ที่มา thaifreenews
โดย bozo
ทันทีที่คณะกรรมการการเลือก ตั้ง (กกต.) ประกาศรับรอง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็น ส.ส.
การซื้อขายในตลาดหุ้นไทยวันที่ 19 กรกฎาคมก็ปรับเพิ่มขึ้นถึง 12.83 จุด สวนทางตลาดหุ้นในเอเชีย
ซึ่งสะท้อนถึงการขานรับ “ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิง” คนแรกของประเทศไทย
เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะทำให้สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจดีขึ้น
หากไม่มีการปลุกระดมและบิดเบือนแอบอ้างสถาบันเพื่อสร้างกระแสล้ม “ระบอบทักษิณ” อย่างในอดีต
80% ต้องการ “ยิ่งลักษณ์”
จึงไม่แปลกที่ก่อนหน้านี้ กกต. แขวน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย
ถึงการใช้อำนาจของ กกต. ที่อาจส่งผลให้เกิดการจุดชนวนวิกฤตการเมืองไทยครั้งใหม่ได้
ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน นักการเมือง นักวิชาการ หรือนักลง ทุน รวมทั้งประชาคมโลก
ที่ออกมาแสดงความสงสัยอำนาจของ กกต.ไทย
อย่างเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทยที่บอกกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ว่า
กกต.ไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีอำนาจทั้งจัด การเลือกตั้ง สอบสวน และลงโทษ
แต่ กกต.อินเดีย มีหน้าที่แค่จัดการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรมเท่านั้น
ขณะที่เอแบคโพลล์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน 17 จังหวัด
ปรากฏว่า 80.4% อยากให้โอกาส น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย
และอยากให้เป็นประธานรณรงค์สร้างชาติให้โปร่งใสซื่อตรง
ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประชาชนส่วน ใหญ่เห็นว่าควรอยู่เบื้องหลังและอยู่เฉยๆ
เพราะอาจ เกิดอุปสรรคทำให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้
และกลัวประเทศชาติถอยหลังจนเกิดการยึดอำนาจอีก
สัญญาณการเมืองที่ดี
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ให้ความเห็นถึงผลสำรวจครั้งนี้ว่า
ชี้ให้เห็น ชัดเจนถึงอารมณ์ความรู้สึกของสาธารณชนที่อยากเห็นประเทศชาติก้าวไปข้างหน้า
มีความหวังกับการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย และอยากให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์
แสดงความสามารถในการบริหารประเทศ แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนตามที่หาเสียงไว้
ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆในแง่ลบอาจเป็นเพียง “สมมุติฐาน” และ “อคติ”
ที่ต้องรอการพิสูจน์ความจริงและข้อมูลที่เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลทำงานแล้ว
แต่ทุกฝ่ายก็ยอมรับเสียงของประชาชนในการมีส่วนร่วมทางการเมือง รวมถึงการตรวจสอบ
การทำงานของรัฐบาลใหม่อย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อเสถียรภาพการเมืองการปกครอง
มือถือสาก ปากถือศีล?
ด้านพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ท่องคาถา “ความปรองดอง”
แต่กลับพยายามใช้วาทกรรมตอกย้ำเรื่องการนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณและคนเสื้อแดงอยู่ตลอดเวลา
ล่าสุดนายอภิสิทธิ์เขียนผ่านเฟซบุ๊คว่าคนส่วนใหญ่ต้องการก้าวพ้นความขัดแย้งในอดีต
ประเทศไทยและประชาชนไทยไม่ต้องการวิกฤตอีกรอบ
โดยเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดงลดการเผชิญหน้าและการแบ่งแยกประชาชน
ในขณะที่นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์
กลับลืมสำรวจพฤติกรรมของตัวเองว่าได้ลด ละ เลิก ความ อคติ และ “ดับไฟ” ในตัวเองได้หรือไม่
เพราะการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายก็ใช้การปลุกกระแส “ถอนพิษทักษิณ”
และทำให้ประชาชนเข้าใจว่าหาก “ระบอบทักษิณกลับมา จะทำร้ายประเทศอีก”
นายอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์จึงถูกมองว่าไม่ได้แตกต่างจากบรรดา “ขาประจำ”
ที่วันนี้ยังไม่ได้ก้าวข้าม พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งยังพยายามนำมาเป็นเครื่องมือ “หากิน”
ทางการเมืองและแบ่งแยกประชาชน โดยแอบอ้างความรักชาติและรักสถาบัน
ประชาคมโลกมองไทย
นักการทูตประเทศต่างๆที่แสดงความยินดีและหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์
