ที่มา ประชาไท
ท่าม กลางควันไฟ เสียงปืน สะเก็ดระเบิด เสียงร้องครวญครางของผู้บาดเจ็บที่ยังมีลมหายใจ และเศษซากอวัยวะที่กระจายเกลื่อนกล่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ปัญหา ที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ การขาดแคลนบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นหมอ หรือพยาบาล ที่มีปริมาณไม่เพียงพอรับมือผู้บาดเจ็บเบื้องต้น จากสถานการณ์ร้ายก็ตามมา
หนึ่ง ปริมาณหมอและพยาบาล ซึ่งปกติก็ขาดแคลนอยู่แล้ว ต้องรับมือกับผู้บาดเจ็บล้มตายที่เพิ่มปริมาณมากขึ้น
สอง ในท่ามกลางความรุนแรง หมอและพยาบาลเริ่มทยอยขอย้ายออกจากพื้นที่
สาม ขณะที่หมอและพยาบาลจากพื้นที่อื่นๆ ก็ไม่พร้อมที่ย้ายเข้ามาทำงานในพื้นที่แห่งความรุนแรงนี้
นั่นคือ สาเหตุหลักๆ ของปัญหาขาดแคลนหมอและพยาบาล ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในห้วงที่สถานการณ์ความรุนแรงโหมกระหน่ำ
ทั้ง หมด เป็นถ้อยอธิบายสั้นๆ จาก “นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” รองประธานชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งมีอีกฐานะเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา โรงพยาบาลที่ถูกจัดให้อยู่ในพื้นที่เคลื่อนไหวของขบวนการก่อความรุนแรง
นี่ คือ ที่มาของโครงการผลิตพยาบาล 3 พันคน ป้อนให้กับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็น 3 พันพยาบาล ที่รับมาจากคนในพื้นที่ ด้วยหมายว่าคนเหล่านี้จะไม่ดิ้นรนขอย้ายออกจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปอยู่ที่อื่น
เป็นโครงการผลิตพยาบาล 3 พันคน ที่ถูกผลักดันมาจากกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2550 ในสมัย “นายแพทย์มงคล ณ สงขลา” นั่งแป้นเป็นรัฐมนตรีว่าการ ในยุคที่ “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” เป็นนายกรัฐมนตรี
เป็นโครงการผลิตพยาบาล 3 พันคน ด้วยการรับเด็กจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปฝากเรียนยังสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ที่เปิดคณะพยาบาลศาสตร์ ตั้งแต่เหนือจรดใต้
ในที่สุด พยาบาลภายใต้โครงการนี้ก็จบออกมาปฏิบัติงานในพื้นที่แห่งความรุนแรง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อต้นปี 2554 ท่ามกลางสารพัดปัญหาที่ยืนรอรับนักศึกษาพยาบาลจบใหม่กลุ่มนี้
นางสาว มัสยา เด็ง เป็นหนึ่งในพยาบาลจากโครงการผลิตพยาบาล 3 พันคน ที่จบการศึกษามาจากวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า ซึ่งบัดนี้กลับมาเป็นพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลรูสะมิแล (รพ.สต.)
