ที่มา ประชาไท
เป็น เรื่องดีที่การหาเสียงของพรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ทำให้เกิดบรรยากาศตื่นตัวและความสนใจของผู้คนที่จะถกเถียงและหาความรู้ เกี่ยวกับผลดีและผลเสียของนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ได้รับความสนใจในวงกว้างตอนนี้ คือ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ถึงแม้พื้นที่ส่วนใหญ่ของสื่อจะถูกฝ่ายทุนช่วงชิงไป และทำให้เราได้ยินและได้อ่านความคิดเห็นในทางคัดค้านนโยบายนี้เป็นส่วนใหญ่ ก็ตาม
ในความเป็นจริง เรื่องผลกระทบของการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดวิวาทะใน สังคมอุตสาหกรรมมานานแล้ว และก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่ อย่างในสหรัฐอเมริกา ก็มีการถกเถียงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำตลอดช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ในช่วงปลายปี 2549 เมื่อ ส.ส.จากพรรคเดโมแครตเสนอให้ขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลกลางจาก 5.15 เป็น 7.25 ดอลลาร์ ก็ทำให้เกิดการถกเถียงในวงกว้างเกี่ยวกับผลกระทบต่อการจ้างงาน แต่ในที่สุด ก็สามารถผลักดันนโยบายนี้สำเร็จ โดยใช้ระยะเวลาเพิ่มค่าจ้างทั้งหมด 2 ปี ตามที่ได้เสนอไว้เป็นลำดับขั้นตอนถึง 3 ช่วง
ในวงการเศรษฐศาสตร์เอง การอภิปรายถึงผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ก็ยังไม่นำไปสู่ข้อสรุปที่แน่ชัดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานลดลงหรือไม่ ถึงแม้นักเศรษฐศาสตร์ในอดีตมักจะปักใจเชื่อว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ จะทำให้เกิดการจ้างงานลดลง เช่น ในช่วงปลายทศวรรษ 1970s หรือทศวรรษ 2510 การสำรวจนักเศรษฐศาสตร์วิชาชีพในวารสาร American Economic Review ชี้ให้เห็นว่านักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 90 เชื่อว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับคนงานกลุ่มที่ถูกเรียกว่า "ไร้ฝีมือ" จะถูกกีดกันออกจากตลาดแรงงาน แต่ในระยะหลัง นักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากขึ้นก็พยายามหาข้อพิสูจน์ว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ อาจไม่ได้ทำให้การจ้างงานลดลงเสมอไป ขึ้นอยู่กับบริบท เช่น พื้นที่และอุตสาหกรรม
ข้อโต้แย้งของนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่เชื่อ ว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ จะทำให้เกิดการว่างงานเพิ่มขึ้นนั้น มาจากตรรกะของพวกเขาว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทำให้คนงานไร้ฝีมือมีค่าจ้าง หรือ "ราคา" สูงกว่าที่ควรจะเป็น เมื่อเปรียบเทียบกับคนงานที่มีทักษะสูงกว่า จะว่าไปแล้ว นี่เป็นตรรกะที่สะท้อนแนวคิดที่หมกมุ่นกับผลิตภาพการผลิตจนเกินไป และมองคนงานเป็น "ปัจจัยการผลิต" แทนที่จะเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตและมีศักดิ์ศรีไม่ต่างจากคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นนายจ้างและมนุษย์เงินเดือนก็ตาม