จึงแสดงความกังวลถึงกลุ่มอำนาจที่ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง
โดยเฉพาะกลุ่มขาประจำและกองทัพที่สนับสนุนฝ่ายอำมาตย์
โดยเชื่อว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่ได้รับเสียงท่วมท้นจากประชาชนกว่า 15 ล้านเสียงนั้น
จะทำให้ประชาธิปไตยและความยุติธรรมที่แท้จริงเกิดขึ้น
และนำ ไปสู่การปรองดองได้ แม้จะมีอุปสรรคไม่น้อยก็ตาม
โดยเฉพาะปัญหากระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน หรือนิติรัฐ
ที่ “สั่งได้” จนทำให้กว่า 1 ปีที่ผ่านมาไม่มีคำตอบใดๆในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษ-ภาอำมหิต”
เพราะแม้แต่รัฐบาลหรือกองทัพต่างก็ออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบและยืนยันว่าไม่ได้เป็นฝ่ายผิด
แต่โยนความผิดไปให้ “ไอ้โม่งชุดดำ” และคนเสื้อแดงว่าเป็น “กองกำลังไม่ทราบฝ่าย” หรือ “ผู้ก่อการร้าย”
“คนสั่งจึงยังลอยหน้า คนฆ่าก็ยังลอยนวล”
สายตาของประชาคมโลกจึงจัดประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม
ประเทศเผด็จการและละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงจนทุกวันนี้
อย่างที่นายรูดี้ เวสตราเติน เอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย
ที่เข้าแสดงความยินดีกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เพียงสนใจเรื่องแนวทางการปรองดอง
ที่ยังให้คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและ ค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)
ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ทำงานต่อไปเท่านั้น
แต่เอกอัครราชทูตเบลเยียมยังแสดงความเห็นเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทยด้วย
โดยระบุว่า กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปยังจับตามองอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการเยียวยากลุ่มคนเสื้อแดง
ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต”
การปล่อยตัวชั่วคราวคนเสื้อแดงและนักโทษคดีการเมือง ให้ออกมาต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม
รวมทั้งกรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และผู้อพยพที่มีการผลักดันชาวโรฮิงยาออกนอกประเทศไทย
ขณะที่องค์การนิรโทษกรรมสากลแห่งสหประชาชาติ (Amnesty International)
เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาได้จัดทำรายงานประจำปี 2554
ระบุถึงประเทศไทยว่ามีการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง
เพราะยังมีการเซ็นเซอร์เว็บไซต์ วิทยุ และโทรทัศน์ รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์
ซึ่งเป็นการควบคุมและจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
นอกจากนี้ยังมีความรุนแรงจากการขัดแย้งกันด้วยกำลังอาวุธภายในภาคใต้ที่ยังดำเนินอยู่
การใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมต่อต้านที่กรุงเทพฯและอีกหลายจังหวัด
มีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุของฝ่ายกองทัพ และยังมีการควบคุมตัวผู้ประท้วงอีกหลายร้อยคน
โดยใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการประกาศใช้เกือบ 8 เดือน
ซึ่งมีข้อบัญญัติหลายประการที่ขัดต่อกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
ปัญหารัฐบาลยิ่งลักษณ์
การเป็น “นายกรัฐมนตรีหญิง” คนแรกของประเทศไทยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์
จึงไม่ได้โรยด้วยกลีบ กุหลาบ ซึ่งบางคนเปรียบเหมือน “ทุกขลาภ”
เพราะ ตั้งแต่เริ่มประกาศชัดเจนว่าจะเข้าสู่สนามการเมือง
ก็ถูกพรรคประชาธิปัตย์ขุดคุ้ยเอาเรื่องส่วนตัวมาโจมตีทันที
ขณะที่กลุ่มขาประจำอย่างนายแก้วสรร อติโพธิ และ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์
ก็ยังไม่ลดละที่จะใช้เงื่อนไขทางกฎหมายสกัด น.ส.ยิ่งลักษณ์
ส่วนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ดำเนินการยื่นหนังสือ
ทั้งคัดค้านการรับรองผลการเลือกตั้งและขอให้จัดการเลือกตั้งใหม่
รวมถึงการให้เอาผิด กกต. ว่าจัดการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมและขัดต่อรัฐธรรมนูญ
และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมาต่อศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง
