ที่มา มติชน
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ไปร่วมสังเกตการณ์การสัมมนาสมัชชาปฏิรูปที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน
เพื่อให้สื่อมวลชนเห็นภาพปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมชัดเจน จึงเชิญตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเหล่านี้มานำเสนอประเด็นที่เป็นรูปธรรมทั้งทางด้านการศึกษา ระบบภาษี กระบวนการยุติธรรม และการกระจายอำนาจ
ในประเด็นความไม่เป็นธรรมเรื่องระบบภาษีนั้น ตัวแทนแรงงานหญิงในบริษัทแห่งหนึ่งพูดด้วยเสียงสั่นเครือ น้ำตาคลอหน่วยว่า ตนเองต้องถูกหักภาษีเงินได้เป็นประจำทุกเดือน ทั้งที่มีรายได้ไม่มากนัก แต่บริษัทที่ตนทำงานอยู่ ไม่เคยเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเลยเพราะขาดทุนติดต่อกันมานับสิบปี
แรงงานหญิงคนดังกล่าวตั้งคำถามว่า ถ้าบริษัทขาดทุนในลักษณะดังกล่าวจริง ทำไมยังดำเนินกิจการอยู่ได้
ในวงการธุรกิจเป็นที่รับรู้กันว่า บริษัทที่แรงงานหญิงคนดังกล่าวอ้างถึงน่าจะมี 2 บัญชี บัญชีหนึ่งเป็นของจริงที่บริษัทมีกำไร อีกบัญชีหนึ่งสำหรับยื่นต่อสรรพากร เป็นบัญชีที่ขาดทุนเพื่อจะได้ไม่ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลซึ่งไม่เคยมีข่าวว่า กรมสรรพากรสามารถจัดการปัญหานี้ได้
มีความเชื่อกันว่า ถ้าเป็นบริษัทมหาชนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯการหลบ เลี่ยงภาษีคงเป็นไปได้ยากเพราะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานของบริษัทตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
แต่ความเป็นจริงแล้ว ผู้บริหารหรือ/และผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทจดทะเบียนหลายบริษัท มีกลวิธีที่หลากหลายในการผ่องถ่ายหรือไซฟ่อนเงินของบริษัทเข้ากระเป๋าตัวเองโดยที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จับได้บ้าง จับไม่ได้บ้าง (บางครั้งขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของผู้ตรวจสอบบัญชี)
วิธีการที่นิยมกันในช่วงไม่กีปีที่ผ่านมาคือ การทำสัญญาเท็จ/เทียมว่าจ้าง/ซื้อบริการจากบริษัทกระดาษ(ไม่มีตัวตน-ไม่มีธุรกรรม) หรือบริษัทในเครือข่ายของผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ในราคาสูงเกินจริงหรือไม่มีการให้บริการจริง ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ การดำเนินคดีกับอดีตผู้บริหารบริษัทปิกนิคและเครือข่าย
นอกจากตกแต่งบัญชีแล้ว บริษัทเหล่านี้ยังเก่งกาจในการสร้างภาพว่า การดำเนินกิจการเจริญรุ่งเรือง ทำให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมของรัฐบางแห่งหลงเชื่อ (สมคบ?) ไปลงทุนในตั๋วเงินของบริษัทหลายพันล้าน จนอดีตผู้บริหารถูกดำเนินคดีอยู่ในปัจจุบัน
ล่าสุดได้อ่านงบการเงินของของบริษัทขนส่งทางอากาศแห่งนึ่งที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นบริษัทในต่างประเทศ
บริษัทแห่งนี้ พยายามสร้างภาพลักษณ์และขยายกิจการอย่างรวดเร็วจนมีส่วนแบ่งการตลาดสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่มีขนาดใหญ่กว่า
แต่ปรากฏว่า ในงบการเงินประจำปี 2552 ผู้ตรวจสอบบัญชีให้ความเห็นว่า "ได้ให้ข้อสังเกตหมายเหตุประกอบงบการเงิน... ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 บริษัทมีหนี้สินหมุ่นเวียนสูงกว่า สินทรัพย์หมุนเวียนจำนวน 5,983 ล้านบาท มีขาดทุนสะสมเกินทุนจำนวน 5,276 ล้านบาท (ทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท) โดยผลขาดทุนสะสมสุทธิสำหรับปี 2552 จำนวน 933 ล้านบาท ปัจจัยดังกล่าวตลอดจนเรื่องที่กล่าวถึงในหมายเหตุ...แสดงว่า มีความไม่แน่นอนที่เป็นสาระสำคัญซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดข้อสงสัยอย่างมากเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกิจการ"
ในหมายเหตุงบการเงินให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า หนี้สินหมุนเวียนส่วนใหญ่เป็นยอดคงค้างกับกิจการที่เกี่ยวข้องกันในกลุ่มของบริษัทซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ทางอ้อมของบริษัทร้อยละ 49โดยบริษัทคาดว่า จะสามารถขอผ่อนผันเงื่อนไขการชำระหนี้ นอกจากนั้นผู้บริหารบริษัทเชื่อว่า กระแสเงินสดที่คาดว่า จะได้รับจากการดำเนินงานใน 12 เดือนข้างหน้าจะเพียงพอต่อการชำระหนี้สินที่เหลือของบริษัทได้...
จากการตรวจสอบงบการเงินเพิ่มพบว่า บริษัทขนส่งฯแห่งหนี้เป็นลูกหนี้ของกิจการที่เกี่ยวข้องกันกว่า 4,980 ล้านบาทจากหนี้ทั้งหมดกว่า 7,341 ล้านบาท
นอกจากนั้นเมื่อตรวจสอบงบการเงินย้อนหลัง 5 ปีหลังพบว่า บริษัทแห่งนี้ขาดทุนสะสมมาตั้งแต่ปี 2548-2552 ดังนี้ 169 ล้านบาท 127 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,360 ล้านบาท แล้วพุ่งสูงเป็น 4,744 ล้านบาท และ 5,677 ล้านบาทตามลำดับ
ผู้ตรวจสอบบัญชีรายหนึ่งให้ความเห็นว่า จากงบการเงินดังกล่าว บริษัทนี้ดำเนินกิจการอยู่ได้เพราะบริษัทแม่ในต่างประเทศหนุนหลัง เพราะขาดทุนสะสมจำนวนมหาศาลและหนี้ส่วนใหญ่เป็นของกิจการในเครือ
การที่มีหนี้สินจำนวนมากกับกิจการในเครือ แต่ยังคงขยายกิจการอย่างต่อเนื่องทำให้คู่แข่งตั้งข้อสงสัยว่า หนี้กับบริษัทในเครือเกือบ 5,000 ล้านบาทสูงเกินจริงหรือเป็น "หนี้เทียม" หรือไม่ เพราะการที่บริษัทยังขาดทุนสะสมทำไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
ข้อสงสัยดังกล่าวเป็นการหวาดระแวงเกินไปหรือไม่ น่าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบดูให้กระจ่างจะได้รู้ว่าอะไรคือ"ความจริง" หรือ "ความลวง" กันแน่