เธอทราบข่าวการรับ สมัครเรียนพยาบาล 3 พันตำแหน่ง ในปีการศึกษา 2550 จากสื่อโทรทัศน์ เป็นข่าวที่ได้รับขณะที่เธอเรียนอยู่ชั้นปี 3 สาขานวัตกรรมการออกแบบสื่อและการผลิตสื่อ คณะวิทยาการสื่อสาร ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
เธอตัดสินใจลองสมัครเรียนพยาบาลในโครงการนี้เล่นๆ ถึงสอบติดก็ไม่คิดไม่เรียน
ทว่า เมื่อสอบได้เธอกลับเปลี่ยนความคิด ตั้งใจจะพักการเรียนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ลองไปเรียนพยาบาลดูก่อน
จาก นั้นเธอก็ไปรายงานตัวเป็นนักศึกษาพยาบาล โดยเลือกลงทะเบียนเรียนที่วิทยาลัยพยาบาลจังหวัดยะลา แต่จำนวนนักศึกษาที่รับจากโครงการนี้เต็ม จึงเลือกไปเรียนที่วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรีแทน
ทำไม เธอถึงตัดสินใจทิ้งการเรียนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทั้งที่ใกล้จะจบเต็มที ด้วยเพราะเรียนมาถึงชั้นปีที่ 3 แล้ว
หนึ่งในแรงจูงใจที่นำมาสู่การตัดสินใจเริ่มต้นชีวิตนักศึกษารอบใหม่ก็คือ สิทธิพิเศษที่นักศึกษาจากโครงการผลิตพยาบาล 3 พันคน จะได้รับ
นั่น คือ ทุนการศึกษา 30,000 บาทต่อปีการศึกษา หรือเทอมละกว่า 5,000 บาท พร้อมชุดนักศึกษา, ค่าอาหาร 1,800 บาทต่อคนต่อเดือน รวมไปถึงค่าหอ ค่าซักผ้า และชุดสูทพยาบาลฟรี
จะมีที่ต้องจ่ายเองก็เฉพาะค่าใช้จ่ายส่วนตัวเท่านั้น
ที่ สำคัญก็คือ เรียนจบแล้วมีงานพยาบาลวิชาชีพ รออยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา นั่นหมายถึงเธอมีงานทำแน่นอน
เมื่อประกอบกับเธอเป็นความหวังของทาง บ้าน ที่ต้องการความมั่นคงจากการเป็นพยาบาลของเธอ อันเนื่องจากเธอจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการในอีกไม่นานวันข้างหน้า
จึงไม่ยากสำหรับเธอ ในการตัดสินใจทิ้งการเรียนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อ 4 ปีก่อนหน้านี้
เธอบอกว่า การบริหารหรือการจัดการงบประมาณที่ต้องเอามาดูแลนักศึกษาในโครงการนั้น แต่ละวิทยาลัยมีวิธีการจัดการไม่เหมือนกัน
บางวิทยาลัยจะหักค่าอาหารจากงบประมาณที่ได้มา ขณะที่บางแห่งจ่ายให้นักศึกษาโดยตรง แล้วให้นักศึกษาบริหารจัดการเงินด้วยตัวเอง
นัก ศึกษาที่จบมาทั้งหมด จะต้องสอบใบประกอบวิชาชีพ ซึ่งมีวิชาที่ต้องสอบ 8 วิชา เปิดสอบปีละ 3 ครั้ง ต้องสอบให้ผ่านภายใน 3 ปี หากเกิน 3 ปี ก็จะหมดสิทธิ์สอบใบประกาศนียบัตรวิชาชีพทันที
ถ้าสอบผ่านจะได้ตำแหน่ง “พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ”
ถ้าหากสอบไม่ผ่านก็จะได้ตำแหน่ง “พยาบาลเทคนิค”
“มาตรฐานพยาบาลวัดกันที่ใบประกอบวิชาชีพ” เป็นถ้อยคำที่หล่นออกจากเรียวปากของ “นางสาวมัสยา เด็ง”
จุด เด่นอีกอย่างของโครงการนี้คือ เมื่อเรียนจบมาแล้วก็แล้ว ผู้เรียนจะเลือกลงตำแหน่งที่ไหนก็ได้ โดยทางสำนักงานสาธารณสุขแต่ละจังหวัด จะประกาศตำแหน่งว่างของพยาบาลในแต่ละอำเภอ ถ้าจำนวนผู้เลือกมีมากกว่าอัตราตำแหน่งว่าง จะใช้วิธีหยิบฉลากว่า ใครจะได้ลงในพื้นที่ที่เลือกไว้
ถ้าหยิบฉลากพลาด ก็ต้องเลือกอำเภออื่นๆ ต่อไป
