ที่มา มติชน
โดย ผาสุก พงษ์ไพจิตร
(ที่มา คอลัมน์ ดุลยภาพ ดุลยพินิจ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 27 กรกฎาคม 2554)
ข้อมูล สถิติเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งเมื่อ 3 กรกฎาคม 2554 ที่น่าสนใจมาก นอกเหนือจากที่ว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ ส.ส.จำนวนสูงสุด เทียบกับพรรครองลงมา 265 ต่อ 159 แล้ว ยังมีอีกหลายเรื่อง
หากนับ จำนวนผู้ออกเสียงเลือกตั้งแบบปาร์ตี้ลิสต์ มีคนเลือก พท.ถึง 15.7 ล้านเสียง มากกว่าเมื่อปี 2550 อยู่ 3.4 ล้าน พรรค พท.ได้มากกว่า ปชป. อยู่ถึง 4.3 ล้านเสียง
เฉพาะพรรค ปชป. นั้น พ.ศ.2554 ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 11.4 ล้านเสียง ต่ำกว่าเมื่อปี 2550 ที่ได้ 12.1 ล้านเสียง
แสดง ว่าโดยรวมพรรค ปชป.มีคะแนนนิยมลดลง แม้แต่พรรคพันธมิตร เช่นภูมิใจไทย ก็ยังได้คะแนนไม่เข้าเป้า ขณะที่ พ.ท.คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นมาก
สำหรับ การเลือก ส.ส.พรรค ปชป.ชนะแบบขาดลอยที่ภาคใต้ แต่ที่ภาคเหนือตอนบนและอีสาน พท.ชนะแบบขาดลอย แสดงให้เห็นว่าความพอใจพรรคการเมือง แยกตามภาคเด่นชัดใน 3 ภาคนี้
ที่กรุงเทพฯ แม้ ปชป.จะชนะ พท.โดยได้ ส.ส. 23 ต่อ 10 หากดูรายละเอียด พบว่า ปชป. ไม่ได้ชนะแบบขาดลอยถึง 18 เขต คือคะแนนต่างกันเพียงไม่กี่พันเท่านั้น
จึงมีผู้กล่าวว่า ที่กรุงเทพฯยังไม่มีลักษณะแยกพรรคที่เด่นชัด ดังที่ภาคเหนือตอนบน อีสาน และภาคใต้ ถึงกระนั้นชัยชนะก็คือ ชัยชนะของ ปชป.ที่กรุงเทพฯ ดังนั้น จึงยังไม่อาจกล่าวได้ว่า พ.ท.ชนะทั้งประเทศแบบถล่มทลาย
อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของพรรค พท. โดยรวมในปี 2554 นี้ได้ส่งสัญญาณถึงความเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ทางการเมืองของสังคมไทยที่ยากจะ ปฏิเสธ ที่สำคัญคือ
ก.การออกเสียงเลือกตั้งมีแนวโน้มสู่การเลือก พรรคใหญ่ 2 พรรค ชัดเจนขึ้น และพรรคใหญ่ที่ว่านี้เป็นตัวแทนของ 2 ขบวนการสังคมไทยที่ย้อนแย้งกันอยู่ด้วย คือกลุ่มคนเสื้อเหลืองและผู้มีใจให้ (แม้จะไม่เห็นด้วยทุกเรื่อง) กับอีกกลุ่มคือคนเสื้อแดงและผู้มีใจให้
ข.การ ตัดสินใจเลือกตั้งมีแนวโน้มว่า เกิดจากความนิยมชมชอบพรรคมากกว่าเรื่องบุคคล (personality) หรือเงิน หรือการกำกับโดยภาคราชการ (มหาดไทย กองทัพ) ดังเช่นในอดีต การใช้เงินยังมีอยู่ เพราะเกิดเป็นประเพณีไปแล้ว อีกทั้งยังมีปัญหารายได้ต่ำ แต่มีข้อมูลน่าเชื่อถือว่า แม้จ่ายเงินก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ที่ต้องการ ชาวบ้านรับเงินแต่จะเลือกใครเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ค.ผลของการเลือกตั้งทั่วไปตามแนวโน้มที่กล่าวมา เกิดขึ้นซ้ำๆ มาเป็นเวลา 10 ปี แล้ว
ง.ราษฎร ที่ตื่นตัวทางการเมืองไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งในอัตราสูงเป็น ประวัติการณ์ คือร้อยละ 75 ส่อแสดงความต้องการระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยภายใต้หลักการ 1 คน 1 เสียง ที่ค่อนข้างเด่นชัด
ข้อมูลข้างต้นนี้ บันดาลใจให้คิดถึงข้อเสนอเพื่ออนาคต ให้พิจารณาถกเถียงกันอย่างน้อยหกข้อด้วยกัน คือ
หนึ่ง ถึงเวลายกเลิกแนวคิดความเป็นหนึ่งเดียว (unity) ยอมรับการอยู่ร่วมโดยสันติ