แม้ศาลจะไม่รับฟ้องก็ตาม
นายพิภพ ธงไชย หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ ออกมาประกาศว่า
จุดตายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์และ พ.ต.ท.ทักษิณคือ
จะต้องไม่แสดงให้เห็นว่าใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องบริวาร
ส่วน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ก็ประกาศว่า หากมีการเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ
หรือมาตรา 112 พันธมิตรฯก็พร้อมจะออกมาเคลื่อนไหวทันที
รุมถล่มนโยบายพรรคเพื่อไทย
ขณะที่นโยบายของพรรคเพื่อไทยทั้งที่ยังไม่ได้เป็นรัฐบาลหรือมีการเปิดประชุมสภาอย่างเป็นทางการ
พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มการเมืองต่างๆทั้งขาประจำและกลุ่มทุนต่างก็ออกมาคัดค้านและต่อต้านกันอย่างมาก
โดยเฉพาะนโยบายปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน
โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ประชุมนัดพิเศษ
เพื่อพิจารณาผลกระทบจากนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท
และมีมติว่าไม่เห็นด้วยที่จะปรับขึ้นทั่วประเทศ เพราะจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นไปตามกลไกตลาด และเป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการไตรภาคี
โดยปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง แต่หากรัฐบาลปรับขึ้นจริง
ต้องหาแนวทางจ่ายส่วนต่างของค่าจ้างให้ชัดเจน ซึ่งเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาล กกร. จะยื่นข้อเสนอนี้ทันที
เงินเดือน ป.ตรี 15,000 บาท
ขณะที่นโยบายขึ้นเงินเดือนให้ผู้ที่จบระดับปริญญาตรี 15,000 บาท
โดยเริ่มต้นที่ข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ก็มีเสียงท้วงติงจากภาคเอกชนว่า
จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเงินเดือนทั้งระบบ เนื่องจากฐานเงินเดือน
ในปัจจุบันของข้าราชการเข้าใหม่ระดับปริญญาตรีอยู่ที่ประมาณ 8,000-9,000 บาท
และอัตราการปรับขึ้นเงินเดือนในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 10% ซึ่งผู้มีอายุงาน 2-3 ปี
จะมีเงินเดือนประมาณ 10,000 บาท ส่วนบริษัทเอกชนอยู่ที่ 8,000-10,000 บาท
แต่มีการปรับขึ้นเงินเดือนไม่ต่างจากข้าราชการมากนัก
เมื่อมีการปรับฐานเงินเดือนจะทำให้โครงสร้าง เงินเดือนใหม่ทั้งระบบมีปัญหากับภาคเอกชนทันที
เพราะไม่รู้ว่าจะเอาเงินจากส่วนไหนมาจ่าย ซึ่งนโยบายภาษีก็ยังไม่ชัดเจน
ในส่วนของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจที่พรรคเพื่อไทยประกาศจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้
ที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เชื่อว่าจะทำไม่ได้นั้น
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สคร. และ
นายนนทิกร กาญจนะจิตรา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
ก็ระบุว่าทำได้ยาก ที่สำคัญภาคเอกชนจะไม่ให้ความร่วมมือ
แต่นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช หนึ่งในทีมร่างนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย
และเป็นแคนดิเดตตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมายืนยันว่า
นโยบายของพรรคเพื่อไทยสามารถทำได้ทั้งหมด โดยประชาชนจะร่ำรวยขึ้น หนี้จะลดลง
แม้แต่ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่ผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยก็มีนโยบายภาษีช่วย
เช่นเดียวกับเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาท จะไม่เป็นภาระกับเงินงบประมาณ
“ถ้าทำตามนายจ้าง วันนี้ค่าแรงก็ยังคง 25 บาท เหมือนสมัย 14 ตุลาคม 2516
แล้วเชื่อหรือไม่ว่า 14 ตุลาคม 2516 ที่นักศึกษาขับไล่จอมพลถนอม กิตติขจร
ค่าแรงปีนั้นเพิ่มขึ้นจาก 25 บาท เป็น 40 บาท ขึ้นถึง 60%
แต่ก็ไม่เห็นนายจ้างคนไหนเจ๊งเลย วันนี้ถ้าจะขึ้นจาก 215 บาท เป็น 300 บาท ขึ้นแค่ 40%”
(อ่านบทสัมภาษณ์หน้า 18)
โครงการลด แลก แจก แถม
นอกจากนี้ยังมีโครงการรับจำนำข้าวที่จะนำมาใช้แทนโครงการประกันรายได้
ที่พรรคเพื่อไทยยืนยันว่าไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเป็นแสนล้านบาท
แต่ก็มีการท้วงติงว่าอาจขัดกับเงื่อนไขขององค์การการค้าโลก
ที่ห้ามรัฐบาลสนับสนุนสินค้าเกษตรในประเทศเกินวงเงิน 20,000 ล้านบาท