เพื่อน ร่วมรุ่นของ “นางสาวมัสยา เด็ง” ที่ยังเรียนไม่จบก็มี ในจำนวนนี้มีทั้งลาคลอด ซึ่งวิทยาลัยที่เธอเรียนอนุญาตให้ลาคลอดได้ 1 ปี บางคนต้องเรียนซ้ำชั้นปี 1 เพราะเกรดไม่ถึง ส่วนกรณีเกรดเฉลี่ยไม่ถึง 2.00 จะไม่มีการรีไทร์ แต่จะส่งไปเรียนสาธารณสุข 2 ปี กลุ่มนี้จบมาแล้ว ต้องทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ 4 ปี ถึงจะย้ายออกนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้
“นางสาวมัสยา เด็ง” เล่าถึงลักษณะงานที่ได้รับมอบหมายจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลรูสะมิแล ว่า มีแผนลงชุมชนเดือนละ 1 ครั้ง หมุนเวียนกันไปในแต่ละหมู่บ้าน โดยจะให้บริการตรวจโรค รักษาโรคทั่วไป ฉีดวัคซีน วัดความดัน และเจาะคัดกรองเบาหวาน
ล่าสุดเจ้าหน้าที่และพยาบาลจากหน่วยงานของ “นางสาวมัสยส เด็ง” ประกอบด้วย พยาบาล 2 คน จากโครงการผลิตพยาบาล 3 พันคน, พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ 1 คน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 1 คน, บัณฑิตอาสา 1 คน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อีก 3–4 คน ได้ออกพื้นที่ให้บริการชาวบ้านหมู่ที่ 6 ตำบลรูสะมิแล การลงชุมชนครั้งนี้ ได้ฉีดวัคซีนให้กับเด็ก 9 คน โดยมีผู้มารับการตรวจโรค รักษาโรคทั่วไป วัดความดัน เจาะคัดกรองเบาหวาน 37 คน
“ตั้งแต่ลงชุมชนมากว่า 5 ครั้ง ชาวบ้านให้การต้อนรับดี โดยมีอสม.เป็นผู้ประสานงานระหว่างโรงพยาบาลกับชุมชน การลงไปให้บริการในชุมชน จะมีผู้มารับบริการมากกว่าให้บริการที่โรงพยาบาล สาเหตุอาจจะเป็นเพราะตำบลรูสะมิแล อยู่ใกล้โรงพยาบาลปัตตานีมากกว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลรูสะมิแล”
เป็นความเห็นของพยาบาลวิชาชีพใหม่หมาดนาม “นางสาวมัสยา เด็ง”
ถึง แม้ภาพที่ออกมา เยาวชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้รับประโยชน์ไปเต็มๆ แถมยังแก้ปัญหาขาดแคลนบุคคลากรทางการแพทย์ได้ในระดับหนึ่ง
ทว่า ปัญหาที่เกิดจากโครงการนี้ก็มีอยู่ไม่น้อย
“นางสาวนัสรีซา มามะ” พยาบาลเทคนิค โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต คือหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการผลิตพยาบาล 3 พันคน
เนื่อง เพราะพลันที่โครงการผลิตพยาบาล 3 พันคน เกิดขึ้นมาก็ไม่มีตำแหน่งงานพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เหลือให้เธอได้มีโอกาสทำงานในโรงพยาบาลของรัฐ เนื่องจากทุกตำแหน่งที่ว่างจะตกเป็นของพยาบาลในโครงการผลิตพยาบาล 3 ทั้งสิ้น
ส่งผลให้ผู้ที่เรียนจบพยาบาลนอกโครงการนี้ ต้องไปเป็นพยาบาลนอกพื้นที่
“นาง สาวนัสรีซา มามะ” เพิ่งเรียนจบจากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ทางบ้านต้องการให้บรรจุเป็นพยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ แต่ไม่มีตำแหน่งว่างเหลือให้เธอ เพราะทางโรงพยาบาลฯ เพิ่งบรรจุพยาบาลจากโครงการผลิตพยาบาล 3 พันคน แทนอัตราที่ว่าง
เพื่อน ร่วมรุ่นของ “นางสาวนัสรีซา มามะ” ที่จบพร้อมกัน 106 คน ต่างกระจัดกระจายออกไปทำงานพยาบาลในโรงพยาบาลนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดสงขลา จังหวัดตรัง จังหวัดสตูล จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปจนถึงอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
นี่คือที่มาของความรู้สึกจากพยาบาลนอกโครงว่า “ไม่ได้รับความไม่เป็นธรรม” จากการที่รัฐให้สิทธิกับพยาบาลจากโครงการผลิตพยาบาล 3 พันคน ให้ได้รับการบรรจุก่อน
