ที่มา ประชาไท
เมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา ผมไปร่วมฟังการเสวนาเรื่อง “พระสงฆ์กับงานสังคมสงเคราะห์: หน้าที่หรือมิใช่?” ที่ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสน่ห์การจัดเสวนาของที่นี่คือ เป็นการเสวนาตามวิธีคิดของอาจารย์ทางปรัชญา (เช่น ศ.ดร.วิทย์ วิศทเวทย์, ศ.กิตติคุณปรีชา ช้างขวัญยืน ฯลฯ) ที่มีวิทยากรเสนอประเด็นแล้วเปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความเห็นได้อย่างหลากหลาย ไม่ต้องมีข้อสรุป ให้แต่ละคนตรวจสอบความเห็นสอดคล้องหรือความเห็นแย้งต่างๆ แล้วหาข้อสรุปด้วยตนเอง
สิ่งที่ผมอยากชวนผู้อ่านคิดต่อคือ เวลาที่เราบอกว่างานสังคมสงเคราะห์ (เช่น การช่วยคนตกงานให้มีอาชีพอย่างที่พระพยอมทำ การจัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ของพระอาจารย์สุบิน หรือธนาคารข้าวของหลวงพ่อนาน การช่วยรักษาผู้ป่วยเอดส์ของพระอาจารย์อลงกต ฯลฯ) ไม่ใช่กิจของสงฆ์ เพราะกิจของสงฆ์คือการปฏิบัติธรรมเพื่อละกิเลส หรือเพื่อบรรลุนิพพาน แล้วก็มักจะอ้างพระไตรปิฎกว่า ตอนที่พระพุทธองค์ส่งพระสาวก 60 รูป ไปประกาศพุทธธรรม พระสาวกทั้ง 60 รูปล้วนแต่หลุดพ้นแล้ว ฉะนั้นท่านจึงพร้อมที่จะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น พระสงฆ์ที่ยังไม่หลุดพ้นจำเป็นต้องทำหน้าที่เพื่อความหลุดพ้นก่อนค่อยไปสอนหรือช่วยเหลือสังคมในด้านอื่นๆ
การอ้างพระไตรปิฎกดังกล่าว แม้จะถูกแต่ก็ไม่ถูกทั้งหมด เพราะในสมัยพุทธกาลเองพระสงฆ์ที่สอนพุทธธรรม หรือทำประโยชน์แก่สังคมในแง่อื่นๆ มีทั้งพระสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ และที่เป็นปุถุชน เวลาที่พระพุทธองค์พูดถึงความเจริญของพุทธศาสนาพระองค์ก็ระบุว่า ความเจริญของพุทธศาสนาเป็นไปได้เพราะภิกษุผู้บวชใหม่ ปานกลาง หรือเป็นพระเถระเอาใจใส่ในการศึกษาปฏิบัติ เผยแผ่ธรรม (รวมทั้งอุบาสกอุบาสิกาเอาใจใส่เช่นนั้นด้วย) ฉะนั้น พระสงฆ์ที่ยังไม่หลุดพ้นก็ต้องมีหน้าที่สอนธรรมหรือทำประโยชน์ด้านอื่นๆ แก่สังคมด้วย
ผมรู้สึกแปลกใจเมื่อได้ฟังพระสงฆ์ท่านหนึ่งพูดในที่เสวนาว่า “พระสงฆ์เราเข้าใจดีว่าการสังคมสงเคราะห์เป็นมลทินแก่พรหมจรรย์ หรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม” ซึ่งดูเหมือนวิธีคิดแบบนี้จะไม่มีในพระสงฆ์ฝ่ายมหายาน
เช่น พุทธศาสนาแบบธิเบต เราจะเห็นความประสานกลมกลืนระหว่างมิติทางพิธีกรรม มิติทางการเมือง ทางสังคม และมิติทางจิตวิญญาณ องค์ทะไลลามะนั้นเป็นทั้งประมุขทางศาสนา ผู้นำของรัฐ พระองค์ทำงานการเมืองทั้งในฐานะผู้นำรัฐบาลพลัดถิ่น เกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศ การเมืองระดับโลก แน่นอนว่างานสังคมสงเคราะห์ด้านอื่นๆ พระองค์ก็ย่อมกระทำด้วย แต่เราจะเห็นว่า การเกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ เหล่านั้นที่สะท้อนออกมาผ่านคำสอนขององค์ทะไลลามะทั้งในรูปคำปราศรัย งานเขียน การสนทนากับนักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ ล้วนแต่เป็นงานที่สะท้อนแก่นแท้ของคำสอนของพุทธศาสนา หรือเป็นการยืนยันความประสานกลมกลืนระหว่างมิติทางจิตวิญญาณและมิติทางสังคมที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติทางปัญญาและเมตตาของจิตมนุษย์ และสันติภาพทางสังคม
