WeLoveOurKing
How to insert weloveking to you website

ทรงพระเจริญ

ขัตติยาอัด คอป แต่งนิทานโยนความผิดเสธ แดง 18 9 55

สถาบันกษัตริย์อยู่ได้ด้วยความจริง

ธงชัย วินิจจะกูล: Truth on Trial

สถาบันกษัตริย์ถึงเวลาต้องปรับตัว

ตุลาการผิดเลน !


ฟังกันให้ชัด! "นิติราษฎร์" ไขข้อข้องใจ ทุกคำถามกรณีลบล้างผลพวงรัฐประหาร





วิดีโอสอนการทำน้ำหมักป้าเช็ง SuperCheng TV ฉบับเต็ม 1.58 ชม.

VOICE NEWS

Fish




เพื่อไทย

เพื่อไทย
เพื่อ ประชาธิปไตย ขับไล่ เผด็จการ

Tuesday, January 25, 2011

ทางเท้าที่ดานัง

ที่มา มติชน



โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์



งานเลิกตอนเย็นในดานังคงไม่ต่างจากช่วงเวลาอย่างนี้ในเมืองใหญ่อื่นๆ ทั่วโลก นั่นคือมีคนเดินขวักไขว่กันเต็มทางเท้าไปหมด ในขณะที่มีรถขวักไขว่ส่งเสียงแตรกันแทบจะทุกอึดใจบนถนน

นอกจากมีคนเดินขวักไขว่บนทางเท้าแล้ว ร้านรวงก็เริ่มรุกคืบพื้นที่ทางเท้า เช่นแม่ค้าขายผลไม้เริ่มวางเข่งขยับรุกทางเท้าเข้ามา ร้านขายเฝอวางโต๊ะเก้าอี้เล็กๆ กระจายออกมาจากตัวร้าน ถึงร้านกาแฟหรูๆ ริมถนนไม่ได้รุกทางเท้าเลย แต่เมื่อตั้งโต๊ะไว้นอกชานจนชิดทางเท้า การสัญจรของพนักงานในช่วงเย็นก็ต้องใช้ทางเท้าอยู่ดี คนที่เดินขวักไขว่บางกลุ่มหยุดซื้อและต่อราคาสินค้าขวางทางจราจรของคนที่เดินขวักไขว่ หนุ่มสาวเดินหยอกล้อชี้ชวนดูโน่นดูนี่อย่างไม่รีบเร่ง เด็กวิ่งไล่กันและหลบหลีกไปมาระหว่างช่องของคนเดินถนนอย่างสนุกสนาน

แม้กระนั้น ชีวิตและกิจกรรมอันหลากหลายก็สามารถดำเนินไปได้บนทางเท้าที่ดานัง เพราะดานังมีทางเท้าขนาดใหญ่มาก เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ

ชีวิตของคนเมืองส่วนใหญ่อยู่บนทางเท้า พบและรักกันบนทางเท้า ได้ใกล้ชิดกันโดย "ลำพัง" ก็บนทางเท้า คนอีกมากที่ไม่สามารถเข้าไปสู่แหล่งซื้อขายที่เรียกว่า "ตลาด" (market place) ก็ใช้ทางเท้าสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตนเพื่อเลี้ยงชีวิต ทางเท้าจึงเป็นทรัพยากรสาธารณะที่เอื้อต่อคนจนๆ ได้มาก และหากไม่นับการล้วงกระเป๋าแล้ว ส่วนใหญ่ของกิจกรรมเหล่านั้นก็มักจะอำนวยความสะดวก หรือแม้แต่ทำให้ชีวิตในเมืองเป็นไปได้แก่คนอื่นที่มีฐานะทางเศรษฐกิจเหนือขึ้นไป เด็กเล็กได้วิ่งไล่จับกันก็บนทางเท้า ทางเท้าจึงเป็นที่โล่งซึ่งมีอยู่น้อยในเมืองสำหรับกิจกรรมในชีวิตหลากหลายประเภทแก่ทุกคน

และบนทางเท้านี่แหละที่เราได้พบคนต่างเพศ, ต่างฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม, ต่างปูมหลัง, ต่างความคิด ฯลฯ มากมายจนนับไม่ถ้วน มีเหมือนกันอยู่อย่างเดียวคือความเป็นชาวเมืองดานังร่วมกัน