“นางสาวนัสรีซา มามะ” ยังหวังว่า ในอนาคตจะมีการเพิ่มอัตราตำแหน่งพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าอัตราที่เพิ่มมีจำนวนมากพอที่จะรับพยาบาลจากนอกโครงการผลิตพยาบาล 3 พันคนได้ เธอจะกลับไปเป็นพยาบาลที่บ้านเกิด
ก่อนหน้านี้ เธอเคยไปสมัครเป็นพยาบาล ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แต่ที่นั่นห้ามพยาบาลมุสลิมสวมฮิญาบตามหลักศาสนาอิสลาม เธอจึงต้องเดินทางไปสมัครเป็นพยาบาล ในโรงพยาบาลที่ไม่ได้ห้ามสวมฮิญาบไกลถึงจังหวัดภูเก็ต
สำหรับโรง พยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลรูสะมิแล อันเป็นโรงพยาบาลที่ “นางสาวมัสยา เด็ง” เริ่มต้นชีวิตการทำงาน มีพยาบาลจากโครงการผลิตพยาบาล 3 พันคน ถูกส่งมาทำงานที่นี่ 3 คน
“นางแวคอตีเยาะ เปามะ” รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลรูสะมิแล บอกว่า ทั้ง 3 คน อยู่ในช่วงทดลองงาน 6 เดือน ยังไม่สามารถประเมินคุณภาพการปฏิบัติงานของพยาบาลจากโครงการนี้ได้
ก่อน หน้านี้ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลรูสะมิแล มีเจ้าหน้าที่ให้บริการประมาณ 10 คน แยกเป็น ผู้อำนวยการ 1 คน รองผู้อำนวยการ 1 คน พยาบาล 4 คน นักวิชาการ 1 คน เจ้าพนักงานสาธารณสุข 3 คน และอื่นๆ อีก 2 คน ซึ่งไม่พอต่อการให้บริการประชาชนในตำบลรูสะมิแล ที่มีประมาณ 17,000 คน ทำให้บริการประชนได้ไม่เต็มที่ เมื่อได้พยาบาลวิชาชีพจากโครงการดังกล่าวมาเพิ่ม ก็สามารถแบ่งเบาภาระต่างๆ ในโรงพยาบาลได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานธุรการหรืองานบริการ
ทั้งหมด เป็นข้อมูลจาก “นางแวคอตีเยาะ เปามะ” ที่มองว่า โครงการผลิตพยาบาล 3 พันคน เป็นโครงการที่ดี เพียงแต่รัฐให้สิทธิได้รับการบรรจุก่อนพยาบาลส่วนอื่นมากเกินไป
“น่า จะค่อยๆ บรรจุปีละ 100–200 คน เพราะการให้สิทธิได้รับการบรรจุก่อน ทำให้วิชาชีพสุขภาพอื่นๆ ได้รับผลกระทบไปด้วย ดิฉันเห็นใจพยาบาลวิชาชีพที่ทำงานในโรงพยาบาลอยู่ก่อนแล้ว บางคนทำงานรอบรรจุอยู่ 2–3 ปี บางคนทำงานนานถึง 10 ปี ก็ยังไม่ได้บรรจุ แต่พยาบาลในโครงการนี้ได้รับการบรรจุเลย น่าจะให้สิทธิพยาบาลที่ทำงานอยู่แล้วได้บรรจุก่อน”
นี่คือ ความเห็นของ “นางแวคอตีเยาะ เปามะ” พยาบาลผู้มาก่อน
นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
“นาย แพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” บอกกับ “โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้” ว่า ถึงวันนี้พยาบาลที่จบมาทั้งหมด ยังไม่ได้รับการบรรจุ เนื่องจากอัตราตำแหน่งว่างยังไม่ครบ 3,000 ตำแหน่ง ต้องเอาตำแหน่งจากทั่วประเทศมาให้ เพื่อจะได้บรรจุพร้อมกันทั้งหมด เพราะหากไม่บรรจุพร้อมกัน อาจเกิดความไม่เป็นธรรมจากการบรรจุ
“นาย แพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” ยังบอกอีกว่า อันที่จริงชาวบ้านต้องการให้หมอเข้าไปอยู่ในสถานีอนามัย ที่ปัจจุบันยกระดับเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล แต่หมอมีไม่มากพอ ประกอบกับในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว การเอาหมอไปอยู่ในตำบลไม่คุ้ม เพราะการผลิตหมอใช้งบประมาณสูงมาก