ความ เป็นหนึ่งเดียว บางทีก็ว่า ความสามัคคี เป็นแกนของอุดมการณ์ชาติมาโดยเฉพาะตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาใส่กล่องใหม่ใช้คำว่า "ปรองดอง" โดยจะพบว่ากองทัพใช้คำนี้มาก แต่แนวคิดนี้ตกขอบไปแล้ว เพราะขณะที่สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป และมีความสลับซับซ้อนขึ้น ความปรองดองกลับถูกใช้เพื่อปราบปรามผู้มีความคิดต่าง และได้นำไปสู่การข่มขู่ การจับกุมคุมขัง การปิดสื่อสาธารณะ ฯลฯ จึงควรยกเลิกเสีย ทดแทนด้วยยอมรับการอยู่ร่วมกัน ยอมรับนับถือความคิดต่าง
จะเป็นไรไปถ้าจะอยู่กลุ่มเสื้อเหลือง จะเป็นไรไปถ้าจะอยู่กลุ่มเสื้อแดง สีอะไรก็อยู่ร่วมกันได้
สอง ระบอบรัฐสภาประชาธิปไตย เป็นกลไกการเมืองเพื่อบริหารจัดการความคิดต่าง และความขัดแย้งต่างๆ ในสังคมสมัยใหม่ที่มากด้วยความสลับซับซ้อนที่มีประสิทธิภาพที่สุดในขณะนี้ และสากลโลกก็ยอมรับ จงยอมให้กลไกนี้ทำงานและพัฒนาไปตามครรลอง แน่นอนว่า กรอบกติกาที่กำกับระบบนี้คือ รัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก จะต้องได้รับการออกแบบและมีการพัฒนาแบบลองผิดลองถูก ผ่านกระบวนการเรียนไปทำไป จนก่อเกิดเป็นประเพณีและหลักปฏิบัติอันเหมาะสมกับสภาพของเศรษฐกิจสังคมที่มี การพัฒนาไปเรื่อยๆ โดยไม่ให้มีการสะดุดหยุดและถูกแทรกแซงเป็นระยะๆดังที่ผ่านมา
สาม กองทัพต้องยุติบทบาททางการเมืองโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ เพื่อความอยู่รอด และศักด์ศรีของกองทัพนั้นเองและเพื่อชาติ กองทัพคงไม่อยากจะถูกโยงกับเรื่อง 91 ศพ อีก
เริ่มต้นเลย พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ที่รัฐบาลรัฐประหาร 2549 ผ่านออกมา ต้องยกเลิก เพราะว่า พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉินก็เพียงพอแล้ว การคงอยู่ของ พ.ร.บ. นี้เป็นช่องให้กองทัพมีบทบาททางการเมืองสูงขึ้น
สี่ สถาบันพระมหากษัตริย์
กลุ่ม อนุรักษนิยมในช่วงที่ผ่านมาสนับสนุนแนวคิด สถาบันอยู่เหนือการเมือง แล้วพยายามใช้อำนาจที่อิงสัญลักษณ์ของสถาบัน เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือโดยไม่ระบุเป้าหมายที่ชัดเจน
การใช้อำนาจ ที่อิงกับสัญลักษณ์ของสถาบัน ได้สร้างความเสียหาย เพื่อหลีกเลี่ยงความสุ่มเสี่ยงนี้ ทางออกทางหนึ่งคือการพัฒนาสู่ "ceremonial role" ในทำนองเดียวกับที่อังกฤษเป็นอยู่
ห้า ระบบตุลาการและศาล ต้องได้รับการปฏิรูปอย่างครอบคลุม
ใน อดีต ศาลไม่มีบทบาททางการเมือง แต่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในเรื่องนี้ ขณะที่ยังไม่มี rule of law ที่ชัดเจน พัฒนาการนี้สุ่มเสี่ยงและเป็นอันตราย กับชื่อเสียงความน่าเชื่อถือของศาลได้ เนื่องจากศาลอาจจะยังไม่เป็นอิสระจากส่วนอื่นๆ ของระบบรัฐบาลอย่างเต็มที่
คำว่า สองมาตรฐาน มีหลายความหมาย แต่ก็มีนัยเป็นข้อวิจารณ์ระบบศาลด้วย
การ ปฏิรูประบบศาล ต้องรวมถึงการปรับระบบการเรียนการสอนกฎหมาย การตรวจสอบระบบศาล และการให้ความช่วยเหลือผู้ถูกดำเนินคดีที่เป็นระบบ (legal aid)
หก รัฐบาลจำเป็นต้องใช้งบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการสร้างสินค้าสาธารณะเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
การ นี้ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก แต่ความสามารถเก็บภาษี ขณะนี้ได้เพียงร้อยละ 17 ของจีดีพี การศึกษาชี้ว่าถ้าการจัดเก็บมีประสิทธิภาพขึ้น แม้ไม่เพิ่มอัตราภาษีเลย ก็จะได้รายได้รัฐเพิ่มเป็นร้อยละ 22 ของจีดีพี
และ หากปรับปรุงระบบภาษี นำภาษีทางตรง เช่นภาษีที่ดิน และ capital gain tax เข้ามาปรับใช้อย่างเหมาะสม ก็จะสามารถเพิ่มรายได้รัฐได้อีกอักโข พอที่จะนำไปสร้างระบบสวัสดิการพื้นฐานแบบถ้วนหน้าให้ราษฎรได้ โดยไม่ต้องมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น