ทางเท้าจึงเป็นพื้นที่เดียวที่ทำให้ชาวเมืองสำนึกถึงคนอื่น ซึ่งใช้ทรัพยากรร่วมกันในชุมชนที่ค่อนข้างแออัดอันเรียกว่าเมือง ซ้ำเป็นการใช้ทรัพยากรชนิดเดียวกันในลักษณะที่แตกต่างกันด้วย จะอยู่เป็นสุขกันต่อไปได้ก็ต้องเรียนรู้การประนีประนอมในวิถีทางการใช้ทรัพยากรที่ต่างกัน ด้วยเหตุดังนั้น ในเมืองที่ไม่ให้ความสำคัญแก่ทางเท้า ชาวเมืองนั้นจึงแปลกหน้ากัน ช่วงชิงทรัพยากรสาธารณะของเมือง เช่นทางเท้าเพื่อประโยชน์ตนถ่ายเดียว เพราะไม่เคยมีสำนึกว่ามี "คนอื่น" ในชีวิต

ในเมืองเช่นนั้น ทางเท้ากลับกลายเป็นพื้นที่สำหรับการสังหารหมู่อย่างบ้าคลั่ง แต่ชาวเมืองกลับพากันฟูมฟายกับการสูญเสียอาคารมากกว่าชีวิตของผู้คน

แต่มิติทางกายภาพเป็นเพียงผลบั้นปลายที่ทำให้ทางเท้ามีขนาดใหญ่ ทางเท้าจะใหญ่ได้ก็เพราะมีปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากมิติทางกายภาพเกื้อหนุนให้เกิดขึ้นด้วย

ส่วนใหญ่ของรถบนถนนที่ดานังคือจักรยานยนต์ อันเป็นพาหนะที่เหมาะแก่กำลังทางเศรษฐกิจของผู้คน ทั้งมิได้หมายความถึงเงินในกระเป๋าเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการประกอบการขนาดเล็กที่จักรยานยนต์สามารถใช้ประโยชน์ได้ดีในการขนส่ง ฉะนั้น จักรยานยนต์ที่ขนสินค้าจนเพียบแปล้จำนวนมากในดานัง จึงสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อเปิดประเทศแล้ว โอกาสทางเศรษฐกิจได้กระจายถึงคนเล็กคนน้อยกว้างขวางเพียงไร

นอกจากนี้ รัฐยังเก็บภาษีรถยนต์ในราคาแพง ขณะที่แทบไม่เก็บภาษีจากจักรยานยนต์ขนาดเล็กเลย ส่วนใหญ่ของพาหนะบนถนนที่ดานังจึงเป็นจักรยานยนต์ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีรถยนต์เสียเลย ก็นับว่าหนาแน่นไม่น้อยทีเดียวเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม กฎจราจรที่ดานังเอื้อต่อพาหนะของคนเล็กๆ อยู่มาก นับตั้งแต่การกำหนดความเร็วไว้ไม่ให้สูงเกินไป (ถึงอย่างไรก็วิ่งเร็วได้ยากอยู่แล้ว เพราะถนนส่วนหนึ่งค่อนข้างแคบ และจำนวนของจักรยานและจักรยานยนต์ที่มาก) อัตราความเร็วที่ไม่สูงทำให้ทุกฝ่ายหลบหลีกกันได้อย่างปลอดภัย คนขับรถที่ดานังบอกว่า ขับรถที่นั่น ไม่ต้องระวังด้านข้างหรือหลัง ให้ดูข้างหน้าอย่างเดียว อย่าได้ไปชนใครเข้าเป็นอันขาด ส่วนด้านข้างและหลังนั้น คนอื่นที่ต้องระวังด้านหน้าเหมือนกันจะเป็นผู้ระวังเอง

แล้วรถหนาแน่นคลาคล่ำที่ดานังก็เคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็วกว่าในกรุงเทพฯเป็นอันมาก โดยแทบจะมองไม่เห็นตำรวจจราจรสักกี่คน แม้ว่าจะใช้เสียงแตรกันจนดังสนั่นไปหมดก็ตาม (หากล้วนเป็นเสียงแตรที่เตือนคนข้างหน้า ไม่ใช่เสียงลำเลิกบรรพบุรุษกัน)

ไม่มีเมืองใหญ่ไหนในโลกที่ไม่มีปัญหาจราจร แต่แนวทางแก้ปัญหาจราจรของเมืองต่างๆ วางอยู่บนพื้นฐานอะไรต่างหาก ที่ทำให้การจราจรเป็นปัญหาแก่ผู้คนมากขึ้นหรือน้อยลง

แนวทางของดานังตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า คนเล็กๆ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของเมืองต้องมาก่อน จักรยานและจักรยานยนต์มาก่อน มีอิสระเสรีที่จะวิ่งบนท้องถนนได้ทุกเลน โดยไม่ถูกกันให้ไปแอบชิดอยู่ที่เลนใดเลนหนึ่ง เป็นหน้าที่ของรถยนต์ที่จะต้องคอยระวังเอาเอง

และไม่มีวันที่จะขยายถนนโดยตัดทางเท้าให้เล็ก เพราะทางเท้าคือชีวิตของชาวเมือง ทั้งกิจกรรมทางสังคม และเศรษฐกิจล้วนเกิดอยู่บนทางเท้า ทั้งยังเป็นช่องทางสำหรับการเดินทางที่สำคัญอีกด้วย จึงต้องสงวนทางเท้าไว้สำหรับผู้คน ไม่ใช่ที่จอดรถยนต์หรือจักรยานยนต์ ทางเท้าของดานังปราศจากมาเฟียในเครื่องแบบ (ซึ่งบางครั้งเป็นเครื่องมือของนายทุน) ยึดเอาทางเท้าไปขายต่อ

ฐานคิดที่ว่า คนเล็กๆ ต้องมีศักดิ์ศรีเท่ากับคนใหญ่ๆ มองเห็นได้จากกฎที่ว่า พ่อแม่ไม่สามารถขี่รถเก๋งไปส่งลูกหน้าโรงเรียนได้ แต่กฎหมายบังคับว่าจะต้องส่งลูกลงเดินให้ห่างจากโรงเรียน 1 กม.เสมอ เพื่อนและครูไม่ได้เห็นเบนซ์ของพ่อตำตาจนระย่อทุกวัน

นอกจากนี้ ตลอดเวลาประมาณ 2 วันที่ผู้เขียนอยู่ในดานัง ไม่เคยเห็นขบวนของผู้ใหญ่คนใด ที่มีรถตำรวจคอยอารักขาหนาแน่นบนท้องถนนสักขบวนเดียว จะมีก็แต่ขบวนแห่ของผู้ที่นับถือคาทอลิกในวันสุกดิบก่อนคริสต์มาส

ทั้งนี้มิได้หมายความว่าดานังไม่มีปัญหาจราจร เช่นดานังซึ่งกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะการไหลเข้าของทุนต่างชาติ มีการขนส่งสาธารณะน้อยมากอย่างเหลือเชื่อ

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ ดานังคงมีพัฒนาการที่แตกต่างออกไปอย่างแน่นอน ในขณะที่กรุงเทพฯพยายามขยายถนนให้ใหญ่ เพื่อทำให้คนใหญ่ๆ สามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้นด้วยรถยนต์ แต่คนเล็กๆ ที่ต้องเดินถนนบนทางเท้า แทบจะเคลื่อนตัวเองในชั่วโมงเร่งด่วนแทบไม่ได้เพราะความแออัด เนื่องจากทางเท้าถูกทำให้แคบลงตลอดมา กิจกรรมบนทางเท้าถูกจำกัดและควบคุม เพื่อให้คนใหญ่ๆ เดินได้สะดวก

ทางเท้าของกรุงเทพฯ มีไว้สำหรับเท้า ไม่ได้มีไว้สำหรับชีวิต เราจึงห่างเหินกันและแปลกหน้ากันตลอดมา เราริบทางเท้าอันเป็นทรัพยากรสาธารณะจากคนเล็กๆ เพื่อให้คนใหญ่ๆ ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรนั้นฝ่ายเดียว ทางเท้าที่เล็กและแคบทำให้เราถูกสอนให้รังเกียจหาบเร่แผงลอย โดยอ้างเมืองของโลกตะวันตกเป็นแบบอย่าง แต่เราไม่เคยมองเห็นว่าบนทางเท้าของเมืองในโลกตะวันตก มีกิจกรรมของคนเล็กๆ อีกมากมาย ทั้งเพื่อหาสตางค์และไม่ได้หาสตางค์ นับตั้งแต่วาดรูปบนทางเท้าด้วยชอล์กสี ดนตรีขอเงินหรือเล่นให้ฟังฟรี คนไร้บ้าน "ขอยืม" สตางค์เหรียญสักอัน ป้ายโฆษณาของทุน เด็กขายบุหรี่และหมากฝรั่ง หญิงชายยืนจูบกันนานจนน่าเบื่อ ฯลฯ

เพราะคนเล็กคนน้อยไม่ได้รับความเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรี ทางเท้าของกรุงเทพฯ จึงมีได้แค่ "ประชาวิวัฒน์" (หรือประชาวิวัตน์ก็ไม่ทราบ) ในเทศกาลหาเสียงเท่านั้น