ถึงกระนั้น ในความเห็นของ “นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” การเอาพยาบาลไปอยู่ที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพก็ถือได้ว่า เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การสาธารณสุขของประเทศนี้ ที่ลงลึกถึงระดับตำบล
“ความเชื่อที่ว่าไม่สมควรเอาพยาบาล ไปประจำอยู่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เป็นความคิดที่ผิด เนื่องจากวิชาชีพพยาบาลเรียนมาหลากหลายทาง ทำได้หลายอย่าง หากพยาบาลทำคลอดไม่เป็น หรือเย็บแผลไม่เก่ง ถือว่าให้อภัยได้ เพราะอยู่ที่ประสบการณ์ในการปฏิบัติและการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ การเติมพยาบาลลงไปที่อนามัย หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเยอะๆ นอกจากช่วยให้คนไข้พึ่งพาโรงพยาบาลหลักน้อยลงแล้ว ยังทำให้การดูแลสุขภาพของคนในชุมชนดีขึ้น”
เป็นความเห็นของรองประธานชมรมแพทย์ชนบทนาม “นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ”
เป็น ความเห็นที่ตามมาด้วยตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจน เช่น คนไข้เป็นหวัด โรคเบาหวาน โรคความดัน ต้องมาต่อแถวยาวเพื่อรอรับยาที่โรงพยาบาลในอำเภอหรือจังหวัด ถ้าหากกระจายการให้บริการไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ก็จะทำให้คนไข้ได้รับความสะดวกมากขึ้น เพราะที่นั่นพยาบาลมีสิทธิสั่งจ่ายยา แต่ต้องมีกระบวนการให้ความรู้ หรือวางระบบให้มีมาตรฐานเดียวกับโรงพยาบาลหลัก
อีกข้อมูลจาก “นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” ที่น่าสนใจก็คือ หากไม่นับรวมกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแล้ว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่เดียวในประเทศไทย ที่มีพยาบาลเต็มทุกอนามัย ที่ปัจจุบันเรียกว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และถ้าหากการบรรจุพยาบาลทั้ง 3,000 อัตรา ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพสุขภาพ รัฐบาลอาจจะแก้ปัญหาด้วยการขยายอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยใช้งบประมาณแผ่นดินส่วนอื่นมาจัดจ้าง
“ทุกจังหวัดของประเทศไทยควรเป็นเหมือน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้”
เป็นถ้อยเน้นย้ำจาก “นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ”
ถึง กระนั้น “นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ” ยังคงมองว่า คุณภาพในการให้บริการของบุคลากร ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตามอง เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดการทำงานของพยาบาลจากโครงการผลิตพยาบาล 3 พันคน
“ก็ มีพี่ๆ พยาบาลบางคนดูถูกพยาบาลจากโครงการผลิตพยาบาล 3 พันคนว่า ไม่ได้คุณภาพ ขณะเดียวกันก็ได้ยินพี่พยาบาลภาคปกติบ่นว่า ทำงานมา 2–3 ปี แล้ว ยังไม่ทันได้รับการบรรจุ ก็มีพยาบาลจากโครงการนี้ มาแย่งอัตราตำแหน่งที่ว่างไปเสียอีก”
เป็นอีกหนึ่งคำบอกเล่าของ “นางสาวมัสยา เด็ง” พยาบาลสาวป้ายแดงจากโครงการผลิตพยาบาล 3 คน
อันเป็นคำบอกเล่า ที่ทุกฝ่ายนอกจากไม่ควรมองข้ามแล้ว ยังต้องช่วยกันเร่งแก้ไขให้ปัญหาเหล่านี้คลี่คลายโดยเร็ว