ซึ่งยังมีปัญหาการตั้งราคารับซื้อเกินจริง และปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันระหว่างโรงสีและผู้ส่งออก
โครงการลด แลก แจก แถม อื่นๆที่ยังไม่มีความชัดเจนมากนัก
อย่างโครงการแจกแทบเล็ตให้กับเด็ก ป.1 จำนวน 800,000 เครื่อง ที่ไม่ใช่แค่การจัดซื้อ
แต่ยังต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับซอฟต์แวร์หรือความรู้ที่จะให้กับเด็กด้วย
ขณะที่โครงการพักหนี้ครัวเรือน 500,000 บาท
โครงการเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านแห่งละ 1 ล้านบาท
ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น
หากทำไม่ได้หรือทำแล้วมีปัญหาก็เชื่อว่าฝ่ายตรงข้ามต้องรุมถล่มเต็มที่อย่างแน่นอน
นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ล้มตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น เช่น “โครงการถมทะเลสร้างเมืองใหม่”
ที่จะก่อสร้างเขื่อนลึกลงในทะเล 10 กิโลเมตร ความยาว 30 กิโลเมตร
ตั้งแต่สมุทรสาครถึงปากน้ำ สมุทรปราการ โดยการถมทะเล
เพื่อจัดสร้างเมืองใหม่บนพื้นที่รวม 200,000 ไร่ แม้ไม่ต้องใช้เงินกู้
แต่กลุ่มเอ็นจีโอก็ออกมาประกาศคัดค้านเต็มที่ ทั้งยังต้องผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ก่อนอีกด้วย
ถูกต่อต้านต้องเดินหน้า
ดังนั้น แค่นโยบายการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจก็ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งของรัฐบาลยิ่งลักษณ์
ที่ต้องทำให้ได้มากที่สุด ซึ่งจะส่งผลกระทบกับหลายส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน
แต่นโยบายส่วนใหญ่ก็เป็นความหวังของประชาชนที่มีต่อพรรคเพื่อไทย
โดยเฉพาะปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นแต่รายได้กลับลดลง
หากพรรคเพื่อไทยทำไม่ได้ หรือทำแล้วมีปัญหา ก็จะถูกรุมถล่มทันที
เพราะวันนี้แค่ยังไม่ได้เป็นรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ก็ออกมาจี้ให้พรรคเพื่อไทยแสดงความชัดเจน
ในนโยบายต่างๆแล้ว โดยอ้างว่าจะกระทบกับงบประมาณและการลงทุนของภาคเอกชน
ทั้งๆที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์เองก็ถูกวิจารณ์ว่าล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
โดยเฉพาะปัญหาปากท้องของประชาชน
พรรคเพื่อไทยโดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงต้องชี้แจงรายละเอียดโครงการต่างๆ
ให้ประชาชนเห็นภาพอย่างชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร เมื่อไร
รวมทั้งรับฟังเสียงคัดค้านจากทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง
แต่ต้องยึดผลประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน เพราะวลีที่ว่า
“ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” นั้นมีความหมายไปถึงเสถียรภาพของรัฐบาลด้วย
แม้แต่การแต่งตั้งรัฐมนตรีก็ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก
ขณะที่แกนนำเสื้อแดงก็เหมือน “สายล่อฟ้า” ไม่ต่างกับครั้งที่พรรคประชาธิปัตย์
เคยดึงนายกษิต ภิรมย์ มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ดังนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงไม่ใช่แค่แสดงความเป็นผู้นำที่ไม่ใช่ “โคลนนิ่ง” เท่านั้น
แต่ยังต้องแสดง ความเป็นผู้นำที่มีความเด็ดขาด กล้าคิด กล้าทำ
พร้อมๆกับเริ่มต้นนับหนึ่งในการต่อสู้กับ “มือที่มองไม่เห็น”
ที่หนุนหลัง “กองกำลังทราบฝ่าย”
ที่มาในคราบของกลุ่มการเมือง ภาคประชาชน และองค์กรอิสระต่างๆ
ได้ประกาศชัดเจนแล้วว่าจะทำทุกวิธี
เพื่อ สกัดไม่ให้ “ระบอบทักษิณ” กลับมามีอำนาจทางการเมืองการปกครองแบบเบ็ดเสร็จเหมือนในอดีต
โดยจะใช้ความผิดพลาดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์และรัฐบาลมาเป็นเงื่อนไขในการทำลาย
“มือที่มองเห็น” 15 ล้านเสียงที่ลงคะแนนเลือกพรรคเพื่อไทย
ที่ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย
จะสู้กับ “กองกำลังทราบฝ่าย” ได้นานแค่ไหน?
คนไทยและสังคมโลกกำลังเฝ้าดูอย่างไม่กะพริบตา!
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 7 ฉบับ 320 วันที่ 23 - 29 กรกฏาคม 2554 พ.ศ. 2554
หน้า 16-17 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน
http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=11532