จะได้เพียงตัวแทนในกลุ่มทุนและกลุ่มคนชั้นนำเท่านั้น เข้ามาเป็นผู้ปกครอง ประเทศสยามและประเทศไทย จึงยังไม่เคยได้สัมผัสกับระบอบประชาธิปไตยจริงๆ เลยตลอด ๗๘ ปีที่ผ่านมา เพราะอำนาจการปกครองจริงๆ เป็นเพียงของคนส่วนน้อยเสมอมา
การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เราจึงจำเป็นจะต้องสร้างหรือสถาปนาระบอบประชาธิปไตยขึ้น ไม่ใช่การชุมนุมขอประชาธิปไตย "คืนมา" เพราะเมื่อไม่เคยมีจะขอคืนได้อย่างไร และการขอให้นายกยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ ก็ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาประเทศที่แท้จริง เป็นเพียงการเปลี่ยนระบอบเผด็จการรัฐสภา ก. ไปสู่เผด็จการรัฐสภา ข. เท่านั้นเอง
สมัยรัฐบาลไทยรักไทย ระบอบการปกครองก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย แม้ว่านโยบายหลายอย่างเป็นไป "เพื่อประชาชน" ก็ตาม ประชาชนถูกใจ ติดใจเพราะไม่เคยได้มาก่อน แต่โครงสร้างอำนาจก็ยังไม่ใช่ประชาธิปไตย มันเป็นระบอบที่อำนาจอยู่ในมือคนบางคนหรือคนส่วนน้อยเท่านั้น ถือได้ว่าเป็นเพียงการบริหารจัดการที่ก้าวหน้ากว่า พรรคการเมืองอื่นหรือกลุ่มเผด็จการรัฐสภาอื่นเท่านั้น แต่รัฐบาลวันนี้ยิ่งเลวร้ายกว่าเดิมเพราะเป็น "มือที่มองไม่เห็น" กำกับสั่งการได้ทุกเรื่อง คำว่าอำนาจอธิปไตยของปวงชนนั้น มันจึงไม่มีเลย
นี่คือพื้นฐานแห่งปัญหาของไทย ปัญหาแห่งความขัดแย้งในชาติปัจจุบัน ปัญหาแท้ๆ คือเป็นการต่อสู้ระหว่างอำนาจประชาชนกับอำนาจเผด็จการ ไม่ใช่ปัญหาพรรคไทยรักไทยสู้กับประชาธิปัตย์ ความจริงทั้งสองพรรคและพรรคการเมืองอื่นๆ ของไทยก็เป็นพรรคแห่งอำนาจคนส่วนน้อย หรือ "พรรคเผด็จการ" ทั้งสิ้น ถ้าพรรคเป็นประชาธิปไตยเขาจะไม่ขัดแย้งกับประชาชน ไม่ฆ่าประชาชน ถ้าเพื่อไทยวันนี้เป็นประชาธิปไตย ก็จะไม่ใช้วิธีการปรองดองหรือการนิรโทษกรรมให้แก่คนฆ่าประชาชน การฆ่าเป็นอาญาแผ่นดินจะไม่มีใครรับผิดไม่ได้ มันผิดหลักแห่งยุติธรรม (Rule of Law) เขาไม่ทำกันในระบอบประชาธิปไตย หากศาลในประเทศช่วยไม่ได้ ก็ต้องเป็นศาลระหว่างประเทศ ไม่วันนี้ก็วันหน้าที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแล้ว
๒.เรื่อง "ความพร้อมของประชาชน" กรุณาอย่าเข้าใจผิด คิดว่าถ้าจะเป็นประชาธิปไตยประชาชนต้องพร้อม ที่จริงประชาธิปไตยเป็นเรื่องของระบอบไม่ใช่เรื่องของบุคคล โดยความเป็นจริงระบอบประชาธิปไตย สร้างขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ระดับการศึกษาของประชาชนสูงขึ้น ถึงระดับใด นั่นเป็นเพียงการหลอกประชาชนเพื่อจะอยู่ในอำนาจต่อไป ให้ยาวนานของพวกอำมาตย์เผด็จการหรือพวกชนชั้นสูงเท่านั้น หลักฐานอ้างอิงพิสูจน์ได้ อาทิ ประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก เช่นอินเดียนั้น ประชากรเขาก็อ่านออกเขียนได้ไม่ถึง 50 % มาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว
ดังนั้นวาทะกรรม "ประชาชนยังไม่พร้อม" นั้นจึงไม่จริง จึงไม่ใช่ หลอกทั้งเพ จริงๆ แล้วคือ "พวกผู้ปกครองเผด็จการยังไม่พร้อม (จะไป)" ต่างหาก การกำหนดให้คนเป็น ส.ส.ต้องจบปริญญานั้น (ประชาธิปไตย ๔๐) ก็ผิดหลักความเสมอภาค ไม่ใช่ความเสมอภาคในโอกาสของประชาชน ประชาธิปไตยไม่ใช่ให้สิทธิของคนจบปริญญาเท่านั้น ถือเป็นสิทธิของทุกคน จึงอย่าไปหลงใหลได้ปลื้มใน ประชาธิปไตย ๔๐ ว่าคือประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทยก็ยังเข้าใจผิดทั้งพรรค
รวมทั้งการที่กำหนดให้รัฐมีองค์กรอิสระ เหนืออำนาจประชาชน เหนืออำนาจอธิปไตยทั้ง ๓ นั้นมันผิด ผิดหลักอำนาจปวงชน ผิดหลักอำนาจ "ประชาธิปไตย" องค์กรเหล่านี้จะเป็นองค์กรอิสระเหนืออำนาจปวงชนไม่ได้ เราต้องกำจัดให้หมดไป ที่มีอยู่เขาเอาไว้เป็นมือไม้ของอำนาจเผด็จการเท่านั้นเอง เป็นเครื่องมือแห่งอำนาจที่มองไม่เห็นทั้งสิ้น ศาลรัฐธรรมนูญเองคือองค์กรที่ทำให้ศาลยุติธรรมบิดเบี้ยว ขาดความน่าเชื่อถือ คนกำหนดให้มีองค์กรอิสระ ถ้าไม่ใช่ฉ้อฉล ก็เป็นความโง่เขลาในหลักประชาธิปไตย จึงอย่าได้เชื่อพวกดอกเตอร์ พวกศาสตราจารย์ทางกฎหมายที่รับใช้ระบอบเผด็จการอีกเลย บ้านเมืองเสียหายกว่าจะเยียวยาได้โดยนักวิชาเกินพวกนี้แล้ว
๓.เรื่องการศึกษาประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่เป็นวิชาความรู้ที่รัฐจะต้องจัดให้การศึกษาแก่ประชาชน การศึกษาเกี่ยวกับหลักและทฤษฎีประชาธิปไตย ต้องเป็นการศึกษาพื้นฐานของประชาชนทุกคน ต้องเป็นวิชาบังคับในระดับม.ต้นหรือม.ปลาย คือวิชาหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ก็คือหลักประชาธิปไตยทั้งหมดดังกล่าวในข้อ ๑ รวมหลักทฤษฎีอื่นๆ แต่เมื่อผู้ถืออำนาจรัฐฉ้อฉลในอำนาจ จึงไม่ให้มีแม้กระทั่งวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ทำให้นักการเมืองไทย คนไทยทั่วไป ก็ไม่ค่อยจะรู้ว่าระบอบประชาธิปไตยจริงๆ คืออะไร อย่างไร ไทยเราจึงเป็นตาบอดคลำช้าง "ประชาธิปไตย" กันตลอดมา น่าสมเพศจริงๆ คนเรียนรัฐศาสตร์กระทั่งจบ ดร.มาสอนคนอื่นต่อ ก็ยังเข้าใจผิด คิดว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งอยู่นั่นเอง แก้ปัญหาประชาธิปไตยก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่นั่นเอง ทำมาจนรวยรัฐธรรมนูญ ๑๘ ฉบับแล้ว ก็ยังไม่เคยเป็นประชาธิปไตย
