ที่มา ประชาไท
เมื่อ 24 ม.ค. 2554
ฮุสนา (นามสมมติ) เพิ่งพ้นรั้วมหาวิทยาลัยด้วยปริญญาทางด้านกฎหมาย พื้นเพของเธอเป็นคนนครศรีธรรมราช แต่อาสามาทำงานเพื่อความช่วยเหลือประชาชนด้านกฎหมายในพื้นที่จังหวัดยะลา
ที่มาภาพ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์
เมื่อเร็วๆ นี้เอง ฮุสนา ซึ่งปกติมีบทบาทเป็นผู้ให้คำแนะนำช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกละเมิดสิทธิจากการใช้กฎหมายพิเศษ อย่างกฎอัยการศึก พ.ร.บ.ความมั่นคง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กลับกลายเป็นผู้ถูกกระทำเสียเอง
เพราะมีกลุ่มทหารและตำรวจถือปืนมาดักรอค้นบ้านของเธอ
เหตุการณ์เกิดขึ้นหลังจากพ้นปีใหม่ไปได้แค่สามวัน เวลาประมาณสองทุ่มครึ่ง ฮุสนาขับมอเตอร์ไซด์กลับมาที่พัก ซึ่งเป็นชุมชนตลาดเก่าที่ตำบลสะเตง อ.เมือง จ.ยะลา เห็นเจ้าหน้าที่ทหารยืนถือปืนเฝ้าอยู่หน้าประตูมัสยิดกลางยะลา ในใจคิดว่าคงมีผู้ใหญ่ท่านใดมาถึงมีกำลังเจ้าหน้าที่ทหารมาอารักขา แต่ก็ไม่ได้คิดอะไรมากเพราะภาพทหารถือปืนกลายเป็นภาพที่ชินตาไปแล้ว
รถของเจ้าหน้าที่จอดยาวตั้งแต่ปากซอยไปถึงท้ายซอย โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารจำนวนมากยืนเฝ้าอยู่ที่หน้าปากซอย ฮุสนาเริ่มคิดในใจว่า หรืออาจมีใครวางระเบิดในซอยหรือหน้าบ้าน หรือว่ามีคนโดนยิง
เจ้าหน้าที่ทหารให้สัญญาณโดยใช้ไฟฉายและโบกมือให้เข้าไปได้ เมื่อฮุสนาขี่รถไปถึงละแวกหน้าบ้านพัก ก็มีเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบเข้ามาหาแล้วถามว่า “อยู่บ้านหลังไหนครับ ทางเราขอตรวจค้นบ้านเช่าหน่อยครับ” ฮุสนามองโลกแง่ดีว่า คงจะมาตรวจบ้านเช่าที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนหรือไม่ก็เจ้าของบ้านเช่าไม่ได้จ่ายภาษี แต่ก็ฉงนใจว่า แล้วเหตุใดเจ้าหน้าที่ถึงมาในยามวิกาล
ระหว่างนั้น ฮุสนากำลังลงจากรถแล้วเดินไปเปิดประตูเพื่อจะนำรถมอเตอร์ไซด์เข้าบ้าน แต่ทันทีที่เปิดประตู เจ้าหน้าที่ก็เข้าไปในบ้าน ยังไม่ทันได้สังเกตหรือเอ่ยอะไร เจ้าหน้าที่ก็เข้ามาถามว่า
“อยู่กับใคร อยู่กี่คน”
ฮุสนาตอบว่า “อยู่คนเดียว”
ทางเจ้าหน้าที่มีท่าทีไม่ยอมเชื่อ ก็เลยถามย้ำไปซ้ำมากับคำถามเดิมๆ
คำตอบก็เหมือนเดิม จากนั้น ฮุสนาก็ถามกลับไปว่า “แล้วพี่มาค้นบ้านอาศัยอำนาจอะไร”
ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ ตอบว่า กฎอัยการศึก
ฮุสนาเลยถามต่อว่าแล้วมีเหตุอะไรถึงต้องมาค้นยามวิกาล (ปกติแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 96 การค้นในที่รโหฐานต้องกระทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตกเท่านั้น) [1]
ทางเจ้าหน้าที่ตอบว่า “มีคนร้ายหลบหนีเข้ามาในซอยนี้ จะต้องค้นทุกบ้าน”
จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ขอบัตรประชาชน แล้วมีเจ้าหน้าที่ผู้หญิงแต่งกายก็ใส่เสื้อโปโลมีโลโก้หรือตราสัญลักษณ์ บางอย่าง สวมกางเกงยีนส์ สวมถุงมือ พูดกับฮุสนาว่าขอค้นบ้านและให้ฮุสนาช่วยพาไปค้น ก็เลยพาเจ้าหน้าที่ไป
ลักษณะบ้านที่ฮุสนาอยู่นั้นเป็นชั้นครึ่ง ชั้นบนไว้เก็บของ เจ้าหน้าที่เข้าไปค้นประมาณ 4-5 คน จากนั้นเมื่อค้นชั้นล่างเสร็จ ทางเจ้าหน้าที่ผู้หญิงก็ทำท่าทางตกใจเมื่อเห็นว่ามีชั้นบนอีก ก็เลยตะโกนเรียกเจ้าหน้าที่ทหาร ขอกำลังมาช่วยค้น พร้อมไฟฉาย เพราะข้างบนชั้นสองมืดเนื่องจากไฟเสีย
จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ค้นแต่ไม่เจออะไร ฮุสนาเลยถามกลับไปว่า “จะค้นอะไรอีกมั้ย”
ฮุสนาเล่าว่ามีเจ้าหน้าที่ถ่ายรูปขณะกำลังตรวจค้นภายในบ้านด้วย ซึ่งความรู้สึกของเธอเวลานั้น เหมือนเป็นบ้านที่ทำผิดหรือเจ้าของบ้านเป็นผู้ผิดอย่างไรก็ไม่รู้ แม้จะพอเข้าใจว่าก็เป็นการเก็บภาพเพื่อเป็นหลักฐานว่าทางเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่แล้ว แต่ก็ยังไม่ชอบใจ อย่างน้อย น่าจะขออนุญาตสักนิดก็ยังดี