แต่พระสงฆ์ไทย (และชาวพุทธไทย) มักสร้าง “มายาคติ” หลอกตัวเองว่าดีกว่ามหายานตรงที่พระสงฆ์ไทยเป็นอิสระจากการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือสร้างมายาคติว่าวิถีชีวิตของพระสงฆ์เป็นเรื่องทางธรรมไม่เกี่ยวข้องกับทางโลก ทว่าในความเป็นจริงพระสงฆ์ไทยในรูปสถาบันสงฆ์อยู่ภายใต้การเมืองหรือภายใต้อำนาจรัฐตั้งแต่มีระบบ “สมณศักดิ์” หรือฐานันดรศักดิ์ของพระซึ่งพระราชา (หรือรัฐ) เป็นผู้แต่งตั้ง การมีฐานันดรศักดิ์ และมีบทบาทหน้าที่ตามฐานันดรศักดิ์นั้นๆ ก็คือการที่พระสงฆ์อยู่ภายใต้การเมืองของรัฐ หรือมีบทบาททางการเมืองตามที่ผู้มีอำนาจรัฐยอมรับหรือกำหนดให้มี (พระสงฆ์จะเกี่ยวข้องกับการเมืองไม่ได้เฉพาะการเมืองในความหมายของการตั้งคำถามต่ออำนาจรัฐเท่านั้น)
สภาพขององค์กรสงฆ์ภายใต้ระบบสมณศักดิ์ดังกล่าวแทบไม่มีบทบาทด้านสังคมสงเคราะห์ หรือด้านจิตวิญญาณเลย พระสงฆ์ที่มีบทบาทด้านสังคมสงเคราะห์หรือด้านจิตวิญญาณคือพระสงฆ์ที่เป็นปัจเจกบุคคล เช่น พระพยอม พระอาจารย์อลงกต ฯลฯ ด้านจิตวิญญาณก็เช่นท่านพุทธทาส หลวงพ่อชา ฯลฯ ต่างจากพุทธศาสนาของธิเบตที่องค์กรสงฆ์มีบทบาทชัดเจนทั้งเรื่องสังคมสงเคราะห์ การเมือง และจิตวิญญาณ และทำเรื่องทั้งหมดนั้นให้กลมกลืนไปด้วยกัน
เวลานี้เมื่อสังคมต้องการพระสงฆ์ ไม่มีใครถามหาพระสงฆ์ในรูป “สังฆะ” หรือ “สถาบันสงฆ์” (สังคมแทบไม่รู้ว่าสถาบันสงฆ์มีบทบาทหน้าที่อะไร) แต่ผู้คนจะถามหาพระสงฆ์ในรูปปัจเจกบุคคล เช่น ถามหาพระพยอม พระไพศาล ท่าน ว.วชิรเมธี ฯลฯ
ผมจึงรู้สึกแปลกใจมากที่พระสงฆ์คิดว่า “งานสังคมสงเคราะห์เป็นมลทิน” แต่ระบบสมณศักดิ์ไม่เป็นมลทิน แถมยังคิดกันว่าเป็นระบบที่มีความจำเป็นต่อความเจริญมั่นคงของพุทธศาสนาอีกต่างหาก
ที่จริงแล้วงานสังคมสงเคราะห์ไม่ได้ขัดแย้งกับหลักทางพระธรรมวินัย หัวใจพุทธศาสนาคือการดับทุกข์ และพุทธศาสนาก็ให้ความสำคัญต่อการดับทุกข์ทางจิตวิญญาณและทุกข์ทางสังคมด้วย หรือให้ความสำคัญต่อสันติภาพภายในจิตใจกับสันติภาพทางสังคมด้วย หรือในทัศนะของพุทธศาสนาเราแต่ละคนต่างต้องรับผิดชอบต่อความทุกข์ของตนเองโดยการปฏิบัติตามจริยธรรมเชิงปัจเจก และต้องรับผิดชอบต่อทุกข์ของสังคมด้วยการปฏิบัติตามจริยธรรมเชิงสังคม (เช่น ด้วยหลักศีล การเสียสละ ฯลฯ)
ในการดับทุกข์หัวใจสำคัญอยู่ที่การทำความเข้าใจ “ทุกขสัจจะ” แน่นอนว่าทุกข์ทางจิตใจกับทุกข์ทางสังคมย่อมเกี่ยวเนื่องกัน ผมไม่เชื่อว่าคน (หรือพระสงฆ์) ที่ใส่ใจแต่ตัวคำสอนของพุทธศาสนาที่บรรยายเกี่ยวกับการดับทุกข์และสนใจเฉพาะแต่ความทุกข์ของตนเองจะเข้าใจความทุกข์ในชีวิตมนุษย์อย่างแท้จริง คนบางคนแม้ไม่ใช่ชาวพุทธหากเขาใส่ใจปัญหาชีวิตปัญหาสังคม ลงไปร่วมสุขร่วมทุกข์กับสังคมเขาอาจเข้าใจความทุกข์จริงๆ ลึกซึ้งกว่าคนที่เทศนาคำสอนของพุทธศาสนาได้อย่างแตกฉานเสียอีก
ฉะนั้น ผมจึงเห็นว่าการที่พระสงฆ์ทำงานสังคมสงเคราะห์จะช่วยให้พระสงฆ์เข้าใจความทุกข์ในมิติต่างๆ ของชีวิตได้ชัดขึ้น จะทำให้ท่านเข้าใจโครงสร้างที่อยุติธรรมต่างๆ ทางสังคม หรือเข้าใจทุกขสัจจะทางสังคมที่มีเหตุปัจจัยซับซ้อนตามหลักอิทัปปัจจยตาชัดขึ้น และในที่สุดจะเป็นประโยชน์แก่การที่พระสงฆ์จะสามารถปรับใช้หลักพุทธธรรมเพื่อลดความทุกข์ในชีวิตตนเองและทุกข์ทางสังคมได้อย่างสอดคล้องกับบริบทที่เป็นจริง
ปัญหาของพระสงฆ์ในสังคมไทยปัจจุบัน คือการหันหลังให้กับ “ทุกขสัจจะ” ของสังคม ในขณะเดียวกันก็ไม่แน่ว่ามุ่งไปสู่การดับทุกข์ของตนเอง แต่ที่แน่ๆ คือสังคมไม่รู้ว่าสถาบันสงฆ์ภายใต้โครงสร้างการเมืองแบบสมณศักดิ์ทำหน้าที่อะไรที่เกี่ยวข้องกับการดับทุกข์ทางจิตวิญญาณและทุกข์ทางสังคม!