๔.ต้องเข้าใจร่วมกันในเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ "ประชาธิปไตยไม่ใช่รัฐธรรมนูญ" และการมีรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้หมายความว่ามีประชาธิปไตย ใครเขียนกฎหมายก็เพื่อรักษาประโยชน์ของเขา อังกฤษนั้นเป็นระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ได้มีรัฐธรรมนูญ ประชาธิปไตยนั้นหมายถึงระบอบอำนาจ คือ "ระบอบการปกครอง" ที่อำนาจเป็นของปวงชน ไม่ใช่อำนาจของคนส่วนน้อย หากการเขียนรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบอื่น เป็นการจำกัดสิทธิ รัฐธรรมนูญจึงเป็นเพียงเอกสารกำหนดให้ตัวแทนเป็นเพียงตัวแทนคนส่วนน้อย เป็นกฎหมายสูงสุดที่กำหนดผิด เมื่อกำหนดผิด แม้จะมีรัฐสภาก็จะได้เพียงรัฐสภาที่อำนาจเป็นของคนส่วนน้อยเท่านั้น ยิ่งถ้าโครงสร้างอำนาจในพรรคเป็นเพียงของหัวหน้าพรรค เป็นของเจ้าของพรรคเท่านั้น ส.ส.มีหน้าที่เพียงรอฟังคำสั่งให้ยกมือเป็นฝักถั่วหรือไม่ให้ยกมือ สภานั้นก็ไม่ใช่อำนาจของประชาชน ก็ไม่ใช่สภาแห่งประชาธิปไตย จึงเรียกกันทั่วไปว่าเป็นเผด็จการรัฐสภานั่นเอง
๕.เมื่อเข้าใจหลักการของประชาธิปไตย ดังกล่าวแล้ว ขอให้ถามตัวท่านเองว่ารัฐสภาไทยวันนี้ กฎหมายวันนี้ รัฐบาลวันนี้ เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ช่วยแก้ไขปัญหาประชาชนได้หรือไม่ เรายังควรจะต้องกลับไปเลือกตั้งแบบเดิม เพื่อให้ได้ผู้ปกครองประเทศแบบเดิมกลับมาปกครองประเทศแบบเดิมต่อไปอีกหรือไม่ ให้คิดเองตอบเองดีกว่า จะรอฟังใคร รอถามใคร
ประเด็นปัญหาต่อไปคือจะทำอย่างไร สำหรับประเทศของเรา เกาถูกที่คันหรือยัง เราควรจะมีรัฐบาลเฉพาะกาลเพื่อสร้าง "ระบอบ" ประชาธิปไตยขึ้นใหม่เสียก่อนไหม แล้วจึงให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ในการเตรียมการสร้างระบอบประชาธิปไตยนี้เองจะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แต่อยู่ที่ "กลุ่มคนชั้นสูง" และผู้ถืออำนาจตัวจริง
วันนี้ประชาชนเขาตื่นแล้ว แต่พวกนักวิชาการ คนชั้นสูง ชั้นปกครอง และใคร? ยังหลับไม่ตื่น ซ้ำยังเห็นประชาชนว่าเป็นปัญหา จึงคิดจะฆ่าทิ้งเสีย ให้เหลือแต่พวกเขานั้น เตือนไว้ก่อน วันนี้ไม่ใช่ ๑๔ ตุลา ๑๖ ไม่ใช่ ๖ ตุลา ๑๙ ไม่ใช่พฤษภาทมิฬ ๓๔ สถานการณ์ปฏิวัติของบ้านเมืองมันสุกงอม มันต้องเปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น ในอนาคตอันใกล้ หากใครไม่ยอมก็จะอยู่ไม่ได้
สุดท้ายก็จะต้องเปลี่ยนเท่านั้น บ้านเมืองจึงจะไปรอด !