เมื่อเจ้าหน้าที่ค้นเสร็จก็มานั่งสัมภาษณ์เรื่องทั่วไป เหมือนจะถ่วงเวลาอะไรสักอย่าง จากนั้นฮุสนาก็ถามต่อว่า แล้วมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยไหนบ้าง
ทางเจ้าหน้าที่ตอบว่า สนธิกำลังสามฝ่ายทั้ง ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง
เมื่อถามต่อว่ามากันกี่นาย เจ้าหน้าที่ตอบกลับว่า “โอ้ยย..เยอะ ไม่รู้ว่าเท่าไรหรอก”
จากนั้นก็ให้ฮุสนาเซ็นต์ชื่อในใบบันทึกการค้น ก่อนเซ็นก็ได้อ่านจนมาถึงบรรทัดที่ว่า อาศัยอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2548 ม.11 (4) [2]
แต่เมื่อมาถึงบรรทัดที่ต้องระบุว่า มีเจ้าหน้าที่ชื่ออะไรบ้างที่มาค้น บรรทัดนั้นกลับว่างเปล่า ฮุสนาจึงถามต่อว่า “อ้าว ทำไมไม่ระบุชื่อผู้ที่นำกำลังมาค้นและปิดล้อมครั้งนี้ว่ามีใครบ้าง”
เจ้าหน้าที่ผู้นำค้นตอบแบบหน้าตายว่า... “โอ้ยยย...มันมีเยอะอ่ะครับเขียนไม่หมดหรอก”
“ทำไมถึงตอบแบบนี้อะ” ฮุสนานั่งปะทะคารมกับเจ้าหน้าที่สักพัก แล้วถามไปว่า ถ้าไม่ยอมเซ็นหรือไม่ให้ค้นล่ะ จะเกิดอะไร เจ้าหน้าที่จึงชี้ที่บรรทัดสุดท้ายของใบบันทึกการค้นว่า “จำคุกสองปี ปรับสี่หมื่นบาท”
ในความรู้สึกฮุสนาตอนนั้น คือรู้สึกแย่มาก ทำอะไรไม่ถูก คิดไม่ทัน กะทันหันมาก กังวลสารพัดกลัวว่าทางเจ้าหน้าที่จะเอาอะไรมายัดเยียดสิ่งของผิดกฎหมายในบ้าน และกังวลว่าจะไม่ยอมปล่อยตัวไป
ฮุสนาได้ถามต่อเจ้าหน้าที่ต่อไปว่า แล้วมีบ้านไหนบ้างที่ไม่ให้ค้น เจ้าหน้าที่ก็ตอบไม่มี แล้วถ้าบ้านไหนไม่มีคนจะทำอย่างไร เจ้าหน้าที่ก็ตอบว่าก็จะให้งัดก็ไม่ได้ก็ต้องปล่อยเลยตามเลยไป
จากนั้นฮุสนาก็พยายามรวบรวมสติกลับคืนมา แล้วถามต่อว่า “แล้วพี่มาค้นบ้านยามวิกาลแบบนี้เนี่ยไม่ละเมิดสิทธิไปหน่อยเหรอ”
เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวตอบกลับมาว่า “ถ้ามันละเมิด ป่านนี้พี่คงติดคุกไปนานแล้วน้อง”
_ _ _ _ _
[1] ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 96
“การค้นในที่รโหฐานต้องกระทำระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและตก มีข้อยกเว้นดังนี้
(1) เมื่อลงมือค้นแต่ในเวลากลางวัน ถ้ายังไม่เสร็จจะค้นต่อไปในเวลากลางคืนก็ได้
(2) ในกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่ง หรือซึ่งมีกฎหมายอื่นบัญญัติให้ค้นได้เป็นพิเศษ จะทำการค้นในเวลากลางคืนก็ได้
(3) การค้นเพื่อจับผู้ดุร้ายหรือผู้ร้ายสำคัญจะทำในเวลากลางคืนก็ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตพิเศษจากศาลตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับ ของประธานศาลฎีกา”
[2] พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาตรา 11 (4)
“ในกรณีที่สถานการณ์ฉุกเฉินมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่มีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคง ของรัฐ ความปลอดภัยในชีวิตหรือทรัพย์สินของรัฐหรือบุคคล และมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้ยุติได้อย่างมีประสิทธิภาพและทัน ท่วงที ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศให้สถานการณ์ฉุก เฉินนั้นเป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง และให้นำความในมาตรา 5 และมาตรา 6 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม
เมื่อมีประกาศตามวรรคหนึ่งแล้ว นอกจากอำนาจตามมาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 10 ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย
...(4) ประกาศ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อ ถอน หรือทำลายซึ่งอาคาร สิ่งปลูกสร้าง หรือสิ่งกีดขวาง ตามความจำเป็นในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อระงับเหตุการณ์ร้ายแรงให้ยุติโดยเร็ว และหากปล่อยเนิ่นช้าจะทำให้ไม่อาจระงับเหตุการณ์ได้ทันท่วงที”
หมายเหตุ: งานเขียนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ http://www.ilaw.or.th/node/704