คงจะไม่เป็นการกล่าว เกินจริงเลย ถ้าจะพูดว่านักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักไม่สนับสนุนการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะขัดกับหลักการเรื่องการแข่งขันเสรีที่พวกเขาเชื่อ เมื่อใดก็ตาม ที่มีการเสนอให้ขึ้นค่าจ้าง นักเศรษฐศาสตร์ก็มักจะคัดค้าน โดยอ้างทฤษฎีการกำหนดราคาสินค้าที่ว่า "ผู้ประกอบการจะจ่ายค่าจ้างไม่มากไปกว่ามูลค่าของงานที่ได้รับจากชั่วโมงทำ งานที่เพิ่มขึ้น" ซึ่งถูกสะท้อนออกมาในรูปค่าจ้างในขณะนั้นอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาให้ลึกซึ้ง ข้อโต้แย้งดังกล่าวนี้ไม่มีความสมเหตุสมผล เนื่องจากระดับค่าจ้างที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ไม่ได้ถูกกำหนดจากกลไกตลาด อย่างที่อ้าง แต่เป็นผลผลิตของการกำกับของรัฐผ่านกฎหมายจำนวนมาก ในกรณีของประเทศไทย ค่าจ้างที่ใช้อยู่ก็ถูกกำหนดจากคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ซึ่งเกิดขึ้นจากกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่ให้อำนาจ รวมถึงอำนาจต่อรองระหว่างฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง การกล่าวว่านโยบายเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเป็นการตัดสินใจโดยฝ่ายบริหารนั้น เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด จึงเป็น "คำโกหกที่แนบเนียน" ของผู้ที่คัดค้านการขึ้นค่าแรงเท่านั้น
จะเห็นว่าอคติในเรื่องค่า จ้างขั้นต่ำนั้นตั้งอยู่บนฐานที่แข็งแกร่งและยากจะ ทำลายของมายาคติเรื่อง "กลไกตลาดในฐานะราคาที่เป็นธรรม" ซึ่งถือเป็นมายาคติที่ฝังรากลึกที่สุดในวิชาเศรษฐศาสตร์ และแพร่หลายจนกลายเป็น "ความจริง" ที่คนจำนวนมากแม้กระทั่งนักวิชาการสายก้าวหน้าที่มีแนวโน้มจะสนับสนุนฝ่าย แรงงานก็ยังอ้างถึงโดยไม่ต้องพิสูจน์
ตราบใดก็ตามที่ผู้คนจำนวนมาก ยังเชื่ออย่างสนิทใจว่าค่าจ้างค่าแรง ซึ่งเป็นผลตอบแทนของการทำงานของคนควรที่จะปล่อยให้ถูกกำหนดจากสิ่งนามธรรม ที่เรียกว่า "กลไกตลาด" ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมวิวาทะเกี่ยวกับนโยบายขึ้นค่าจ้าง ขั้นต่ำในขณะนี้ จึงเต็มไปด้วยข้อโต้แย้งทางเทคนิคที่ไร้มนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นความกังวลเรื่อง "ความสามารถในการแข่งขัน" ของผู้ประกอบการหรือเรื่องเงินเฟ้อของพวกมนุษย์เงินเดือน โดยแทบจะไม่มีใครสนใจประเด็นเรื่องสิทธิทางสังคมและความจำเป็นที่จะต้อง สร้างหลักประกันคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานให้กับคนงานเลย ทั้งที่เราทุกคนก็ทราบดี (โดยไม่ต้องมีความรู้เศรษฐศาสตร์แม้แต่น้อย) ว่า ระดับค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นอยู่นั้นไม่สะท้อนระดับค่าครองชีพที่เป็นจริงใน ชีวิตประจำวันแต่อย่างใด และที่คนงานไทยจำนวนมากมีรายได้พอกระเสือกกระสนไปแต่ละเดือน ก็ด้วยการทำงานล่วงเวลาเพื่อให้ได้รายได้เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่ง จนทำให้จำนวนชั่วโมงทำงานของคนงานในโรงงานเฉลี่ยต่อวันนั้นอยู่ในระดับที่ สูงมากจนน่าตกใจ
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เราปล่อยให้วิวาทะเรื่องค่า จ้างขั้นต่ำ ถูกฝ่ายนายทุนฉกเฉยไปและเบี่ยงเบนประเด็น "ค่าจ้างที่เป็นธรรม" ไปเป็นเรื่องความอยู่รอดของธุรกิจและโยนคำถามกลับมายังคนงานอย่างเลือดเย็น ว่าจะเลือกงานที่แย่หรือตกงาน สังคมแบบไหนกันที่เสนอทางเลือกลักษณะนี้ให้กับคนทำงานที่ยังได้รับค่าจ้าง ไม่พอยังชีพ
ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ "มุมมองบ้านสามย่าน" หน้าทัศนะวิจารณ์ น.ส.พ. กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม 2554